โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช, พิพิธบางลำพู
ที่ตั้ง : เลขที่ 5 ถ.พระสุเมรุ
ตำบล : ชนะสงคราม
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.763607 N, 100.496400 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
อยู่ริมถนนพระอาทิตย์ ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ
รถประจำทาง : 3 , 6 , 9 , 15 , 19 , 30 , 32 , 33 , 39 , 53 , 64 , 65 , 68 , 82
รถปรับอากาศ : 3 , 32 , 68 , 506
ท่าเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าพระอาทิตย์
ปัจจุบันอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนบางลำพู "พิพิธบางลำพู" ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมธนารักษ์ สามารถเยี่ยมชมในเบื้องต้นได้ที่ Website : http://banglamphumuseum.treasury.go.th/ หรือติดต่อได้ที่
ที่อยู่ : ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ : 0-2281-9828 , 0-2281-0345 ถึง 51 ต่อ 1223 และ 1224
Website : http://banglamphumuseum.treasury.go.th/, https://www.facebook.com/pipitbanglamphu/
Email : pipitbanglamphu@hotmail.com, banglamphumuseum@gmail.com
วันและเวลาทำการ :
เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เปิดรอบให้เข้าชมเป็นรอบ ทุกๆ 30 นาที
วันอังคาร - ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.30 น.
*รอบเข้าชมรอบสุดท้าย เวลา 15.30 น
วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10.00 - 18.00 น.
*รอบเข้าชมรอบสุดท้าย เวลา 16.30 น
อัตราค่าเข้าชม :
บุคคลทั่วไปชาวไทย และชาวต่างชาติ 30 บาท
เด็กหรือเยาวชนชาวไทย อายุระหว่าง 10 -18 ปี 10 บาท
ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับเด็กหรือเยาวชนชาวไทย อายุต่ำกว่า 10 ปี, ผู้สูงอายุชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, นักบวชทุกศาสนา, ผู้พิการทุกประเภท, บุคคลหรือหมู่คณะที่ขออนุญาตเข้าชมเป็นกรณีพิเศษ
กรมธนารักษ์
ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 33ง วันที่ 9 เมษายน 2544
อาคารโรงพิมพ์คุรุสภา ริมถนนพระสุเมรุ ติดกับป้อมพระสุเมรุ ปัจจุบันถูกใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมชุมชนบางลำพู "พิพิธบางลำพู"
แม่น้ำเจ้าพระยา
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, กรมธนารักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2559
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดตรวจ
ผลการศึกษา :
กรมธนารักษ์อนุรักษ์พื้นที่โรงพิมพ์คุรุสภาเพื่อให้เป็นพิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เรื่องความเป็นมาของพื้นที่บางลำพู ชุมชนบางลำพู กำแพงกรุงรัตนโกสินทร์ และกิจการของกรมธนารักษ์ ในระหว่างการปรับพื้นที่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณริมกำแพงด้านหน้าประตูทางเข้า ฝั่งถนนพระอาทิตย์ เพื่อศึกษาขอบเขตกำแพงพระนครของกรุงรัตนโกสินทร์ที่อาจจะเชื่อมต่อมาจากป้อมพระสุเมรุที่ตั้งอยู่ใกล้กันชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
สำรวจข้อมูลโบราณสถานอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช)พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นบ้านของพระยานรนารถภักดี (เอม ณ มหาไชย) อดีตอธิบดีกรมสารบัญชี และอธิบดีกรมเก็บ (กรมคลัง) ในสมัยรัชกาลที่ 1 - 4 ต่อมาได้ตกเป็นที่ราชพัสดุ และกระทรวงพาณิชย์ได้ขอใช้เป็นที่เก็บหนังสือ บัญชี และสิ่งของของห้างเยอรมันและออสเตรีย ใน พ.ศ. 2467 จนกระทั่ง พ.ศ. 2468 กรมตำรา กระทรวงธรรมการได้ขอใช้พื้นที่นี้เป็นโรงพิมพ์ตำรา จัดพิมพ์แบบเรียน แบบทดสอบหนังสือหลักสูตรการศึกษาและหนังสืออื่นๆ รวมถึงเป็นร้านกลางสำหรับจัดจำหน่ายแบบเรียน จึงได้ดำเนินการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิม ด้านหน้าถนนพระสุเมรุ แต่เดิมบริเวณนี้เคยมีกำแพงพระนครที่เชื่อมต่อกับป้อมพระสุเมรุ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2471 นางไมตรีวานิช (กิมรัน ยอดมะณี) เจ้าของที่ดินแปลงติดกับโรงพิมพ์คุรุสภา ด้านตะวันออก ขอพระราชทานรื้อกำแพงพระนครส่วนพื้นที่ดังกล่าวออก
