โพสต์เมื่อ 15 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : เขาเจ้าไหม
ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา
ตำบล : ไม้ฝาด
อำเภอ : สิเกา
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.41311 N, 99.34238 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน
จากจังหวัดตรังไปตามทางหลวงจังหวัดตรังหมายเลข 4046 (ตรัง – สิเกา) ถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4162 สู่หาดปากเมงเป็นระยะทาง ประมาณ 40 กิโลเมตร จากหาดปากเมงเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบชายหาดอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม รวมระยะทางทั้งสิ้น 47 กิโลเมตร แหล่งภาพเขียนสีอยู่บนหน้าผาของเขาแบนะ ภูเขาหินปูนที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่ง ปลายแหลมสุดด้านทิศใต้ของหาดเจ้าไหม ติดกับที่ทำการอุทยาน
ภาพเขียนสีอยู่ที่หน้าผาของเขาแบนะ ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเล ติดกับชายฝั่งหาดเจ้าไหม ห่างจากหาดเจ้าไหมบริเวณหน้าอุทยาน 150 เมตร ดังนั้น ผู้สนใจสามารถชมภาพเขียนสีเขาเจ้าไหม หรือภาพเขียนสีเขาแบนะ ได้ทุกวัน แต่หากชมในระยะใกล้ ต้องรอช่วงเวลาน้ำลง จึงจะสามารถเดินเท้าลงไปชมได้ แต่ถ้าในช่วงน้ำทะเลขึ้น การเข้าชมต้องว่ายน้ำหรือเดินลุยน้ำ
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เขาแบนะ ตั้งอยู่ปลายสุดด้านทิศใต้ของหาดเจ้าไหม เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด มีลักษณะคล้ายกระโดงฉลามที่โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ โดยบริเวณด้านบนมีความสูงประมาณ 100 กว่าเมตร ภาพเขียนสีอยู่บริเวณหน้าผาในฝั่งที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ อยู่สูงจากพื้นหาดปัจจุบันประมาณ 3.5 เมตรขึ้นไป อยู่ห่างจากชายหาดเจ้าไหมบริเวณหน้าหาดที่ทำการอุทยาน ไปทางทิศเหนือประมาณ 150 เมตร
ทะเลอันดามัน
เขาแบนะเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด อยู่ในกลุ่มหินราชบุรี (กรมศิลปากร 2550)
ภาพเขียนสีอยู่หน้าผาด้านทิศเหนือของเขาแบนะ หันหน้าออกสู่ทะเล ลักษณะเป็นภาพเขียนสีแดง หลายภาพ แต่ส่วนใหญ่มีสภาพลบเลือน ที่เห็นเด่นชัดชัดเป็นภาพปลา 2 ตัว ส่วนหัวและครีบหาง เขียงลงสีทึบ ลำตัวเขียนแบบลายเส้นโครงร่างภายใน มีการตกแต่งเป็นลาย ส่วนอีกภาพมีขนาดใหญ่ ระบายสีแดงทึบทั้งภาพ มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นภาพปลาขนาดใหญ่หรือเสือ?
กรมศิลปากรสำรวจพบหลักฐานโบราณวัตถุตลอดแนวเพิงผา ได้แก่ โบราณวัตถุประเภทหิน ซึ่งไม่มีลักษณะเครื่องมือที่ชัดเจน และโบราณวัตถุประเภทดินเผา โดยพบภาชนะดินเผา 4 ชิ้น ได้แก่ ส่วนปากภาชนะ 2 ชิ้น หนา 0.6-0.9 เซนติเมตร ด้านนอกผิวเรียบ ด้านในขัดมัน ขอบปากผายออก เน้อหยาบมีกรวดปน เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร จำนวน 1 ชิ้น อีกชิ้นหนึ่งผิวขัดมันทั้งด้านนอกและด้านใน ขอบปากกลมผายออก เนื้อหยาบ ไม่มีกรวดปน และส่วนลำตัวภาชนะ 2 ชิ้น หนา 0.5 เซนติเมตร เนื้อหยาบมีกรวดปน ใส้กลางดำทั้ง 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งผิวเรียบธรรมดา อีกชิ้นหนึ่งขัดมันทั้งด้านนอกและด้านใน (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)
กรมทรัพยากรธรณี. การจําแนกเขตเพื่อการจดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2550.
กรมศิลปากร. ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร 2533.
สุวิทย์ ชัยมงคล ยุภาวดี ชูเทียนธรรม และสุวิมล วัลย์เครือ. ก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้ ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล. กรุงเทพฯ : เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 4/2534 กมศิลปากร, 2534
อัตถสิทธิ์ สุขขำ. "การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์), 2553.