วัดเขียนบางแก้ว


โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021

ที่ตั้ง : บ้านบางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน

ตำบล : จองถนน

อำเภอ : เขาชัยสน

จังหวัด : พัทลุง

พิกัด DD : 7.499536 N, 100.191932 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลสาบสงขลา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางแก้ว, คลองปากเพนียด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงสาย 4081 ระยะทาง 7 กิโลเมตรจากอำเภอเขาชัยสน อยู่บริเวณบ้านบางแก้ว (กิโลเมตรที่ 14)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันวัดเขียนบางแก้ว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเขาชัยสนและเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้าน การเดินทางสู่แหล่งเดินทางได้โดยสะดวก บริเวณวัดเขียนบางแก้วมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆทั้งที่พบในบริเวณวัดเขียนบางแก้ว บริเวณทะเลหลวงที่บ้านปากพล บ้านจงกล บ้านท่าต่อเรือ บ้านสทัง และบ้านบางแก้ว นำมาจัดแสดงแก่ผู้สนใจ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอกุญแจจากเจ้าอาวาส ไม่เก็บค่าบริการเข้าชม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 089 – 289-1656

(รายละเอียดโดยสังเขปของพิพิธภัณฑ์ของชาติ วัดเขียนบางแก้ว http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside.php?id=1112)

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเขียนบางแก้ว, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนวัดเขียนบางแก้วเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2529 

ภูมิประเทศ

สันทราย

สภาพทั่วไป

วัดเขียนบางแก้วหรือวัดตะเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่บนสันทรายตั้งห่างจากชายฝั่งทะเลสาบสงขลาประมาณ 1 กิโลเมตร ลักษณะคล้ายเป็นเนินดินล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงสลับเนินดินที่อยู่อาศัย สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ทำนา มีร่องรอยคูคลองเก่าหลายสายแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลทำให้คลองเหล่านี้คอบวเหล่านี้และเปลี่ยนแปลงไปมาก

ตัวแหล่งโบราณคดีมีคลองบางแก้วไหลผ่านทางด้านทิศใต้ไปออกทะเลสาบสงขลาบริเวณหาดพัทธทอง

ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีคลองปากเพนียดไหลผ่านไปออกทะเลสาบสงขลาตรงบริเวณบ้านปากเพนียดห่างจากแหล่งโบราณคดีวัดเขียนบางแก้วประมาณ 1 กิโลเมตร คลองทั้งสองสายนี้มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาบรรทัด ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 2 กม. มีคลองจังเกไหลผ่านและตัวแหล่งโบราณคดีอยู่ห่างจากคลองสทังประมาณ 2.5 กิโลเมตร (อมรรัตน์ พิยะกูล 2551 : 65)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

5 เมตร (โครงการโบราณคดีภาคใต้ 2529 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)

ทางน้ำ

เป็นกลุ่มเมืองที่อยู่ในเขตอิทธิพลลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีลำน้ำรองที่สำคัญคือ คลองบางแก้ว  คลองปากเพนียด โดยไหลจากเขาบรรทัดผ่านแหล่งโบราณคดีไปลงที่ทะเลสาบสงขลา

สภาพธรณีวิทยา

เป็นเนินดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่ตั้งอยู่บริเวณแนวสันทรายริมทะเลสาบสงขลาทางด้านทิศตะวันตก  (โครงการโบราณคดีภาคใต้  2529 : ไม่ปรากฏเลขน้า)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยศรีวิชัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 15 -18 และ 19 -23

อายุทางตำนาน

สร้างขึ้นราว พ.ศ.1482 (จากพงศาวดารเมืองพัทลุง)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ในหนังสือ “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมาลายู ร.ศ. 121” กล่าวถึงร่องรอยกำแพงเมืองเก่าที่เขาชัยบุรีและชุมชนโบราณที่วัดเขียนบางแก้ว โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นเมืองพัทลุงเดิม

ชื่อผู้ศึกษา : น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุรุชาฏะ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศึกษาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดพัทลุง ตั้งข้อสังเกตว่าพบศิลปะแบบอู่ทองเข้ามาแพร่หลายในพัทลุง โดยเฉพาะที่วัดเขียนบางแก้ว

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519, พ.ศ.2527, พ.ศ.2534, พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจและศึกษาร่องรอยชุมชนโบราณในจังหวัดพัทลุงและตีพิมพ์บทความหลายชิ้น ได้แก่ “จากท่าชนะถึงสงขลา” (พ.ศ.2519), “สทิงพระและลังกาสุกะ” (พ.ศ.2527), “เล่าเรื่องเมืองสงขลา” (พ.ศ.2534) และ “เมืองพัทลุง” (พ.ศ.2543) กล่าวถึงเมืองพัทลุงว่าพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนตั้งแต่สมัยศรีวิชัย โดยน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสทิงพระ ส่วนพัฒนาการของเมืองน่าจะเกิดราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โดยเมืองพัทลุงแห่งแรกเกิดบริเวณโคกเมืองใกล้วัดเขียนบางแก้ว มีบทบาทเป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้าเนื่องจากพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศหยวนและราชวงศ์หมิง

ชื่อผู้ศึกษา : สงบ ส่งเมือง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

สงบ ส่งเมือง เสนองานวิจัยเรื่อง “ การพัฒนาหัวเมืองสงขลาในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2310 - 2444” กล่าวว่า บริเวณวัดเขียนบางแก้วเป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เป็นเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ชื่อผู้ศึกษา : ชัยวุฒิ พิยะกูล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

อ.ชัยวุฒิ พิยะกูล สำรวจโบราณวัตถุและโบราณสถานในเมืองพัทลุงแล้วตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยเรื่อง “โบราณวิทยาเมืองพัทลุง” กล่าวถึงพระมหาธาตุเจดีย์ที่วัดเขียนบางแก้ว และสันนิษฐานว่าเมืองพัทลุงแห่งแรกเกิดบริเวณโคกเมืองใกล้วัดเขียนบางแก้ว โดยมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยและพัฒนากลายเป็นชุมชนใหญ่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 จากนั้นเมืองพัทลุงได้ย้ายไปตั้งที่อื่น

ชื่อผู้ศึกษา : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, โรงเรียนสตรีพัทลุง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, โรงเรียนสตรีพัทลุง

ผลการศึกษา :

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุงและโรงเรียนสตรีพัทลุง จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีพัทลุง” สรุปความสำคัญของเมืองพัทลุงว่า มีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนในยุคประวัติศาสตร์ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดชุมชนขึ้นทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ คือเมืองสทิงพระและมีชุมชนเล็กๆรอบทะเลสาบสงขลา ต่อมาชุมชนวัดเขียนบางแก้วเจริญขึ้นแทนเมืองสทิงพระ เมืองพัทลุงบางแก้วถูกสลัดมาเลย์คุกคามบ่อยๆ จนต้องย้ายเมืองเข้าไปลึกจากทะเลสาบ

ชื่อผู้ศึกษา : จันทร์จิรายุ รัชนี (หม่อมเจ้า)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร

ผลการศึกษา :

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี จัดทำและตีพิมพ์หนังสือ ชื่อ “อาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา” กล่าวถึงเมือง Kole Polic ในหนังสือภูมิศาสตร์ปโตเลมีที่เขียนขึ้นราวคริสตศตวรรษที่ 7 และเมืองเสงจีหรือซีซู ในจดหมายจีนของจางฉุ่น (พ.ศ.1150) สันนิษฐานว่าน่าจะคือเมืองพัทลุงที่บางแก้ว โดยเส้นน้ำเข้าสู่บางแก้วทางสายเหนือคือ ระโนด คลองอู่ตะเภา (หม่อมเจ้าจิรายุ รัชนี 2530 : 112-113)

ชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีประเทศไทย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจแหล่งโบราณคดีในพัทลุงพบแหล่งโบราณคดีทั้งหมด 15 แห่ง กล่าวถึงการสำรวจบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านบางแก้วที่ประกอบไปด้วยวัดเขียนบางแก้ว พระมหาธาตุเจดีย์ทรงระฆัง พระอุโบสถ โคกแขกและโคกเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : พิริยะ ไกรฤกษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศึกษาโบราณวัตถุที่พบในเมืองพัทลุงและแบ่งศิลปกรรมออกเป็น 2 ยุคกว้างๆ คือ 1.ศิลปกรรมที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1200 -1450 2.ศิลปกรรมที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1850 – 2310 แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ - ในช่วงพ.ศ. 1850 – 1950 แสดงให้เห็นถึงอิทธิผลของอยุธยาตอนต้น พบเครื่องถ้วยจีน - ในช่วง พ.ศ. 2000 -2150 เป็นช่วงที่ความเจริญอยู่ที่วัดเขียนบางแก้ว ศิลปกรรมที่สำคัญ คือ พระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดเขียนบางแก้วที่ได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช - ในปี พ.ศ. 2150 -2310 ความเจริญจึงย้ายไปบริเวณเมืองชัยบุรี

ชื่อผู้ศึกษา : ยงยุทธ ชูแว่น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร

ผลการศึกษา :

ศึกษาชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา กล่าวว่าชุมชนบ้านบางแก้วบริเวณวัดเขียนบางแก้วเป็นชุมชนสำคัญทางตะวันตกของทะเลสาบสงขลา จากตำนานที่เขียนถึงพระนางเลือดขาวประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณโคกเมืองบางแก้ว พบว่ามีการตั้งเมืองทางบริเวณทิศใต้ของแหล่ง มีคูเมืองกว้างประมาณ 30 เมตร กำหนดอายุเมืองโบราณบางแก้วอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18-19

ชื่อผู้ศึกษา : สินชัย กระบวนแสง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจแหล่งโบราณคดีรอบทะเลสาบสงขลา กล่าวถึงชุมชนโบราณคดีบางแก้วว่าพบโบราณวัตถุหลายสมัย โดยชุมชนนี้น่าจะมีความสำคัญในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 19 มีบทบาทเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญ โดยเจดีย์ที่วัดเขียนบางแก้วสันนิษฐานว่าน่าจะก่อสร้างหรือดัดแปลงจากเจดีย์องค์เดิม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 (สินชัย กระบวนแสง 2540 : 10-11)

ชื่อผู้ศึกษา : อมรรัตน์ พิยะกูล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จัดทำและตีพิมพ์วิทยานิพนธ์เรื่อง “พัฒนาการของชุมชนโบราณในจังหวัดพัทลุงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24” โดยศึกษาและสำรวจแหล่งโบราณคดีทั้งหมดในจังหวัดพัทลุงตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ทั้งนี้ได้สำรวจและเก็บรวบรวมหลักฐานที่พบในพื้นที่แหล่งโบราณคดีวัดบางแก้ว สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนที่มีการใช้งานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 23

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดพัทลุง ประวัติการสร้างวัดเขียนบางแก้ว ปรากฏในเอกสารตำนานพระนางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้วของพระครูอินทโมฬีเจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง (เขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-23) และพงศาวดารเมืองพัทลุงที่เรียบเรียงโดยหลวงศรีวรวัตร (เขียนขึ้นราว พ.ศ.2460) กล่าวว่าวัดเขียนบางแก้วสร้างโดยพระยากุมาร พร้อมกับวัดสทังที่สร้างโดยนางเลือดขาวและวัดสทิงพระโดยพระยากรงทอง ซึ่งในพงศาวดารเมืองพัทลุงได้กล่าวถึงการสร้างวิหารและพระพุทธรูปที่วัดเขียนบางแก้วโดยพระยากุมารระบุอยู่ในปี พ.ศ.1482

จากนั้นวัดก็ถูกทิ้งร้างไป เอกสารได้กล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วอีกครั้งในช่วงสมัยอยุธยาโดยพระครูอินทโมฬี เจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิช่วงปี พ.ศ.2057  

ราว พ.ศ.2096–2111 แขกมลายูได้เข้ามาตีเมืองจะทิงพระ ทำให้มีการย้ายเมืองมาตั้งที่บริเวณบ้านบางแก้ว (แต่เป็นศูนย์กลางเพียงระยะหนึ่ง)

วัดเขียนบางแก้วได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง ดังปรากฏในตำราบรมราชูทิศเพื่อการกัลปนาสมัยพระเพทราชา พ.ศ.2231-2246 กล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วและวัดสทังและในปี พ.ศ.2453 ที่มหาธาตุเจดีย์เป็นเนื่องจากชำรุดลงอย่างหนัก ยอดพระธาตุขาดหัก ท่านอุปัชฌาจารย์ จันทสโรเจ้าอาวาสและพระครูวิจารณ์ศีลคุณ(ปู) เจ้าคณะอำเภอจะทิ้งพระร่วมกันทำการปฏิสังขรณ์ดัดแปลงรูปแบบเปลี่ยนไปจากของเดิมหลายอย่าง เช่น ฐานชั้นล่าง ซุ้มช้างซึ่งแต่เดิมโผล่เศียรอยู่ภายในซุ้มได้ปิดทับติดกับฝาฝนัง และทำการต่อยอดตั้งแต่ปล้องไฉนขึ้นไป (นิคม ตัญจนะ 2521 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)  วัดเขียนบางแก้วได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบัน

ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีวัดเขียนบางแก้วในด้านหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าบริเวณวัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 -18 (มีการพบโบราณวัตถุประเภทศิวลึงค์, พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรสำริดคล้ายศิลปะจามกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15, เครื่องถ้วยเขมรกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-18, เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังค์ถึงสมัยต้น 5 ราชวงศ์กำหนดอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 14 – ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 15 และสมัยราชวงศ์หยวนกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ในพื้นที่วัดบางแก้ว เป็นต้น) ซึ่งอาจเป็นเมืองที่มีบทบาททางการค้า จากนั้นบ้านบางแก้วเจริญมากขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 -23 โดยเฉพาะในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 22 ที่วัดเขียนบางแก้วได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเมือง ศูนย์กลางทางการค้าและพุทธศาสนาในกลุ่มเมืองลุ่มทะเลสาบสงขลา ดังเห็นได้จากพระตำราบรมราชทิศในสมัยอยุธยาที่ให้วัดต่างๆในเมืองนครศรีธรรมราช เมืองตรังและเมืองพัทลุงจำนวน 290 วัดมาขึ้นอยู่กับวัดเขียนบางแก้ว พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีหนาแน่นในช่วงสมัยนี้

ส่วนโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญในวัดเขียนบางแก้ว มีดังนี้  

1. พระมหาธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานประทักษินแปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน มีความสูงประมาณ 22 เมตร ประดิษฐานอยู่หลังอุโบสถจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ลักษณะการทำฐาน แปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังและเสาหานที่แยกจากปล้องไฉนคล้ายกับศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น (อมรรัตย์ พิยะกูล 2551 : 148) พระมหาธาตุเจดีย์ วัดเขียนบางแก้ว มีส่วนประกอบลักษณะทางสถาปัตยกรรม ดังนี้

ส่วนฐาน มีซุ้มพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิสลับกับรูปช้างปูนปั้นที่เห็นเพี่ยงส่วนเท้าและส่วนหัวรอบฐานเจดีย์ มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณทางด้านตะวันออก มีซุ้มพระพุทธรูปด้านข้างบันไดทั้งสองข้าง ซุ้มประตูทางเข้าทะเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน บนชั้นประทักษิณประดับเจดีย์ทิศสามองค์ซึ่งเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมรองรับองค์ระฆังสี่เหลี่ยม

ส่วนกลาง เป็นฐานเขียงแปดเหลี่ยมลดกัน 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังทรงกลม ฐานชั้นล่างสุดประดับปูนปั้นลวดลายผ้าทิพย์ เหนือองก์ระฆังมีบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสประดับเครื่องเคลือบและมุมทั้งสี่ประดับด้วยรูปกาปูนปั้นคล้ายเจดีย์สมัยอยุธยา

ส่วนยอด ถัดไปเป็นเสาหาน 8 ต้นประดับปูนปั้นพุทธสาวกประทับยืนถัดปั้นติดบริเวณช่องเว้าของเสาหาน เหนือขึ้นไปเป็นปล้องไฉน บัวกลุ่มและปลียอดตามลำดับ

รอบเจดีย์ มีเจดีย์ประจำมุม โดยด้านหน้าเป็นเจดีย์องค์ระฆังสี่เหลี่ยมย่อมุม 2 องค์ ด้านหลังเป็นเจดีย์ฐานเขียงรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายและองค์ระฆังทรงกลมเอวคอด 2 องค์ ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งเว้นช่องทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกไว้เป็นทางติดต่อกับพระอุโบสถ ภายในระเบียงคด ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นฝีมือช่างพื้นเมือง

2. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระมหาธาตุเจดีย์ ขนานกับคลองบางแก้ว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 5 องค์ ด้านหลังกั้นเป็นห้องสำหรับพระพุทธรูปปูนปั้นไสยาสน์

3. หอพระธรรมศาลา ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เจาะช่องหน้าต่างด้านข้าง ข้างละ 1 ช่อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปช่างพื้นเมือง 1 องค์

4. ฐานหอระฆัง อยู่ด้านหน้าหอพระธรรมศาลา ปัจจุบันเหลือเพียงฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่ออิฐถือปูน

5. ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ด้านหน้าของหอระฆัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เปิดโล่ง ไม่มีฝาผนัง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง

นอกจากนี้ จากการสำรวจทางโบราณคดีโดยรอบวัดเขียนบางแก้ว พบหลักฐานทางโบราณคดีกระจายตัวอยู่ทั่วไปรอบบริเวณวัด โดยมีสถานที่ที่สำคัญ ดังนี้

โคกแขกชีหรือโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถพบก้อนอิฐหักและชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายกระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดิน

ซากวิหารถือน้ำพิพัฒน์สัตยา อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ อยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 4 เมตร กว้าง 6 เมตร พบก้อนอิฐกระจายอยู่ทั้วไปบนเนิน มีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงจำนวน 3 องค์และส่วนเศียรพระพุทธรูป สันนิษฐานว่าบริเวณนี้อาจเป็นส่วนอาคาร

โคกพระตุลา อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซากวิหารถือน้ำ เดิมเป็นเนินดินขนาดใหญ่ พบเศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่และชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมาก ต่อมาทางวัดได้สร้างฐานอาคารก่ออิฐถือปูนบนโคกตุลาและนำเศียรพระหินทรายแดงมาบูรณะใหม่ ชาวบ้านเรียก “พระแก้วตุลาศรีมหาโพธิ์” บริเวณนี้เคยขุดพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน  เครื่องถ้วยสังคโลก เครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยเวียดนามจำนวนมาก

โคกเมือง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดเขียนบางแก้ว ปัจจุบันชาวบ้านสร้างเสาหลักเมืองบนเนินดินดังกล่าว บริเวณนี้เคยขุดพบเหรียญทองอาหรับ ชิ่นส่วนถ้วยสังคโลก เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเวียดนามและชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจำนวนมาก

 

ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานพระนางเลือดขาว เป็นตำนานมุขปาฏะที่แพร่หลายมากที่สุดเรื่องหนึ่งของภาคใต้ ตำนานพระนางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว เป็นสำนวนร้อยแก้ว พบที่วัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันเก็บรักษาที่หอสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ บันทึกด้วยอักษรไทยย่อ บรรทัดแรกเขียนด้วยตัวอักษรขอมไทยลงบนกระดาษเพลาสีขาวด้วยดินสอสีดำ เย็บเป็นเล่มด้วยด้วย จึงเรียกเพลานางเลือดขาว สันนิษฐานว่าเพลานางเลือดขาวน่าจะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อมีการปฎิสังขรวัดเขียนบางแก้วและวัดสทังตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) คาดว่าต้นฉบับเก่าน่าจะมีการชำรุดและมีการบันทึกใหม่อีกครั้งโดยพระครูอินทโมลีเจ้าคณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุง ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. 2251 -2275) ศักราชที่ปรากฏในข้อความบรรทัดแรก กล่าวว่า “ศุภมัสดุ 651 ศกระกา นักษัตรเอกศก” สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 2272 ในตำนานเพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว สามารถแบ่งเป็น 2 ตอนใหญ่ คือ ตอนแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างเมืองพัทลุง โดยเกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองที่วัดเขียน วัดสทังและวัดสทิงพระ และกล่าวถึงกำเนิดของพระนางเลือดขาวและกุมารที่เกิดจากหน่อไม้ที่ตาสามโมและยายเพชรเก็บมาตอนไปตามหาช้าง ต่อมากุมารนำพรรคพวก มาตั้งเมืองที่บางแก้วแล้วพบสมบัติ พระนางเลือดขาวเอาสมบัติไปสร้างวิหารและพระพุทธรูปที่วัดสทัง ส่วนกุมารนำสมบัติไปสร้างวิหารและพระพุทธรูปไว้ที่วัดเขียน พร้อมทั้งนำแผ่นทองมาเขียนตำนานและตั้งชื่อวัดว่าวัดเขียนบางแก้ว ตอนที่สอง กล่าวว่าวัดทั้ง 3 ร้างมาถึงพันปี จากนั้นก็กล่าวถึงประวัติของพระครูอินทโมฬี เจ้าคณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุงที่เข้ามาบูรณะวัดทั้ง 3 สันนิษฐานว่าตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2091 – 2111 (ชัยวุฒิ พิยะกูล 2549 : 26 -28)

พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยพระเพทราชา  ต้นฉบับได้มาจากวัดเขียนบางแก้วเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการใน ปี พ.ศ. 2455 เขียนด้วยตัวอักษรไทยย่อเส้นสีดำบนกระดาษเพลา มีรูปตราเทวดาและตราบัวแก้วประทับอยู่ มีฉบับที่เป็นอักษรขอมด้วย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยพระเพทราชา เนื่องจากมีศักราชระบุในปี พ.ศ. 2242 โดยกล่าวถึงพระครูอินทเมาฬี เจ้าคณะวัดป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุง ถวายพระพรแก่สมเด็จพระเพทราชาและขอให้ทรงอุปถัมภ์บำรุงวัดในเมืองพัทลุงที่ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง พระมหากษัตริย์จึงมีพระราชโองการให้พระอาลักษณ์ทำตำรากัลปนาพระราชอุทิศวัดที่ขึ้นอยู่กับวัดแก้วและวัดสทังทั้งหมดจำนวน 290 วัด รวมทั้งบอกอาณาเขตของวัดแก้วและวัดสทัง (คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีสำนักนายกรัฐมนตรี 2510 : 1-5)

พงศาวดารเมืองพัทลุง เรียบเรียงโดยหลวงศรีวรฉัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เมื่อ ปี พ.ศ. 2460 มีเนื้อหาทั้งหมด 6 ตอน ตอนที่ 1 -4 เป็นเรื่องราวของเมืองพัทลุงตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 5 -6 เป็นสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเรื่องของการปกครองสมัยโบราณ ในส่วนตอนแรกจะมีลักษณะเนื้อหาคล้ายตำนานนางเลือดขาวกล่าวการตั้งเมืองพัทลุงกล่าวถึงการสร้างวิหารและพระพุทธรูปที่วัดเขียนบางแก้วโดยพระยากุมารระบุอยู่ในปี พ.ศ. 1482 ในส่วนที่สองจะกล่าวถึงเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา โดยเนื้อหาในตอนนี้จะเรียบเรียงจากหนังสือพระราชทานที่กัลปนาให้แก่วัดในลุ่มทะเลสาบสงขลาที่เกี่ยวข้องกับวัดเขียนบางแก้ว คือ กล่าวถึง เจ้าสามีอินท์ภิกษุชาวเมืองพัทลุงในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้บูรณปฎิสังขรณ์วัดเขียนบางแก้วและวัดสทิงแล้วถวายพระพรขอพระราชทานที่กัลปนาสำหรับวัดเขียนและวัดสทิง พระมหากษัตริย์จึงพระราชทานโปรดเกล้าตั้งขึ้นเป็นพระครูอินทโมฬี เจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงและโปรดให้เบิกวัดทั้งแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงจำนวน 298 วัดขึ้นกับวัดเขียนบางแก้วและวัดสทิง, พ.ศ. 2242 พระครูอินทเมาลีเจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ปฏิสังขรณ์วัดเขียนบางแก้ววแล้วถวายขอพระพรขอพระราชาทานที่กัลปนาสำหรับวัดเขียนและวัดสะทัง (หลวงศรีวรวัตร  2507 : 1-7)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 5 (ภาคใต้). กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534.

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีสำนักนายกรัฐมนตรี.ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา ภาค 1. พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, 2510.

โครงการโบราณคดี (ภาคใต้). รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านบางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง. นครศรีธรรมราช : กรมศิลปากร, 2529.

จันทร์จิรายุ รัชนี. อาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา. กรุงเทพฯ : อรุณวิทยา, 2530.   

ชัยวุฒิ พิยะกุล. โบราณวิทยาเมืองพัทลุง. พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, 2525.

ชัยวุฒิ พิยะกูล. การศึกษาปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุด เรื่องเพลานางเลือดขาว. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2549.

น.ณ ปากน้ำ. “ศิลปในอาณาจักรภาคใต้ของประเทศไทย” เมืองโบราณ 2, 2 (มกราคม – มีนาคม 2519) : 56

นิคม ตัญจนะ. ประวัติวัดเขียนบางแก้ว ความเป็นมาของเมืองพัทลุง กรุงปาฎลีบุตรตามพรลิงค์. พัทลุง : โรงพิมพ์พัทลุง, 2521.

พิริยะ ไกรฤกษ์. “ประวัติศาสตร์ศิลปะพัทลุง (ระหว่างพ.ศ. 1200 – 2310)” ใน รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีพัทลุง. พัทลุง: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, 2531.

ยงยุทธ ชูแว่น.“พัฒนาการของชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 ถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 18” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529.

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์. จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมาลายู ร.ศ.121. พระนคร : กรมศิลปากร, 2517.

สินชัย กระบวนแสง. “การสำรวจแหล่งโบราณคดีรอบทะเลสาบสงขลา” ใน อาจารย์พเยาว์ นาคเวกกับงานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.

ศรีวรวัตร (พิณ จันทรโรจนวงศ์). พงศาวดารเมืองพัทลุง ประชุมพงศาวดารเล่มที่ 12. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2507.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “จากท่าชนะถึงสงขลา” เมืองโบราณ 2, 2 (มกราคม-มีนาคม 2519) : 65-77.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “สทิงพระและลังกาสุกะ” เมืองโบราณ 10, 1 (มกราคม-มีนาคม 2527) : 23-32.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “เล่าเรื่องเมืองสงขลา” เมืองโบราณ 17, 1 (มกราคม-มีนาคม 2534) : 19-34.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “เมืองพัทลุง” เมืองโบราณ 26, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2543) : 9-25.

อมรรัตน์ พิยะกูล. “พัฒนาการของชุมชนโบราณในจังหวัดพัทลุงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.