โพสต์เมื่อ 18 ธ.ค. 2021
ที่ตั้ง : เลขที่ 146 ถ.บำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร
ตำบล : วัดราชบพิธ
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.751118 N, 100.501074 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
วัดสุทัศนเทพวรารามฯ ตั้งอยู่ติดกับเสาชิงช้า ใกล้กับโบสถ์พราหมณ์ ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ริมถนนตีทองและถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 10 ,12 ,15 ,19 ,35 ,42 ,48 ,73 ,96 ลงป้ายวัดสุทัศน์ หรือเสาชิงช้า
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของประเทศ ภายในวัดมีโบราณปูชนียสถานวัตถุมากมาย พุทธศาสนิกชนจำนวนมากนิยมกราบสักการะพระศรีศากยมุนี ภายในพระวิหารหลวง พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ภายในพระอุโบสถ พระพุทธเสรฎฐมุนี ภายในศาลาการเปรียญ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ส่วนนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมชื่นชมความงามและความสงบร่มรื่นของวัดทั้งกลางวันและกลางคืน
กิจกรรมของทางวัด ทุกวันจะมีการทำวัตรสวดมนต์ ฟังธรรม ปฏิบัติภาวนา เวลา 19.00 - 21.00 น. ณ วิหารหลวง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาและวันสำคัญอื่นๆ เช่น การปฏิบัติธรรมและเวียนเทียน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วิสาขบูชา อัฎฐมีบูชา อาสาฬบูชา และมาฆบูชา) งานส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ สวดมนต์ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน งานประเพณีสงกรานต์ งานบวชชีพราหมณ์ งานอุปสมบทสามเณรเปรียญ งานเทศน์มหาชาติประจำปี วันแรม 11-15 ค่ำ เดือน 10
ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะ และเยี่ยมชมวัดได้ทุกวัน ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท
บริเวณวัด เปิดเวลา 8.00 - 17.00 น.
พระอุโบสถ เปิดเวลา 8.00 - 17.00 น.
พระวิหารหลวง เปิดเวลา 7.00 - 21.00 น.
หมายเลขโทรศัพท์ 02-224-9845, 02-222-9632
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
โบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดบัญชีโบรษณวัตถุสถาน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 หน้า 5281 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 (โบราณวัตถุสถานในวัดสุทัศน์เทพวราราม)
วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ปัจจุบันตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้านทิศเหนือติดกับถนนบำรุงเมืองและเสาชิงช้า ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนศิริพงษ์ ด้านทิศใต้ติดกับอาคารตึกแถวในซอยสระสรง และด้านทิศตะวันตกติดกับถนนตีทอง
แม่น้ำเจ้าพระยา
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน
วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นพระอารามขนาดใหญ่ มีเจดียสถานสำคัญยิ่งและมีเกียรติสูงสุด สถาปัตยกรรมภายในวัดสุทัศน์ฯสร้างขึ้นเป็นพระอารามในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนมาเสร็จสมบูรณ์สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและภายหลังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมในรัชกาลต่อๆ มา
ประวัติวัด
วัดสุทัศนเทพวรารามตั้งอยู่พื้นที่กลางเมืองพระนครของกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวคือจากผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งเริ่มสร้างกรุงนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ขยายพระนครกว้างออกไปกว่าเดิม (กว้างกว่าสมัยกรุงธนบุรี) โดยเกณฑ์แรงงานขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก พระราชทานชื่อว่า “ครอบรอบกรุง” แล้วขุดคลองหลอด 2 คลอง เชื่อมต่อระหว่างคลองคูเมืองเดิมสมัยกรุงธนบุรี กับคลองรอบกรุงใหม่นี้ ส่งผลให้พระนครมีพื้นที่ขยายและถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในพื้นที่ตรงกลางซึ่งล้อมรอบด้วยคลองคูเมืองเดิมทางด้านทิศตะวันตก คลองรอบกรุงทางด้านทิศตะวันออก คลองหลอดสองสายทางด้านทิศเหนือและใต้ จึงถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของ “มหาวิหารกลางพระนคร”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนครสูงเท่าวัดพนัญเชิง บริเวณที่สร้างวัดแห่งนี้เดิมเป็นหนองบึง ใน พ.ศ.2350 จึงมีการถมอิฐและหินลงไปที่บึงนั้น 7-8 ชั้น จนได้พื้นที่กว้างใหญ่พอที่จะสร้างวัด โดยมีพระราชประสงค์เพื่อการประดิษฐานพระศรีศากยมุนีที่อัญเชิญมาจากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย (พระครูวิจิตรการโกศล 2516 : 4)
มูลเหตุการสร้างวัดปรากฏในตำนานพระอารามหลวงว่า
“เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีแล้ว ความมุ่งหมายจะทำนุบำรุงให้เหมือนกรุงศรีอยุธยาเดิม ด้วยนับถือกันว่า ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นสมัยที่บ้านเมืองรุ่งเรือง เรียกกันว่าครั้งบ้านเมืองดี รั้งวังวัดวาที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มักถ่ายแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา ยกตัวอย่างเช่นที่วัดสุทัสน์ฯ เป็นที่ประดิษฐานพระโต ซึ่งเชิญมาแต่เมื่อสุโขทัยในรัชกาลที่ 1” (คลี่ สุทัศน์ ณ อยุธยา 2473 : 2)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นได้ดำเนินการก่อพื้นพระวิหารพร้อมกับการสร้างฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป เมื่อการสร้างฐานชุกชีเสร็จแล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากเมืองสุโขทัย มาประดิษฐานเป็นหลักแก่พระนครเสมือนเมืองครั้งกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองดี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2351 (สุภัทรดิศ ดิศกุล และคณะ 2512 : 7) เพื่อยกพระศรีศากยมุนีขึ้นที่ให้ทันใน พ.ศ.2352 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกำลังประชวรอยู่ใกล้สวรรคต
การสร้างพระวิหารหลวงให้มีความสูงเท่ากับวัดพนัญเชิงและการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากสุโขทัยมาประดิษฐาน ณ พระวิหารแห่งนี้นั้น มีปรากฏในหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2526) โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนครให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองโศกโขทัย ชะลอเลื่อนลงมากรุง ประทับท่าสมโภช 7 วัน ณ เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ยกทรงเลื่อนซักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องมนัสการพระทุกหน้าวัง หน้าบ้าน ร้านตลอด ตลอดจนถึงที่ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมีมีหวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระหาทรงฉลองพระบาทจนถึงพลับพลา เสด็จขึ้นเซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรา รับทรงพระองค์ไว้...”
ส่วนเรื่องราวการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีนั้น พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 2531 : 103) ได้ให้รายละเอียดว่า ในจุลศักราช 1170 ปีมะโรง สัมฤทธิศก เป็นปีที่ 27 ในรัชกาลที่ 1 ณ วันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองสุโขทัย ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ หนักตัก 3 วา คืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ 3 วัน ครั้น เดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ เชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้างไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า ประตูบริเวณนั้นจึงเรียกว่าประตูท่าพระ แต่เนื่องจากองค์พระพุทธรูปมีขนาดใหม่จึงได้ทำการรื้อประตูแล้วจึงอัญเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปพระองค์นี้ภายหลังได้ถวายพระนามว่า “พระศรีศายกมุนี”
เนื่องจากพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัยนี้มีความชำรุดทรุดโทรมมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตรัสสั่งให้ปฏิสังขรณ์แก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้องตามพระอรรภถาและพระบาลี โดยได้ทำการเททองใหม่ ณ บริเวณที่สร้างวัดนี้เอง (พระครูวิจิตรการโกศล 2516 : 1-2) ดังปรากฏในหลักฐานเอกสารพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (2555) ระบุเกี่ยวกับการสร้างพระวิหารวัดสุทัศน์ว่า
“ในปีมะเมียนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระโตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เสาชิงช้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเชิญลงมาไว้เพื่อพระราชดำริจะทำวัดขึ้นในคลองพระนครเป็นวัดใหญ่อีกวัดหนึ่ง การก็ยังหาได้ทำไม่ จำต้องฉลองพระเดชพระคุณ เสียให้แล้วมีพระราชดำรัสให้เจ้าพนักงานจัดการทำพระวิหารใหญ่ขึ้น องค์พระพุทธรูปนั้นทรงทอดพระเนตรเห็นว่าพระเศียรย่อมไปกว่าพระองค์ไม่สมกันจึงให้ช่างถอดออกหล่อพอกพระเศียรพระพักตร์ให้ใหญ่ขึ้น แลนิ้วพระหัตถ์ของเดิมนั้นสิ้นๆ ยาวๆอยู่ ก็โปรดให้ต่อนิ้วพระหัตถ์ให้เสมอกัน เหมือนอย่างพระพุทธรูปทุกวันนี้ ครั้นการแล้วก็ได้เชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนพระวิหาร พระวิหารนั้นยังค้างอยู่แต่ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ แลการอื่นๆ ก็ยังมิได้กระทำ”
นอกจากนี้ ในจดหมายเหตุความทรงจำของหลวงนรินทรเทวี (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2526) ได้กล่าวถึงพระราชศรัทธาพระราชอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกความตอนหนึ่งว่า “แล้วยกพระขึ้นที่เสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เป็นที่สุดเพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว”
กาลนั้นยังมิได้ถวายพระนามจึงเรียกชื่อพระพุทธรูปและชื่อวัดโดยสามัญว่า “วัดพระโต” หรือ “วัดพระใหญ่” ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปหล่อสำคัญของวัด และยังมีการเรียกว่า “วัดเสาชิงช้า” โดยเรียกตามนามสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้าเทวสถานของพราหมณ์กลางเมือง
ในจดหมายเหตุความทรงจำของหลวงนรินทรเทวีฉบับเดียวกันนั้นยังกล่าวความตอนหนึ่งถึงนามของวัดว่า “แล้วทรงพระดำริให้ช่างเขียนอย่างลายเส้นบานประตูวัดพระใหญ่ ยกเข้าไปทรงพระศรัทธาลงลายพระหัตถ์สลักภาพกับกรมหมื่นจิตรภักดี” (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2526)
อย่างไรก็ดี ในหมายกำหนดการก่อรากพระวิหารในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2350 ปรากฏนามของวัดเป็นปฐมนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” (พระครูวิจิตรการโกศล 2516 : 4) อันมีความหมายถึง สวรรค์ชั้นพรหมโลกที่ชื่อสุทธาวาส หลังจากที่เริ่มก่อรากพระวิหารได้เพียง 3 ปีเท่านั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2353 ส่วนการก่อสร้างสิ่งอื่นๆ นั้นยังมิได้ดำเนินการ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ยังคงปรากฏชื่อเรียก “วัดพระโต” หรือ “วัดพระใหญ่” ซึ่งพระองค์โปรดให้ดำเนินการสร้างเสนาสนะภายในวัดแห่งนี้ต่อมาในระหว่าง พ.ศ.2354-2356 เพื่อสานต่อพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถที่จะสร้างวัดใหญ่ขึ้นกลางพระนคร
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชศรัทธาในการสร้างพระวิหารเป็นอันมาก พระองค์ทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง “...แล้วทรงดำริให้ช่างเขียนเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ยกเข้าไป ทรงพระศรัทธาลงลายพระหัตถ์สลักภาพกับกรมหมื่นจิตรภักดี” (พระครูวิจิตรการโกศล 2516 : 10)
อย่างไรก็ดี การสร้างพระวิหารศรีศากยมุนีในรัชกาลที่ 2 นั้น กระทำได้เพียงตัวพระวิหาร ยังไม่มีมุขเด็จหน้าหลังทั้ง 2 ด้าน ตลอดจนยังไม่ได้ยกช่อฟ้า ใบระกาและยกบานประตูหน้าต่าง ก็สิ้นรัชกาลใน พ.ศ.2367
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดสุทัศนเทพวราราม ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 2555) ว่า
“...ทรงมีพระราชดำริว่า วัดพระโตเสาชิงช้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปลายแผ่นดินก็โปรดให้ทำพิหารใหญ่ขึ้น การยังไม่ทันแล้วเสร็จ เชิญเสด็จพระศรีศากยมุนีขึ้นประดิษฐานไว้การที่อื่นยังมิได้กระทำ ก็พอสิ้นแผ่นดินไปครั้งนี้จะต้องเสียให้เป็นวัดขึ้นให้ได้จึงให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองดูทั่วไปทั้งวัด ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทักษเทเวศร ทำพระอุโบสถใหญ่และทำพระระเบียงล้อมพระวิหาร การนั้นก็แล้วสำเร็จทั่วทุกแห่งทั้งกฏิสงฆ์ด้วย จึงให้อาราธนาพระธรรมไตรโลกอยู่วัดเกาะแก้ว ตั้งแนพระพิมลธรรมเป็นเจ้าอธิการจัดเอาพระภิกษุในวัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ รวมได้ 300 รูป ไปอยู่เป็นลำดับพระราชทานชื่อ วัดสุทัสนเทพธาราม”
การสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการสร้างพระวิหารหลวงจนแล้วเสร็จ พระระเบียงคด พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หล่อพระประธานในพระอุโบสถขนาดหน้าตัก 10 ศอก 4 นิ้ว (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 2555) และโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในพระประธาน โดยมีการประดิษฐานเมื่อ พ.ศ.2380
พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถองค์นี้ ได้หล่อที่โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่กว่าพระหล่อในกรุงรัตนโกสินทร์องค์อื่น (พระครูวิจิตรการโกศล 2516 : 12)
นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังมีการสร้างพระพุทธรูปโดยรอบพระอุโบสถ สร้างสัตตมหาสถาน พระพุทธรูปประจำสัตตมหาสถานและรูปหล่อปัญจวัคคีย์ทั้งห้า สร้างกุฏิสงฆ์แล้วนิมนต์พระสงฆ์เข้าอยู่ประจำ จึงนับเป็นวัดอย่างสมบูรณ์ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2550(ข) : 29) โปรดให้มีงานฉลองสมโภชพระอารามพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม” (กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ 2525 : 57)
ในจดหมายเหตุความทรงจำของหลวงนรินทรเทวี (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2526) ปรากฏข้อความเกี่ยวกับการมหรสพสมโภชและการพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่าวัดสุทัศนเทพธาราม ดังนี้
“...สมเด็จพระรามาธิบดินทร์บรมบาทเสด็จทรงพระราชยาน เสด็จตามชินาจารย์พระพุทธองค์ประทับทรงเสด็จยังพลับพลาแล้วชะลอเลื่อนข้ามตะพานมาตลาดพ้น ราษฎรกล่มเกลื่อนกว่าหมื่นพันชวนกันมาวันทา เข้าซักพร้อมหน้าจนถึงที่สถิตสถานพระอุโบสถปรากฏการมหรสพสมโภชสำเนียงเสียงเสนาะโสตปราโมทย์โมทนาพิณพาทย์ทำบูชาสัก 100 วง ฉลองพระพุทธองค์ชินวร สโมสรแสนเกษมเปี่ยมเปรมอิ่มด้วยศรัทธาถ้วนหน้าประชาชน พระโองการรับสั่งขนานนามวัดให้ชื่อวัดสุทัศนเทพธาราม”
เหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวข้องกับวัดสุทัศน์ฯ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีหลายอย่างที่น่าสนใจ (พระครูวิจิตรการโกศล 2516 : 12-19) เช่น
พ.ศ.2386 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผูกพัทธเสมาพระอุโบสถ ให้กำหนดวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ เดือน 12 เพลาบ่ายทั้ง 3 วัน ในปีเถอะเบญจศก จุลศักราช 1205 (พ.ศ.2386) ต่อมาโปรดให้แห่พระบรมธาตุไปบรรจุพระประธานในพระอุโบสถ ทรงสถาปนาสร้างกฏีสงฆ์เสร็จแล้วโปรดให้อาราธนาพระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดเกาะแก้วลังการาม (วัดสัมพันธวงศ์) มาครองวัดสุทัศน์เป็นองค์แรก ภายหลังทรงเลื่อนขึ้นเป็นพระพิมลธรรม และเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
พ.ศ.2387 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบานประตูพระอุโบสถ ต่อมาโปรดให้ช่างหล่อหล่อพระเจดีย์หลังซุ้มเสมาวัดสุทัศน์เทพวราราม โปรดให้ช่างหล่อแผ่นหน้าโขน หลังซุ้มเสมและระฆังฝรั่งใส่วัดสุทัศน์ และโปรดให้สร้างสัตตมหาสถานเจดีย์ 7 สถาน โดยก่อเป็นแท่นด้วยอิฐประดับด้วยศิลาแกะสลัก
พ.ศ.2389 โปรดให้หล่อรูปม้า 2 ตัว ใส่ที่พระวิหาร และต่อมาโปรดให้หล่อใหม่เพิ่มเติมอีก
พ.ศ.2390 โปรดให้มีการสมโภชพระอาราม โดยสมโภชฉลอง 3 วัน 3 คืน
รวมระยะเวลาการสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงมีการสมโภชพระอารามในรัชกาลที่ 3 เป็นระยะเวลา 40 ปี กล่าวคือตั้งแต่ พ.ศ.2350-2390
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลนามพระอารามเป็น “วัดสุทัศนเทพวราราม” นามวัดทั้งสองชื่อ คือวัดสุทัศนเทพธารามและวัดสุทัศนเทพวราราม ล้วนหมายถึงสุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุศูลย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประทับของพระอินทร์ (สุภัทรดิศ ดิศกุล และคณะ 2512 : 9)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสนาสนะและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ภายในวัดสุทัศน์เพิ่มเติม โดยเมื่อ พ.ศ.2396 ทรงดำริถึง “พระศาสดา” ซึ่งสมเด็จพระยาองค์น้อยไปเชิญเอามาแต่วัดบางอ้อยช้างในกรุงเทพฯ มาไว้ที่วัดประดู่ ทรงเห็นว่าพระศาสดา พระชินราช พระชินสีห์ ท่านอยู่วัดเดียวกันจะให้ไปอยู่ในเรือกสวนนั้นไม่สมควร จึงให้ไปเชิญมาไว้พระอุโบสถวัดสุทัศน์ ต่อพระประธานใหญ่ออกมา ภายหลังวิหารวัดบวรนิเวศแล้วเสร็จจึงได้อัญเชิญพระศาสดาไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศ จากนั้นจึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปใหม่ 1 องค์ และพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ในอิริยาบถนั่งฟังธรรมเทศนา ประดิษฐานไว้แทนในพระอุโบสถ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระนามพระประธานในพระอุโบสถที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นว่า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 2555) และพระประธานในศาลาการเปรียญว่า “พระพุทธเสรฏฐมุนีฯ” นอกจากนี้ ทรงสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม คือ ศาลาลอย 4 หลังที่หน้าพระวิหาร รวมถึงงานทำนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์อื่นๆ เช่น พ.ศ.2397 สร้างศาลาโรงธรรม การฉลองศาลาดินริมวัดสุทัศน์ใน พ.ศ.2401 และโปรดให้ปิดทองบานหน้าต่างพระวิหารใน พ.ศ.2402 (พระครูวิจิตรการโกศล 2516 : 17-19)
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระอารามเป็นการใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ.2438 เป็นต้นไป โดยมีกรมโยธาธิการเป็นฝ่ายดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ่อมพระวิหารพระศรีศากยมุนี หลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 5 ก็มีการบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดเรื่อยมา
วัดสุทัศนเทพวราราม ถือกันว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร กล่าวคือเมื่อพระองค์เสด็จมาสักการะพระศรีศากยมุนี ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า เมื่อเวลาทรงผนวชจะเสด็จมาผนวชที่วัดนี้ เมื่อพระองค์สวรรคตจึงมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวรารามแห่งนี้ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2550(ข) : 30)
ในระหว่าง พ.ศ.2515-2516 ทางวัดได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นที่บริเวณหน้าพระวิหาร และตั้งมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมป์ขึ้นใน พ.ศ.2516
วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดมาเป็นลำดับ ดังนี้
รูปที่ 1 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) ครองพระอาราม 14 ปี (พ.ศ.2386-2401)
รูปที่ 2 พระพิมลธรรม (อัน) ครองพระอาราม 19 ปี (พ.ศ.2401-2420)
รูปที่ 3 สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) ครองพระอาราม 23 ปี (พ.ศ.2420-2443)
พระองค์ที่ 4 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ครองพระอาราม 44 ปี (พ.ศ.2443-2487)
รูปที่ 5 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โสม ฉนฺโน) ครองพระอาราม 16 ปี (พ.ศ.2489-2505)
รูปที่ 6 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) ครองพระอาราม 21 ปี (พ.ศ.2506-2527)
รูปที่ 7 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) ครองพระอาราม 32 ปี (พ.ศ.2527-2559)
รูปที่ 8 พระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตฺตคุตฺโต) (พ.ศ.2559-ปัจจุบัน)
ลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม
วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นวัดที่มีพัฒนาการแนวความคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรม โดยเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่สืบทอดแบบแผนจากศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย มาสู่รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะจีนเข้ามาผสมผสานกับแนวความคิดในการออกแบบทางไทย ตลอดจนผสมผสานเข้ากับความนิยมในศิลปะตะวันตกที่แพร่หลายเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา
วัดสุทัศน์มีการแบ่งพื้นที่เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสอย่างชัดเจน กล่าวคือ มีกำแพงแก้วแยกพื้นที่สองส่วนออกจากัน แต่จะมีซุ้มประตูทางเข้าเชื่อมพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้ โดยเขตพุทธาวาสจะตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัด ประกอบด้วยอาคารศาสนสถานที่เป็นพระวิหารหลวง พระระเบียงคด พระอุโฐสถ สัตตมหาสถาน ศาลาลอย ศาลาดิน โรงธรรม เป็นต้น ในขณะที่เขตสังฆาวาสจะอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิสงฆ์คณะต่างๆ หอพระไตรปิฎก หอระฆัง เป็นต้น
เขตพุทธาวาสของวัดสุทัศน์ ประกอบด้วยพื้นที่หลักที่มีความสัมพันธ์กัน คือ บริเวณพระวิหารหลวง ซึ่งมีระเบียงคดล้อมรอบ และบริเวณพระอุโบสถ ที่ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของพระวิหารหลวง ภายนอกวงล้อมของพระระเบียง พระวิหารหลวงถูกกำหนดให้วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และหันหน้าอาคารเข้าสู่ทิศเหนือ ส่วนพระอุโบสถนั้นถุกกำหนดให้วางตัวอาคารแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งตั้งฉากกับแนวของพระวิหารหลวง ซึ่งเป็นแกนประธาน แนวแกนทั้งสองนี้ตัดกันที่จดกึ่งกลางของพระอุโบสถพอดี
ด้วยเจตนาที่กำหนดให้วัดสุทัศน์เป็นวัดศูนย์กลางพระนคร จึงสร้างวัดนี้ให้มีขนาดใหญ่ และมีการออกแบบวางผังกลุ่มอาคารและตัวอาคารที่สง่างามและลงตัวอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ และแผนผังอาคารรูปสัญลักษณ์จักรวาล (Cosmic Layout) ที่ช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ได้คิดค้นออกแบบขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกในงานประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย
การออกแบบแผนผังวัดสุทัศน์นี้ ได้คิดค้นใหม่โดยไม่ยึดแกนดิ่งแบบเดิมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้นำเอาแกนราบเข้ามาใช้เป็นตัวจัดกลุ่มอาคาร (Cluster) ของพระวิหาร ซึ่งเดิมจะถูกยึดตรงตามแกนดิ่งอย่างตายตัวให้ลอยเป็นอิสระขึ้น ทั้งๆ ที่ทางด้านหน้าจะตรึงความรู้สึกให้ยึดแกนดิ่งตามแบบประเพณีเดิมอยู่ และในขณะเดียวกัน พระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ซึ่งถูกออกแบบให้ได้สัดส่วนกับกลุ่มอาคารพระวิหารก็จะทำหน้าที่เป็นฉากหลังให้แก่อาคารประธาน ดังนั้นการวางแผนผังวัดสุทัศน์จึงเกิดความลงตัวและสมบูรณ์แบบในการใช้แกนสองแกน คือแกนดิ่งและแกนราบ ร่วมกันในแผนผังกลุ่มอาคารเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีความงามและลงตัวในลักษณะ 3 มิติ อีกด้วย กล่าวคือ ตัวอาคารมีความสัมพันธ์ด้านขนาดส่วนที่คล้องจองกัน เล่นจังหวะของขนาดใกล้เคียงไล่เลี่ยกัน และมีตัวเชื่อมระหว่างขนาดที่แตกต่างกันของอาคารแทรกอยู่ (จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ 2541 : 21)
การวางผังในรูปสัญลักษณ์ภูมิจักรวาลของวัดสุทัศน์นั้น ศ.ดร.ศักดิ์ชาย สายสิงห์ ได้อธิบายว่าวัดสุทัศน์เป็นวัดที่มีการปรับเปลี่ยนการวางผังแบบเดิมที่จะใช้เจดีย์ทรงปรางค์เป็นประธานของวัดในฐานะศูนย์กลางจักรวาล โดยความสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบแผนผังอยู่ที่พระวิหารโดยกำหนดให้ตั้งอยู่บนฐานที่ยกสูงและมีศาลาประจำมุมทั้ง 4 อยู่บนฐานเดียวกัน มีระเบียงคดล้อมรอบ ลักษณะดังกล่าวของการออกแบบเช่นเดียวกับคติของแกนจักรวาล ตามแบบแผนที่ปรากฏในการสร้างปราสาทแบบเขมร ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าปราสาทประธานที่อยู่ตรงกลางเปรียบเสมือนยอดเขาพระสุเมรุ ส่วนปราสาทประจำมุมทั้ง 4 หมายถึงทวีปทั้ง 4 และระเบียงคดคือกำแพงจักรวาล ลักษณะดังกล่าวนี้อยู่ในศิลปะอยุธยาตอนต้นที่ได้รับแบบอย่างมาจากวัฒนธรรมเขมร นอกจากนี้ มีการปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากความหมายเดิมที่ปราสาทประธานคือยอดเขาพระสุเมรุ เปลี่ยนมาเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามแนวพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึงสวรรค์หรือภูมิจักรวาล แนวความคิดดังกล่าวนี้ได้ปรากฏอีกครั้งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นที่วัดไชยวัฒนาราม สถาปนาขึ้นในสมัยพระจเปราสาททอง และปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ระหว่างรัชกาลที่ 1-3 ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นมาจากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่มีพระปรางค์ประธานและเจดีย์มุมทั้ง 4 ดังนั้นคติเรื่องภูมิจักรวาลที่ปรากฏที่วัดสุทัศน์นั้น เป็นอีกหนึ่งที่ชัดเจนในการให้ความสำคัญถึงความเป็นจักรวาลตามความหมายของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ของประติมากรรมที่ประดับบริเวณหน้าบันของพระวิหารวัดสุทัศน์มาเป็นพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทวดาสูงสุดตามแนวความเชื่อในศาสนาพุทธ และเป็นเทวดาที่เป็นใหญ่อยู่บนสววรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังความหมายของการออกแบบสถาปัตยกรรมและงานประติมากรรมที่สอดคล้องกัน (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2550(ข) : 36)
นอกจากนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการปรับเปลี่ยนคติการสร้าง ประการหนึ่งคือการใช้อาคารหลังคาคลุม ได้แก่ อุโบสถหรือวิหาร เป็นประธาน แทนตำแหน่งของปรางค์ และการเปลี่ยนจากเจดีย์ประจำมุมเป็นศาลาประจำมุมทั้ง 4 ดังเช่นกรณีของวัดสุทัศน์เทพวราราม โดยมีการใช้พระวิหารหลวงเป็นประธานในความหมายของศูนย์กลางจักรวาล มีสัญลักษณ์หน้าบันเป็นพระอินทร์ อันหมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่นเดียวกับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม การมีศาลาประจำมุมทั้ง 4 เปรียบเสมือนกับทวีปทั้ง 4 เช่นเดียวกับเจดีย์ประจำมุมและระเบียงคดคือกำแพงจักรวาล ส่วนพระอุโบสถที่วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีสัญลักษณ์ที่หน้าบันด้านทิศตะวันออกเป็นพระอาทิตย์ และที่หน้าบันทิศตะวันตกเป็นรูปพระจันทร์ ตีความว่าอุโบสถมีความหมายเป็นชมพูทวีปที่ตั้งอย฿ตามวงโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2550(ข) : 38)
กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2431-2474. กรุงเทพฯ: กองบัญชาการทหารสูงสุด, 2542.
กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร : คลังวิทยา ป.พิศนาศการพิมพ์, 2506.
กรมศิลปากร. “จารึกวัดป่ามะม่วง.” จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526.
กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
คลี่ สุทัศน์ ณ อยุธยา, ม.ร.ว. ตำนานพระอารามหลวง. พระนคร : ราชบัณฑิตยสภา, 2473.
จดหมายเหตุ ร.1 เรื่องบัญชีพระพุทธรุปอาราธนามาแต่เมืองสุโขทัยและลพบุรี จ.ศ.1156 เลขที่ 11. หอสมุดแห่งชาติ
จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ. “การศึกษาการออกแบบและคติสัญลักษณ์ในกรณีของงานสถาปัตยกรรม วัดสุทัศน์เทพวราราม.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2531.
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 : ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2555.
น. ณ ปากน้ำ. วัดสุทัศนเทพวราราม (หนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย). กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2539.
บุญเตือน ศรีวรพจน์. จิตรกรรมรามเกียรติ์วัดสุทัศนเทพวราราม. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556.
พระครูวิจิตรการโกศล. ประวัติวัดสุทัศน์เทพวราราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ.2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2526.
พีระพัฒน์ สำราญ. สถาปัตยกรรมวัดสุทัศนเทพวราราม (พระวิหารหลวงและพระระเบียงคด). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.
วรรณิภา ณ สงขลา. การอนุรักษ์ จิตรกรรมฝาผนังพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2556.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “ประติมากรรม.” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550(ก) : 88-145.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “สถาปัตยกรรม.” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550(ข) : 24-87.
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ม.ร.ว. สมุดแสดงภาพที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ พุทธศักราช 2468. กรุงเทพฯ : สามลดา, 2549.
สันติ เล็กสุขุม. “จิตรกรรม : ปรัมปราคติ กับการแสดงออกอย่างใหม่.” ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “สถาปัตยกรรม” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550 : 181-270.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ.ม.จ.. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ.ม.จ. และประพัฒน์ ตรีณรงค์. วัดสุทัศน์เทพวรารามมหาวิหาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2512.
อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. “เรื่องของศิลปะจีนในวัดสุทัศนเทพวราราม.” ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “สถาปัตยกรรม” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550 : 146-180.