วัดจอมมณี


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดจอมมณี มณีเชษฐาราม

ที่ตั้ง : ถ.แก้ววรวุฒิ ม.1 บ้านจอมมณี ต.มีชัย (เทศบาลเมืองหนองคาย) อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : มีชัย

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.876169 N, 102.716802 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังฮู

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดจอมมณี ตั้งอยู่ริมถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) ภายในตัวจังหวัดหนองคายหรือในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

จารึกวัดจอมมณีได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากทางวัด ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมจารึกและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดจอมมณีได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หมายเลขโทรศัพท์วัดจอมมณี 042-421-277

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดจอมมณี, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ คือ จารึกวัดจอมมณี

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดจอมมณี ตั้งอยู่ริมถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) ภายในตัวจังหวัดหนองคายหรือในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 สภาพโดยรอบเป็นชุมชนหนาแน่น สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำโขง เกิดจากการทับถมของตะกอนตะพักลำน้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

190 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง, ห้วยวังฮู

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำโขง เกิดจากการทับถมของตะกอนตะพักลำน้ำในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2098, พุทธศตวรรษที่ 22, พ.ศ.2460

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน, จารึก

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดจอมมณีเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2460 ได้รับพระราชทางวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2533 หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัดคือ จารึกตัวอักษรไทยน้อย 1 หลัก ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุแล้ว

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ จารึก 1 หลัก ปัจจุบันปักตั้งอยู่ที่แท่นปูนเบื้องหน้าด้านซ้ายของอุโบสถ ภายในกำแพงแก้ว มีการสร้างหลังคาขนาดเล็กคลุมจารึก

จารึกวัดจอมมณี ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงใบเสมา  กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 110 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร จารึกตัวอักษรไทยน้อย ภาษาไทย ทั้ง 2 ด้าน ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2518 สภาพผิวจารึกบางส่วนแตกร่อนหลุดออก โดยเฉพาะด้านที่ 2 ผิวหินแตกร่อนออกเป็นส่วนใหญ่

เนื้อหาโดยสังเขปของจารึกด้านที่ 1 (ด้านที่หันเข้าหาอุโบสถหรือหันไปทางทิศใต้) เป็นพระบรมราชโองการของสมเด็จพระบรมบพิตรเป็นเจ้าเหนือหัว (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช) และพระราชมารดา (พระนางยอดคำ หรือ พระนางหอสูง พระราชธิดาพระเมืองเกษเกล้าแห่งอาณาจักรล้านนา พระอัครมเหสีพญาโพธิสาลราช) ให้พระยานครและขุนนางผู้ใหญ่สร้างศิลาจารึกหลักนี้ และช่วยกันทำนุบำรุงศาสนา รวมทั้งกำหนดเขตกัลปนาที่ดิน และอุทิศทาสโอกาสแก่วัด

ข้อความบรรทัดที่ 1 ของจารึกด้านที่ 1 ระบุ จ.ศ.917 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2098 อันเป็นสมัยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ.2093-2115)

ส่วนจารึกด้านที่ 2 สร้างสมัยพระมหาธรรมิกราชาธิราช กล่าวถึงการถวายที่ดินแก่วัดมณีเชษฐาราม

ชื่อกษัตริย์ “พระมหาธรรมิกราชาธิราช” อาจเป็นพระวรวงศาธรรมิกราชที่ปกครองราชอาณาจักรล้านช้างในช่วง พ.ศ.2141-2165 หรือพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชที่ปกครองราชอาณาจักรล้านช้างในช่วง พ.ศ.2181-2238 พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าวัดจอมมณีจะเป็นวัดมณีเชษฐารามตามที่ปรากฏในจารึก เนื่องจากจารึกอาจถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ประกอบกับยังไม่พบโบราณสถานและหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ในพื้นที่วัดจอมมณีที่ร่วมสมัยกับจารึก

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ธวัช ปุณโณทก. “ศิลาจารึกวัดจอมมณี.” ใน ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530 หน้า 247-253.

นวพรรณ ภัทรมูล. “จารึกวัดจอมมณี.” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557” เข้าถึงจาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=2369

บุณนาค สะแกนอก. “จารึกวัดจอมมณี.“ ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 : อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19-24. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529, 336-343.

สิลา วีระวงส์ (เรียบเรียง), สมหมาย เปรมจิตต์ (แปล). ประวัติศาสตร์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2540, หน้า 84-106, 111-114, 117-126.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี