โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : โบสถ์อัสสัมชัญ
ที่ตั้ง : เลขที่ 23 ซ.เจริญกรุง 40 ถ.เจริญกรุง
ตำบล : บางรัก
อำเภอ : เขตบางรัก
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.723049, N, 100.514891 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
อาสนวิหารอัสสัมชัญ ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก สามารถเดินทางโดย
รถเมล์สาย 1, 15, ปอ.35, ปอ.76
รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม หรือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม สถานีสะพานตากสิน หรือสถานีสุรศักดิ์ จากนั้นต่อมอเตอร์ไซต์รับจ้าง หรือรถสองแถว หรือเดินเท้า
เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าโอเรียนเต็ล
อาสนวิหารอัสสัมชัญ เป็นศาสนสถานในศาสนาคิรสต์ นิกายโรมันคาทอลิกที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย สามารถเข้าเยี่ยมชมบริเวณภายนอกอาคารได้ด้วยท่าทางสุภาพ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาส
แต่หากต้องการถ่ายภาพภายใน กรุณาศึกษาระเบียบได้ที่ https://www.assumption-cathedral.com/
โทรศัพท์ 02-234-8556, 02-233-7120, 02-234-4592 โทรสาร 02-234-3414 อีเมล assumption@catholic.or.th
อาสนวิหารอัสสัมชัญ, อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
อาสนวิหารอัสสัมชัญ หรือโบสถ์อัสสัมชัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ยังคงมีการใช้ประกอบศาสนกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง ในบริเวณโดยรอบเป๋ยที่ตั้งของโรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา
แม่น้ำเจ้าพระยา
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท มรดกโลก จำกัด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
ผลการศึกษา :
งานขุดตรวจสอบฐานอาคารด้านนอก (ด้านทิศใต้) อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯอาสนวิหารอัสสัมชัญ หรือโบสถ์อัสสัมชัญ เป็นอาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ อาสนวิหารอัสสัมชัญก่อสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2352 ในรูปแบบอาคารทรงไทยโดยบาทหลวงปาสกัล ซึ่งเป็นชาวไทย-โปรตุเกส และได้รับสถาปนาเป็นอาสนวิหารในเวลาต่อมา ก่อนจะมีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ (หลังปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2452 โดยคุณพ่อเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ อธิการโบสถ์ชาวฝรั่งเศสในขณะนั้น เพื่อรองรับการขยายตัวของคริสต์ศาสนิกชนที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยมีสถาปนิกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยมีวัสดุก่อสร้างเช่นหินอ่อนและกระจกสี ซึ่งสั่งมาจากประเทศฝรั่งเศส สิงคโปร์และอิตาลี (https://www.assumption-cathedral.com/) โบสถ์หลังนี้ได้รับความเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะมีการบูรณะในเวลาต่อมา
อาสนวิหารอัสสัมชัญเเป็นที่พำนักของบรรดามุขนายกผู้เป็นประมุขมิสซังสยามในอดีต ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนคริสต์ศาสนิกชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงในย่านบางรัก นับเป็นหนึ่งในอาสนวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในอาสนวิหารที่สวยที่สุดในไทย โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปา 2 พระองค์เคยเสด็จมายังอาสนวิหารอัสสัมชัญ คือ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ใน พ.ศ. 2527 และ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อ พ.ศ.2562
ลักษณะทางศิลปกรรม
โบสถ์อัสสัมชัญนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหันแท่นบูชาสู่แม่น้ำ ตัวโบสถ์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืมผ้า ตัวอาคารสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ด้านหน้ามีหลังคาทรงจั่ว มีหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้(Rose Window) ขนาดใหญ่ขนาบสองข้างด้วยหอคอยทรงสี่เหลี่ยม ผนังด้านข้างมีเสาอิงเลียนแบบเสายัน(Buttress) ด้านหลังเป็นผนังโค้งหลังคาทรงกรวยผ่าครึ่ง ภายในมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือระเบียงโล่งด้านหน้า โถงชุมนุมใหญ่ มีเฉลียงด้านข้าง และส่วนศักดิ์สิทธิ์ด้านในอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ ด้านหลังมีการเจาะหน้าต่างให้แสงเข้า ตกแต่งหน้าต่างด้วยกระจกเคลือบสีต่อด้วยรูปนักบุญ เพดานโค้งทรงประทุนเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดดาวสีทอง หัวเสาเป็นแบบไอโอนิคผสมโครินเธียน ตกแต่งภายในด้วยจิตรกรรมปูนเปียกและประติมากรรมปูนปั้น ส่วนโถงทางเข้ามีการชั้นลอยสำหรับนักขับร้องและออร์แกนขนาดใหญ่
ในปี 2547 สำนักมิสซังโรมันคาทอลิกได้ดำเนินโครงการเพื่อบูรณะ เสริมความมั่นคง และปรับปรุงสภาพตัวอาคารอาสนวิหารอัสสัมชัญ เนื่องด้วยจากรายงานการสำรวจต่อการทรุดตัวของอาคาร พบว่าอาคารทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง คือ ช่วงระยะที่ 1 (พ.ศ.2541 - 2543) มีการทรุดตัวเฉลี่ยปีละ -2.02 เซนติเมตร ช่วงระยะที่ 2 (พ.ศ.2544 - 2547) มีการทรุดตัว -1.0 ถึง -4.5 เซนติเมตร ช่วงระยะที่ 3 (ต้นปี พ.ศ.2547) มีการทรุดตัวประมาณ -3.3 เซนติเมตร ดังนั้นสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกจึงมอบหมายให้บริษัท มรดกโลก จำกัด ดำเนินงานบูรณะอาคารดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาฐานรากเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลกำหนดแนวทางในเสริมความมั่นคงและบูรณะอาคารต่อไป
หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ
1. ฐานรากของเสาในอุโมงค์เก็บศพใต้พระแท่น คาดว่ามีการก่อสร้างระหว่าง
พ.ศ.2452 - 2461
พบการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างและฐานรากดังนี้
ชั้นเตรียมการก่อสร้างพื้นที่ มีทั้งหมด 2 ชั้น คือ ชั้นล่างสุดเป็นชั้นปูนรองพื้นเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง 1 ชั้น ถัดมาเป็นพื้นคสล. หนาประมาณ 23 เซนติเมตร น่าจะเททั่วทั้งห้อง เพื่อรับเสาและอาคารคสล.
ชั้นก่อสร้างเสารองรับพระแท่น
เป็นตอม่ออิฐและเสาคสล. กว้างประมาณ 32 เซนติเมตร ไม่ทราบความลึก
เข้าใจว่าเสานี้ฝังอยู่ลึกกว่าชั้นเตรียมการก่อสร้าง ฐานเสาก่อหุ้มด้วยอิฐก่อเป็นแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส
กว้าง 96 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร
ต่อมาถมพื้นที่รอบๆ ต่อมาด้วยทรายหยาบผสมเศษหินปูน ถมหนาประมาณ 45 เซนติเมตร
ชั้นเตรียมเทพื้นที่รองรับพื้นใช้งาน ถมอัดพื้นทรายรอบต่อมอจนแน่น และเทปูนผสมเศษอิฐเสมอตอม่อรอบพื้นที่
ชั้นพื้นใช้งาน
มี 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นพื้นปูน หนา 5 เซนติเมตร ขัดมัน ขัดเป็นลายตาราง ชั้นที่สอง มีการปรับยกพื้นที่ให้สูงขึ้น 23 เซนติเมตร ผิวบนเทปูนทราย
หนา 5 เซนติเมตร ตกแต่งผิวขัดมันลายตาราง
ชั้นที่สาม เทปูนยกพื้นอีก 6 เซนติเมตร พื้นขัดมันไม่มีลาย
แล้วปูทับด้วยแผ่นพลาสติกและพรม
เข้าใจว่าพื้นใช้งานนี้อยู่ใต้ดินและมีความชื้นตลอดเวลาทำให้มีการยกพื้นหลายครั้ง
2. ฐานรากของอาคารด้านนอก มีการเตรียมพื้นที่ดังนี้
ขุดดินลึกเป็นแอ่ง ปรับพื้นเรียบก่อนที่จะเทพื้นปูน (Lean) หนา 10 เซนติเมตร (ลึกจากพื้นปัจจุบัน 190 เซนติเมตร) เพื่อรองรับคานที่เทลดชั้นทั้งหมด 6 ชั้น และมีความสูงทั้งหมดประมาณ 1.22 เมตร ตัวคานมีความกว้างจากผนังปัจจุบันออกไปประมาณ 44 เซนติเมตร ส่วนเสาติดผนังก็พบการเทคานลักษณะเดียวกัน
การปูพื้นใช้งานด้านข้างอาคาร พบพื้นการใช้งานหลายชั้น และพบร่องรอยการซ่อมผนังอาคาร 3 ครั้ง
เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างของฐานเสารองรับพื้นพระแท่นในอุโมงค์เก็บศพ และฐานรากภายนอกอาคารพบว่า ระดับฐานรากทั้งสองจุดมีความลึก มีการเทพื้นและใช้วัสดุใกล้เคียงกัน ส่วนที่กล่าวถึงในประวัติของวัดกล่าวว่ามีการใช้ซุงรองรับฐานรากอาคารนั้น ไม่พบหลักฐานดังที่กล่าวมานี้ แต่จากการขุดตรวจผนังด้านนอกเพียงจุดเดียวทำให้ไม่สามารถสรุปโครงสร้างของอาคารทั้งหลังได้ เนื่องจากบางจุดยังไม่ได้ตรวจสอบ
กรมศิลปากร. "อาสนวิหารอัสสัมชัญ" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.
บริษัท มรดกโลก จำกัด. รายงานงานขุดตรวจสอบฐานอาคารด้านนอก (ด้านทิศใต้) อาสนวิหารอัสสัมชัญ. กรุงเทพฯ. เสนอต่อสำนักมิสซังโรมันคาทอลิก. เอกสารอัดสำเนา, 2547.
บังสูรย์. "อาสนวิหารอัสสัมชัญกรุงเทพ" สยามอารยะ. 2, 24 (ธ.ค. 2537) : 119 – 123.
วิไลรัตน์ ยังรอต, ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้ : เที่ยววัดกรุงเทพฯ วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิดอิสลาม พราหมณ์ ฮินดู สิข. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2548.
สมชาติ จึงสิริอารักษ์. สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยามสมัยรัชกาลที่ 4 – พ.ศ. 2480. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยะนันท์ และคณะ. 174 มรดกสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. "อาสนวิหารอัสสัมชัญ" เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงจาก https://www.catholichaab.com/main/index.php/1/church7/1/900-2015-12-08-03-05-00
อาสนวิหารอัสสัมชัญ. "อานสวิหารอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ" (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงจาก https://www.assumption-cathedral.com/