เมืองพระรถ, เมืองศรีมโหสถ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : นครมโหสถ, ศรีวัตสปุระ, อวัธยปุระ

ที่ตั้ง : ต.โคกปีป อ.ศรีมโหสถ

ตำบล : โคกปีบ

อำเภอ : ศรีมโหสถ

จังหวัด : ปราจีนบุรี

พิกัด DD : 13.895284 N, 101.413708 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : บางปะกง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลำผักชี, คลองบางพลวง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองปราจีนบุรีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 319 กิโลเมตรที่ 130 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3070 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านขวามือ โบราณสถานตั้งอยู่กระจัดกระจาย สามารถเข้าได้หลายทางและสามารถทะลุถึงกันได้

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นเมืองโบราณที่มีโบราณสถานอยู่มากมาย  สามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานได้ทุกวัน เวลาทำการ 8.30-16.30 น. ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอ และบางส่วนเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น ต้นศรีมหาโพธิ์ รอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปทวารวดี เป็นต้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่  037-312282, 037-312284 โทรสาร 037-312268

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลโคกปีบ, อำเภอศรีมโหสถ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เป็นเมืองโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่บนที่ราบใกล้พื้นที่ป่าและภูเขาเตี้ยในเทือกเดียวกับดงพญาเย็น เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาบรรทัด มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านพื้นที่ อยู่ป่างจากเมืองโบราณไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 16 กิโลเมตร มีคลองลำผักชีไหลผ่านเมืองโบราณทางทิศเหนือ โดยไหลไปรวมกับคลองบางพลวงที่อยู่ห่างจากเมืองโบราณไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

20 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำบางปะกง, คลองลำผักชี, คลองบางพลวง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เมืองโบราณเป็นที่ราบตะกอนตะพักลุ่มน้ำในสมัยโฮโลซีน

ส่วนธรณีวิทยาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งอยู่ในเขตภาคตะวันออก ประกอบด้วย แนวเทือกเขาเขียว-เขาชมพู่ ซึ่งมีหินแกรนิตยุคไตรเอสซิกเป็นแกนหลักของเทือกเขา แนวเทือกเขาขุนอิน-เขางวงช้าง และเขาตะเภาคว่ำ ซึ่งมีหินแกรนิตยุดคาร์บอนิเฟอรัสเป็นแกนหักของเทือกเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่บ้านเพถึงหนองใหญ่ แนวเทือกเขาบริเวณอำเภอแกลง แนวเทือกเขาสอยดาว-เขามะกอก ซึ่งมีหินแกรนิตเป็นแกนหลักบริเวณอำเภอขลุงถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน และแนวเทือกเขาสามง่าม-เขาสมิงตั้งแต่อำเภอเขาสมิงถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยเขมร, สมัยลพบุรี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 11-18

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 สำรวจและขุดแต่งเนินโบราณสถานหมายเลข 12 (สระแก้ว) , ขุดแต่งวิหาร หมายเลข 1 , ขุดแต่งเทวสถาน หมายเลข 2

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 สำรวจและขุดแต่งเนินโบราณสถานหมายเลข 12 (สระแก้ว) , ขุดแต่งเทวสถาน หมายเลข 2 , ขุดแต่งเจดีย์ หมายเลข 3 (ภูเขาทอง) , ขุดแต่งวิหาร หมายเลข 5 , ขุดแต่งสระกระท้อน หมายเลข 13 , ขุดแต่งวิหาร หมายเลข 7 , ขุดแต่งเจดีย์ หมายเลข 6 , ขุดแต่งวิหาร หมายเลข 14 , วิหารหมายเลข 15 , ขุดแต่งวิหาร หมายเลข 10 , ขุดแต่งวิหาร หมายเลข 11 . ขุดแต่งหมายเลข 16 , ขุดแต่งเจดีย์หมายเลข 17

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 สำรวจและ ขุดแต่งเจดีย์หมายเลข 9 , ขุดแต่งเทวสถานหมายเลข 18

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2511, พ.ศ.2512, พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ขุดแต่งกลุ่มโบราณสถานบริเวณกลางเมืองศรีมโหสถ คือ โบราณสถานหมายเลข 22 , โบราณสถานหมายเลข 19 และโบราณสถานหมายเลข 20

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518, พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 25, 26 และกลุ่มโบราณสถานหมายเลข 23

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ขุดแต่งและปรับปรุงโบราณสถานสระมรกต พบหลักฐานสำคัญคือ รอยพระพุทธบาทคู่(อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14) และฐานอาคารศิลาแลง(อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16) ซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานต่อเนื่อง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ขุดแต่งโบราณสถานสระมรกตเพิ่มเติม

