โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : พระเจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด, ธาตุ (ร้าง) ข้างตลาด
ที่ตั้ง : ข้างตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุก ถ.แก้ววรวุฒิ ม.4 บ้านเวียงคุกเหนือ ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย
ตำบล : เวียงคุก
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.79964 N, 102.666099 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคุก
เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด ตั้งอยู่ข้างตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุก ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ประมาณ 13.9 กิโลเมตร ถึงตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุกและเจดีย์ร้างที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ
เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว มีการล้อมรั้วลวดหนามรอบโบราณสถานและป้ายให้ข้อมูล ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลเมืองเวียงคุก
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 29ง วันที่ 26 มีนาคม 2544
เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด เป็นโบราณสถานร้างตั้งอยู่ติดกับตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุก ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก อยู่ฝั่งทิศใต้ของถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 450 เมตร ห่างจากคลองคุกมาทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร
พื้นดินรอบเจดีย์มีร่องรายการขุดแต่งจนเป็นหลุมลึกลงไปจากพื้นใช้งานปัจจุบัน ทำให้เป็นบ่อขังน้ำในช่วงฤดูฝน มีการกั้นรั้วลวดหนามรอบหลุมขุดแต่งและโบราณสถาน
พื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นชุมชนขนาดใหญ่และหนาแน่น สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา
แม่น้ำโขง, คลองคุก
พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, เสริมความมั่นคง
เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด ตั้งอยู่ในเมืองโบราณเวียงคุก ไม่พบประวัติหรือตำนานที่กล่าวถึงเจดีย์แห่งนี้ แต่จากลักษณะของรูปทรงเจดีย์ อาจารย์ธวัช ปุณโณทก ได้กล่าวถึงในหนังสือศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว ว่า “….พระธาตุรูปลุ้ง (โกศ) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของท้องถิ่นคือทำเป็นรูปทรงลุ้ง ( โกศ ) ใส่อัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งปกติทำด้วยไม้ พระธาตุนี้ได้จำลองรูปลุ้งอันเป็นศิลปะท้องถิ่น….”
ลักษณะโบราณสถานเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 5.5 เมตร สูง 8 เมตร ก่ออิฐสอดินฉาบปูน ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 6 ชั้น รองรับฐานบัวย่อมุมไม้ยี่สิบที่ท้องไม้ยืดสูงคาดลูกแก้วอกไก่สองเส้น เหนือขึ้นไปเป็นชุดฐานรองรับองค์ระฆังที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมเตี้ยๆ มียอดกรวยทรงสูง ประดับด้วยกลีบบัวปูนปั้นแปดกลีบและลูกแก้วกลม ยอดบนสุดหักหายไป
ส่วนองค์ระฆังน่าจะเคยถูกซ่อมแซม เดิมคงเป็นชุดฐานที่รองรับองค์ระฆังในผังกลม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)
จากการประวัติการขุดแต่งเสริมความมั่นคงของกรมศิลปากรใน พ.ศ.2547 พบภาชนะทรงหม้อก้นกลมบรรจุพระพุทธรูปบุเงินบุทอง และภาชนะทรงไห กระปุก ตลับสำริดบรรจุกระดูก นอกจากนี้ยังพบใบเสมาหินทรายทางด้านทิศเหนือของเจดีย์ เหลือเพียงส่วนฐานล่างเล็กน้อย แต่ยังสังเกตเห็นรูปสลักสถูปจำลองหรือรูปหม้อน้ำตามแบบใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคอีสาน
ด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือของเจดีย์ ปัจจุบันมีศาลเจ้าหรือหอผีตั้งอยู่ 1 ศาล โดยสร้างเป็นเรือนขนาดเล็กยกพื้นเสาสูงทาสีแดง
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “เจดีย์ร้างข้างตลาด เวียงคุก.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/186