โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ที่ตั้ง : ม.2 บ้านโพนพระ ต.โคกคอน อ.โคกคอน
ตำบล : โคกคอน
อำเภอ : ท่าบ่อ
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.788084 N, 102.489946 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยขามเตี้ย, ห้วยวังทอง, ห้วยบ้านมุย
จากตัวอำเภอท่าบ่อ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2020 มุ่งหน้าลงทิศใต้ (มุ่งหน้าอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) ประมาณ 8.6 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 3012 ตรงไปประมาณ 900 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนอีก 94 เมตรพบสามแยก เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 3012 ไปตามถนนอีกประมาณ 4.8 กิโลเมตร ถึงบ้านโพนพระ (อยู่ห่างจากบ้านโคกคอนมาทางทิศตะวันตกประมาณ 800 เมตร)
เป็นชุมชนอยู่อาศัยในปัจจุบัน
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกคอน, เอกชน
สภาพทั่วไปของแหล่งโบราณคดีบ้านโพนพระมีลักษณะเป็นเนินดินค่อนข้างใหญ่รูปทรงยาวรี วางตัวด้านยาวตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านโพนพระ มีวัดศรีอุปถัมภ์เป็นวัดประจำหมู่บ้าน พื้นที่โดยรอบเป็นที่นาบนพื้นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี มีห้วยขามเตี้ยไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ด้านทิศใต้และตะวันออกมีห้วยวังทองหรือห้วยบ้านมุยไหลผ่าน ห้วยทั้ง 2 สาย เป็นลำน้ำสาขาของห้วยน้ำโมง
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ห่างจากห้วยน้ำโมงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 11 กิโลเมตร และห่างจากเทือกเขาภูพระบาทมาทางทิศตะวันออกประมาณ 17 กิโลเมตร
ห้วยน้ำโมง, ห้วยขามเตี้ย, ห้วยวังทอง, ห้วยบ้านมุย, แม่น้ำโขง
สภาพธรณีวิทยาของพื้นที่แถบนี้เป็นหินโคลนและหินทรายในหมวดหินภูทอก กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส (กรมทรัพยากรธรณี 2552)
จากการสำรวจและศึกษาของกรมศิลปากรที่ผ่านมาพบหลักฐานทางโบราณคดีตามผิวดินภายในหมู่บ้านโพนพระ โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผาที่กระจายอยู่ทั่วไป และหนาแน่นที่บริเวณกลางหมู่บ้านซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเนิน
จากการตัดถนนผ่านกลางเนินและการขุดดินเพื่อสร้างเตาเผาถ่าน ทำให้เห็นชั้นทับถมกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตจำนวนมาก หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น
1. โครงกระดูกมนุษย์ จำนวน 2 โครง (ชาวบ้านนำไปเผาบำเพ็ญกุศลแล้ว) และพบเศษภาชนะดินเผาที่ฝังร่วมกับโครงกระดูกจำนวนมาก
2. ภาชนะดินเผา เกือบทั้งหมดมีสภาพสมบูรณ์เติมใบทรงกลม จำนวน 53 รายการ
ผู้สำรวจให้ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หลักฐานที่พบแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการฝังเครื่องเซ่นไปพร้อมกับร่างของผู้ตายด้วย
ชุมชนโบราณแห่งนี้คงร่วมสมัยและมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน (หรืออาจเป็นชุมชนเดียวกัน) เนื่องจากอยู่ใกล้เคียงกันและพบหลักฐานทางโบราณคดีลักษณะคล้ายคลึงกัน อายุสมัยจากการกำหนดอายุจากชั้นวัฒนธรรมของแหล่งโบราณคดีที่พบภาชนะดินเผาก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั่นคือน่าจะอยู่ในสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยเหล็ก
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดหนองคาย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.