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 สร้างอาคารแสดงข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับเมืองศรีมโหสถ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 52 ,86 และ 22 เพิ่มเติม

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 191 และศึกษาคันดินบริเวณมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองศรีมโหสถ และสำรวจคันดินถนนโบราณระหว่างเมืองศรีมโหสถและเมืองนางอมรเทวี

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

ผลการศึกษา :

นำข้อมูลจากโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2530-2534 มาจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่อง “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ” และ “ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองศรีมโหสถ เล่ม 2”

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

ขุดแต่งและบูรณะในโครงการขุดแต่งและบูรณะเมืองศรีมโหสถ จัดทำแผนผังแสดงขอบเขตและแผนผังของโบราณสถาน และขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 223

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน, เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองพระรถ หรือเมืองศรีมโหสถ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ขนาด 700X1,550 เมตร ตัวเมืองวางตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ซึ่งคูน้ำส่วนใหญ่ขุดตัดลงไปในชั้นดินของศิลาแลงธรรมชาติ ตอนกลางของเมืองมีคูน้ำที่ขุดเชื่อมคูเมืองด้านทิศเหนือและทิศใต้เข้าด้วยกัน ทำให้คล้ายแบ่งเมืองเป็นสองส่วน ชาวบ้านเรียกคูน้ำแห่งนี้ว่า”คูลูกศร”

ชื่อเมืองพระรถตั้งตามชื่อเมืองในปัญญาสชาดก เรื่องรถเสนชาดก  ชื่อเมืองศรีมโหสถ เป็นการเรียกชื่อตามชาดกเรื่องพระมโหสถ เมืองศรีมโหสถพบโบราณสถานทั้งภายในและภายนอกเมืองจำนวนมาก ส่วนมากสร้างจากศิลาแลงที่ขุดขึ้นในพื้นที่เมืองศรีมโหสถ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นชุมชนมาก่อนพุทธศตรวรรษที่ 11 และอาจเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 6 โดยมีความสัมพันธ์กับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ชุมชนเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มหมู่บ้านเกษตรกรรม มีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยน และรับวัฒนธรรมจากภายนอก แต่ยังไม่มีการสร้างเมืองที่มีคันดินคูน้ำล้อมรอบชุมชน อาจมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรฟูนัน และมีการติดต่อค้า ขายกับนักเดินเรือจากต่างประเทศ

หลักฐานสำคัญได้แก่ ภาพสลักนูนต่ำ และประติมากรรมภาพมังกร หรือเหราบางตัวที่ขอบโบราณสถานสระแก้ว มีลักษณะคล้ายมังกรในศิลปะอินเดีย แบบอมราวดี ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 7-9 และมกรบางตัวคล้ายกับมกรในศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษ ที่ 10-11 ส่วนพระพุทธรูปที่พบในบ่อน้ำหน้าอาคารรอยพระพุทธบาทคู่ มีพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปในศิลปะฟูนันเป็นต้น

นอกจากนี้การพบขวานหินขัดตามโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในเมืองศรีมโหสถ ทำให้อนุมานได้ว่า ชุมชนดังกล่าวน่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบตามแนวชายฝั่งทะเลเดิมในบริเวณลุ่มแม่น้ำ บางปะกงบริเวณจังหวัดชลบุรี ซึ่งเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 1,400 – 5,000 ปีมาแล้วต่อมาสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความซับซ้อน ขึ้นจนเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 6 - 10 ได้รับวัฒนธรรมจากภายนอก เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ พัฒนาเป็นชุมชนหรือบ้านเมืองในกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี ที่อายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่  12 - 16 และมีการอยู่สืบเนื่องต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 มีการนับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง : ตำนานนครมโหสถ

จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกเนินสระบัว , จารึกช่องสระแจง , จารึกกรอบคันฉ่องสำริด , จารึกที่โคนต้นโพธิ์ วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

จิรชฎา ตรีภาณุวรรณ

บรรณานุกรม

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการ จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม ... [และคนอื่น ๆ].วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดปราจีนบุรี.กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2544.

บรรจบ เทียมทัด และ นิคม มูสิกะคามะ. โบราณคดีเมืองปราจีนบุรี. พระนคร : กรมศิลปากร, 2514.

พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ (สวาสดิ์ กระโยมกุล).ประวัติจังหวัดปราจีนบุรี และตำนานนครมโหสถ หรือ เมืองพระรถ ฉบับกรมศิลปากร ตรวจแก้.ปราจีนบุรี : กิจเกษมการพิมพ์, 2512.

สุกัญญา เบาเนิด. “การศึกษาพัฒนาการของโบราณสถานที่เมืองโบราณศรีมโหสถ ตำบลโคกปีป อำเภอโคกปีป จังหวัดปราจีนบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี