โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.4 บ้านโนนเมือง ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ
ตำบล : ชุมแพ
อำเภอ : ชุมแพ
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.514194 N, 102.097705 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เชิญ
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยกุดตาไห
เมืองโบราณโนนเมืองตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวอำเภอชุมแพ จากที่ว่าการอำเภอชุมแพ ใช้ถนนประเสริฐวงศ์มุ่งหน้าลงทางทิศใต้ (มุ่งหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ) ประมาณ 600 เมตร พบสี่แยก (ก่อถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) ให้เลี้ยวซ้ายถนนตลาดชัย ประมาณ 290 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาใช้ถนนสำราญวารี ประมาณ 2.6 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 70 เมตร จะพบทางเข้าไปภายในเมืองโบราณอยู่ทางซ้ายมือ
เมืองโบราณโนนเมืองได้รับการศึกษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ปรับปรุงภูมิทัศน์ และพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการค้นพบเมื่อ พ.ศ.2513 โดยความร่วมมือทั้งจากราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนกลาง และประชาชน
ภายในเมืองมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณโนนเมืองและอาคารจัดแสดงหลุมขุดค้นจำนวน 5 หลุม ซึ่งทางท้องถิ่น (อบต.ชุมแพ) และกรมศิลปากรได้ดูแลรักษาคูน้ำ อาคาร หลักฐานทางโบราณคดี รวมถึงพื้นที่ภายในเมืองเป็นอย่างดี สะอาดเรียบร้อย และมีความเหมาะสม มีป้ายให้ข้อมูลตามจุดสำคัญต่างๆ รวมทั้งแผ่นพับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
สภาพพื้นที่ภายในเมืองส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง มีความร่มรื่นเงียบสงบ มีเก้าอี้นั่งพักผ่อน เหมาะแก่การท่องเที่ยวเสริมสร้างความรู้และพักผ่อนหย่อนใจ มีห้องน้ำและลานจอดรถบริการผู้มาเยือน
นับได้ว่าเมืองโบราณโนนเมืองมีทรัพยากรด้านต่างๆ ค่อนข้างพร้อม สามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีและธรรมชาติได้ในระดับจังหวัด ระดับภาค หรือระดับประเทศต่อไปได้
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเมืองโบราณโนนเมืองได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ อบต.ชุมแพ 405 หมู่ 2 ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น 40130 โทร. 043-313-446
องค์การบริหารส่วนตำบลชุมแพ, กรมศิลปากร
เมืองโบราณโนนเมืองตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอชุมแพมาทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินดินค่อนข้างกลม ล้อมรอบด้วยคูน้ำ 2 ชั้น และคันดิน 2 ชั้น ร่องรอยคูน้ำชั้นในชัดเจนกว่าชั้นนอกมาก ตัวเมืองชั้นในมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 420 เมตร (ประมาณ 170 ไร่) เมืองชั้นนอกมีรูปทรงค่อนข้างยาวรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 600 เมตร (ประมาณ 216 ไร่) เนินสูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาและไร่ของชาวบ้านประมาณ 5 เมตร
ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบระหว่างลำน้ำและเชิงเขา คือมีลำห้วยกุดตาไห (ลำน้ำสาขาของลำน้ำเชิญ) ไหลผ่านทางทิศตะวันตกและใต้ของตัวเมือง ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำเชิญที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ราว 1.5 กิโลเมตร ส่วนภูเวียงตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองประมาณ 6.5 กิโลเมตร ลักษณะธรณีสัณฐานเป็นหินทรายในหมวดหินภูกระดึง
สภาพทั่วไปบนเนินดินชั้นนอกและชั้นในเป็นป่าเต็งรัง มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ผิวดินมีโบราณวัตถุกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผา ระหว่างคูเมืองชั้นในและชั้นนอกเป็นพื้นที่นาปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ ยกเว้นด้านทิศใต้ที่ยังคงเป็นโคกเนิน ป่าไม้ และสำนักสงฆ์วัดโนนเมือง
คูเมืองชั้นในสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน มีความลึกแตกต่างกันไป และยังคงมีน้ำอยู่ภายใน ส่วนคูเมืองชั้นนอกตื้นเขิน โดยเฉพาะด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาพตื้นเขินจนชาวบ้านใช้เป็นที่นาปลูกข้าว ทั้งนี้ขณะสำรวจกำลังมีการขุดลอกคูเมืองชั้นนอกด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้โดย อบต.ชุมแพ
คันดินทั้งชั้นในและชั้นนอกมีสภาพสูงต่ำลดหลั่นกันไปรอบเมือง มีบางช่วงที่ปัจจุบันไม่ปรากฏคันดิน เช่น ด้านทิศตะวันตกของคูเมืองชั้นใน บริเวณถนนทางเข้าสู่เมือง และคันดินชั้นนอกที่ส่วนใหญ่ถูกไถปรับเป็นพื้นที่ทำนา ยกเว้นคันดินด้านทิศใต้ภายในสำนักสงฆ์วัดโนนเมือง ที่ยังปรากฏคันดินสูงประมาณ 2-4 เมตร
ห้วยกุดตาไห, ลำน้ำเชิญ
ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ขุดค้น
ผลการศึกษา :
หลังการขุดค้นในปี 2525 มีการสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นและถากถางต้นไม้ออกไปบางส่วน รวมทั้งขุดลอกคูน้ำชั้นในให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเมืองโบราณแห่งนี้มาโดยตลอดชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546, พ.ศ.2547, พ.ศ.2548, พ.ศ.2549, พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2546-2550 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณโนนเมือง มีการก่อสร้าง “ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณโนนเมือง” และอาคารถาวรจัดแสดงหลุมขุดค้นจำนวน 5 อาคาร (5 หลุม) รวมทั้งทางเดินไปยังอาคารต่างๆ อาคารทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ด้านทิศใต้ภายในคูเมืองชั้นในบริเวณโนนเมืองมีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือเมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว และอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาในยุคประวัติศาสตร์คือสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) มีการทำคูน้ำและคันดินล้อมรอบเมือง นอกจากนี้ยังพบกลุ่มใบเสมาอยู่ภายในเมืองอีกหลายหลัก สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านความเชื่อในสมัยนี้ ผู้คนที่โนนเมืองอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยที่วัฒนธรรมเขมรเข้ามามีบทบาทในพื้นที่แถบนี้ คือราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่ขุดค้นพบ ได้แก่ หลุมฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์พร้อมวัตถุอุทิศ รวมถึงโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา หินดุ เบี้ยดินเผา ท่อดินเผา ตะคันดินเผา แท่งดินเผา ที่ประทับลายดินเผา ตุ๊กตาดินเผารูปควายและช้าง ชิ้นส่วนเศียรพระพุทธรูปดินเผา เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว ตะกรันแก้ว ตะกรันเหล็ก เครื่องมือหิน แม่พิมพ์หิน กำไลหิน แม่พิมพ์ขวานมีบ้อง ลูกปัดหิน แท่งหินบด เครื่องประดับทำจากหิน เครื่องมือจากกระดูกสัตว์ เครื่องประดับจากกระดูกสัตว์และเปลือกหอย
ห่างออกไปด้านทิศตะวันตกของโนนเมืองประมาณ 550 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดป่าพระนอนพัฒนาราม (วัดพระนอนพัฒนาราม) มีกลุ่มใบเสมาปักล้อมรอบพระพุทธรูปนอน ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับใบเสมาที่วัดบ้านแจ้งยาวซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง เมื่อครั้งมีการตัดถนนผ่านคันดินชั้นนอกเพื่อไปบ้านแจ้งยาว มีการพบพระพุทธรูปสำริดด้วย
สภาพทั่วไปของโนนเมือง เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น 2 สมัย ปัจจุบันบนเนินดินชั้นนอกและชั้นในเป็นป่าเต็งรัง มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ผิวดินมีโบราณวัตถุกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผา ระหว่างคูเมืองชั้นในและชั้นนอกเป็นพื้นที่นาปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ ยกเว้นด้านทิศใต้ที่ยังคงเป็นโคกเนิน ป่าไม้ และสำนักสงฆ์วัดโนนเมือง
คูเมืองชั้นในสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน มีความลึกแตกต่างกันไป และยังคงมีน้ำอยู่ภายใน ส่วนคูเมืองชั้นนอกตื้นเขิน โดยเฉพาะด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาพตื้นเขินจนชาวบ้านใช้เป็นที่นาปลูกข้าว ทั้งนี้ขณะสำรวจกำลังมีการขุดลอกคูเมืองชั้นนอกด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้โดย อบต.ชุมแพ
คันดินทั้งชั้นในและชั้นนอกมีสภาพสูงต่ำลดหลั่นกันไปรอบเมือง มีบางช่วงที่ปัจจุบันไม่ปรากฏคันดิน เช่น ด้านทิศตะวันตกของคูเมืองชั้นใน บริเวณถนนทางเข้าสู่เมือง และคันดินชั้นนอกที่ส่วนใหญ่ถูกไถปรับเป็นพื้นที่ทำนา ยกเว้นคันดินด้านทิศใต้ภายในสำนักสงฆ์วัดโนนเมือง ที่ยังปรากฏคันดินสูงประมาณ 2-4 เมตร
หลังการขุดค้นในปี 2525 มีการสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นและถากถางต้นไม้ออกไปบางส่วน รวมทั้งขุดลอกคูน้ำชั้นในให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเมืองโบราณแห่งนี้มาโดยตลอด จนในปี 2546-2550 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณโนนเมือง มีการก่อสร้าง “ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณโนนเมือง” และอาคารถาวรจัดแสดงหลุมขุดค้นจำนวน 5 อาคาร (5 หลุม) รวมทั้งทางเดินไปยังอาคารต่างๆ อาคารทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ด้านทิศใต้ภายในคูเมืองชั้นใน
ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณโนนเมือง เป็นอาคารถาวรก่ออิฐถือปูน 1 ชั้น ภายในจัดแสดงป้ายคำบรราย ภาพ และหุ่นจำลอง เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดขอนแก่น สังเขปโบราณคดีของจังหวัดขอนแก่น ข้อมูลที่ตั้ง ประวัติการศึกษา การขุดค้น และพัฒนาเมืองโบราณโนนเมือง รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่ขุดค้นพบ และ OTOP ของบ้านโนนเมืองในปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ภายในเพื่อให้บริการผู้มาเยี่ยมชม
อาคารจัดแสดงหลุมขุดค้นมี 5 อาคาร (อาคาร 1-5) ทั้งหมดตั้งอยู่ทางฝั่งทิศใต้ภายในเมืองโบราณชั้นใน เป็นอาคารโปร่ง ก่ออิฐถือปูน ภายในหลุมขุดค้นจัดแสดงหลุมฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ มีทั้งโครงกระดูกมนุษย์และวัตถุอุทิศต่างๆ หลุมขุดค้นและหลักฐานที่จัดแสดงได้รับการอนุรักษ์แล้วโดยกรมศิลปากร
นอกจากนี้ บริเวณศาลเจ้าปู่ ข้างอาคารหมายเลข 2 ยังมีเสมาหินทรายปักตั้งอยู่ 4 ใบ เสาหินทรายเหลี่ยม 1 ต้น และก้อนศิลาแลงวางอยู่อีกหลายก้อน
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.