โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ถ.แก้ววรวุฒิ ต.ท่าบ่อ (เทศบาลเมืองท่าบ่อ) อ.ท่าบ่อ
ตำบล : ท่าบ่อ
อำเภอ : ท่าบ่อ
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.850875 N, 102.58487 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
เขตลุ่มน้ำรอง : น้ำโมง
วัดท่าคกเรือตั้งอยู่ภายในตัวอำเภอท่าบ่อและในเขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ ริมถนนแก้ววรวุฒิ ใกล้กับที่ทำการเทศบาลเมืองท่าบ่อและพิพิธภัณฑ์เทศบาลเมืองท่าบ่อ
วัดท่าคกเรือและพระเจ้าทองแสนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองเมืองท่าบ่อ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทั้งยังเป็นสถาที่บรรจุอัฐิอดีตเจ้าเมืองท่าบ่อ
ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะพระเจ้าทองแสนได้ทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดท่าคกเรือ, กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ คือ พระเจ้าทองแสน
วัดท่าคกเรือ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา ปัจจุบันอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศตะวันตกประมาณ 200 เมตร และห่างจากลำน้ำโมงมาทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร
แม่น้ำโขง, ห้วยน้ำโมง
พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน
วัดท่าคกเรือเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2120 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2310 ครั้งที่ 2 พ.ศ.2534
บริเวณวัดท่าคกเรือเป็นคุ้งแม่น้ำโขง น้ำนิ่ง สามารถจอดเรือได้สะดวก เรือสินค้าจากหลวงพระบาง เวียงจันทน์ นครพนม ที่ขึ้นล่องมักจอดแวะพักซื้อขายสินค้าเป็นประจำ สินค้าสำคัญของพื้นที่นี้คือ เกลือสินเธาว์ จึงได้ชื่อว่าบ้านท่าบ่อเกลือ (ท่าบ่อ) ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2438 จึงยกขึ้นเป็นเมืองท่าบ่อ และยุบเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2450
ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคูเมืองท่าบ่อ คือ พระเจ้าทองแสน ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุแล้ว นอกจากนี้ ภายในวัดยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิอดีตเจ้าเมืองท่าบ่อ
พระเจ้าทองแสนปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดท่าคกเรือ สร้างด้วยสำริด ศิลปะล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 หน้าตักกว้าง 87 เซนติเมตร (34 นิ้ว) สูง 213 เซนติเมตร องค์พระสูง 130 เซนติเมตร (51 นิ้ว) และฐานองค์พระกว้าง 89.4 เซนติเมตร ที่ฐานมีจารึกอักษรธรรมอีสาน 2 บรรทัด องค์พระสามารถถอดแยกออกจากฐานพระแท่นได้ เช่นเดียวพระรัศมีที่ทำเป็นดอกบัวตูมประดับแก้ว เพชร พลอย ก็สามารถถอดออกได้
จารึกที่ฐานระบุถึงการสร้างว่า
(บรรทัดที่ 1) จุลสังกราท.....๑๕ ตัว ปีกาไส้ เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ วัน ๖ ยามแถใกล้เที่ยงวันพระยาเจ้าหลวงสุคันธวงศ์.....ราชเจ้า ประกอบกิ
(บรรทัดที่ 2) ทา ในวรพุทธศาสนา สร้างพระพุทธเจ้า แต่องค์หนักแสน ๒ หมื่น ๖ พัน แทน หนัก ๒ แสนทอง นิพฺพานปจฺจโยตุ
ส่วนอัฐิพระยากุประดิษฐ์บดี หรือท้าวขัตติยะ (ชาลี) (ต้นสกุล กุประดิษฐ์) เจ้าเมืองท่าบ่อคนแรก บรรจุอยู่ในฐานรูปปั้นสิงห์ หน้ากุฏิเจ้าอาวาส คู่กับอัฐิของภริยา คือ นางเปรียง ณ หนองคาย (บุตรสาวพระยาวุฒาธิคุณ (เคน) กับหม่อมบุษดีหรือหม่อมจันดี)