โพสต์เมื่อ 18 ธ.ค. 2021
ชื่ออื่น : พระวิหารหลวง, วิหารหลวง, พระวิหารพระศรีศากยมุนี
ที่ตั้ง : เลขที่ 146 ถ.บำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร
ตำบล : วัดราชบพิธ
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.751118 N, 100.501074 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
วัดสุทัศนเทพวรารามฯ ตั้งอยู่ติดกับเสาชิงช้า ใกล้กับโบสถ์พราหมณ์ ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ริมถนนตีทองและถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 10 ,12 ,15 ,19 ,35 ,42 ,48 ,73 ,96 ลงป้ายวัดสุทัศน์ หรือเสาชิงช้า
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของประเทศ ภายในวัดมีโบราณปูชนียสถานวัตถุมากมาย พุทธศาสนิกชนจำนวนมากนิยมกราบสักการะพระศรีศากยมุนี ภายในพระวิหารหลวง พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ภายในพระอุโบสถ พระพุทธเสรฎฐมุนี ภายในศาลาการเปรียญ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ส่วนนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมชื่นชมความงามและความสงบร่มรื่นของวัดทั้งกลางวันและกลางคืน
กิจกรรมของทางวัด ทุกวันจะมีการทำวัตรสวดมนต์ ฟังธรรม ปฏิบัติภาวนา เวลา 19.00 - 21.00 น. ณ วิหารหลวง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาและวันสำคัญอื่นๆ เช่น การปฏิบัติธรรมและเวียนเทียน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วิสาขบูชา อัฎฐมีบูชา อาสาฬบูชา และมาฆบูชา) งานส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ สวดมนต์ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน งานประเพณีสงกรานต์ งานบวชชีพราหมณ์ งานอุปสมบทสามเณรเปรียญ งานเทศน์มหาชาติประจำปี วันแรม 11-15 ค่ำ เดือน 10
ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะ และเยี่ยมชมวัดได้ทุกวัน ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท
บริเวณวัด เปิดเวลา 8.00 - 17.00 น.
พระอุโบสถ เปิดเวลา 8.00 - 17.00 น.
พระวิหารหลวง เปิดเวลา 7.00 - 21.00 น.
หมายเลขโทรศัพท์ 02-224-9845, 02-222-9632
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
โบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดบัญชีโบรษณวัตถุสถาน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 หน้า 5281 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 (โบราณวัตถุสถานในวัดสุทัศน์เทพวราราม)
พระวิหารหลวงเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังใหญ่ นับวว่าเป็นอาคารหลักของวัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของวัดและเขตพุทธาวาส หันหน้าไปทางทิศเหนือ ออกสู่ถนนบำรุงเมืองและเสาชิงช้า
วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ปัจจุบันตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้านทิศเหนือติดกับถนนบำรุงเมืองและเสาชิงช้า ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนศิริพงษ์ ด้านทิศใต้ติดกับอาคารตึกแถวในซอยสระสรง และด้านทิศตะวันตกติดกับถนนตีทอง
แม่น้ำเจ้าพระยา
พระวิหารหลวง หรือพระวิหารพระศรีศากยมุนี เริ่มก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ.2350 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชดำริให้สร้าง “วัดมหาสุทธาวาส” ขึ้นกลางพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการก่อสร้างพระวิหารขึ้น ณ บริเวณใกล้กับเสาชิงช้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร และเป็นที่ตั้งของเทวสถานกลางเมือง
พระวิหารหลวงตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของเขตพุทธาวาส หันหน้าออกถนนบำรุงเมือง โดยวางอาคารในแนวทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นแกนประธานของวัด ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคด และมีพระอุโบสถขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ วางขวางกับแกนประธานของพระวิหารในแนวตั้งฉาก ดังนั้นหากพิจารณาแผนผังวัดซึ่งกำหนดทางเข้าจากด้านเหนือเป็นด้านหน้าวัด การออกแบบแผนผังของพระวิหารและพระระเบียงซึ่งล้อมรอบอยู่นั้น ก็จะมีความสัมพันธ์กับทิศทางการเข้าสู่พื้นที่ในบริเวณวัดจากแนวแกนนี้เป็นหลัก (พีระพัฒน์ สำราญ 2551 : 34)
พระวิหารหลวงเป็นอาคารขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐาน มีความกว้าง 23.85 เมตร ยาว 26.25 เมตร ออกแบบให้มีทางเข้าที่ผนังด้านสกัดจำนวน 3 ประตู ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนผนังด้านข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่างระหว่างช่วงเสาจำนวน 5 ช่อง ส่วนภายในอาคารมีขนาดกว้าง 20.55 เมตร ยาว 22.60 เมตร ดังนั้นจึงมีรูปร่างเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส
เนื่องจากภายในพระวิหารได้ออกแบบให้มีเสาร่วมในประธานซึ่งทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ขนาดเสากว้าง 1.60 เมตร จำนวน 4 คู่ เพื่อรองรับโครงสร้างผนังคอสองและหลังคาตอนบน พื้นที่ภายในอาคารจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ตรงกลางภายในเสาร่วมในของอาคาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี และพื้นที่ใต้เฉลียงปีกนก ระหว่างเสาร่วมในประธานกับผนังโดยรอบพระวิหาร ซึ่งโอบล้อมพื้นที่ตรงกลวงอีกชั้นหนึ่ง (พีระพัฒน์ สำราญ 2551 : 35)
พระวิหารหลวงตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ 2 ชั้น ฐานประทักษิณชั้นล่างเป็นฐานสิงห์ยกสูงจากพื้นลานภายในพระระเบียงคด 1.07 เมตร มีพนักกำแพงแก้วล้อมรอบและมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน เหนือพนักกำแพงแก้วได้ตั้งเจดีย์ศิลาแบบจีนหรือถะ รูปร่างเป็นเรือนช่องโปร่งหกเหลี่ยมซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไปจึงถึงยอดจำนวน 6 ชั้น ประดับอยู่ที่บริเวณมุมและฐานแต่ละด้าน รวมทั้งสิ้น 28 องค์
สำหรับฐานประทักษิณชั้นบนอยู่สูงจากพื้นลานประทักษิณชั้นล่าง 1.75 เมตร มีความหว้าง 35.40 เมตร ยาว 48.15 เมตร โดยทำฐานสิงห์เช่นเดียวกัน และมีพนักกำแพงแก้วล้อมรอบทุกด้าน คั่นด้วยบันไดทางขึ้นจากลานประทักษิณชั้นล่างที่กึ่งกลางฐานทั้ง 4 ทิศ โดยที่บันไดทางด้านหน้าและด้านหลังเป็นบันไดก่อชนเข้ากับฐานอาคาร แต่บันไดด้านข้างก่อแนบไปกับฐานอาคาร และที่ตำแหน่งมุมของฐานประทักษิณทั้ง 2 ชั้นนี้ ประดับด้วยรูปม้าสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงาม ผิวเป็นมันวาว ยืนอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกพื้นเตี้ยๆ วางในแนวเฉียงกับฐานประทักษิณ รวมทั้งสิ้น 8 ตัว
ในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า “พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนครให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย...” การสร้างวัดสุทัศน์จึงมีความตั้งใจให้มีขนาดสูงเทียบเท่าวัดพนัญเชิงของกรุงศรีอยุธยา และเนื่องจากภายในพระวิหารวัดพนัญเชิงมีพระพุทธรุปองค์ใหญ่ประดิษฐานเป็นพระประธาน คือพระเจ้าพนัญเชิง ทำให้ขนาดของพระวิหารแห่งนี้สูงใหญ่โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา แต่หากพิจารณาด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ มีลักษณะแผนผังและรูปแบบใกล้เคียงกับวัดมงคลบพิตร ซึ่งเป็นพุทธสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่กลางเกาะเมืองอยุธยา ประดิษฐานพระมงคลบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ (พีระพัฒน์ สำราญ 2551 : 42)
รูปแบบสถาปัตยกรรมพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมรูปแบบประเพณี ซึ่งก่อสร้างฐานและผนังอาคารก่อด้วยอิฐถือปูรรับโครงสร้างหลังคาไม้มุงกระเบื้อง เครื่องบนประดับด้วยชุดเครื่องลำยองที่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระจก หน้าบันไม้และสลักลวดลาย มีเสาลอยรับมุขโถงและเสาพาไลย่อมุมไม้สิบสองรับชายคาปีกนก ตกแต่งด้วยบัวหัวเสาและคันทวยไม้แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม
จากประวัติการก่อสร้างกล่าวถึงการปรับพื้นที่เดิมซึ่งเป็นที่ลุ่มโดยถมพื้นยกฐานสูง และก่อฐานรากพระวิหารเพื่อเตรียมอัญเชิญองค์พระขึ้นประดิษฐานซึ่งเป็นเวลาก่อฐานรากพระวิหารเพื่อเตรียทอัญเชิญองค์พระขึ้นประดิษฐานซึ่งเป็นวลาในช่วงท้ายรัชกาลที่ 1 แต่การก่อสร้างพระวิหารยังไม่แล้วเสร็จ ได้ดำเนินการในรัชกาลต่อมาเพียงสร้างพระวิหารขึ้นแต่ยังมิได้ยกช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และการอื่นๆ ก็ยังไม่ได้กระทำ
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาอุตสาหะจะสถาปนาขึ้นเป็นวัดให้ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารจนสำเร็จแล้วสร้างพระระเบียงล้อมรอบพระวิหารและสร้างพระอุโบสถเพิ่มเติม จนเป็นพระอารามที่มีความสง่างามใหญ่โตสมกับเป็นมหาวิหารกลางพระนครอย่างแท้จริง
รูปแบบสถาปัตยกรรมพระวิหารหลวงจึงเป็นการสืบทอดแบบแผนงานสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะคติการสร้างมหาวิหารประดิษฐานพระพุทธรุปสำคัญกลางพระนครตามแบบอย่างวิหารพระมงคลบพิตรของกรุงศรีอยุธยา โดยมีลักษณะเด่นชัดคือการออกแบบอาคารให้มีมุขลดใต้ขื่อ โดยทำเป็นมุขโถงมีหลังคาจุ่วยื่นออกมาจากผนังอาคารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ลดระดับของมุขให้ต่ำลงมาอยู่ใต้หน้าจั่วหลังคาประธาน การลดชั้นหลังคามากกว่าปกติเช่นนี้ ในทางช่างเรียกว่า “มุขลดใต้ขื่อ”
ดังนั้นในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีซึ่งกล่าวถึงพระราชโองการรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุโลก ที่ทรงสร้างพระวิหารประดิษฐานพระศรีศากยมุนีให้สูงเท่ากับวัดพนัญเชิงนั้น คงมีความหมายในเชิงการเปรียบเทียบเพื่ออธิบายความสูงใหญ่เท่านั้น หากแต่ในด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบว่งฟัง น่าจะมีต้นแบบมาจากวิหารพระมงคลบพิตรเป็นหลัก แต่โดยเหตุที่ต้องกล่าวถึงวัดพนัญเชิงนั้น คงเนื่องด้วยยังปรากฏเป็นอาคารสมบูรณ์ ไม่ได้ถูกำงานอย่างวิหารพระมงคลบพิตรนั่นเอง (พีระพัฒน์ สำราญ 2551 : 42-44)
งานประดับตกแต่งประกอบสถาปัตยกรรมพระวิหารหลวงที่สำคัญคือ หน้าบัน มีลักษณะเป็นหน้าบันไม้แกะสลักลวดลาย ลงรักปิดทองประดับกระจก และมีรูปเคารพประดิษฐานอยู่ตรงกลางหน้าบัน โดยออกแบบให้เหมือนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิหาร
หน้าบันของจั่วอาคารด้านบน ทำเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งมีการแบ่งลายหน้าบันภายในพื้นที่กรอบสามเหลี่ยมออกเป็น 2 ส่วน คือ กรอบหน้าบันชั้นในประดับด้วยพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระอินทร์ประดับพระวรกายด้วยกระจกสีเขียว พระหัตถ์ถือพระขรรค์ ประทับนั่งอนู่ในปราสาทซึ่งเป็นเรือนยอด ตั้งอยู่เหนือช้างเอราวัณซึ่งเป็นช้างสามเศียร ประดับด้วยกระจกสีเงิน พื้นหน้าบันประดับกระจกสีแดงตกแต่งด้วยลายกระหนกเปลวช่อเทพนม สำหรับกรอบหน้าบันชั้นนอกซึ่งเป็นขอบขนานกับกรอบหน้าจั่ว ตกแต่งด้วยลายกระหนกเปลวช่อเทพนมทั้ง 2 ข้าง และผูกลายมาบรรจบกันที่ส่วนยอด พื้นลายประดับกระจกสีเขียว
การนำรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมาประดับหน้าบันพระวิหารหลวงนั้นสะท้อนคติความเชื่อที่ว่าด้วยพระอนทร์เป้นเทวดาที่ยิ่งใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย นับถือเป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า ทรงไว้ซึ่งอสนีบาต คติความเชื่อในศาสนาพุทธ พระอินทร์เป็นจอมเทพที่ยิ่งใหญ่ ประทับอยู่เหนืดยอดเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเหล่าเทพเป็นบริวารและพาหนะคือช้างเอราวัณ ดังนั้นการประดับรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนหน้าบันของพระวิหารหลวงจึงเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่า พระวิหารแห่งนี้คือยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลนั่นเอง และนามของพระนครซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟุ้ฬาโลก ทรงสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีได้ใช้นามของพระอินทร์เป็นชื่อของพระนคร (พีระพัฒน์ สำราญ 2551 : 45)
ส่วนหน้าบันของมุขลดใต้ขื่อที่อยู่ด้านล่างซึ่งมีขนาดเล็กกว่าหน้าบันด้านบนนั้น เป็นหน้าบันประดับพระนารายณ์ทรงครุฑ แบ่งลายหน้าบันภายในพื้นที่กรอบสามเหลี่ยมออกเป็น 2 ส่วน คือ กรอบหน้าบันชั้นในประดับพระนารายณ์ทรงครุฑ โดยพระนารายณ์มี 4 กร ประดับพระวรกาบด้วยกระจกสีน้ำเงิน แสดงพระหัตถ์ขวาบนถือจักร พระหัตถ์ขวาล่างถือคันศร พระหัตถ์ซ้ายบนถือสังข์ และพระหัตถ์ซ้ายล่างถือพระขรรค์ ประทับยืนเหนือครุฑยุดนาค พื้นหน้าบันประดับกระจกสีฟ้าตกแต่งด้วยลายกระหนกเปลวช่อเทพนม สำหรับหน้าบันชั้นนอกซึ่งขนานกับกรอบหน้าจาวตกแต่งด้วยลายพระหนกเปลวช่อเทพนมบนพื้นหน้าบันประดับกระจกสีน้ำเงิน
การประดับตกแต่งหน้าบันด้วยพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นแบบอผนการสร้างวัดที่สืบทอดรูปแบบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพื่อแสดงสถานะว่าเป็นพระอารามที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาหรือบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นสมมติเทพ (พีระพัฒน์ สำราญ 2551 : 46)
ซุ้มประตู ตั้งอยู่บริเวณผนังทางเจ้าด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหารหลวง ด้านละ 3 ช่องประตู โดยประตูขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางในตำแหน่งตรงกับพระประธาน ทำให้สามารถมองผ่านซุ้มประตูเห็นพระประธานขนาดใหญ่ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในเสมือนกับพระพุทธรูปประดับอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว และมีประตูขนาดเล็กตั้งขนาบทั้ง 2 ข้าง
รูปแบบของซุ้มประตูมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ เป็นซุ้มบันแถลงซ้อนชั้น ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก โดยทำเป็นซุ้มยื่นออกมาจากผนังและตั้งอยู่บนหน้ากระดานของฐานอาคาร มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ กรอบซุ้มด้านข้างมีลักษณะคล้ายเสาย่อมุมเพื่อรองรับยอดบันแถลง ตกแต่งดว้ยบัวปลายเสาและบัวโคนเสาแบบบัวแวงมีกาบหุ้มเสา ที่กึ่งกลางเสาประดับด้วยลายประจำยาม ส่วนยอดบันแถลงทำเป็นหลังคาทรงจั่วซ้อนชั้นตามลักษณะการย่อมุมของกรอบซุ้มด้านข้าง และตั้งอนู่บนชั้นเชิงบาตรซึ่งยกสูงจากหน้ากระดานบนของกรอบซุ้มอีกชั้นหนึ่ง ยอดบันแถลงซึ่งมีลักษณะเป็นซุ้มประดัยตกแต่งด้วยนาคลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ทำเป้นนาคเบือน ส่วนตรงกลางหน้าจั่วภายซุ้มบันแถลงประดับด้วยลายกระหนกเปลวล้อมรอบเทพนม
บานประตูพระวิหารเป็นประตูไม้แกะสลักร่องลึกซับซ้อนกันหลายชั้น ตกแต่งปิดทองตลอดทั้งบาน มีลักษณะลวดลายพันธุ์พฤกษา แผ่กิ่งก้าน ดอกใบและผล เกาะเกี่ยวกันตลอดทั้งบาน ดูเสมือนจริงตามธรรมชาติและสอดแทรกสัตว์นานาชนิดอยู่ทั่วไป ได้แก่ นก ลิง กระรอก งู เป็นต้น ลายขอบบานและอกเลาของประตูแกะสลักลายดอกพุดตานใบเทศเป็นลายขอบตามต่อเนื่องกันตลอดทั้งบาน
ซุ้มหน้าต่าง ทำเป็นช่องเปิดสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ระหว่างช่วงเสาทางด้านข้างของอาคาร ด้านละ 5 ช่อง มีรูปแบบและลักษณืเหมือนกับซุ้มประตู แต่เพิ่มชั้นฐานสิงห์อยู่เหนือหน้ากระดานบนฐานอาคาร เพื่อทำเป็นฐานรักกรอบซุ้มหน้าต่างโดยเฉพาะ บานหน้าต่างของพระวิหารแต่เดิมเป็นบานไม้แกะสลักลายแก้วชิงดวง ปิดทองประดับกระจกสี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขด้วยการปี่นลวดลายปูนน้ำมันปิดทับลายเดิม โดยปั้นเป็นลายพันธุ์พฤกษา รูปต้นไม้ โขดเขา และสัตว์ต่างๆ เพื่อให้กลมกลืนกับลายบานประตูนั่นเอง (พีระพัฒน์ สำราญ 2551 : 47)
พระศรีศากยมุนี
พระศรีศากยมุนี (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2550(ก) : 91-95) เป็นพระประธานภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร สูงประมาณ 8 เมตร ประดิษฐานเหนือพุทธบัลลังก์ สูงจากระดับพื้น 3.92 เมตร ประดับลวดลายปูนปั้นประดับกระจก
พระศรีศากยมุนีนับว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดที่สมบูรณ์ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน จัดเป็นศิลปะสุโขทับ อายุช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
ในสมัยรัชกาลที่ 1-2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่น้อยมาก เนื่องจากเป็นช่วงแห่งการสร้าง้านแปงเมือง จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดที่มีอยู่แต่เดิมเป็นหลัก ตลอดจนพระพุทธรูปนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฦาโลก ก็โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะจากเมืองสุโขทัยและพระนครศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏในเอกสารกลาวว่านำมาประดิษฐานยังระเบียงคดวัดพระเชตุพนฯ มีจำนวนถึง 1,288 องค์ (จดหมายเหตุ ร.1 เรื่องบัญชีพระพุทธรูปอาราธนามาแต่เมืองสุโขทัยและลพบุรี จ.ศ.1156 เลขที่ 11, หอสมุดแห่งชาติ)
พระศรีศากยมุนีมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างวัดขึ้น โดยเริ่มก่อเฉพาะฐานรากของพระวิหารใน พ.ศ.2351 และได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาจากกรุงสุโขทัย ซึ่งตามประวัติสันนิษฐานว่าเดิมพระศรีศากยมุนีเป็นพระประธนาในวิหารหลวง วัดมหาธาตุ เมืองสุทัย จึงได้อัญเชิญล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาขึ้นบริเวณท่าช้าง แต่เนื่องจากพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่มาก ขึงไม่สามารถผ่านประตูท่าช้างได้ จึงรื้อประตูลง ภายหลังจึงเรียกว่าท่าพระมาจนถึงทุกวันนี้ (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 2531)
หลังจากพระพทุธรูปมาถึงพระนครแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองพระพุทธรูปและได้อัญเชิญโดยการชักลากทางสถลมารคมายังวิหารที่ทรงวางฐากรากไว้ ครั้งนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่กล่าวว่าแม้ว่ารัชกาลที่ 1 ทรงประชวรอยู่ แต่ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ โดยไม่ทรงฉลองพระบาท จนถึงและยกพระพุทธรูปขึ้นตั้งบนฐานที่เตรียมไว้จึงเสด็จกลับ พระพุทธรูปองค์นี้จึงเรียกกันว่า “พระโต” ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “พระศรีศากยมุนี”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวิหารต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระศรีศากยมุนีว่า พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าพระเศียรของพระศรีศากยมุนีนั้นย่อมไปไม่สมกับพระองค์ จึงให้ช่างถอดออกหล่อพอกพระเศียรพระพักตร์ให้ใหญ่ขึ้น และนิ้วพระหัตถ์ของเดิมนั้นสั้นๆ ยาวๆ อยู่ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ต่อนิ้วพระหัตถ์ให้ยาวเสมอกันทั้งหมด (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 2555)
การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้พอกพระพักตร์ให้ใหญ่ขั้นนั้น อาจเนื่องมาจากแต่เดิมในสมัยสุโขทัย พระศรีศากยมุนีตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ จึงมีสัดส่วนที่ลงตัวระหว่างพระวรกายกับพระพักตร์ แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมประดิษฐานพระพุทธรูปบนแท่นยกสูง ทำให้พระพักตร์ดูเล็กลงไป ไม่ได้สัดส่วนกับพระวรกาย ขึงได้มีการสร้างพวกขึ้นใหม่ ส่วนการหล่อมนิ้วพระหัตถ์ใหม่ให้ยาวเสมอกันนั้น เป็นความนิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะดะบว่าพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยนี้ส่วนใหญ่มีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกันทั้งหมด
ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่าพระศรีศากยมุนีแต่เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุสุโขทัย เนื่องมาจากเชื่อกันว่าเป็นองค์เดียวกับพระพุทธรูปที่กล่าวถึงในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ซึ่เงป็นจารึกของพญาลิไท ใน พ.ศ.1904 มีใจความว่า “...เมื่อออกพรรษาจึงกระทำมหาทานฉ,องพระสัมฤทธิ์อัน..ตนพระพุทธเจ้าเราอันประดิษฐานกลางเมืองสุทัย ซึ่งลงตะวันออกพระศรีมหาธาตุนั้น ฉลองสดับธรรมทุกวะน ถ้วนร้อยวัน...” (กรมศิลปากร 2526 : 49)
เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางศิลปกรรมจัดได้ว่าพระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปในหมวดใหญ่ของสุโขทัย คือ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเปลว ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นเล็ก ยาวลงมาจรดพระนาภี เพียงแต่มีพระพักตร์ที่ค่อนข้างกลม และพระวรกายที่อวบอ้วนมากกว่า (อาจเนื่องมาจากกระบูรณะโดยการพอกพระพักตร์ให้ใหญ่กว่าเดิมในสมัยรัชกาลที่ 2) และทั้งนี้อาจเป็นเพราะเงื่อไนและกรรมวิธีในการสร้างที่พิเศษกว่าองค์อื่นๆ ในเรื่องของขนาด เพราะพระศรีศากยมุนีมีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธรูปสำริดโดยทั่วไปหลายเท่า (สันติ เล็กสุขุม 2540 : 40)
จากการตรวจสอบฐานชุกชีในวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย มีขนาดยาว 8 เมตร กว้าง 4.57 เมตร ฐานชุกชีฐานนี้ปรากฏเฉพาะส่วนของฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย แสดงว่าเป็นฐานชุกชีของพระศรีศากยมุนีได้ เพราะพระศรีศากยมุนีมีหน้าตักกว่าง 6.25 เมตร และสูงประมาณ 8 เมตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดในสมัยสุโขทัยที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ปรากฏหลักฐานเหลืออยู่
ภาพศิลาจำหลัก
บริเวณฐานชุกชีด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนี มีภาพจำหลักศิลปะแบบทวารวดี 1 แผ่น เป็นภาพสลักนูนต่ำ ปิดทอง เป็นงานประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ 2 ตอนต่อกัน โดยส่วนล่างเป็นตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่กรุงสาวัตถี และส่วนบนเป็นตอนพระพุทธองค์ประทานเทศนาแก่พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ภาพศิลาจำหลักดังกล่าวมีความสูง 2.40 เมตร กรอบใบเทศปิดทองประดับกระจกทั้ง 4 ด้าน ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2550) ได้กล่าวไว้ในหนังสือศิลปะในประเทศไทยว่า “ประติมากรรมศิลาอื่นๆ ครั้งหนึ่งจะได้มีภาพประติมากรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันภาพเหล่านี้คงเหลืออยู่เพียงจำนวนน้อย ตัวอย่างที่งดงามน่าชมมีอยู่ ในพระพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ได้ถูกปิดทองเสียแน่นหนา ภาพสลักแผ่นนี้อ่ยุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-13 เราอาจเปรียบเทียบประติมากรรมแผ่นนี้ได้กับจิตรกรรมเรื่องเดียวกันที่ถ้ำอชันตาในประเทศอินเดีย ถ้าภาพสลักวัดสุทัศน์ฯ นี้ไม่ได้รับแบบมาโดยตรงจากที่ถ้ำอชันตา ศิลปกรรมทั้ง 2 แบบก็คงมาจากแบบดั้งเดิมอันเดียวกัน...”
การกำหนดอายุสมัยนั้น ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้กำหนดจากรูปแบบโดยรวมพบว่า ลักษณะการแสดงปางที่ประทับนั่งห้อยพระบาท แสดงวิตรรกะด้วยพระหัตถ์ขวา และพระหัตถ์ซ้ายวางอนู่เหนือพระเพลา เป็นรูปแบบที่แพร่หลายอย่างมากและไม่พบในอินเดีย จึงน่าจะเกิดขึ้นในศิลปะทวารวดีโดยเฉพาะ รวมทั้งการวางองค์ประกอบภาพที่เป็นพุทธนิมิตสะท้อนแบบกระจกเงา และภาพบุคคลประกอบ เป็นรูปแบบที่มีการประยุกต์มาจากหลายๆ คัมภีร์ในพุทธศาสนาเถรวาท และอาจจะมีส่วนของมหายานเข้ามาปะปนอยู่บ้าง หลักฐานชิ้นนี้จึงน่าจะอยู่ในยุคที่เจริญรุ่งเรืองหรือทวารวดีอย่างแท้จริง ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ช่วยในการกำหนดอายุได้มากที่สุดคือรูปแบบศิลปกรรม โดยพิจารณาจากลักษณะของพระพักตร์พระพุทธรูปและภาพบุคคลแล้ว เป็นฝีมือช่างพื้นเมืองอย่างแท้จริง เช่นพระพักตร์แบน พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนาและแบะเล็กน้อย แต่การที่พระพุทธรูปแสดงชายสังฆาฏิแบบมีปลายตัดตรงนั้น แจจะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรเข้ามาปะปนแล้ว รวมทั้งการชักชายผ้าออกมาด้านหน้าเป็นรุปหางปลาของกลุ่มเทวดา ก็มีลักษณะที่อาจจะสัมพันธ์กับศิลปะเขมรได้ ถ้ามีอิทธิพลเขมรเกิดขึ้นจริงในภาคกลางก็ควรจะพิจารณากำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15 (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2550(ก) : 105)
การนำประติมากรรมภาพเหตุการณ์ทั้งสองนี้มาประดับฐานชุกชีพระศรีศากยมุนีจึงสอดคล้องกับคติว่า ภายในพระวิหารนี้เปรียบเสมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพุทธมารดา (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2550(ก) : 98)
กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2431-2474. กรุงเทพฯ: กองบัญชาการทหารสูงสุด, 2542.
กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร : คลังวิทยา ป.พิศนาศการพิมพ์, 2506.
กรมศิลปากร. “จารึกวัดป่ามะม่วง.” จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526.
กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
คลี่ สุทัศน์ ณ อยุธยา, ม.ร.ว. ตำนานพระอารามหลวง. พระนคร : ราชบัณฑิตยสภา, 2473.
จดหมายเหตุ ร.1 เรื่องบัญชีพระพุทธรุปอาราธนามาแต่เมืองสุโขทัยและลพบุรี จ.ศ.1156 เลขที่ 11. หอสมุดแห่งชาติ
จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ. “การศึกษาการออกแบบและคติสัญลักษณ์ในกรณีของงานสถาปัตยกรรม วัดสุทัศน์เทพวราราม.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2531.
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 : ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2555.
น. ณ ปากน้ำ. วัดสุทัศนเทพวราราม (หนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย). กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2539.
บุญเตือน ศรีวรพจน์. จิตรกรรมรามเกียรติ์วัดสุทัศนเทพวราราม. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556.
พระครูวิจิตรการโกศล. ประวัติวัดสุทัศน์เทพวราราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ.2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2526.
พีระพัฒน์ สำราญ. สถาปัตยกรรมวัดสุทัศนเทพวราราม (พระวิหารหลวงและพระระเบียงคด). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.
วรรณิภา ณ สงขลา. การอนุรักษ์ จิตรกรรมฝาผนังพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2556.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “ประติมากรรม.” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550(ก) : 88-145.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “สถาปัตยกรรม.” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550(ข) : 24-87.
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ม.ร.ว. สมุดแสดงภาพที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ พุทธศักราช 2468. กรุงเทพฯ : สามลดา, 2549.
สันติ เล็กสุขุม. “จิตรกรรม : ปรัมปราคติ กับการแสดงออกอย่างใหม่.” ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “สถาปัตยกรรม” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550 : 181-270.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ.ม.จ.. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ.ม.จ. และประพัฒน์ ตรีณรงค์. วัดสุทัศน์เทพวรารามมหาวิหาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2512.
อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. “เรื่องของศิลปะจีนในวัดสุทัศนเทพวราราม.” ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “สถาปัตยกรรม” ใน สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2550 : 146-180.