โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : พ่อท่านในกุฎิ, วัดหนองจิก, วัดมุจลินทาราม
ที่ตั้ง : ม.1 ต.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก
ตำบล : ทุ่งตะไคร
อำเภอ : ทุ่งตะโก
จังหวัด : ชุมพร
พิกัด DD : 10.110814 N, 99.078303 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : คลองตะโก
ออกจากตัวเมืองชุมพรมาทางทิศใต้ตามถนนทางหลวงหมายเลข 41 ไปอำเภอทุ่งตะโก จากทุ่งตะโกตรงต่อไปประมาณ 1 กิโลเมตร กลับรถตรงวัดธรรมถาวรขึ้นเขาหนองจิกเลี้ยวซ้ายเข้าบ้านหนองจิก ต.ทุ่งตะไคร ตรงไปจนถึงแยกหนองจิกขับตรงไปประมาณ 9 กิโลเมตร จะถึงโรงเรียนมุจลินทราราม ตัวพระธาตุตั้งอยู่ภายในโรงเรียน
พระธาตุมุจลินทร์เป็นโบราณศาสนสถาน ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนมุจลินทราราม ผู้มีจิตศรัทธาและผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, โรงเรียนมุจลินทราราม
พระธาตุมุจลินทร์ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนพิเศษ 83ง หน้าที่ 1 วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2541
พระธาตุมุจลินทร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนมุจลินทราราม หมู่ที่ 1 บ้านหนองจิก ต.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ลักษณะของแหล่งเป็นพื้นที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 10 เมตร มีความลาดเอียงไปทางตะวันออกเล็กน้อย ด้านทิศใต้ของแหล่งมีคลองตะโกไหลออกสู่ทะเล ระยะทางประมาณ 7 -8 กิโลเมตร (สารัท ชลอสันติสกุล2554 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)
คลองตะโกไหลผ่านทางทิศใต้ของแหล่ง
ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบที่ทับถมโดยตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี มีความสูงของพื้นที่ประมาณ 10 เมตรจากระดับน้ำปานกลาง พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางตะวันออกเล็กน้อย
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจและสัมภาษณ์ครูโรงเรียนมุจลินทราราม โดยจัดทำรายงานการสำรวจไว้ในหนังสือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพรชื่อผู้ศึกษา : กองพุทธศาสนสถาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
ศึกษาประวัติของวัดมุจลินทรารามชื่อผู้ศึกษา : สารัท ชลอสันติสกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร ขุดตรวจบริเวณฐานเจดีย์ เมื่อวันที่ 12 -16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ตีพิมพ์รายงานการขุดค้นพระธาตุมุจลินทร์ในปี พ.ศ.2554 สันนิษฐานว่าตัวพระธาตุสร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 จากนั้นมีการบูรณะองค์พระธาตุในช่วงหลังอีกหลายสมัย (สารัท ชลอสันติสกุล 2554 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, กลุ่มอนุรักษ์พระธาตุมุจลินทร์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, กลุ่มอนุรักษ์พระธาตุมุจลินทร์
ผลการศึกษา :
กลุ่มอนุรักษ์ พระธาตุมุจลินทร์ร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุมุจลินทร์วัดมุจลินทารามเดิมชื่อวัดหนองจิก เนื่องจากเดิมในบริเวณวัดเคยมีหนองน้ำและต้นจิกใหญ่ขึ้นอยู่ริมหนอง ต่อมาเมื่อสร้างวัดจึงตั้งชื่อวัดว่า มุจลินทร์ ซึ่งแปลว่าต้นจิกในภาษาบาลี และเติมอารามที่แปลว่าวัดไว้ด้านหลัง ชื่อว่า “วัดมุจลินทราราม”
ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 23 กล่าวว่าวัดมุจลินทรารามก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2340 ในบริเวณ ต.ทุ่งตะไคร ต่อมาในปี พ.ศ.2496 จึงได้ย้ายวัดไปอยู่ที่หมู่ 1 ต.ช่องไม้แก้ว ห่างจากบริเวณเดิมไป 700 เมตร ส่วนที่ตั้งวัดเดิมเหลือเพียงพระธาตุมุจลินทร์ ซึ่งชาวบ้านเรียก “พ่อท่านในกุฎิ” และกลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดมุจลินทรารามในปัจจุบัน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระธาตุมุจลินทร์เป็นเจดีย์ทรงระฆังย่อมุมไม้ 12 โดยมีชุดฐานเป็นฐานเขียงสองชั้นขนาด 2.2 x 2.2 เมตร ต่อด้วยฐานสิงห์รองรับฐานย่อมุมไม้ 16 เรือนธาตุมีการย่อมุมไม้ 16 มีประตูหลอกทุกด้าน ที่ซุ้มประตูซ้าย-ขวาประดับด้วยปูนปั้นยักษ์รูปทวารบาลในอิริยาบถยืนและนั่ง หน้าบันซุ้มประตูประดับปูนปั้นรูปหน้ากาล ถัดขึ้นไปเป็นบัวชุดปากระฆังในผังสี่เหลี่ยมและองค์ระฆังย่อมุมไม้ 12 บัลลังก์ย่อมุมและส่วนยอดเจดีย์เป็นกลุ่มบัวเถาอย่างน้อย 5 ชั้น
จากประวัติของวัด การขุดค้นทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระธาตุมุจลินทร์มีการใช้งานทั้งสิ้น 4 สมัย คือ
สมัยที่ 1 คือสมัยที่สร้างเจดีย์กำหนดรูปแบบตามศิลปะให้อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394)
สมัยที่ 2 พบหลักฐานการต่อเติมตัวพระธาตุสันนิษฐานว่าไม่น่าจะห่างจากการก่อสร้างตัวพระธาตุไม่นานนัก
สมัยที่ 3 มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่สันนิษฐานว่าในช่วงรัชกาลที่ 6-7 มีการเพิ่มความสูงขององค์ระฆัง องค์ประกอบเจดีย์ถูกฉาบด้วยปูนซีเมนต์
สมัยที่ 4 พบหลักฐานการบูรณะปรับปรุงครั้งสุดท้ายราว พ.ศ.2530
นอกจากนี้ ในการขุดตรวจยังพบโบราณวัตถุชนิดอื่นๆ เช่น ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกเขียนลายดอกไม้สีน้ำเงินบนพื้นนวลเคลือบใสสมัยราชวงศ์หมิงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23, เศษภาชนะดินเผาเครื่องถ้วยแบบพื้นเมือง, ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมปล้องไฉน, ประติมากรรมปูนปั้นและแผ่นอิฐดินเผา เป็นต้น โดยกระปุกบรรจุกระดูกน่าจะถูกเคลื่อนย้ายมาพร้อมกับการถมทรายบริเวณฐานเจดีย์ในการปรับปรุงเจดีย์สมัยที่ 3 (สารัท ชลอสันติสกุล 2554 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ชาวบ้านเชื่อว่าในพระธาตุมุจลินทร์บรรจุกระดูกบุคคลสำคัญ โดยชาวบ้านนิยมเรียกพระธาตุองค์นี้ว่า “พ่อท่านในกุฏิ”
ปัจจุบัน พระธาตุมุจลินทร์ถือเป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน โดยในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพ่อท่านในกุฏิในทุกปี
กองพุทธศาสนสภาน. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 23. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2547.
วิสันธนี โพธิสุนทร เรียบเรียง. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2542.
สารัท ชลอสันติสกุล. รายงานการขุดค้นพระธาตุมุจลินทร์.นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2554.