พระราชวังบวรสถานมงคล


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : วังหน้า, พระบวรราชวัง, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ที่ตั้ง : เลขที่ 4 ถ.หน้าพระธาตุ

ตำบล : พระบรมมหาราชวัง

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.757460 N, 100.492340 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

พระราชวังบวรสถานมงคล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ริมท้องสนามหลวง อยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กับโรงละครแห่งชาติ

รถประจำทางสาย : 3 , 6 , 9 , 19 , 30 , 33 , 43 ,  53 , 59 , 64 , 65 , 70 , 80 , 82 , 91 , 123 , 124 , 201 , 503 , 506 , 507 , A2

ท่าเรือ: เรือด่วนเจ้าพระยา: ท่าช้าง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการ วันพุธ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์) ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

โทร: 02 224 1333, 02 224 1402 

อีเมล: nm_pranakon@finearts.go.th

Facebook fanpage: https://www.facebook.com/nationalmuseumbangkok

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 141 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2519 หน้า 3261

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 หน้า5280

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พระราชวังบวรสถานมงคล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวงฝั่งด้านทิศเหนือ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543, พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

ผลการศึกษา :

บูรณะจิตรกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรค์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

จัดทำแบบโครงการบูรณะพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส(วัดพระแก้ววังหน้า)

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ซ่อมแซมและบูรณะกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคล

ชื่อผู้ศึกษา : ศิวกรการช่าง, บจ.

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะตำหนักแดง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะศาลาสำราญมุขมาตย์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะโรงราชรถ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะศาลาลงสรง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจข้อมูลโบราณสถานวัดบวรสถานสุทธาวาส เพื่อขึ้นทะเบียน

ชื่อผู้ศึกษา : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ขุดค้นทางโบราณคดี ในงานปรับปรุงพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บริเวณลานหน้าคณะรัฐศาสตร์และพื้นที่บางส่วนในพื้นที่โรงอาหารอาคาร 60

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

พระราชวัง/วัง

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกริมถนนหน้าพระธาตุในแนวคูเมืองเดิม สมด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2325 เดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และโปรดฯ ให้รื้อป้อมปราการและอาคารบางส่วนในพระราชวังบวรสถานมงคลเนื่องจากมีสภาพทรุดโทรมเกินกว่าที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ได้

กำแพงพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อแรกสร้างใน พ.ศ.2325 คงเป็นแต่กำแพงปักเสาไม้ระเนียดในภายหลังจึงมาเปลี่ยนเป็นกำแพงก่ออิฐโบกปูนสำเร็จใน พ.ศ.2328 ตัวกำแพงแต่เดิมมีอาณาเขตโอบล้อมตั้งแต่ถนนพระจันทร์ผ่านกลางสนามหลวงขึ้นไปตามถนนราชดำเนินในวกกลับมาทางตะวันตกตามถนนราชินีถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าช้างวังหน้าซึ่งได้แก่บริเวณที่เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครสนามหลวงตอนเหนืออนุสาวรีย์ทหารอาสาโรงละครแห่งชาติวิทยาลัยช่างศิลป์และวิทยาลัยนาฏศิลป์ เนื่องจากพระราชวังสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแบบอย่างวังหน้าที่กรุงศรีอยุธยาด้านหลังพระราชวังจึงเป็นด้านที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยากำแพงพระราชวังด้านนี้ใช้ร่วมกับกำแพงพระนครตามกำแพงพระราชวังมีป้อมโดยรอบ 10 ป้อม ป้อม 4 มุมวังทำเป็นป้อมรูปแปดเหลี่ยมหลังคากระโจมนอกนั้นทำเป็นหอรบมีประตูพระราชวัง 13 ประตูกำแพงและป้อมประตูพระราชวังบวรฯ ส่วนใหญ่ได้ถูกรื้อในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯแล้วโดยสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ของพระราชวังบวรฯบางส่วนได้ถูกรื้อลงเพื่อขยายเขตท้องสนามหลวงส่วนบริเวณที่เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมทหารจนในปี พ.ศ.2476 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นใน พ.ศ.2477 จึงมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกรมทหารให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พื้นที่ของพระราชวังบวรฯในส่วนนี้จึงเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาจนถึงปัจจุบันกำแพงพระราชวังบวรฯส่วนที่เหลืออยู่ทางด้านทิศใต้จึงได้ใช้เป็นกำแพงส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในอดีต แบ่งพื้นที่ออกเป็น เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน โดยเขตพระราชฐานแต่ละชั้นมีอาณาเขตโดยสันนิษฐาน ได้แก่

     - เขตพระราชฐานชั้นนอก ครอบคลุมพื้นที่ในปัจจุบันของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติ สโมสรข้าราชการเทศบาลกรุงเทพมหานคร และถนนหน้าโรงละครแห่งชาติ

     - เขตพระราชฐานชั้นกลาง ครอบคลุมพื้นที่ในปัจจุบันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

     - เขตพระราชฐานชั้นใน ครอบคลุมพื้นที่ในปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โบราณสถานสำคัญในเขตวังหน้า ได้แก่

     - พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เดิมเป็นพระที่นั่งโถง แต่ต่อเติมผนังมื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปีพุทธศักราช 2453

     - พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ มีลักษณะเป็นท้องพระโรงริมชาลาด้านหน้าเป็นเกยสำหรับเทียบช้างพระที่นั่ง

     - พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นชาลาที่ให้ข้าราชการเฝ้า ณ มุขเสด็จ เรียกว่า ทิมมหาวงศ์ในรัชกาลที่ 3 ทรงต่อเติมมุขเสด็จเป็นท้องพระโรง

     - หมู่พระวิมาน คือ หมู่พระราชมณเฑียรที่มีหลังคาเชื่อมโยงถึงกันตลอดและมีมุขเชื่อมติดต่อ 6 มุข ละมุขกระสันอีก 1 มุข มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญหลายหลังประกอบด้วย - พระที่นั่งวสันตพิมาน- พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ- พระที่นั่งพรหมเมศธาดา- พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร- พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข- พระที่นั่งบูรพาภิมุข- พระที่นั่งทักษิณาภิมุข- พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข- พระที่นั่งอุตราภิมุข- ท้องพระโรงหลัง

     - พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกเป็นตึก 2 ชั้น จำนวน 9 ห้องมีบันไดเป็นมุขขึ้นด้านนอก

     - พระที่นั่งเอกอลงกฎเป็นพระที่นั่งโถงมีเกยสำหรับทรงพระราชยานด้านหน้าสร้างทำนองเดียวกับพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง

     - เก๋งนุกิจราชบริหารเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องลูกฟูกแบบจีนหน้าบันหลังคาเขียนสีลวดลายแบบจีน ภายในมีเก๋งมีภาพจิตรกรรมแบบจีน

     - ศาลาสำราญมุขมาตย์ เป็นศาลาโถง

     - ศาลาลงสรง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 เดิมอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์

     - พระตำหนักแดง มีลักษณะเป็นเรือนไม้แบบไทยโบราณ

     - กำแพงพระราชวังบวรสถานมงคล ด้านใต้ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาชนิดปลายแหลม

     - เขื่อนเพชร

     - เขามอ

     - วัดบวรสถานสุทธาวาส

     - พระที่นั่งคชกรรมประเวศ

     - พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย

ในปีงบประมาณ 2555 กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี สำนักโบราณคดี ได้ดำเนินการตามแผนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อกลับคืนมาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยโดยอาศัยข้อมูลทั้งทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ทราบลำดับการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ อันจะเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคลในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครต่อไป ปัจจุบัน การศึกษาทางโบราณคดียังดำเนินการอย่างต่อเนื่องการแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่พบนี้ เป็นเพียงข้อมูลในปีงบประมาณ 2555 เท่านั้น

การดำเนินงานศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

     1) การสำรวจจากเอกสารประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานวังหน้า พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภาพถ่าย แผนที่ แผนผัง ฯลฯ

     2) การสำรวจด้วยการประยุกต์วิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการตรวจสอบพื้นที่ด้วยการสำรวจเรดาห์ทะลุพื้นพิภพ (GPR) และการใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS)

     3) การขุดค้นทางโบราณคดี

จากการสำรวจเพื่อประเมินศักยภาพพื้นที่จากเอกสารและการสำรวจด้วยเรดาห์ทะลุพื้นพิภพ (GPR) บริเวณสนามหญ้าด้านทิศใต้ของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ปรากฏร่องรอยผิดสังเกตในชั้นใต้ดินตั้งแต่ระดับ 0.40 - 2 เมตร ซึ่งมีการใช้พื้นที่ซ้อนทับอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การกำหนดพื้นที่ขุดค้นในบริเวณทิศใต้ของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จึงได้กำหนดพื้นที่ขุดค้นรวม 330 ตารางเมตร โดยใช้เวลาขุดค้นระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2555

1. ข้อมูลจากการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายเก่า แผนที่เก่า การสำรวจเรดาห์ทะลุพื้นพิภพ (GPR) และการใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS)

จากการศึกษาเอกสารพบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีการปรับปรุงพื้นที่ใช้งานมาตลอดในฐานะที่ประทับของกรมพระราชวังสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1 - 5 มิวเซียมหลวงและโรงทหาร ในรัชกาลที่ 5 - 7 และเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2469 และพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครต่อมา สามารถสรุปรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา ได้ดังนี้

สมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในสมัยแรกสร้าง มีหมู่พระวิมานฯ มีท้องพระโรงและมุขหน้า สันนิษฐานว่าในสมัยนั้น เรียกว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ด้านหน้าของมุขมีชาลาที่แขกเมืองเข้าเฝ้า พ้นชาลาเป็นทิมคดซึ่งสร้างบังมุขท้องพระโรงทั้งสามด้าน

สมัยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  มีเพียงการซ่อมแซมพระราชมณเฑียร แต่มิได้อยู่ในพื้นที่ซึ่งดำเนินการขุดค้นในปัจจุบัน

สมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์  มีการซ่อมแซมพระราชมณเฑียรและอาคารใหม่เพิ่มเติม โดยด้านหน้าหมู่พระวิมานซึ่งเป็นตำแหน่งพื้นที่ขุดค้นมีการสร้างมุขหน้าตรงพระวิมานองค์กลาง ส่วนมุขหน้าเดิมแปลงเป็นมุขกระสัน เรียกว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร และมีการรื้อทิมมหาวงศ์ด้านตะวันออกทั้งด้าน แล้วสร้างท้องพระโรงใหม่อีก 1 องค์ต่อกับมุขเดิม เรียกว่า “พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย”

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีการสร้างกำแพงแก้วหน้าท้องพระโรงรอบพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งโถง 2 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งมังคลาภิเศก พระที่นั่ง
เอกอลงกฎ เรียงในแนวเหนือ – ใต้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แนวกำแพงแก้วที่มีพระที่นั่งทั้ง
2 องค์ ดังกล่าว ปรากฏในแผนที่ พ.ศ.2450 แผนผังสำรวจพระราชวังบวรสถานมงคลเพื่อปรับเป็นที่สำหรับพิพิธภัณฑสถาน พ.ศ.2468 และแผนที่สำรวจกรุงเทพฯ พ.ศ.2472

ระหว่าง พ.ศ.2428 - 2477 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต ใน พ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารขึ้นแทน
ทั้งมีพระราชดำริให้รักษาอาคารสถานที่สำคัญในพระราชวังบวรสถานมงคล และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมิวเซียมหลวงในพระบรมมหาราชวัง มาจัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่ง
อิศราวินิจฉัย และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมปราการ สถานที่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกข้างตะวันออก เพื่อเปิดเป็นท้องสนามหลวง

ปรับพื้นที่ด้านทิศเหนือ คงเหลือพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตก 3 หลัง ใช้เป็นที่ทำการกระทรวงธรรมการ ต่อมาใช้เป็นที่ทำการกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงคมนาคมตามลำดับ ภายหลังได้รื้อลงเพื่อสร้างเป็นโรงละครแห่งชาติและเป็นที่ตั้งของโรงเก็บราชรถ

บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก มีการรื้อปรับพื้นที่ สร้างโรงทหารราบที่ 11 และแบ่งตำหนักตอนใต้ออกเป็นตอนหนึ่งเพื่อจัดเป็นคลังเครื่องสรรพยุทธ สร้างประตูใหม่ขึ้นตรงมุมถนนพระจันทร์ และรื้อ
เขื่อนเพชรก่อเป็นกำแพงเป็นแนวต่อไปทางตะวันออกจดกำแพงรั้วเหล็กที่ทำขึ้นใหม่ของพิพิธภัณฑสถาน

2. ข้อมูลจากขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณด้านทิศใต้ของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

บริเวณทิศใต้ของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญตั้งแต่ระดับลึกจากผิวดินประมาณ 40 เซนติเมตร อันได้แก่ กลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐฉาบปูน ทับซ้อนกันไปมาแต่ละสมัย โดยมีทั้งที่สามารถสันนิษฐานหน้าที่การใช้งานได้ และไม่ทราบหน้าที่การใช้งาน ทั้งนี้ กลุ่มโบราณสถานสำคัญที่พบ ได้แก่

ฐานรองรับอาคาร สันนิษฐานว่าเป็นฐานรองรับอาคารทิมมหาวงศ์ ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พ.ศ.2325 - 2346) หรืออาจเป็นหอพระที่สร้างคู่กับหออัฐิในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (พ.ศ.2367 - 2375)

กลุ่มเสาบนแนวอิฐเรียงเป็นระยะ ลักษณะเป็นอาคารโถง ตำแหน่งอาคารดังกล่าวนี้เทียบได้กับสิ่งก่อสร้างโรงทหารในแผนผังพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พ.ศ.2430 และแผนที่กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.
2472

3. ข้อมูลจากขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณด้านทิศเหนือของพระที่พุทไธสวรรย์

จากการสำรวจเรดาร์ทะลุพื้นพิภพ (GPR) และการใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) พบว่าบางส่วนของพื้นที่สนามด้านทิศเหนือพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ใช้เป็นที่ตั้งของโรงทหารนับแต่สมัยพระบาทสมเด็จ
พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเนื่องจนถึงสมัยกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ นอกจากนี้ เมื่อพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ.
2469 แล้ว ได้มีการวางระบบสาธารณูปโภคน้ำประปาเชื่อมต่อจากสนามหลวงด้านทิศเหนือ และพื้นที่บริเวณนี้ยังถูกรบกวนเมื่อมีการสร้างอาคารสังคีตศาลา ดังปรากฏในแผนที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.2505

จากการขุดค้นได้พบกลุ่มโบราณสถานทั้งที่สามารถสันนิษฐานหน้าที่การใช้งานได้ และไม่ทราบหน้าที่การใช้งาน ทั้งนี้โบราณสถานสำคัญที่พบ ได้แก่

ฐานรากของอาคารโรงทหารและถนนอิฐ ทั้งนี้สิ่งก่อสร้างที่พบล้วนแล้วแต่ถูกรบกวนด้วยการฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็กสมัยใหม่ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารสังคีตศาสที่สร้างมาใน พ.ศ.2505 และรื้อถอนออกในช่วงหลัง

4. ข้อมูลจากขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณด้านข้างพระที่นั่งมังคลาภิเศก 

พื้นที่บริเวณด้านทิศเหนือพระที่นั่งมังคลาภิเษก คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ส่วนทิศใต้มีสิ่งก่อสร้าง คือ โรงราชรถ แต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งเอกอลงกฎตั้งอยู่

จากการขุดค้นได้พบโบราณสถานก่ออิฐฉาบปูน เป็นแนวต่อเนื่องจากโรงทหารที่พบด้านหน้าที่นั่งพุทไธสวรรย์ และท่อประปาเมื่อครั้งวางระบบสาธารณูปโภคในครั้งแรกตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พ.ศ.2469

สรุปผลการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2425 และยังไม่พบหลักฐานที่มีอายุเก่ากว่านี้ โบราณวัตถุที่พบมีทั้งของพื้นเมือง เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดินก้นกลม และสิ่งของที่แสดงถึงวัฒนธรรมตะวันตกและจีน เช่น เครื่องถ้วยจีน ชิ้นส่วนปูนปั้นเขียนลายศิลปะจีน ประติมากรรมรูปทหารตะวันตก หมวกทหาร ปี้แก้ว (สิ่งที่ใช้แทนเงินตราในบ่อนเบี้ยของชาวจีน) ขวดน้ำหอมจากต่างประเทศ ขวดแก้วสุราตะวันตก เครื่องถ้วยและเครื่องแก้วจากยุโรป เป็นต้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "พระราชวังบวรสถานมงคล" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรมศิลปากร. พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2558.

เมธินี  จิระวัฒนา. การศึกษาทางโบราณคดีบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า). เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ ความก้าวหน้าด้านโบราณคดีและการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์, 2557; หน้า 174-205.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี