ถนนนครสวรรค์


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : ถนนตลาด, ป้อมมหากาฬ

ที่ตั้ง : ถ.นครสวรรค์

ตำบล : สำราญราษฎร์

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.755899 N, 100.505496 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแสนแสบ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ถนนนครสวรรค์ มีจุดเริ่มต้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศจากส่วนปลายของถนนราชดำเนินกลาง ทอดผ่านแยกจักรพรรดิพงษ์ ผ่านแยกเทวกรรมข้ามสะพานเทวกรรมรังรักษ์ พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และไปสิ้นสุดลงที่แยกนางเลิ้ง จุดตัดกับถนนพิษณุโลก บริเวณหน้าราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง พื้นที่เขตดุสิต รวมระยะทางทั้งสิ้น 1.31 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมทางหลวง, กรุงเทพมหานคร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ทางหลวงที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองแสนแสบ

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท วโรรัตน์ จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2557, พ.ศ.2558

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : การประปานครหลวง

ผลการศึกษา :

ในปี พ.ศ.2557 การประปานครหลวงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่อประปาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,000 มิลลิเมตร โดยการดันท่อลอดในถนนนครสวรรค์ช่วงถนนจักรพรรดิพงษ์ถึงถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อดัน - บ่อรับจำนวน 8 บ่อ ซึ่งมีงานบางส่วนต้องขุดเปิดหน้าดินในเขตโบราณสถานป้อมมหากาฬ และพื้นที่ใกล้เคียง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ป้อมค่าย, ถนน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ถนนนครสวรรค์ มีจุดเริ่มต้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศจากส่วนปลายของถนนราชดำเนินกลาง ทอดผ่านแยกจักรพรรดิพงษ์ ผ่านแยกเทวกรรมข้ามสะพานเทวกรรมรังรักษ์ พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และไปสิ้นสุดลงที่แยกนางเลิ้ง จุดตัดกับถนนพิษณุโลก บริเวณหน้าราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง พื้นที่เขตดุสิต รวมระยะทางทั้งสิ้น 1.31 กิโลเมตร

ถนนนครสวรรค์เดิมมีชื่อว่า "ถนนตลาด" สร้างขึ้นมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นถนนนครสวรรค์ดังในปัจจุบันในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร พระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญ

บริเวณถนนนครสวรรค์ เป็นที่ตั้งของตลาดนางเลิ้ง ตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ยาวนาวนานและมีสินค้ามากมายจำหน่าย โดยเฉพาะอาหารนานาชนิด เช่น กล้วยแขก ขนมถ้วย และขนมไทยอีกหลายอย่าง อีกทั้งอาคารบ้านเรือนแถบนี้ยังมีความเก่าแก่และมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2557 การประปานครหลวงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่อประปาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,000 มิลลิเมตร โดยการดันท่อลอดในถนนนครสวรรค์ช่วงถนนจักรพรรดิพงษ์ถึงถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อดัน - บ่อรับจำนวน 8 บ่อ ซึ่งมีงานบางส่วนต้องขุดเปิดหน้าดินในเขตโบราณสถานป้อมมหากาฬ และพื้นที่ใกล้เคียง

กรมศิลปากรได้อนุญาตให้การประปานครหลวงดำเนินงานโครงการดังกล่าวโดยกำหนดให้มีการขุดตรวจทางโบราณคดีจำนวน 6 หลุม ภายใต้การควบคุมของนักโบราณคดี บริษัท วโรรัตน์ จำกัด ได้รับเป็นผู้ว่าจ้างดำเนินการจากการประปานครหลวง จึงรับผิดชอบในการขุดตรวจทางโบราณคดี และเฝ้าระวังขณะดำเนินการก่อสร้างท่อประปา

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ

1. ถนน

ถนนที่คาดว่าน่าจะเป็นทางเดินเท้าที่พบระหว่างป้อมมหากาฬและสะพานผ่านฟ้าลีลาส มีลักษณะปูด้วยอิฐ เรียงกัน 1 ชั้นอิฐ โดยใช้อิฐขนาด 15x30x7 เซนติเมตร วางเรียงแบบสานคู่ และใช้อิฐขนาด 20x40x10 เซนติเมตร ก่อเป็นขอบถนนโดยใช้สันอิฐตั้งขึ้น มีความกว้างของถนน 1 เมตร ถนนอยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินปัจจุบัน 100 เซนติเมตร ขนานไปกับถนนราชดำเนิน ถนนหรือทางเดินเท้านี้น่าจะมีอายุในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

2. ทางระบายน้ำ

ทางระบายน้ำที่พบมีสองแนว แนวแรกก่อด้วยอิฐขนาด 11x22x6 เซนติเมตร ทำเป็นร่องขนาด 10 เซนติเมตร แนวที่สองก่อด้วยอิฐขนาด 15x30x7 เซนติเมตร วางตัวในแนวขนานกับแนวแรก โดยทั้งสองแนววางห่างกัน 10 เซนติเมตร น่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 45

3. อาคาร

พบส่วนพื้นและฐานของอาคาร พื้นปูด้วยกระเบื้อง กระเบื้องมีขนาด 30x30 เซนติเมตร สิ่งก่อสร้างที่พบน่าจะมีอายุก่อนปี พ.ศ.2486 เนื่องจากพบลักษณะของอาคารดังกล่าวในภาพถ่ายทางอากาศชุดวิลเลี่ยม ฮันท์ ซึ่งถ่ายขึ้นราวปี พ.ศ. 2486

ในชุดเอกสารกรมราชเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันที่ 8 มีนาคม 2496 กรมศิลปากรในช่วงเวลานั้นได้เขียนถึงนายกรัฐมนตรีถึงเหตุผลต่างๆ ที่ไม่ควรรื้อป้อมมหากาฬ และมีเรื่องราวอาคารสุขาและภาพเขียน
สรุปคือ การรื้อป้อม ถ้ามองดูเผินๆ ทำให้รู้สึกว่าบ้านเมืองงดงามขึ้น แต่จริงๆ แล้วป้อมนี้ได้บดบังส่วนอุจาด คือ ส้วมสาธารณะ ห้องแถวที่รกรุงรัง ซึ่งอาจมองเห็นได้จากถนนราชดำเนิน และได้เสนอภาพวาดเปรียบเทียบภูมิทัศน์ขณะมีป้อมและภายหลังรื้อป้อมออก จากภาพวาดนี้ทำให้เราทราบถึงลักษณะของอาคารสุขาสาธารณะที่ขุดพบข้างต้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

บริษัท วโรรัตน์ จำกัด. รายงานสรุปผลดำเนินงานการขุดค้นทางโบราณคดี โครงการก่อสร้างท่อประปาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,000 มิลลิเมตร โดยการดันท่อลอดในถนนนครสวรรค์ ช่วงถนนจักรพรรดิพงษ์ ถึง ถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อตัน-บ่อรับ จำนวน 8 บ่อ. เสนอต่อการประปานครหลวง. เอกสารอัดสำเนา, 2558.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี