วัดโคกมะเฟือง


โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านโคกมะเฟือง

ตำบล : ศาลาใหม่

อำเภอ : ตากใบ

จังหวัด : นราธิวาส

พิกัด DD : 6.272695 N, 102.019847 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตากใบ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เดินทางจากอำเภอเมืองสู่อำเภอตากใบตามเส้นทางสายนราธิวาส-ตากใบ (ทางหลวงหมายเลข 4048) จนถึงบ้านโคกมะเฟือง ตำบลศาลาใหม่ อ.ตากใบ (ถึงก่อนตัวศูนย์กลางอำเภอตากใบ)  จะเห็นป้ายวัดโคกมะเฟือง  ตรงไปประมาณ 400 เมตร จะถึงตัววัด  (สุนิสา มั่นคง 2547 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันวัดโคกมะเฟืองยังเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน วัดโคกมะเฟืองเป็นวัดที่มีความสวยงามและแสดงให้เห็นถึงศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ผู้สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119  ตอนพิเศษ 117ง วันทึ่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2545

ภูมิประเทศ

สันทราย

สภาพทั่วไป

วัดโคกมะเฟืองตั้งอยู่บนสันทราย มีแม่น้ำตากใบเป็นแม่น้ำสำคัญซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดโคกมะเฟืองไปทางทิศเหนือ

อาณาเขตของวัดโคกมะเฟือง

ทิศเหนือ ติดกับถนนสาธารณะใหม่

ทิศใต้ ติดกับโรงเรียนวัดโคกมะเฟือง

ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ติดกับป่า

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

15 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำตากใบ

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอตากใบเป็นพื้นที่ราบ บางแห่งมีลักษณะเป็นพรุที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี วัดโคกมะเฟืองตั้งอยู่บนเนินทรายที่เกิดขึ้นสมัยโฮโลซีน (Holocene) เมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว มีแม่น้ำตากใบอยู่ไม่ไกลจากตัววัดห่างไปทางทิศเหนือ โดยแม่น้ำตากใบไหลขนานไปกับแนวชายฝั่งทะเล มีสันทรายกว้างประมาณ 100 – 200 เมตรกั้นระหว่างแม่น้ำกับทะเล ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล การพัดพาของกระแสน้ำ และการกระทำของลม ทำให้เกิดสันทรายปิดกั้นทางออกแม่น้ำเดิมจนเกิดเป็นลากูนแม่น้ำตากใบ แม่น้ำตากใบจึงต้องไหลไปออกที่บริเวณบ้านตาบา บริเวณเดียวกับเดียวกับแม่น้ำบางนราและแม่น้ำโกลก บริเวณตำบลศาลาใหม่และเจ๊ะเห

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

อายุทางโบราณคดี

สร้างราว พ.ศ.2417

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : วรรณิภา ณ สงขลา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วรรณิภา ณ สงขลา ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร เรียบเรียงข้อมูลเพื่อจัดทำหนังสือ “จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย ชุดที่ 002 เล่มที่ 3 วัดชลธารสิงเห” ภายในหนังสือ นอกจากทำการกล่าวถึงวัดชลธารสิงเหแล้วยังกล่าวถึงวัดที่สำคัญในจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งวัดโคกมะเฟือง

ชื่อผู้ศึกษา : จอมขวัญ สุวรรณรัตน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จัดทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “รูปแบบและความหมายของจิตรกรรมฝาฝนังที่กุฎิสงฆ์ในเขตจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส” โดยได้ทำการวิเคราะห์ภาพจิตรกรรมในกุฏิสงฆ์ของวัดในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ในส่วนของจิตรกรรมในกุฎิสงฆ์ที่วัดโคกมะเฟือง มีลักษณะศิลปะแบบพื้นท้องถิ่นชัดเจน มีการจัดองค์ประกอบง่ายๆ และใช้สีสดตัดกันอย่างรุนแรง

ชื่อผู้ศึกษา : สุนิสา มั่นคง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ตรัง” โดยรวบรวมแหล่งโบราณคดีทั้งหมดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ตรังในหนังสือ ได้กล่าวถึงประวัติและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่วัดโคกมะเฟือง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดโคกมะเฟืองเป็นวัดที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2417 ประวัติการสร้างวัดมีอยู่ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 นายไชย พรหมสกุล เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างวัดและได้นิมนต์พระวินัยธรรม(จุ้ย) จากวัดชลธารสิงเหเป็นเจ้าอาวาสซึ่งพระวินัยธรรม (จุ้ย) เป็นช่างไม้ที่มีความชำนาญในการเขียนและแสลัก ตลอดจนการปั้นรูปประติมากรรม (วรรณิกา ณ สงขลา 2535 : 75)

แนวทางที่ 2 กล่าวว่าวัดโคกมะเฟืองสร้างโดยพระครูโอภาษพุทธคุณ (พุด อินทโชโต) ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดชลธารสิงเห หลังจากนั้นจึงแต่งตั้งพระไชยขึ้นเป็นเจ้าอาวาส (ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ  2545 : 169)

วัดโคกมะเฟืองได้รับพระราชทานวิสุงคามเสมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2441 และได้ผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ.2446 เขตวิสุงคามสีมามีขนาด กว้าง 17 เมตร ยาว 21.50 เมตร

โบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัด ได้แก่

พระอุโบสถ หันหน้าทางทิศตะวันออกเป็นอาคารเครื่องก่อทรงโรง มีเฉลียงรอบกว้าง 9.50 เมตร ยาว 15 เมตร ด้านหน้ามีประตู 3 ช่อง ซุ้มประตูมณฑปมีจระนำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ฝาผนังด้านหลังสร้างเป็นผนังทึบ ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 4 ช่อง ซุ้มหน้าต่างเป็นมณฑป ยอดเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตรงกลางมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป เครื่องลำยองไม้ มีช่อฟ้า ตัวลำยอง ใบระกา หางหงส์ซึ่งเป็นรูปหัวนาค หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นเขียนสีรูปนารายณ์ทรงครุฑ หน้าบันด้านหลังเป็นภาพวิมาน พระอินทร์อยู่บนหลังช้างเอราวัณ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางสมาธิ มีพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัยขนาดเล็กประดิษฐานอยู่ด้านข้าง ด้านละ 1 องค์ เบื้องหลังพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ มีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วล้อมรอบด้วยต้นไม้ เพดานอุโบสถแบ่งเป็น 8 ห้อง 4 ห้องตรงกลางเป็นรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์อย่างละ 2 องค์ ล้อมรอบด้วยดวงดารา องค์ละ 8 ดวง ส่วนเพดานห้องแรกและห้องสุดท้ายเป็นรูปดวงดาราล้อมรอบด้วยผีเสื้อ 4 ตัว ยกเว้นห้องแรกทางขวาพระประธานไม่มีภาพผีเสื้อ พื้นหลังของทุกห้องเป็นภาพลายช่อดอกไม้ร่วง ขื่อและคานเป็นลายประจำยามก้างแย่ว กรวยเชิง ตรงกลางขื่อที่ตัดกันทำเป็นไม้จำหลักรูปดอกบัว ใบเสมารอบอุโบสถ เป็นปูนปั้น ขนาดยาว 59 เซนติเมตร กว้าง 35 เซนติเมตร หนา 3.5 เซนติเมตร มีรูปแบบลักษณะคล้ายใบเสมาที่วัดชลธารสิงเห

กุฎิไม้  มี 3 หลัง ได้แก่

     - กุฏิเจ้าอาวาส เป็นอาคารไม้เสาคอนกรีต มีรูปแบบเป็นอาคารตรีมุขและมีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้าอีกส่วน หน้าบันกุฏิเป็นปูนปั้นแผงแรคอสอง มีช่องหน้าต่างสองช่อง เหมือนกันทั้งหมดสามด้าน เพดานส่วนที่เป็นมุขตอนหน้าแบ่งออกเป็น 6 ห้อง ประดับลวดลายดาวไม้จำหลักตรงกลาง มีภาพผีเสื้อล้อมดาวอยู่ทั้งสี่มุม ภายในกุฏิมีจิตรกรรมบนไม้กระดานคอสองสามแผ่นซึ่งประดับไว้ด้านหลังห้องพระเป็นภาพพุทธประวัติเรียงภาพต่อเนื่องกัน คอสองทางด้านทิศใต้ห้องพระมีหนึ่งแผ่น มีรูปพระพุทธประวัติสามตอน คือ ตอนประสูติ ตอนแสดงศิลปศาสตร์และเสด็จประพาสอุทยาน ทรงพบเทวทูตทั้งสี่ แผ่นไม้คอสองส่วนที่อยู่ในห้องพระ มีภาพตอนเสด็จออกมหาพิเนษกรมณ์ ทรงตัดพระเมาลี ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสและตอนทรงลอยถาดทองลงสู่ปราสาทลงสู่ปราสาทกาฬนาคราชที่แผ่นไม้คอสองทางด้านเหนือของห้องพระ มีภาพธิดาพระยามารทั้งสามฟ้อนรำอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า ภาพตอนทรงเทศนาพระธรรมจักร โปรดปัญจวคีและภาพตอนป่าเลไลย์ ภายในกุฎิเจ้าอาวาส มี มณฑปพระพุทธบาท เป็นมณฑปไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกที่พระพุทธบาทมีจารึกว่า “พระพุทธศักราช 2468” เป็นงานจำหลักไม้ของพระวินัยธรรม (จุ้ย), ตู้พระธรรมขาสิงห์ เป็นลายรดน้ำสองใบ, พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร เป็นไม้จำหลักลงรักปิดทอง ฝีมือของพระวินัยธรรม (จุ้ย) แกะจากไม้ประดู่ลงรักปิดทองประดับกระจก

     - กุฎิไม้ทางด้านทิศตะวันออก อยู่ใกล้ประตูทางเข้าของวัด เป็นกุฏิยกพื้น หลังคาทรงปั้นหยาซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ มีหน้าต่างและลูกกรงระบายอากาศ

     - กุฎิไม้ทางทิศตะวันตก มีตัวอักษรเขียนไว้บริเวณแผ่นไม้ประดับคอสอง ว่า “ พระจันทร์ฆงค-สุวรรณโณ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2484” กุฏิเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปั้นหยาซ้อนกัน 2 ชั้น มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้าของกุฏิ มีบันไดขนาบ 2 ข้าง ตัวอาคารด้านนอกด้านในฉลุด้วยไม้แกะสลักและลงสีเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายพรรณพฤกษา  บริเวณฝ้าเพดานตกแต่งด้วยลายผีเสื้อล้อมดาวทั้ง 4 มุม

หอระฆัง อยู่ทางทิศตะวันตกของโบสถ์ เป็นอาคารไม้เสาคอนกรีต หลังคาจตุรมุข ยอดมณฑป ประดับตกแต่งด้วย ใบระกา หางหงส์ หน้าบันลายพรรณพฤกษาและเทพพนม (วรรณิภา ณ สงขลา 2535 : 75-76)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

จอมขวัญ สุวรรณรัตน์. “รูปแบบและความหมายของจิตรกรรมฝาฝนังที่กุฎิสงฆ์ในเขตจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนราธิวาส. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2545.

ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (Online) Available from http://www.gis.finearts.go.th.

วรรณิกา ณ สงขลา. จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย ชุดที่ 002 เล่มที่ 3 วัดชลธารสิงเห. กรุงเทพฯ : ฝ่ายประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

สุนิสา มั่นคง. แหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณสถานสุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ตรัง. กรุงเทพฯ : กลุ่มวิชาการโบราณคดีประวัติศาสตร์ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2547.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง