วัดป่าพระนอนพัฒนาราม


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพระนอนพัฒนาราม, วัดพระนอน

ที่ตั้ง : ม.4 บ้านโนนเมือง ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ

ตำบล : ชุมแพ

อำเภอ : ชุมแพ

จังหวัด : ขอนแก่น

พิกัด DD : 16.517344 N, 102.089585 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เชิญ

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยกุดตาไห

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เมืองโบราณโนนเมืองตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวอำเภอชุมแพ จากที่ว่าการอำเภอชุมแพ ใช้ถนนประเสริฐวงศ์มุ่งหน้าลงทางทิศใต้ (มุ่งหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ) ประมาณ 600 เมตร พบสี่แยก (ก่อถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) ให้เลี้ยวซ้ายถนนตลาดชัย ประมาณ 290 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาใช้ถนนสำราญวารี ประมาณ 2.6 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 70 เมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวา (หากเลี้ยวซ้ายจะเข้าสู่เมืองโบราณโนนเมือง) ไปตามถนนอีกประมาณ 700 เมตร จะพบวัดป่าพระนอนพัฒนารามทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระนอนและเสมาหินทรายภายในวัดป่าพระนอนพัฒนารามได้รับการสักการะและดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากชาวบ้านและท้องถิ่น ทั้งยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเมืองโบราณโนนเมือง ซึ่งเป็นแหล่งประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน

ชาวบ้านทั้งในและต่างพื้นที่ให้การเคารพสักการะพระนอนเป็นอย่างมาก ชาวบ้านนิยมมาขอพรและบนบาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าพระนอนไม่โปรดของคาว ต้องถวายของหวานและผลไม้เท่านั้น โดยเฉพาะลอดช่องและสาคู

ทุกวันที่ 20 เมษายนของทุกปีมีการจัดงานสรงน้ำพระนอน นอกจากนี้ พื้นที่ภายในวัดยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมงานบุญประเพณีอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มีการประกวดการละเล่นวัฒนธรรมพื้นบ้าน และใช้ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมพระนอน รวมถึงเสมาหินทรายภายในวัดป่าพระนอนพัฒนารามได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดป่าพระนอนพัฒนาราม, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดป่าพระนอนพัฒนารามตั้งอยู่บนเนินดินสูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นที่ลุ่มทำเกษตรกรรมประมาณ 2 เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอชุมแพมาทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณโนนเมืองมาทางทิศตะวันตกประมาณ 550 เมตร

ลักษณะพื้นที่โดยรวมเป็นที่ราบระหว่างลำน้ำและเชิงเขา คือมีลำห้วยกุดตาไห (ลำน้ำสาขาของลำน้ำเชิญ) ไหลผ่านทางทิศตะวันออก ห่างออกไปจากวัดประมาณ 500 เมตร ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำเชิญที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ราว 1.5 กิโลเมตร ส่วนภูเวียงตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

224 เมตร

ทางน้ำ

ลำน้ำเชิญ, ห้วยกุดตาไห

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พื้นที่วัดป่าพระนอนพัฒนารามมีความสัมพันธ์กับเมืองโบราณโนนเมือง ตามประวัติวัดกล่าวว่าวัดป่าพระนอนพัฒนารามเดิมเป็นวัดร้าง มีการก่อตั้งขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2480 และจดทะเบียนขึ้น ส.ค.1 เมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2498 พระอธิการสุพรรณ กนตสีโล เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ พระนอน เสมาหินทรายหลายหลัก และสระน้ำโบราณ

ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ระบุถึงที่มาของพระนอน ดังนี้

          “แต่เดิมภายในวัดมีพระยืนสลักหินอยู่ 1 องค์ ต่อมามีคนมาลักขุดหาสมบัติจนองค์พระล้มนอนชำรุดแตกเป็นเสี่ยง ชาวบ้านที่มีศรัทธาได้นำชิ้นส่วนมาต่อรวมกันแล้วปั้นปูนโอบไว้จนเป็นพระนอน หลังจากนั้นก็สร้างศาลาคลุมพระนอนไว้”

ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ระบุถึงที่มาของเสมาภายในวัด ดังนี้

            “เมื่อ พ.ศ.2498 ประมาณเดือน 4 ได้มีคนแก่มากราบเรียนท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนี (หลวงพ่อกัณหา) วัดศรีนวล เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้นว่า มีอยู่วันหนึ่งเขาได้ไปนอนพักที่โรงนาบริเวณโนนเมืองแล้วฝันประหลาดว่าเห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า"อยากจะไปอยู่ในเมือง" คืนที่สองฝันอีกว่า "อยากจะไปอยู่ในเมือง อยากจะไปอยู่เป็นมิ่งขวัญของเมือง" พอคืนที่สามก็ได้ฝันลักษณะเดิมอีก หลังจากตื่นขึ้นก็รู้สึกร้อนรนอยู่ไม่ได้นอนไม่ได้ จึงเดินทางเข้าเมืองเพื่อเล่าความฝันให้ท่านเจ้าคุณฟัง

           เมื่อท่านเจ้าคุณได้ฟังแล้วจึงถามว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นอย่างไร" คนแก่ตอบว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นกู่เก่า มีป่าขนาดใหญ่ต้นไม้ขึ้นหนาทึบมีเสาหิน และใบเสมาเป็นจำนวนมาก" ท่านเจ้าคุณจึงออกปากว่า "ถ้าเป็นมิ่งเป็นขวัญของเมือง ก็ต้องเป็นหลักเมือง" ประกอบกับจังหวัดขอนแก่นขณะนั้นยังไม่มีหลักเมือง ท่านเจ้าคุณจึงเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คือ หลวงพินิจ และได้มอบหมายให้ฝ่ายพระมหาสุคนธ์และพระอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งปลัดจังหวัดไปอัญเชิญหลักเมืองออกจากกู่

          ในขณะที่อัญเชิญเสาและเสมาหินออกจากกู่เกิดอาเพศฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าลงมาโดนเสาหลักเมือง(ปัจจุบันเป็นเสาหลักเมืองอำเภอชุมแพ) รถเกิดติดหล่มไม่สามารถเดินทางต่อได้ ทางคณะจึงปรึกษากันว่า "เฮาเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่บ่ได้มาเพิ่นเลยบ่ไป" และได้อัญเชิญหลักเมืองลงไว้ที่วัดพระนอน (วัดป่าพระนอนพัฒนาราม) แล้วกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้ท่านเจ้าคุณฟัง ท่านเจ้าคุณจึงเดินทางไปอัญเชิญด้วยตัวเอง และได้นำหมอลำ หนัง มาฉลองที่วัดพระนอน 1 คืน จากนั้นได้อัญเชิญเสาและเสมาออกมา 4 หลัก

                    หลักที่ 1 อยู่ที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น

                    หลักที่ 2 อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ

                    หลักที่ 3 และ 4 อยู่ที่หน้าอุโบสถวัดศรีนวล อำเภอเมืองขอนแก่น”

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่าเสมาหินทรายในวัด น่าจะเป็นหินทรายสมัยทวารวดีที่นำมาจากภายในเมืองโบราณโนนเมือง เช่นเดียวกับพระนอนองค์เดิมและประวัติการใช้พื้นที่ ที่น่าจะอยู่ในสมัยทวารวดีเช่นเดียวกัน

พระนอนและเสมาประดิษฐานอยู่พื้นที่ตอนเหนือของวัด โดยพระนอนประดิษฐานอยู่ภายในศาลาก่อด้วยอิฐบล็อก พื้นเทปูน หันด้านหน้าไปทางทิศใต้ ประตูเหล็กยืด หลังคาเครื่องไม้มุงสังกะสี องค์พระนอนตามประวัติเดิมเป็นพระพุทธรูปหินประทับยืน แต่มีผู้ลักลอบขุดหาสมบัติที่ส่วนฐาน ทำให้พังทลายลง ชาวบ้านจึงได้นำมาประกอบเรียงขึ้นใหม่ในอิริยาบถประทับนอนหงายและปั้นปูนทับ มีความยาวตลอดองค์ประมาณ 16 ฟุต กว้าง 4 ฟุต หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก หันพระพักร์ไปทางทิศใต้ หลับพระเนตร แย้มพระสรวล พระหัตถ์ซ้ายวางแนบขนานพระองค์ (ลำตัว) พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่บริเวณพระอุทร (ท้อง) ฝ่าพระบาททั้งสองข้างวางตั้งขึ้น ฝ่าพระบาทมีลวดลายมงคล ตลอดองค์พระทาด้วยสีทอง ยกเว้นส่วนพระเกศาที่ทาด้วยสีดำ

ด้านหน้าศาลา (ด้านทิศใต้) เป็นที่ถวายเครื่องสักการะต่างๆ ถัดขึ้นไปเป็นต้นไม้ใหญ่ ใต้ต้นไม้มีชิ้นส่วนหินทราย 1 ชิ้น และชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายรูปบุคคลอีก 1 ชิ้นวางอยู่

รอบศาลาพระนอนมีเสมาหินทรายขนาดต่างๆ ปักล้อมรอบอยู่ 17 จุด (ล้อมรอบพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า) แต่ละจุดปักเสมา 1-2 ใบ สภาพเสมามีทั้งที่สมบูรณ์และชำรุด ลักษณะเสมามีทั้งแบบแบน เสาสี่เหลี่ยม เสาสี่เหลี่ยมลบมุม และเสากลม ลวดลายบนใบเสมามีทั้งที่สลักเป็นสันกลางและลวดลายดอกบัวที่ส่วนล่าง รวมถึงที่ไม่ได้สลักลวดลายใดๆ

พื้นที่รอบศาลายังมีชิ้นส่วนเสมาหินทราย รวมถึงเสาหินทรายขนาดต่างๆ จำนวนมากวางนอนอยู่ ด้านทิศเหนือของพระนอนมีสระน้ำโบราณผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่ 1 สระ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี