ป้อมป้องปัจจามิตร


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : สำนักงานเขตคลองสาน

ที่ตั้ง :

ตำบล : คลองสาน

อำเภอ : เขตคลองสาน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.733195 N, 100.496801 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่หลังสำนักงานเขตคลองสาน ถนนลาดหญ้า ใกล้กับไอคอนสยาม

รถเมล์สาย 105, ปอ.167, 43, 57, ปอ.6, 88

รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง (GOLD LINE) สถานีคลองสาน

เรือด่วนเจ้าพระยา ท่าไอคอนสยาม

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุุบันป้อมป้องปัจจามิตร ปรากฏร่องรอยให้เห็นเพียง 1 ใน 4 ของป้อมทั้งหมดในอดีต แต่ก็ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพดี ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

- ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง การกำหนดบัญชีโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492

- ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102 ตอนที่ 31 วันที่ 12 มีนาคม 2528

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปัจจุุบันป้อมป้องปัจจามิตร ตั้งอยู่หลังสำนักงานเขตคลองสาน ถนนลาดหญ้า ใกล้กับไอคอนสยาม ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจและจัดทำผังแนวเขตโบราณสถานป้อมป้องปัจจามิตร เขตคลองสาน ก.ท.ม.

ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ก่อสร้าง, เขตคลองสาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

- ปรับปรุงสร้างศาลาประจำป้อมป้องปัจจามิตร - บูรณะปรับปรุงป้อมป้องปัจจามิตรและบริเวณโดยรอบ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

ปรับปรุงบริเวณหลังป้อมป้องปัจจามิตรและบริเวณโดยรอบ

ชื่อผู้ศึกษา : กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550, พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานเขตคลองสาน

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2550 สำนักงานเขตคลองสานได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่ ในระหว่างขุดดินเพื่อเตรียมการก่อสร้างกลับได้พบไม้ซุงเป็นจำนวนมาก สำนักเขตงานคลองสานจึงได้หยุดการดำเนินงานและให้มีการศึกษาทางโบราณคดี

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ป้อมค่าย

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ป้อมป้องปัจจามิตร ปัจจุบันอยู่บริเวณบ้านพักข้าราชการกรมเจ้าท่า ใกล้กับสำนักงานเขตคลองสาน เป็นหนึ่งในป้อมปราการสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ควบคู่กับการขุดคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับป้อมปิดปัจจนึกบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม นับเป็นป้อมปราการเพียงแห่งเดียวที่สร้างขึ้นในฝั่งตะวันตกของพระนครในคราวนั้น

ต่อมาป้อมป้องปัจจามิตรเปลี่ยนหน้าที่จากป้อมที่คอยปกปักรักษาพระนครกลายเป็นที่ตั้งของเสาธงสัญญาณของกรมเจ้าท่า สำหรับชักธงแจ้งข่าวเรือรบและเรือสินค้าเข้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ป้อมดังกล่าวเป็นสถานที่ตั้งเสาธงสัญญาณแจ้งข่าวเรือสินค้าเข้าของบริษัทใด ออกพระนคร ที่บริเวณปากคลองสาน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการย้ายเสาธงเหล็กจากป้อมเผด็จดัสกรภายในพระบรมมหาราชวัง มาตั้งที่ป้อมแห่งนี้ (พิพิธภัณฑ์ธงสยาม 2564)

ใน พ.ศ.2492 ป้อมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก และกรมเจ้าท่าเลิกใช้เสาธงสัญญาณนี้แล้ว เทศบาลนครธนบุรีจึงรื้อป้อมและนำอิฐไปถมตามพื้นที่เขตธนบุรี แต่กรมศิลปากรได้ระงับและประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในปี พ.ศ.2492 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ศ.2503 ทางราชการได้แบ่งพื้นที่ให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ เช่น สถานีตำรวจคลองสาน โรงพยาบาลโรคติดต่อ และเทศบาลธนบุรี ฯลฯ ปัจจุบัน ปัจจุบันป้อมป้องปัจจามิตรยังปรากฏร่องรอยให้เห็นเพียง 1 ใน 4 ส่วนของสภาพสมบูรณ์ทั้งหมด บริเวณด้านหลังสำนักงานเขตคลองสาน

พ.ศ.2550 สำนักงานเขตคลองสานได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่ ในระหว่างขุดดินเพื่อเตรียมการก่อสร้างกลับได้พบไม้ซุงเป็นจำนวนมาก สำนักเขตงานคลองสานจึงได้หยุดการดำเนินงานและ
ให้มีการศึกษาทางโบราณคดี

จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณด้านหลังของสำนักงานเขตคลองสาน ได้พบฐานรากก่ออิฐ สอปูน เรียงต่อกันเป็นแนวยาวและตัดกันเป็นแนวตาราง อิฐแต่ละก้อนก่อซ้อนทับกันโดยมีความลึกจากผิวดินปัจจุบันถึงอิฐชั้นล่างสุด 2 เมตร แนวอิฐมีความกว้าง 108 เมตร ใต้แนวอิฐมีไม้ปีกและไม้ซุงรองรับด้านล่าง ด้านข้างของแนวอิฐมีไม้ซุงปลายแหลมปักลงในแนวดิ่งเพื่อกันดินเคลื่อนตัวออกด้านข้าง โดยรอบพื้นที่จะมีไม้ซุงปักในแนวดิ่ง เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับดินโดยรอบ ที่ความลึกประมาณ 2 เมตร หรือใต้ระดับแนวอิฐพบเศษไม้เปื่อยยุ่ยและกะลามะพร้าวผ่าครึ่งเป็นจำนวนมากทั่วทั้งบริเวณ ฐานรากของป้อมป้องปัจจามิตรที่พบนี้ เป็นฐานรากที่ต่อเนื่องมาจากตัวป้อมป้องปัจจามิตรที่ยังเหลืออยู่ (กรรณิการ์ สุธีรัตนาิรมย์ 2562)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โครงการวิจัยทางโบราณคดี บริเวณพื้นที่สำนักเขตคลองสาน. เอกสารอัดสำเนา, 2551.

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

กรมศิลปากร. "ป้อมป้องปัจจามิตร" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/

พิพิธภัณฑ์ธงสยาม. "ตำนานเสาธงแรกบนผืนแผ่นดินสยาม." (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/siamflag/flag_pole_history.html

วัชรา คลายนาทร. "ป้อมป้องปัจจามิตรที่คลองสาน" ราชนาวิกสภา. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงจาก http://www.rtni.org/library/book/ป้อมป้องปัจจมิตรที่คล/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี