กู่บ้านหมี่


โพสต์เมื่อ 12 ม.ค. 2022

ที่ตั้ง : ม.22 บ้านหมี่พัฒนา

ตำบล : เขวา

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : มหาสารคาม

พิกัด DD : 16.143678 N, 103.437880 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยแกดำ, ห้วยคะคาง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดมหาสารคาม บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มุ่งหน้าสู่ทางตะวันออกหรือมุ่งหน้าจังหวัดร้อยเอ็ด ไปประมาณ 15.7 กิโลเมตร (ผ่านบ้านเชียงเหียน และองค์การบริหารส่วนตำบลเขวา) เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 3087 (ตามป้ายเข้าบ้านท่าตูม)  ประมาณ 600 เมตร เลี้ยวซ้ายใช้ถนนคอนกรีต (ตามป้าย ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านหมี่) ประมาณ 300 เมตร จะพบศาลาอเนกประสงค์และกู่บ้านหมี่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันกู่บ้านหมี่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านหมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 22 ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม ชาวบ้านมักจะนำเครื่องเซ่นสักการะมาถวายกู่อย่างสม่ำเสมอ ตามความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่กับกู่ และได้สร้างศาลาอเนกประสงค์ขึ้นมา 1 หลัง ติดกับกองศิลาแลงทางทิศตะวันออก สำหรับใช้ในงานประเพณีบุญสรงกู่ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันสงกรานต์

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

องค์การบริหารส่วนตำบลเขวา

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ลักษณะโบราณสถานเป็นกองศิลาแลง อยู่ข้างศาลาอเนกประสงค์ ในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ด้านทิศเหนือเป็นถนนและหนองน้ำ ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ป่าของชุมชน อยู่ห่างจากแม่น้ำชีมาทางทิศใต้ประมาณ 4.5 กิโลเมตร ห่างจากห้วยแกดำมาทางทิศตะวันตกประมาณ 700 เมตร 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

150 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี, ห้วยแกดำ, ห้วยคะคาง

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บริเวณที่ราบตะกอนธารน้ำพาสมัยโฮโลซีน บนหมวดหินภูทอก กลุ่มหินโคราช ในยุคครีเทเชียส ส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กิตติพงษ์ สนเล็ก, ชนาธิป ไชยานุกิจ, พิกุล สมัครไทย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ และนางสาวพิกุล สมัครไทย นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น สำรวจกู่บ้านหมี่ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 (กรมศิลปากร 2564)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2564 พบหลักฐานทางโบราณคดีมีลักษณะเป็นก้อนศิลาแลงสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางซ้อนกันสูงประมาณ 3- 4 ก้อน ขนาดทั้งหมดกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร และสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณโดยรอบไม่พบหลักฐานอื่น ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น เมื่อปี 2550 (กรมศิลปากร 2564) ที่ได้สัมภาษณ์นายอำนาจ ทับสุริ อายุ 42 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 22 ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้ความว่า เดิมบริเวณแห่งนี้มีก้อนศิลาแลงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดิน จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ.2540 ชาวบ้านได้ร่วมมือกันนำกองรวมกันเป็นทรงสี่เหลี่ยมอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เนื่องจากหลักฐานที่พบจากกู่บ้านหมี่มีเพียงก้อนศิลาแลงที่กระจัดกระจาย ทำให้ทราบเพียงว่า เดิมอาจมีโบราณสถาน ที่ปัจจุบันได้เสื่อมสภาพ ชิ้นส่วนก่ออาคารกระจัดกระจาย โดยรูปทรงของกู่ที่ปรากฏในปัจจุบันก็เกิดจากการก่อเรียงขึ้นมาใหม่ จึงไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าโบราณสถานแห่งสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ในเบื้องต้นอาจสันนิษฐานได้จากบริบทแวดล้อมว่า อาจเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นร่วมสมัยกับปรางค์กู่บ้านเขวาและกู่น้อย โบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16-18 ที่อยู่ห่างจากกู่บ้านหมี่ออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.7-3 กิโลเมตร 

ปัจจุบันกู่บ้านหมี่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านหมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 22 ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม ชาวบ้านมักจะนำเครื่องเซ่นสักการะมาถวายกู่อย่างสม่ำเสมอ ตามความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่กับกู่ และได้สร้างศาลาอเนกประสงค์ขึ้นมา 1 หลัง ติดกับกองศิลาแลงทางทิศตะวันออก สำหรับใช้ในงานประเพณีบุญสรงกู่ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันสงกรานต์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "กู่บ้านหมี่" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 ธันวาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี