วัดสาวสุวรรณ


โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดสาวสุวรรณาราม

ที่ตั้ง : 211 ม.2 บ้านเวียงคุก ต.เวียงคุก (เทศบาลตำบลเวียงคุก) อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : เวียงคุก

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.800077 N, 102.667762 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยคุก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดสาวสุวรรณารามตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ประมาณ 13.5 กิโลเมตร จะพบวัดสาวสุวรรณทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานและหลักฐานทางโบราณคดีภายในวัดสาวสุวรรณเป็นโบราณปูชนียสถานวัตถุที่ยังคงได้รับการเคารพสักการะจากพุทธศาสนิกชนจนถึงปัจจุบัน มีการทำนุบำรุงรักษาเป็นอย่างดี

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

วัดสาวสุวรรณาราม เลขที่ 211 วัดสาวสุวรรณาราม บ้านเวียงคุก อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย 43000 โทร 090-582-8185

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดสาวสุวรรณาราม, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 81ง วันที่ 15 กันยายน 2540 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดสาวสุวรรณารามตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองโบราณเวียงคุกในสมัยอดีต ลักษณะพื้นที่เป็นเนินดินบนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยด้านทิศเหนือของเวียงคุกอยู่ติดกับห้วยคุกและแม่น้ำโขงในส่วนคุ้งแม่น้ำ (ห้วยคุกที่ไหลผ่านด้านทิศเหนือของเมืองไหลขนานไปกับแม่น้ำโขงก่อนที่จะวกลงทิศใต้ที่ด้านตะวันตกของเมือง) ปัจจุบันบนเนินดินเวียงคุกเป็นชุมชนหนาแน่น พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำนาทำไร่ (ยกเว้นด้านทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำโขง)

วัดสาวสุวรรณารามตั้งอยู่ด้านเหนือสุดของเมือง ปัจจุบันอยู่เกือบติดกับห้วยคุกและแม่น้ำโขง ห่างจากห้วยคุกเพียงถนนกั้น (ห่างจากห้วยคุกมาทางทิศใต้ประมาณ 40 เมตร ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

173 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง, ห้วยคุก

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยเขมร, สมัยล้านช้าง, สมัยบายน, สมัยนครวัด

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 17-18, พุทธศตวรรษที่ 22-24, พุทธศตวรรษที่ 25

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สงวน บุญรอด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2512 อ.สงวน บุญรอด ได้สำรวจวัดสาวสุวรรณารามพบพระธาตุ ฐานกว้าง 6 เมตร เป็นศิลาแลง เสมาหินทรายแดง สูง 1 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตร มีรูปสลักเทวดาหรือพระโพธิสัตว์และนางปัญญาบารมี นอกจากนั้นยังพบพระธาตุหรือเจดีย์เก่าอีก 1 องค์ และมณฑป 1 หลัง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดสาวสุวรรณาราม ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2528 ตั้งอยู่ในพื้นที่เวียงคุก ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เขมร และล้านช้าง

จากการศึกษาที่ผ่านมาทำให้สันนิษฐานได้ว่า แต่เดิมวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง ราว พ.ศ.2200 โดยพระองค์ได้มอบให้หมื่นกางโฮงนำบริวารอพยพมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาตั้งบ้านเรือนขึ้นที่นี่ แล้วให้สร้างวัดขึ้น 2 วัด โดยทรงอนุญาตให้ใช้พระนามพระราชธิดาทั้ง 2 องค์เป็นชื่อวัด คือ วัดกุศลนารี สำหรับพระธิดาองค์ใหญ่ และวัดสาวสุวรรณาราม สำหรับพระธิดาองค์เล็ก เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระธิดาทั้ง 2 ได้ทรงอุปถัมภ์มาโดยตลอด

เมื่อ พ.ศ.2512 อ.สงวน บุญรอด ได้สำรวจวัดสาวสุวรรณารามพบพระธาตุ ฐานกว้าง 6 เมตร เป็นศิลาแลง เสมาหินทรายแดง สูง 1 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตร มีรูปสลักเทวดาหรือพระโพธิสัตว์และนางปัญญาบารมี นอกจากนั้นยังพบพระธาตุหรือเจดีย์เก่าอีก 1 องค์ และมณฑป 1 หลัง

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการสำรวจของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในเดือนกันยายน 2557 ได้แก่

พระธาตุ ตั้งอยู่ด้านหน้าเบื้องซ้าย (ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ของอุโบสถ นอกกำแพงแก้ว สภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นพระธาตุหรือเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูน ทรงบัวเหลี่ยมในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในล้านช้าง เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ไม่สูงมากนัก (ฐานเขียงชั้นล่างสุดกว้างด้านละประมาณ 6 เมตร) ถัดขึ้นไปจึงเป็นองค์เจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม ยอดเรียวสอบ ที่มุมล่างองค์ระฆังทั้งสี่มุมประดับด้วยกลีบบัวปากระฆังมีปลายงอน ส่วนยอดพระธาตุเป็นบัวคว่ำ ลูกแก้วอกไก่ บัวหงายและองค์ระฆังจำลองซ้อนลด ต่อด้วยส่วนปลียอด รวมความสูงประมาณ 8.2 เมตร ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ไม่สูงนี้ เป็นที่นิยมในศิลปะล้านช้างราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

เจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม (แปดเหลี่ยม) ตั้งอยู่ด้านหน้าเบื้องขวา (ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้) ของอุโบสถ นอกกำแพงแก้ว สภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูน ทรงบัวแปดเหลี่ยมแบบที่นิยมในล้านช้าง ลักษณะฐานชั้นล่างสุดทรงแปดเหลี่ยมซ้อน 2 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานปัทม์ บัวคว่ำ องค์ระฆังทรงแปดเหลี่ยมส่วนปลายคอดเรียว ส่วนบนเป็นปลียอด รวมความสูงประมาณ 5 เมตร ฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับยอดทรงคล้ายดอกบัวอยู่ในผังแปดเหลี่ยม กำหนดอายุได้ในสมัยล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

บริเวณโดยรอบเจดีย์องค์นี้ มีชิ้นส่วนเจดีย์เก่าอยู่ 4 ชิ้น โดยเป็นก้อนแลงลักษณะกลม 2 ชิ้น ชิ้นส่วนก่ออิฐลักษณะกลม 2 ชิ้น โดยหนึ่งในนั้นปรากฏปูนปั้นด้านนอกเป็นรูปดอกบัว

มณฑปและเสมา มณฑปตั้งอยู่ด้านหน้าเบื้องซ้าย (ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ของอุโบสถ นอกกำแพงแก้ว ติดกับพระธาตุ (อยู่ด้านทิศตะวันตกของพระธาตุ) ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐขนาดเล็ก ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 2.5 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร มีทางเข้าอยู่ด้านทิศเหนือ โดยเจาะเป็นประตู ผนังด้านทิศตะวันตกมีช่องแสงประดับลายปูนปั้นรูปพญานาคขมวดหาง ปัจจุบันมณฑปทาด้วยสีขาวออกเหลือง พญานาคทาสีส้ม

ภายในมณฑปมีชิ้นส่วนแตกหักของรูปเคารพสมัยปัจจุบันหนาแน่นมาก (ตามประวัติภายในมณฑปมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปนาคปรกหลายชิ้น) และมีเสมาหินทรายแดง 1 ชิ้น ลักษณะคล้ายใบเสมาสมัยทวารวดี สลักเป็นรูปบุคคลแต่งกายอย่างศิลปะเขมรคือนุ่งผ้าสมพตสั้น มีชายผ้าแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลมด้านหน้า สวมศิราภรณ์เป็นกระบังหน้า อยู่ในอาการกำลังก้าวเดิน มีรูปนกบินอยู่ข้างหน้าภายในซุ้มคดโค้ง อาจเป็นภาพเล่าเรื่องทางศาสนาตอนใดตอนหนึ่ง เทียบได้กับศิลปะเขมรสมัยยนครวัด-บายนกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

ส่วนเสมาหินทรายแดงชิ้นอื่นๆ ที่ อ.สงวน บุญรอด สำรวจพบเมื่อ พ.ศ.2512 สำรวจพบนั้น ไม่พบในการสำรวจครั้งนี้

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดสาวสุวรรณ เวียงคุก.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจากhttp://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/399

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี