โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดเมืองหนอง
ที่ตั้ง : ถ.มีชัย ต.ในเมือง (เทศบาลเมืองหนองคาย) อ.เมืองหนองคาย
ตำบล : ในเมือง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.885445 N, 102.7493 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดศรีเมืองตั้งอยู่ในตัวเมืองหนองคายหรือในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ริมถนนมีชัย บริเวณตลาดท่าเสด็จ
วัดศรีเมืองปัจจุบันตั้งอยู่ในตัวจังหวัดหนองคาย ติดกับตลาดท่าเสด็จ จึงหนาแน่นไปด้วยผู้คนและรถยนต์ที่เข้ามาจอดอยู่ภายในวัด อย่างไรก็ตาม โบราณปูชนียสถานต่างๆ ภายในวัดได้รับการเคารพบูชาและดูแลรักษาจากชาวจังหวัดหนองคายเป็นอย่างดี ทั้งยังมีประวัติศาสตร์ที่เขื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านช้าง อย่างไรก็ตาม อาจมีการดูแลที่ผิดวิธี ดังที่ปรากฏสีแดงเป็นจุดๆ ที่ศิลาจารึก
อุโบสถและพิพิธภัณธ์เจดีย์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเฉพาะช่วงกลางวัน ไม่เสียค่าเข้าชม
วัดศรีเมือง, กรมศิลปากร
วัดศรีเมืองได้รับการประกาศขึ้นะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 1527 วันที่ 27 กันยายน 2479 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
วัดศรีเมืองเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดหนองคายและในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย โดยรอบวัดเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หนาแน่น สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา ปัจจุบันวัดตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร
แม่น้ำโขง
พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน
วัดศรีเมืองปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ประวัติการสร้างไม่ชัดนัก แต่ตามประวัติวัดกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2100 หรือ 2120 โดยพระไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้าง โดยสร้างขึ้น ณ บริเวณหนองน้ำตามที่ได้ทรงอธิษฐานให้จับนกเขาเผือกได้ พร้อมกับได้สร้างพระพุทธรูปยืนด้วย 1 องค์ เรียกชื่อวัดว่า “วัดเมืองหนอง” ต่อมาประมาณ พ.ศ.2450 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศรีเมือง” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2534
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัดศรีเมือง ได้แก่ พระไชยเชษฐา เจดีย์ทรงปราสาทหรือกู่ พระพุทธรูปสัทธาธิกหรือหลวงพ่อศรีเมือง และศิลาจารึกสมัยล้านช้าง
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัดล้วนแต่อยู่ภายในอุโบสถ อุโบสถน่าจะเป็นอุโบสถใหม่ที่สร้างบนอุโบสถเดิมตามอิทธิพลจากภาคกลาง แต่ยังคงรูปแบบศิลปะพื้นถิ่นหรือศิลปะล้านช้างไว้ โดยเฉพาะสัตบริภัณฑ์ที่ประดับบนสันหลังคา อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
พระไชยเชษฐา ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ทาสีทองทั้งองค์ มีแผ่นรองรับด้านหลัง พระกรสองข้างแนบลำพระองค์ ครองจีวรห่มคลุมปลายจีวรโค้ง พระหัตถ์ปรากฏรูปแบบศิลปกรรมพื้นถิ่นอิทธิพลล้านช้าง กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)
หลวงพ่อศรีเมือง (พระพุทธสัทธาธิกะ) ประดิษฐานเป็นประธานในอุโบสถ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปสำริดประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัยบนฐานปัทม์ พระพักตร์เสี้ยม พระนาสิกใหญ่โด่งงุ้ม มีเส้นเชื่อมระหว่างขอบพระโอษฐ์สองข้างกับขอบพระนาสิก เม็ดพระศกเล็กรัศมีรูปเปลวแหลม ครองจีวรห่มเฉียง มีชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัด นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน ฐานเป็นขาสิงห์ประกอบกับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ฉลุลายโปร่ง (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)
ที่ส่วนฐานด้านหน้าปรากฏจารึกอักษรธรรมอีสาน 6 บรรทัด ระบุจุลศักราช 1125 (ตรงกับ พ.ศ.2306) มีสาระสำคัญว่า พระราชมารดามหากษัตริย์ขัตติยวรกัญญาเจ้า ได้หล่อพระพุทธรูปองค์นี้ ชื่อว่า สัทธาธิก ในวัดกลางหลวงจันทบุรี พร้อมตั้งคำอธิษฐาน
จากเนื้อความทำให้เข้าใจว่าพระองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากเวียงจันทน์ (เอกสารบางฉบับระบุว่าย้ายมาเมื่อหลัง พ.ศ.2369)
เจดีย์ทรงปราสาท (กู่) หรือ กรงนกพระไชยเชษฐา อยู่ภายในอุโบสถ ด้านหลังพระพุทธรูปสัทธาธิก ลักษณะเป็นอาคารมณฑปโถงหรือเจดีย์ทรงปราสาทหรือกู่ สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายใน ลักษณะก่ออิฐถือปูน อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ยอดเป็นหลังคาลาดซ้อนกันตกแต่งด้วยลายปูนปั้น โดยเฉพาะรูปนาคหรือมังกร มีซุ้มสี่ด้าน คล้ายคลึงกันกับปราสาทหรือกู่ของศิลปะล้านนามาก อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)
ศิลาจารึก ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของอุโบสถ ติดกับรั้วระเบียง ทำจากหินทราย เป็นจารึกที่เคลื่อนย้ายมาจากวัดศิลาเลข อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มาไว้ที่วัดนี้นานแล้ว (วัดศิลาเลขอยู่ในเวียงคุก เมืองโบราณที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกตามแม่น้ำโขงราว 20 กิโลเมตร)
ลักษณะจารึกเป็นแผ่นหินทราย รูปทรงเสมาสูง มีจารึก 1 ด้าน (ค่อนข้างเลือนลาง) จารึกด้วยอักษรไทยน้อย 40 บรรทัด ระบุจุลศักราช 928 (ตรงกับ พ.ศ.2109) มีสาระสำคัญว่า พระไชยเชษฐาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดศรีสุพรรณอาราม และอุทิศที่ดิน ทาสโอกาสแก่วัด และสาปแช่งผู้ทำลายทานวัตถุเหล่านั้น
ขอบและด้านหลังจารึกปัจจุบันทาด้วยสีแดง ในขณะที่ด้านที่มีจารึกปรากฏร่องรอยเปรอะเปื้อนสีแดงเป็นจุดๆ
หลักเมือง (เจ้าพ่อหลักเมือง) ลักษณะเป็นเสมาหินทราย 2 ใบ ปักซ้อนกันอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกนอกรั้วระเบียงอุโบสถ หรือด้านหน้าของศิลาจารึก โดยตั้งอยู่ภายในศาลขนาดเล็กที่เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ไม่ทราบที่มาแน่ชัด
หลักเมืองหรือเสมาด้านหน้ามีขนาดเล็ก ความสูง (เฉพาะที่โผล่พ้นพื้นศาล) ประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนหลักเมืองหรือเสมาด้านหลัง มี่ความสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ปัจจุบันมีการทาเสมาทั้ง 2 ใบด้วยสีแดง พร้อมทั้งมีเครื่องเซ่นต่างๆ วางอยู่โดยรอบและบนหลักเมือง
นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์เจดีย์ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต)” อดีตพระราชาคณะและเจ้าอาวาสวัดศรีเมือง ภายในจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง รูปปั้น ชีวประวัติ อัฐบริขาร และข้าวของเครื่องใช้ของพระธรรมโลกาจารย์ รวมทั้งยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของท่าน
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดศรีเมือง หนองคาย.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/460