โพสต์เมื่อ 14 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : ปรางค์กู่บ้านเขวา, กู่มหาธาตุ, ปรางค์กู่ดอนดู่, ปรางค์ดู่มหาธาตุ, คูมหาธาตุ เมืองย่างทิศนาค
ที่ตั้ง : บ้านเขวา
ตำบล : เขวา
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : มหาสารคาม
พิกัด DD : 16.158225 N, 103.417367 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี
จากตัวจังหวัดมหาสารคาม บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มุ่งหน้าสู่ทางตะวันออกหรือมุ่งหน้าจังหวัดร้อยเอ็ด ไปประมาณ 12.9 กิโลเมตร เมื่อผ่านที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเขวา จะพบสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้าย (ตามป้านบ้านดอนดู่ หรือปรางค์ดู่มหาธาตุ) ไปตามถนนประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบโบราณสถาน
กู่บ้านเขวาเป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ตั้งอยู่ริมหนองกระทุ่ม ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ภูมิทัศน์โดยรอบได้รับการการปรับปรุงพัฒนาโดยองค์การบริหารส่วนตำบลเขวา ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีทิวทัศน์ที่สงบสวยงามทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ ยังได้ให้ความเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในปรางค์กู่บ้านเขวาเป็นอย่างมาก
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมกู่บ้านเขวาได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
องค์การบริหารส่วนตำบลเขวา, กรมศิลปากร
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกู่บ้านเขวา 2 ครั้ง คือ
- ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจนุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3695 (คูมหาธาตุ)
- ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจนุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 29ง วันที่ 26 มีนาคม 2544 (กู่บ้านเขวา)
กู่บ้านเขวาเป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตั้งอยู่ริมหนองกระทุ่ม หนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำหล่อเลี้ยงหลักมาจากห้วยคะคาง ลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี ภูมิทัศน์โดยรอบได้รับการการปรับปรุงพัฒนาเป็นที่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของท้องถิ่น กู่บ้านเขวาตั้งอยู่ห่างจากกู่น้อยบ้านเขวา มาทางทิศตะวันออกประมาณ 650 เมตร
หนองกระทุ่ม, ห้วยคะคาง, แม่น้ำชี
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บริเวณที่ราบตะกอนธารน้ำพาสมัยโฮโลซีน บนหมวดหินภูทอก กลุ่มหินโคราช ในยุคครีเทเชียส ส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช
ชื่อผู้ศึกษา : หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ขุดแต่งบางส่วนชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540, พ.ศ.2541
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น ขุดแต่งและบูรณะกู่บ้านเขวากู่บ้านเขวา เป็นหนึ่งในศาสนสถานประจำสถานพยาบาล หรือ อโรคยศาลา ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรเขมร ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องในศรัทธาความเชื่อมตามหลักของศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน
กู่บ้านเขวา เป็นกลุ่มอาคารที่สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย ประกอบด้วยปรางค์ประธาน อาคารบรรณาลัย 1 หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปรางค์ประธาน ทั้งสองอาคารล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว โดยมีรายละเอียดในเบื้องต้นดังนี้
- ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5x5 เมตร มีประตูหลอก 3 ด้าน มีมุขก่อยื่นด้านหน้าทำเป็นทางเข้า ส่วนบนทำเป็นชั้นลดเลียนแบบเรือนธาตุซ้อนกันขึ้นไป 4 ชั้น ปัจจุบันภายในเรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
- บรรณาลัย อยู่ด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6 x 7.50 เมตร
- ประตูซุ้มหรือโคปุระ มีผังรูปกากบาทก่อด้วยศิลาแลง ขนาด 10 x 11 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าสู่ศาสนสถาน
- กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง ก่อเชื่อมต่อจากประตูซุ้มล้อมรอบปราสาทประธานและบรรณาลัย เป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า ขนาด 25x37 เมตร
- สระน้ำ ด้านนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 1 สระ
จากการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.2540 พบจารึกที่ชิ้นส่วนวงกบประตูปราสาทประธานจารึกด้วยอักษรขอมภาษาเขมรกำหนดอายุอักษรราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ข้อความเชิญชวนให้บุคคลมานมัสการพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในศาสนสถาน นอกจากนี้ยังพบจารึกที่วงกบประตูห้องมุขหน้าของปราสาทประธานเป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต จำนวน 2 บรรทัด อ่านและแปลได้ว่า เชิญ / บูชาพระเจ้าที่อยู่ในอาศรม กำหนดอายุจากรูปอักษรไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 16–17 และยังพบพระพุทธรูปบุเงินบรรจุในไหจำนวนหลายสิบองค์ เป็นศิลปกรรมสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง
กรมศิลปากร. "กู่บ้านเขวา" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 ธันวาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/