อนุสาวรีย์หมู


โพสต์เมื่อ 28 ก.พ. 2021

ชื่ออื่น : อนุสาวรีย์สหชาติ, อนุสาวรีย์ปีกุน

ที่ตั้ง : ถนนราชินี

ตำบล : พระบรมมหาราชวัง

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.749882 N, 100.496207 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูเมืองเดิม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

อนุสาวรีย์หมู ตั้งอยู่ริมถนนราชินี ริมคลองคูเมืองเดิม แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร หน้าวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ปากทางถนนสราญรมย์ฝั่งคอลงคูเมืองเดิม เชิงสะพานปีกุน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อนุสาวรีย์หมู นอกจากจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแล้ว ปัจจุบันยังเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ซึ่งสามารถเข้าเยี่ยมชมและสักการะได้ทุกวัน ไม่เสียค่าเข้า

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอน 188 วันที่ 16 พ.ย. 2531 (อนุสาวรีย์หมู)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

อนุสาวรีย์หมู หรืออนุสาวรีย์สหชาติ ตั้งอยู่ริมถนนถนนราชินี ริมคลองคูเมืองเดิม (ฝั่งทิศตะวันตกของคลอง) เชิงสะพานปีกุน ด้านหน้าวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สภาพปัจจุบันอยู่ในสภาพดี ได้รับการเคารพสักการะในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1 เมตร

ทางน้ำ

คลองคูเมืองเดิม, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน (Holocene)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยธนบุรี, สมัยรัชกาลที่ 6

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2456

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, อำพัน กิจงาม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรุงเทพมหานคร, คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย

ผลการศึกษา :

กรุงเทพมหานครร่วมกับคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมคลองคูเมืองเดิม ในขณะสำรวจพื้นที่ได้พบแนวกำแพงอิฐด้านหลังอนุสาวรีย์สหชาติ (หมู) จึงให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ และลจัดตั้ง "โครงการขุดแต่งแนวกำแพงกรุงธนบุรีบริเวณอนุสาวรีย์สหชาติ (หมู)" จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบแนวกำแพงกรุงธนบุรีฝั่งตะวันออก

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

อนุสรณ์สถาน, กำแพงเมือง

สาระสำคัญทางโบราณคดี

อนุสาวรีย์หมู หรืออนุสาวรีย์สหชาติ ตั้งอยู่ริมถนนถนนราชินี ริมคลองคูเมืองเดิม (ฝั่งทิศตะวันตกของคลอง) เชิงสะพานปีกุน ด้านหน้าวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีกุน (1 มกราคม พ.ศ. 2406) สร้างขึ้นหลังสะพานปีกุนซึ่งเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในวาระที่พระองค์มีพระชนมายุครบ 4 รอบ อนุสาวรีย์หมูเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อนุสาวรีย์สหชาติ คำว่า สหชาติ หมายถึงผู้ที่เกิดปีเดียวกัน คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พระยาพิพัฒนโกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ได้ร่วมกันจัดสร้างถวายเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์

โดยมีสังเขปประวัติที่มาคือ เมื่อ พ.ศ.2456 อันเป็นที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษาบริบูรณ์ บรรดาผู้ที่เกิดสหชาติหรือปีเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ คิดที่จะทำหีบพระศรีถวายแต่ได้มีพระราชเสาวนีย์ลงมาว่าไม่ทรงรับของถวาย การนั้นจึงได้ล้มเลิกไป สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงทรงปรึกษากับพระยาพิพัฒน์โกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์) คิดจะปฏิบัติที่ไม่ฝ่าฝืนพระราชเสาวนีย์ จึงตกลงกันร่วมสร้างอนุสาวรีย์รูปหมูอันเป็นปีนักษัตรของสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯและทำก๊อกน้ำประปาสำหรับประชาชน เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ต่อมาพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) รู้เข้าก็ขอร่วมด้วยจึงเป็นอันตกลงร่วมกันก่อสร้าง 3 ท่าน เสร็จแล้วมีการทำบุญฉลองเมื่อถึงวันงานเฉลิมพระชนมพรรษาก็ส่งรูปถ่ายและทำหนังสือเซ็นชื่อสหชาติผู้ที่ร่วมทุนทำอนุสาวรีย์ขอถวายเป็นพระราชกุศล

ลักษณะของอนุสาวรีย์ทำเป็นรูปหมู หล่อด้วยโลหะรมดำ หันหน้าไปทางทิศใต้ ยืนอยู่บนฐานเนินหิน เมื่อแรกสร้างนั้นใช้แท่งศิลาขนาดใหญ่มาซ้อนกันเป็นฐาน ในปัจจุบันฐานศิลาถูกเปลี่ยนมาเป็นปูนซีเมนต์ และก่อยกให้สูงขึ้นกว่าเดิมลักษณะเป็นภูเขา ฐานมีศิลาจารึกเป็นหินชนวนสีเทา ขนาดกว้าง 80 ซม. สูง 58 ซม. อักษรและภาษาไทยมี 1 ด้าน 6 บรรทัด จารึกข้อความถวายพระพรแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ต่อด้วยรายพระนามและรายนามของผู้ที่ร่วมลงทุนในการสร้างอนุสาวรีย์ถวาย

                 "โอม......(ข้อความลบเลือน)........ขอองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทรา                                               

                 พระเกียรติแพร่ พระชนมายุยืนตราบศิลาลาญ.............(ข้อความลบเลือน)...................."

                 โดย

                 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์                                               

                 พระยาพิพัฒน์โกษา (เศเวสติโนซาเวียร์)                                               

                 พระยาราชสงคราม (กร)


แต่เดิมมีก๊อกน้ำประปาติดอยู่กับเขาเพื่อให้เป็นทานแต่ภายหลังได้รื้อออก 

นอกจากนี้ ในปี 2537 กรุงเทพมหานครร่วมกับคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมคลองคูเมืองเดิม ในขณะสำรวจพื้นที่ได้พบแนวกำแพงอิฐด้านหลังอนุสาวรีย์สหชาติ (หมู) จึงให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบ แนวกำแพงกรุงธนบุรีฝั่งตะวันออก

การขุดค้นทางโบราณคดีได้วางผังหลุมขนาด 5x8 เมตร บริเวณด้านหลังอนุสาวรีย์สหชาติ (หมู) อยู่ห่างจากคลองคูเมืองเดิมมาทางทิศตะวันตก ราว 7 เมตร เมื่อขุดค้นเสร็จสิ้นพบแนวอิฐฐานรากของกำแพงกรุงธนบุรี ก่อเรียงด้วยอิฐ 7 - 8 ก้อน อิฐมีขนาด 13x27x5 เซนติเมตร ต่อมาได้รื้อกำแพงและสร้างทางเท้าและสิ่งก่อสร้างทับลงบนกำแพงกรุงธนบุรี

จากการขุดค้นทำให้สันนิษฐานโครงสร้างของกำแพงกรุงธนบุรี โดยเปรียบเทียบกับกำแพงกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กำแพงกรุงธนบุรีวางฐานรากโดยมีให้มีขอบกำแพงยื่นออกมาทั้งด้านในและด้านนอก ขอบกำแพงที่ยื่นออกมานี้มีความกว้างประมาณ 40 - 50 เซนติเมตร ขอบกำแพงถูกตรึงด้วยเอ็นกำแพง เอ็นกำแพงนี้ก่อด้วยอิฐมีความก้วาง 90 เซนติเมตร ภายในตัวกำแพงจะอัดด้วยดินเอาไว้

โบราณวัตถุสำคัญที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผาพื้นเมือง เหรียญ กระเบื้องมุงหลังตา เครื่องแก้ว ตุ๊กตาดินเผา เป็นต้น โดยโบราณวัตถุพบในชั้นดินทับถม 20 - 70 เซนติเมตรจากผิวดิน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรรณิการ์ สุธีรัตนภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

ถาวร จารุกิตติชัย. อนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ : บริษัท เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย จำกัด, 2542.

อำพัน กิจงาม. “แนวกำแพงเมืองเก่าสมัยกรุงธนบุรี.” ศิลปากร 37, 6 (พฤศจิกายน - ธันวาคม 2537) : 44-62.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี