โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดอรัญญา
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านศรีวิไล ต.โพธิ์ตาก อ.โพธิ์ตาก
ตำบล : โพธิ์ตาก
อำเภอ : โพธิ์ตาก
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.84187 N, 102.431159 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยถ่อน
วัดอรัญญาหรือวัดดงนาคำ ตั้งอยู่ในตัวอำเภอโพธิ์ตาก โดยจากทางหลวงหมายเลข 2266 ที่ตัดผ่านตัวอำเภอโพธิ์ตาก สามารถเข้าสู่วัดได้ทั้งทางซอยโรงพยาบาลโพธิ์ตาก และซอย 1 บ้านศรีวิไล โดยเข้าซอยมาประมาณ 700-800 เมตร (ถนนซีเมนต์ต่อเนื่องยังถนนลูกรังขนาดเล็ก) จะพบทางเข้าสู่วัดทางซ้ายมือ
หากเข้าทางหมู่ 1 บ้านโพธิ์ตาก (ซอยวัดโพธิรุขาราม) เข้ามาตามถนนซีเมนต์และถนนลูกรังประมาณ 1.7 กิโลเมตร จะพบทางเข้าสู่วัดอรัญญา (ดงนาคำ) ทางขวามือ
วัดอรัญญา (ดงนาคำ) ปัจจุบันเป็นวัดที่ยังมีการใช้งาน ตั้งอยู่ห่างจากตัว สภาพร่มรื่น เงียบสงบ หลักฐานทางโบราณคดีที่อยู่ภายในวัดคือหลักหินและเสมาหิน ได้รับการดูแลรักษาค่อนข้างดี เป็นที่สักการะและหวงแหนของชาวบ้านโดยทั่วไป ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
หมายเลขโทรศัพท์เจ้าอาวาสวัดอรัญญา (ดงนาคำ) 090-357-3806, 083-734-1826
วัดอรัญญา (ดงนาคำ)
วัดอรัญญา (ดงนาคำ) ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ก่อตั้งเป็นวัดเมื่อปี 2551 สภาพพื้นที่ เป็นเนินดินบนที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา มีลำน้ำธรรมชาติที่เป็นสาขาของห้วยน้ำโมงและห้วยถ่อนไหลผ่านหลายสาย รวมทั้งทางน้ำธรรมชาติที่ด้านทิศใต้ของวัดและเนิน
ปัจจุบันห้วยถ่อนไหลอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนห้วยน้ำโมงไหลห่างจากวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2.5 กิโลเมตร
สภาพพื้นที่บนเนินดินนอกจากจะเป็นที่ตั้งของวัดอรัญญาแล้ว ยังเป็นพื้นที่ไร่และสวนของชาวบ้าน ส่วนพื้นที่รอบเนินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา
ห้วยน้ำโมง, ห้วยถ่อน, แม่น้ำโขง
พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน
ตามประวัติระบุว่าพื้นที่ภายในวัดอรัญญา (ดงนาคำ) เคยพบหลักหินและเสมาหินที่มีลวดลายคล้ายใบเสมาสมัยทวารวดี จำนวน 52 ชิ้น แต่เกือบทั้งหมดถูกขนย้ายไปตั้งไว้ที่หน้าหอสมุดวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ โดยยังเหลืออีกหนึ่งหลักตั้งไว้ที่วัดโพธิ์ตาก เมื่อตั้งวัดอรัญญา (ดงนาคำ) พระสงฆ์ได้ขอกลับไปตั้ง ณ ที่เดิม 3 ชิ้น ภายในพื้นที่วัดยังพบเศษหินศิลาและเศษภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีกระจายอยู่ทั่วไป
นอกจากนั้น ยังเคยพบเครื่องมือหินประเภทใบขวานหิน ภาชนะสำริด และโอ่งดินเผาขนาดกว้าง 2 ฟุต ภายในพบกระดูกและฟันสัตว์ หม้อขนาดเล็ก ลวดลายภายนอกของโอ่งดินเป็นลายทาบจากเครื่องจักสานประเภทเสื่อสาด หรือการขูดขีดของไม้ให้เป็นร่อง ไม่มีการเคลือบ
นักวิชาการบางท่านสำรวจและสันนิษฐานว่า พื้นที่ตั้งวัดอรัญญา (ดงนาคำ) นี้ อาจเป็นชุมชนสมัยทวารวดี มีแนวกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบ และน่าจะเป็น เวียงนกยูง ที่ปรากฏชื่อในตำนานอุรังคธาตุ น่าจะโดยการปรากฏใบเสมาหินทรายจำนวนมาก แสดงถึงความเป็นชุมชนที่มีความสำคัญทางศาสนา
หลักหินที่พบจำนวนหนึ่งมีรูปทรงคล้ายแท่งหินหรือหลักศิลาที่ใช้ปักแสดงเขตประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มวัฒนธรรมหินตั้ง (Megalith) ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ส่วนเสมาหินบางใบมีลวดลายคล้ายใบเสมาสมัยทวารวดี บางใบมีภาพจำหลักเรื่องราวชาดก จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบอยู่ภายในวัดปัจจุบันมีเพียงหลักหินและเสมาหินทราย 6 หลัก โดยปักเรียงกันกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ บนแท่นซีเมนต์ปูแผ่นกระเบื้อง ภายในศาลาโปร่งขนาดเล็กด้านข้างหรือด้านทิศตะวันออกของศาลาอเนกประสงค์ (ศาลาโสฬสมงคลธรรม) หลักหินและเสมามีขนาดความสูงตั้งแต่ประมาณ 0.5-2 เมตร ไม่มีลวดลาย
จากการสัมภาษณ์พระครูจันทธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดอรัญญา (ดงนาคำ) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 ทำให้ได้ข้อมูลว่า ขณะนั้นภายในวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียง 1 รูป เดิมภายในวัดมีหลักหินและเสมาอยู่หลายหลัก แต่เกือบทั้งหมดได้ขนย้ายไปอยู่ ณ วัดหินหมากเป้ง โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้งในขณะนั้น (ขณะนั้นวัดอรัญญา หรือวัดดงนาคำเป็นเพียงสำนักสงฆ์ดงนาคำ) เหลือไว้เพียง 1 หลัก ภายหลังได้ขอคืนมาอีก 3 หลัก รวมเป็น 4 หลักที่ปักตั้งอยู่ในศาลาปัจจุบัน ภายหลังพบเพิ่มอีก 2 หลัก จึงนำมาเก็บไว้ภายในศาลา รวมเป็น 6 หลัก ส่วนเสมาที่สลักลวดลายชาดกนั้น กรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
นอกจากนี้ ในอดีตภายในพื้นที่วัดเต็มไปด้วยหลักหิน เศษหิน และภาชนะดินเผาโบราณขนาดใหญ่น้อยกระจายอยู่ทั่วไป แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏอยู่บนผิวดินแล้ว เนื่องจากมีการไถปรับหน้าดินหลายครั้ง หากต้องการพบโบราณวัตถุต้องขุดลึกลงไปในพื้นดินปัจจุบันประมาณ 1 ฟุต
จากการเดินสำรวจบนผิวดินบางส่วนภายในวัด ไม่พบโบราณวัตถุ (ไม่สามารถเดินสำรวจผิวดินได้ทั้งหมด เนื่องจากสภาพส่วนใหญ่มีต้นไม้และวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก)