ป้อมมหากาฬ


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ที่ตั้ง : ถ.มหาไชย

ตำบล : สำราญราษฎร์

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.755658 N, 100.505522 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแสนแสบ, คลองรอบกรุง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ป้อมมหากาฬตั้งริมถนนมหาไชย อยู่ติดกับสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ วัดราชนัดดารามฯ วัดเทพธิดารามฯ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สะพานผ่านฟ้าลีลาศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วัดสระเกศฯ เป็นต้น

รถเมล์: สาย 2, 5, 12, 15, 44, 47, 56, 59, 60, 70, 79, 157, 171, 183, 503, 509, 511

เรือ: เรือโดยสารคลองแสนแสบมาลงท่าผ่านฟ้า

รถส่วนตัว: จอดได้ที่วัดราชนัดดารามฯ ฝั่งตรงข้ามถนนกับป้อมมหากาฬ ค่าบริการ 40 บาทต่อวัน 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันโบราณสถานได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี พื้นที่โดยรอบเป็นสวนหย่อมและชุมชนชาวป้อมมหากาฬ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณป้อมมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังคงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีเสน่ห์ รักษาภูมิปัญญาของชุมชนไว้ สามารถเข้าเยี่ยมเยียนได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้า

เว็บไซต์ชุมชนป้อมมหากาฬ:  https://www.facebook.com/mahakanmodel/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรุงเทพมหานคร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง การกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ตั้งอยู่บริเวณริมคลองรอบกรุง ใกล้เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยมีแนวกำแพงเมืองต่อไปเป็นแนวตามถนนมหาไชย เป็นโบราณที่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี โดยรอบเป็นสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และชุมชนป้อมมหากาฬ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณป้อมมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองรอบกรุง, คลองแสนแสบ

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท มรดกโลก จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุดจะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ป้อมมหากาฬและสวนสาธารณะชุมชนป้อมมหากาฬ จึงได้ประสานงานกับกรมศิลปากรและบริษัทมรดกโลก จำกัด เพื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีก่อนดำเนินการ

ชื่อผู้ศึกษา : ศวรา นนทรีย์, พล ศรีดุรงคธรรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลการศึกษา :

วัตถุประสงค์ 1. ศึกษาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของกำแพงพระนคร ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และจากข้อมูลทางวิศวกรรม 2. ศึกษาระบบโครงสร้างและระบบฐานรากของกำแพงพระนคร และป้อมปราการโดยศึกษาดูว่าลักษณะโครงสร้างและลักษณะฐานรากเป็นเช่นไร มีหลักการ แนวคิด และวิธี การก่อสร้างอย่างไร 3. นำเสนอผลการศึกษาในรูปของสื่อที่ทันสมัยและภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อ สะดวกในการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป ขั้นตอนและวิธีการศึกษา ประกอบด้วย 1. การศึกษาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของกำแพงพระนครและป้อมปราการจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และจากการสํารวจทางวิศวกรรม มีขั้นตอนดังนี้ 1.1 รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแนวกำแพงเติมและป้อมปราการจากกรมศิลปากร และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อให้ทราบแนวกำแพงในปัจจุบัน 1.2 ทำการสํารวจตำแหน่งของแนวกำแพงและป้อมปราการ 1.3 ศึกษาวิธีการหาพิกัดตำแหน่งโดยใช้กล้องวัดมุมและเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ระบบ NAVSTAR GPS โดยประสานงานกับกรมที่ดินในการดําเนินงาน 1.4 วิเคราะห์หาค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของแนวกำแพงและป้อมปราการ 1.5 วิเคราะห์ค่าพิกัดโดยประมาณของป้อมมหาปราบ ( มีการรื้อถอนไปแล้ว ) ซึ่งอยู่ระหว่างป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ และทำการตรวจสอบความถูกต้องโดยเจาะสํารวจด้วย Hand Auger 2. การศึกษาระบบโครงสร้างและระบบฐานรากของสิ่งก่อสร้างโบราณ มีขั้นตอนดังนี้ 2.1 รวบรวมข้อมูลทางวิศวกรรมโครงสร้างและฐานรากของสิ่งก่อสร้างโบราณจากกรมศิลปากร โดยรวมถึง หลักฐานการก่อสร้าง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แบบและวิธีการก่อสร้าง และรูปถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นต้น 2.2 จัดทำสื่อนำเสนอข้อมูลสรุปในรูปคอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อสะดวกในการเผยแพร่ แก่ผู้ที่สนใจ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : ขุดสำรวจ

ผลการศึกษา :

วัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาผลกระทบทางโบราณคดี เนื่องจากการขุดเปิดหน้าดินในกิจกรรมก่อสร้าง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้ง 3 แห่ง คือ สถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา และสถานีพระราชวัง 2.เพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวเนื่องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่อาจพึ่งมีในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า 3 แห่ง 3.เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขผลกระทบทางด้านโบราณคดีที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรม ขอบเขตของงาน 1.ทำการศึกษาและทบทวนข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในบริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างสถานีทั้ง 3 แห่ง คือ สถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา และสถานีพระราชวัง 2.ทำการขุดเจาะสำรวจในพื้นที่สถานีทุกระยะ 12 เมตร มีความลึก4 เมตร โดยแสดงผลการขุดเจาะในลักษณะคอลัมน์ดิน 3.ทำการวิเคราะห์ผลของการขุดเจาะสำรวจ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างสถานีทั้ง 3 แห่ง 4.เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น 5.ทำการประเมินราคาค่าใช้จ่ายและขอบข่ายงานที่จะต้องดำเนินการในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องศึกษาในรายละเอียดหรือศึกษาในลักษณะอื่นเพิ่มเติม ขั้นตอนและวิธีการ 1.ศึกษาและทบทวนข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในบริเวณพื้นที่จะก่อสร้างสถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา และสถานีพระราชวัง โดยศึกษาทบทวนจากเอกสารที่ได้มีผู้ศึกษาไว้แล้ว 2.ดำเนินการสำรวจภาคสนามด้านโบราณคดีเบื้องต้น ในพื้นที่จริงเพื่อบันทึกสภาพปัจจุบันของบริเวณโครงการ และสถานที่สำคัญในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี 3.ทำการสำรวจธรณฟิสิกส์ด้วยวิธีหยั่งลึกด้วยสัญญาณเรดาร์ (GPR) ในบริเวณพื้นที่สถานีเพื่อตรวจสอบตำแหน่งสาธารณูปโภค รวมทั้งหลักฐานใต้ดินทั้งบริเวณ โดยความเห็นชอบของสำนักโบราณคดีฯ 4.นำผลการตรวจวัดด้วยเครื่อง GPR ที่มีการแปลความแล้ว ประกอบกับข้อมูลรายงานการสำรวจด้านโบราณคดีเบื้องต้น และข้อมูลจากเอกสาร มาพิจารณากำหนดตำแหน่งหลุเจาะ โดยความเห็นชอบจากสำนักโบราณคดีฯ 5.ดำเนินการหมายสีตำแหน่งหลุมเจาะบนผิวจราจร และบาทวิถี ของถนนพระสุเมรุ(สถานีผ่านฟ้า) ถนนมหาไชย และถนนเจริญกรุง (สถานีวังบูรพา) ถนนสนามไชย (สถานีพระราชวัง) 6.หน่วยงานสาธารณูปโภค ที่มีแนวสาธารณูปโภคอยู่ภายใต้พื้นผิวถนน ร่วมสำรวจพื้นที่โครงการ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของตำแหน่งหลุมเจาะในแง่ของความปลอดภัยจากความเสี่ยงอันตราย และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบธารณูปโภค 7.ปรับตำแหน่งหลุมเจาะ เสนอขอรับความเห็นชอบจากสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 8.หลังจากได้รับอนุญาตขุดเจาะถนนจากกรุงเทพมหานครแล้ว จึ่งเริ่มดำเนินการขุดเจาะสำรวจเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามจุดที่กำหนดไว้ ด้วยเครื่องจักรขุดเจาะแบบ Rotary Drillinh Rig ซึ่งควบคุมโดยระบบไฮดรอลิค โดยระหว่างการดำเนินการมีนักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีควบคุมอย่างใกล้ชิด 9.เมื่อเก็บตัวอย่างคอลัมน์ดิน ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ทำการกลบหลุมขุดเจาะให้มีสภาพเรียบร้อยดังเดิม 10.วิเคราะห์ตัวอย่างดินในแง่ปฐพีวิทยาและโบราณคดี 11.สรุปผลการขุดเจาะสำรวจและวิเคราะห์ด้านโบราณคดี 12.จัดทำรายการผลการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย บริเวณสวนหย่อมป้อมมหากาฬ ทางด้านหลังของป้อม ระยะห่างจากตัวป้อม 8.00 เมตร ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะอาจทำให้เกิดการแตกร้าวทรุดตัวได้

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ศึกษาและตรวจสอบข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ศิลปกรรมและวัฒนธรรม บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกองโบราณคดีดำเนินการสำรวจโบราณสถานและอาคารเก่าในเขตรัตนโกสินทร์ รวมถึงป้อมมหากาฬ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ป้อมค่าย, กำแพงเมือง

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ป้อมมหากาฬสร้างขึ้นเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในปี 2325 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคูก่อสร้างกำแพงพระนคร พระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี 2326 ซึ่งในการก่อสร้างกำแพงพระบรมมหาราชวังนั้นได้สร้างป้อมสำหรับป้องกันพระนครเป็นระยะๆ รอบพระนครจำนวน 14 ป้อม ได้แก่ ป้อมพระสุเมรุ,ป้อมยุคนธร,ป้อมมหาปราบ,ป้อมมหากาฬ,ป้อมหมู่หลวง,ป้อมเสือทยาน,ป้อมมหาไชย,ป้อมจักรเพชร,ป้อมผีเสื้อ,ป้อมมหาฤกษ์,ป้อมมหายักษ์,ป้อมพระจันทร์,ป้อมพระอาทิตย์ และป้อมอิสินธร (กรมศิลปากร 2564) โดยป้อมมหากาฬอยู่ทางตะวันออกของพระนคร และไม่ปรากฏว่ามีวังเจ้านายประจำอยู่บริเวณป้อม สันนิษฐานว่าอาจมีวังเจ้านายเดิมอยู่แล้ว

เมื่อ พ.ศ. 2471 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราชบัณฑิตยสภาได้แจ้งกระทรวงมหาดไทย ขอสงวนป้อมมหากาฬไว้เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรขอให้กรมโยธาเทศบาลช่วยดูแลรักษา ครั้นเมื่อถึงสมัยเทศบาลนครกรุงเทพฯ พ.ศ. 2481 นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพแจ้งมายังกรมศิลปากรว่า มีผู้ขอเช่าป้อมมหากาฬเพื่อจัดเป็นรมณียสถาน โดยรับรองว่าจะไม่ปลูกสร้างสิ่งใดบนป้อมนี้ กรมศิลปากรพิจารณาแล้ว เห็นว่าป้อมมหากาฬมิใช่ปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพบูชา และเมื่อผู้ขอเช่ารับรองจะช่วยซ่อมแซมสถานที่ให้ด้วย เห็นว่าไม่เสียหายก็อนุญาตตามเทศบาลเสนอ แต่มีเหตุขัดข้องจึงมิได้ทำสัญญาเช่าในครั้งนั้น จนกระทั่งถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬไว้เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถานศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระพุทธศักราช 2477