ต่อมาในปี พ.ศ.2475 โรงพิมพ์กรมตำราได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนสอนการพิมพ์แห่งแรก ในนาม "โรงเรียนวัดช่างพิมพ์สังเวช" พร้อมทั้งโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์ ให้นักเรียนที่มาเรียนทั้งภาคทฤษฎี (ภาคเช้า) และรับงานพิมพ์ (ภาคบ่าย) โดยจะได้รับค่าจ้างแรงงานตอบแทน จนกระทั่งหยุดทำการสอนและรับงานพิมพ์ใน พ.ศ. 2489 ในปี พ.ศ. 2493 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ สังกัดองค์การค้าของคุรุสภาทำหน้าที่พิมพ์ตำราแบบเรียนต่าง ๆ ต่อมาในปีพ.ศ. 2501 ได้มีการสร้างโรงพิมพ์คุรุสภาขึ้นใหม่ที่ลาดพร้าว จึงย้ายแท่นพิมพ์ไปรวมไว้ที่ใหม่ทั้งหมด และใช้อาคารโรงพิมพ์เดิมเป็นคลังสินค้าของคุรุสภา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2538 จึงปิดลง เนื่องจากหมดสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ อาคารดังกล่าวถูกทิ้งร้างตั้งแต่นั้น ถึงปี 2543 กรมธนารักษ์จึงดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโรงพิมพ์ กระทั่งปัจจุบัน อาคารโรงพิมพ์ได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมชุมชนบางลำพู "พิพิธบางลำพู" ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ กรมธนารักษ์
ภายในบริเวณมีสิ่งสำคัญ ได้แก่
1. อาคารหมายเลข 1 (อาคารโรงเรียนสอนการพิมพ์) ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตรูปตัวแอล (L) 2 ชั้นเชื่อมต่อกับอาคารไม้ทั้ง 2 ด้านพื้นและบันไดภายในเป็นไม้
2.อาคารหมายเลข2 (อาคารโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์สถาปนิกใหญ่ที่สำคัญตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 7 เมตร ยาว 23 เมตรชั้นล่างทำเป็นโครงเสาเฟอร์โรคอนกรีตฝาไม้ชั้นบนเป็นไม้ล้วน
3.ซุ้มประตู
ในปี 2556 กรมธนารักษ์ดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่โรงพิมพ์คุรุสภาเพื่อให้เป็นพิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เรื่องความเป็นมาของพื้นที่บางลำพู ชุมชนบางลำพู กำแพงกรุงรัตนโกสินทร์ และกิจการของกรมธนารักษ์ ในระหว่างการปรับพื้นที่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณริมกำแพงด้านหน้าประตูทางเข้า ฝั่งถนนพระอาทิตย์ เพื่อศึกษาขอบเขตกำแพงพระนครของกรุงรัตนโกสินทร์ที่อาจจะเชื่อมต่อมาจากป้อมพระสุเมรุที่ตั้งอยู่ใกล้กัน
จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณริมกำแพงด้านในด้านประตูทางเข้า ไม่พบแนวอิฐใดๆ ที่แสดงว่าเป็นฐานรากของกำแพงพระนคร ถึงแม้ตำแหน่งที่ตั้งของหลุมขุดค้นจะอยู่ในแนวต่อเนื่องกับกำแพงพระนครที่เชื่อมต่อมาจากป้อมพระสุเมรุ ทั้งนี้จากการขุดค้นได้พบร่องรอยของสิ่งก่อสร้างที่สันนิษฐานว่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อฐานรากอยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ผิวดินจนถึง 180 เซนติเมตร ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่นี้มีอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่ โดยอาคารหลังนี้มีการทำฐานรากลึกลงใต้ดิน 180 เซนติเมตร และถึงแม้ว่าบริเวณพื้นที่นี้อาจจะเคยมีฐานรากกำแพงกรุงรัตนโกสินทร์เลื่อมล้ำเข้ามาในพื้นที่อยู่จริง แต่อาคารก่ออิฐถือปูนได้สร้างและรื้อฐานรากกำแพงพระนครเสียจนไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานให้เห็นในปัจจุบัน (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2562)
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. การศึกษาวิจัยกำแพงกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อการอนุรักษ์ บริเวณพื้นที่โรงพิมพ์คุรุสภาบางลำพู. เอกสารอัดสำเนา, 2556.
กรมศิลปากร. "ศุลกสถาน" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.
ผู้จัดการออนไลน์. "“พิพิธบางลำพู” ขุมทรัพย์ความรู้แห่งใหม่ เปิดให้ชมฟรี!!! 2 เดือนเต็ม" ผู้จัดการออนไลน์. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก https://m.mgronline.com/travel/detail/9570000088946
พิพิธบางลำพู. "พิพิธบางลำพู" (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://banglamphumuseum.treasury.go.th/