ตามแนวกำแพงตั้งแต่ป้อมมหากาฬ ยังมีพื้นที่ ชานกำแพง เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ (พื้นที่ชานกำแพง คือ พื้นที่ยื่นล้ำจากกำแพงเมืองลงสู่แม่น้ำหรือลำคลองคูเมือง เป็นพื้นที่ให้เรือแพจอดเป็นท่าเรือ และผู้คนมาอาศัยปลูกเรือนที่อยู่อาศัยอยู่รายรอบตัวเมือง) เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นท่าเรือ และมีบ้านเรือนของผู้คนอยู่เป็นชุมชนมาช้านาน โดยเฉพาะชุมชนนี้ ยังมีบ้านเรือนแบบโบราณ มีทางเดินตรอกที่ติดต่อระหว่างกัน บริเวณชานกำแพงเมืองที่เคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าเมืองและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่น เช่น ตามลำคลองมหานาค คลองแสนแสบ และคลองโอ่งอ่างไปยังชุมชนรอบเมืองอื่นๆ ชุมชนชานกำแพงเมืองป้อมมหากาฬนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งมีศาลเจ้าซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนในชุมชน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ป้อมมหากาฬเป็นป้อมขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม วัดจากฐานรากชั้นนอกด้านทิศเหนือจรดฐานด้านทิศ ใต้กว้าง 38 เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงปลายใบเสมา 4.90 เมตร และจากพื้นดินถึงหลังคาป้อม 15 เมตร โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน รากฐานอยู่ใต้ระดับผิวดิน ลักษณะเป็นป้อม 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นที่ 1 และ 2 กำแพงป้อมเป็นแบบใบเสมาเหลี่ยมขนาดใหญ่ทั้งหมด ยกเว้นกำแพงปีกกาที่ต่อออกมาจากกำแพงป้อมชั้นที่ 2 มีลักษณะใบเสมาปลายแหลมเหมือนกำแพงเมือง ตัวป้อมชั้นบนสุดมีลักษณะเป็นหอรูปแปดเหลี่ยม มีประตูทางเข้า 1 ประตู หลังคาโครงไม้มุงกระเบื้องทรงคล้ายฝาชีหรือใบบัว คว่ำ 2 ชั้น ที่ป้อมชั้นล่างมีปืนใหญ่ตั้งประจำช่องเสมาเป็นจำนวน 6 กระบอก กำแพงเมืองที่ต่อจากป้อมมหากาฬไปตามแนวถนนมหาไชยนั้น มีลักษณะเป็นกำแพงมีเชิงเทิน ใบเสมาชนิดปลายแหลม ยาว 180 เมตร ถูกตัดขาดเป็นช่วงๆรวม 4 ช่วง กำแพงช่วงยาวมีช่องประตูรูปโค้งแบบประตูช่องกุดใต้เชิงเทิน 3 ประตู สองข้างช่องประตูเป็นบันไดขึ้นสู่ชานบนกำแพง ในพุทธศักราช 2524 กรมศิลปากรได้บูรณะป้อมและกำแพงเมือง เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และได้ก่อคอนกรีตแนวเชิงเทินเชื่อมช่วงกำแพงที่ขาดเข้าด้วยกันตามแบบเดิม

ป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองทั้งหมดได้รับการบูรณะส่วนที่ชำรุดและทาสีใหม่หลายครั้ง เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ชุมชน มีแขกเมืองและนักท่องเที่ยวผ่านอยู่เสมอ ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการติดไฟสำหรับส่องป้อมให้เกิดความงดงามในเวลากลางคืนด้วย ภาพของป้อมมหากาฬเคยได้รับการนำลงพิมพ์ในธนบัตรใบละ 10 บาท ในรัชกาลปัจจุบันอยู่ช่วงระยะหนึ่ง เมื่อมีการประดับประดาประทีปโคมไฟเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนงานโอกาสพิเศษอื่นๆ ป้อมมหากาฬจะได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยเสมอ เพราะเป็นป้อมที่มีลักษณะสง่างาม ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินอันเป็นถนนสายสำคัญของพระนคร

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุดจะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ป้อมมหากาฬและสวนสาธารณะชุมชนป้อมมหากาฬ จึงได้ประสานงานกับกรมศิลปากรและบริษัท มรดกโลก จำกัด เพื่อทำการ ขุดค้นทางโบราณคดีในปี 2547 ก่อนดำเนินการปรับปรุงพื้นที่

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญฺ (กรรณิการ์ สุธีรตนาภิรมย์ 2562)

ป้อมมหากาฬเป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 พร้อมกับกำแพงพระนคร จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณด้านข้างป้อมมหากาฬและหลังกำแพงพระนคร พบหลักฐานสำคัญดังนี้

1. ฐานรากของป้อมมหากาฬ

ฐานรากของกำแพงป้อมรอบนอกพบว่าเป็นโครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนัก โดยใช้อิฐเรียงซ้อนกันลงไป และมีลำดับชั้นทับถม ดังนี้

ชั้นล่างสุด อัดถมเศษอิฐหักขนาดเล็กปนเศษอิฐหักครึ่ง ชั้นนี้มีความหนาประมาณ 50 เซนติเมตร

ชั้นต่อมาถมเศษอิฐหักและอิฐทุบจำนวนมาก ชั้นนี้มีความหนาประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร

จากนั้นถมด้วยเศษอิฐหักครึ่งก้อน เศษอิฐทุบและเศษขี้ปูน ทำให้ชั้นนี้มีความแข็งมาก ชั้นนี้มีความหนาประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร

2. ลำดับชั้นทับถมของพื้นที่

ช่วงที่ เป็นช่วงที่ยังไม่มีการอยู่อาศัยของมนุษย์ เป็นพื้นที่ว่างเปล่าริมแม่น้ำตามธรรมชาติ มีอายุก่อนสมัยตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ลักษณะของชั้นดินที่เป็นดินเหนียว เนื้อละเอียดสีเทา มีจุดประสีส้มปนอยู่เล็กน้อย และไม่พบร่องรอยหลักฐานใดๆ ที่แสดงถึงการใช้พื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์

ช่วงที่ เป็นช่วงการอยู่อาศัยแรกเริ่มภายในพื้นที่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากพบเศษภาชนะดินเผาและภาชนะดินเผาเต็มใบจำนวนมาก  นอกจากนี้พบว่าบริเวณริมป้อมมหากาฬมีการขุดดินลงไปเพื่อถมอัดเศษอิฐ และเตรียมพื้นที่และทำโครงสร้างฐานรากสำหรับป้อมมหากาฬในสมัยรัชกาลที่ 1 

ช่วงที่ เป็นช่วงการอยู่อาศัยต่อเนื่องหลังสมัยรัชกาลที่ 1 ภายหลังสร้างป้อมมหากาฬเสร็จแล้ว ในระยะนี้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เนื้อแกร่ง เนื้อกระเบื้องจำแนกเป็นภาชนะดินเผาพื้นเมือง เครื่องถ้วยจีน และเครื่องถ้วยญี่ปุ่น ซึ่งบริเวณนี้เคยมีบ้านเรือนประชาชนและบ้านข้าราชบริพารอาศัยอยู่

ช่วงที่ เป็นช่วงการอยู่อาศัย มีอายุประมาณไม่เกิน 100 ปีที่ผ่านมา แต่เดิมพบว่าบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน ข้าราชบริพาร มีบ้านไม้มีตลาด รวมทั้งเคยเป็นท่าเรือพระยาญาณประกาศ มีอาคารแบบตะวันตก 1 ชั้น เคยใช้เป็นท่าเรือในสมัยรัชกาลที่ 6 สำหรับเจ้านายและข้าราชการที่จะไปพระตำหนักวังสระปทุม คลองแสนแสบ บริเวณใกล้เคียงยังเป็นท่าเรือจอดเรือขนถ่ายสินค้าเรียกท่าเรือจางวางเอม เป็นท่าเรือราษฎร

ช่วงที่ เป็นช่วงการใช้งานครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการขุดค้น เป็นช่วงที่มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารไม้และปูนเข้ามาแทนที่ พบพื้นซีเมนต์และเสา ค.ส.ล. หลังจากนั้นอาคารปูนถูกรื้อทิ้ง และมีบ้านเรือนของชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบันเข้ามาแทนที่


ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "ป้อมมหากาฬพร้อมด้วยปราการ" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

ธรรมเกียรติ กันอริ. พระนครควรชม : ฉบับเที่ยวไปให้ไกล จากใกล้เกลือกินด่าง.  กรุงเทพฯ : พิราบ,2541.

เทพชู ทับทอง. กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปี. กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2525.

บริษัท มรดกโลก จำกัด. รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ งานขุดค้น ขุดตรวจทางโบราณคดีป้อมมหากาฬ กำแพงเมือง กรุงรัตนโกสินทร์. เสนอต่อหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด. เอกสารอัดสำเนา, 2547.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี