โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย, วัดท่าพรุ, วัดเจ๊ะเห
ที่ตั้ง : ม.3 บ้านท่าพรุ ถนนสมานธาตุวิสุทธิ์ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ
ตำบล : เจ๊ะเห
อำเภอ : ตากใบ
จังหวัด : นราธิวาส
พิกัด DD : 6.262404 N, 102.050316 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตากใบ
เดินทางจากอำเภอเมืองสู่อำเภอตากใบตามเส้นทางสายนราธิวาส-ตากใบ (ทางหลวงหมายเลข 4048) ถึงสี่แยกตลาดอำเภอตากใบ เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 100 เมตร จะถึงปากทางเข้าวัดไปเยี่ยมชมได้ในเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าเข้าชม ทั้งนี้หากต้องการเข้าชมจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ควรติดต่อขอเข้าชมกับทางวัดก่อน
ปัจจุบันวัดชลธาราสิงเหเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอตากใบ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานวัดชลธาราสิงเหบนกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์เพื่อเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัด ผู้สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ในเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าเข้าชม (http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside.php?id=1097)
ทั้งนี้หากต้องการเข้าชมจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ควรติดต่อขอเข้าชมกับทางวัดก่อน
วัดชลธาราสิงเห, กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 136 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2518
ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 117ง วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2545
วัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ที่บ้านท่าพรุ หมู่ที่ 3 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบและพรุบางน้อย ซึ่งแต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นป่าช้องแมวและป่าจาก มีถนนสาธารณะตัดผ่านหน้าวัด
อาณาเขตของวัดชลธาราสิงเห
ทิศเหนือ ติดกับแม่น้ำตากใบ
ทิศตะวันออก ติดกับโรงเรียนวัดชลธาราสิงเห
ทิศใต้ ติดกับทุ่งนาของราษฎร
ทิศตะวันตก ติดกับสำนักการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอตากใบ
แม่น้ำตากใบ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอตากใบเป็นพื้นที่ราบ บางแห่งมีลักษณะเป็นพรุที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี วัดชลธาราสิงเหตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบและพรุบางน้อย โดยแต่เดิมเป็นป่าช้องแมวและป่าจาก มีแม่น้ำตากใบไหลผ่านทางทิศเหนือ โดยแม่น้ำตากใบไหลขนานไปกับแนวชายฝั่งทะเล มีสันทรายกว้างประมาณ 100–200 เมตรกั้นระหว่างแม่น้ำกับทะเล ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล การพัดพาของกระแสน้ำ การกระทำของลม ทำให้เกิดสันทรายปิดกั้นทางออกแม่น้ำเดิม เกิดเป็นลากูนแม่น้ำตากใบ แม่น้ำตากใบจึงต้องไหลไปออกที่บริเวณบ้านตาบา แห่งเดียวกับแม่น้ำบางนราและแม่น้ำโกลก บริเวณตำบลศาลาใหม่และเจ๊ะเห
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร ตีพิมพ์บทความเรื่อง “รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังปัตตานี ยะลา นราธิวาส” กล่าวถึงประวัติและศิลปกรรมที่พบในวัดชลธาราสิงเหชื่อผู้ศึกษา : อุดม หนูทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “เที่ยววัดชลธาร” โดยในบทความกล่าวถึงประวัติของวัด ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติของวัดชลธาราสิงเหชื่อผู้ศึกษา : คลื่น มณีโชติ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “วัดชลในอดีต” กล่าวถึงประวัติของวัดและเรื่องเล่าของคนในชุมชนเกี่ยวกับวัดชื่อผู้ศึกษา : เฉลยไข กุลเทพย์, อุดม หนูทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “จิตรกรรมฝาผนังวัดชลธาราสิงเห” โดยวิเคราะห์ตัวจิตรกรรมที่อยู่ภายในพระอุโบสถของวัดว่าสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิต ความเชื่อของคนในชุมชนทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และมีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบจีนชื่อผู้ศึกษา : สมใจ ศรีนวล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “โบราณวัตถุสถานที่วัดชลธาราสิงเห” โดยได้กล่าวถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่พบในวัดชลธาราสิงเหชื่อผู้ศึกษา : วรรณิภา ณ สงขลา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วรรณิภา ณ สงขลา ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี ศิลปากร เรียบเรียงข้อมูลเพื่อจัดทำหนังสือ “จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย ชุดที่ 002 เล่มที่ 3 วัดชลธาราสิงเห” ซึ่งกล่าวถึงประวัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุที่พบภายในวัดชลธาราสิงเหชื่อผู้ศึกษา : ประพนธ์ เรืองณรงค์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ความงามที่ตากใบ” ในบทความกล่าวถึงประวัติเมืองตากใบและวัดชลธาราสิงเหชื่อผู้ศึกษา : ภูธร ภูมะธน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ไทยพุทธที่นราธิวาส” ในบทความกล่าวถึงวัดชลธาราสิงเห สถาปัตยกรรม ภาพจิตรกรรมที่สะท้อนเห็นเห็นถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของคนไทยพุทธ ไทยมุสลิมและจีนชื่อผู้ศึกษา : คลื่น มณีโชติ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “วัดชลธาราสิงเห” ในสารานุกรมภาคใต้กล่าวถึงประวัติของวัดและโบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัดชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาพิพิธภัณฑ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสถาปัตยกรรมไทยพื้นบ้านนราธิวาส จังหวัดนราธิวาสชื่อผู้ศึกษา : แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ วัดชลธาราสิงเห ศิลปะและภาษาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม” กล่าวถึงศิลปกรรรมที่ปรากฏในวัดว่ามีความผสมผสานของคนหลายเชื้อชาติ หลายภาษา ทั้งไทยพุทธ มุสลิมและจีน ที่มีเอกลักษณะท้องถิ่น รวมทั้งรูปแบบกุฏิเจ้าอาวาสมีลักษณะคล้ายวังยะหริ่งในอำเภอปัตตานีชื่อผู้ศึกษา : จอมขวัญ สุวรรณรัตน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
จัดทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “รูปแบบและความหมายของจิตรกรรมฝาฝนังที่กุฏิสงฆ์ในเขตจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส” โดยได้ทำการวิเคราะห์ภาพจิตรกรรมในกุฏิสงฆ์ของวัดในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส รวมทั้งวัดชลธาราสิงเหว่ามีลักษณะท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ชื่อผู้ศึกษา : สุนิสา มั่นคง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ตรัง” โดยทำการรวบรวมแหล่งโบราณคดีทั้งหมดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ตรังในหนังสือ ได้กล่าวถึงประวัติและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่วัดชลธาราสิงเหวัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่บ้านท่าพรุ หมู่ที่ 3 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบและพรุบางน้อย สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2403 โดยพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ได้ขอที่ดินจากพระยาเดชานุชิตที่ทางกรุงเทพแต่งตั้งมาปกครองรัฐกลันตัน แต่เดิมเรียกวัดท่าพรุหรือวัดเจ๊ะเหตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาได้มาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชลธาราสิงเหในปี พ.ศ.2452 โดยขุนสมานธาตุวิสิทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์) นายอำเภอตากใบเป็น “วัดชลธาราสิงเห” ที่มีความหมายว่าเป็นวัดริมน้ำที่สร้างด้วยพระภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ (พระครูโอภาสพุทธคุณ)
ในปี พ.ศ.2416 ท่านอาจารย์พุดได้สร้างพระอุโบสถโดยมอบให้พระไชยวัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างและเขียนภาพในพระอุโบสถ พระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ชาวสงขลาช่วยกันเขียนภาพในพระอุโบสถ ในกุฏิ สร้างพระประธานในพระอุโบสถและกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2426 สมัยต่อมาวัดชลธาราสิงเห ได้รับการบูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซม และก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้น เช่น วิหาร กุฏิ ศาลา บ่อน้ำ หอระฆัง หอไตร ศาลาท่าน้ำ เป็นต้น มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมภาคใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือ การประดับลวดลายไม้ฉลุ เรียกว่า ลวดลายขนมปังขิง
ความสำคัญของวัดชลธาราสิงเห นอกจากมีศิลปกรรมท้องถิ่นที่งดงามแล้ว ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีการปักปันเขตแดนกับอังกฤษ อังกฤษได้ทำการปักปันเขตแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็กเลยจากวัดชลธาราสิงเห 25 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัวจึงทำการแย้ง โดยให้เหตุผลว่าวัดชลธาราสิงเหเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญ เป็นมรดกทางพุทธศาสนา ฝ่ายอังกฤษยอมรับและเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงลำน้ำโกลก ทำให้อำเภอตากใบ อำเภอแว้งและอำเภอสุไหงโกลกอยู่ในการปกครองของไทยจนถึงปัจจุบัน วัดชลธาราสิงเหจึงได้ชื่อว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
นอกจากนี้วัดชลธาราสิงเหยังเป็นสนามสอบนักธรรมของอำเภอตากใบ เมื่อถึงกำหนดสอบจะมีประเพณีการ “ทำบุญเลี้ยงพระสอบไล่” และถือเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของชาวพุทธทั้งทางฝั่งไทยและมาเลเซีย จากหลักฐานพบการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของกษัตริย์ไทยมายังวัดชลธาราสิงเหหลายครั้ง ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทางชลมารคถึงอำเภอตากใบในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2458 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดชลธาราสิงเหในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2518 และในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ2519 เป็นต้น
โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัดชลธาราสิงเห ได้แก่
1.พระอุโบสถ ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางของวัด หันหน้าไปทางลำน้ำตากใบที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 แทนโบสถ์น้ำเดิมที่อยู่กลางแม่น้ำ พระอุโบสถมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารเครื่องก่อ หลังคาซ้อนชั้นทางด้านหน้าและหลังพระอุโบสถ มีชายคาปีกนกลดหลั่นลงมา 3 ชั้น มีเสานางเรียงสี่เหลี่ยม ไม่มีบัวหัวเสารองรับเชิงชายเครื่องบน เครื่องลำยองมีช่อฟ้า ตัวลำยอง ใบระกา หางหงส์ อันเป็นการประดับตกแต่งแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพในพระอุโบสถมีการตกแต่งภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปไตรภูมิ, เทพชุมนุมและพุทธประวัติตอนต่างๆ นอกจากนี้ภาพประติมากรรมยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนตากใบ เช่น ภาพชาวจีนกำลังแบกสินค้า, ภาพเรือนแพแบบต่างๆ,ภาพแพะซึ่งเป็นสัตว์ที่เลี้ยในชุมชน เป็นต้น มีพระประธานในพระอุโบสถ
ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อใหญ่ ด้านนอกพระอุโบสถประกอบด้วยใบเสมาและซุ้มเสมา กำแพงแก้วและซุ้มกำแพงแก้ว
2.เจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังบนฐานรูปสี่เหลี่ยม ขนาด 4.55 เมตร ยาว 5.50 เมตร ทรงฐานสูงมีลานประทักษิณรอบเจดีย์ มีพนักกั้นเป็นขอบลายประทักษิณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยครูจันทร์เป็นเจ้าอาวาส (ครองวัดระหว่างปี พ.ศ.2456-2462) แต่สร้างไม่เสร็จ จากนั้นมาสร้างอีกครั้งในปี พ.ศ. 2484 ลักษณะตัวเจดีย์เป็นทรงระฆังสูง ต่อขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร ไม่มีเสาหาน แล้วเป็นแผ่นปล้องไฉนลดหลันกันไปเป็นรูปทรงกรวยจนถึงปลียอดและลูกแก้ว
3.วิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่บริเวณหน้าเจดีย์ เป็นวิหารคลุมพระไสยาสน์มีขนาดกว้าง 5.90 เมตร ยาว 9.90 เมตร สร้างโดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตรเมื่อปี พ.ศ.2484 ภายในวิหารมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ตอนท้ายของวิหารโถงและติดกับฐานเจดีย์เป็นอาคารเครื่องก่อ มีฝาผนังทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันตก (สันนิษฐานว่าอาคารโถงน่าจะเป็นการต่อเติมในสมัยหลัง) องค์พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น พระพักต์ลงรักปิดทอง พระองค์ประดับกระจก ฐานและฝาผนังประดับเครื่องถ้วย องค์พระมีขนาดยาว 7.40 เมตร กว้าง 2 เมตร มีตัวอักษรจารึก “พระครู สิททิสารวิหาร....พ.ศ.2484 ม...รัตม พริขวัต”
4.หอพระนารายณ์ เป็นอาคารเครื่องก่อ ขนาด 5.45 เมตร ยาว 6.30 เมตร มีมุขขนาดกว้าง 3.40 เมตร ยาว 4.06 เมตร มีหน้าต่างด้านๆละ 1 ช่อง ส่วนทางด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีประตู 3 บาน หลังคาทรงมณฑป 4 ชั้นยอดแหลม มุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ ส่วนยอดของหลังคาหล่อด้วยปูนซีเมนต์ ตรงหน้าบันมีจารึก “ปฏิสังขรณ์ พ.ศ.2499” เพดานมุขมี 2 ห้อง ตกแต่งลวดลายเป็นภาพดวงดารา ภายในมณฑปมีรูปพระนารายณ์ 4 กร บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์ เพดานด้านในประธานตกแต่งลายดวงดารา พื้นหลังประดับด้วยภาพผีเสื้อ หงส์ ช่อดอกไม้และดาวดวงเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป พื้นหลังมีสีขาว ตกแต่งลวดลายดอกไม้ร่วง คอสองเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ คานตกแต่งลายก้านปู ด้านนอกมีการตกแต่งลายเขียนสีและประดับกระจก กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะตัวหลังคาและโครงสร้างหอพระนารายณ์ในปี พ.ศ.2541
5.กุฏิ วัดชลธาราสิงเหมีกุฏิพระสงฆ์จำนวนมาก เป็นกุฏิสร้างด้วยไม้ กุฏิที่สำคัญมี 4 หลัง ได้แก่
5.1 กุฏิเจ้าอาวาส บ้างว่าสร้างโดยพระครูนราเขตสังฆกิจ ครองวัดราว พ.ศ.2451-2455 (กรมศิลปากร 2545 : ไม่ปรากฏเลขหน้า) บ้างก็ว่าสร้างโดยพระครูพินิจสมณการ ครองวัดราวปี พ.ศ 2463-2475 (วรรณิกา ณ สงขลา 2537 : 20-21) มีลักษณะคล้ายกุฏิเจ้าอาวาสวัดฉัททันต์สมาน ที่สร้างโดยพระครูพินิจสมณการ กุฏิหลังนี้ได้รับการบูรณะใหญ่ในปี พ.ศ.2503 โดยพระครูพิพัทกาลัญญูและอีกครั้งในสมัยพระครูปัจจันตเขตคณารักษ์เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นกุฏิเรือนไม้ 2 ชั้นขนาดใหญ่แบบเรือนขนมปังขิง ยกพื้นสูง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 19 เมตร ยาว 20.8 เมตร วางตัวในแนวเหนือใต้ อาคารหันไปทางทิศตะวันออก ตัวเรือนชั้นล่างมี 4 ห้องพัก มีโถงขนาดใหญ่เชื่อมต่อห้องต่างๆ โถงทางตอนในใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นบนเป็นโถงโล่ง สำหรับเก็บของใช้ต่างๆ
การตกแต่ง หลังคามีลักษณะเป็นทรงปั้นหยาซ้อน 2 ชั้น มีหลังคาปีกนกลดชั้นและมีหลังคาลาดจากตัวเรือนชั้นบนลงมาอีกชั้นหนึ่ง ตัวกุฏิด้านหน้า ทำเป็นมุขจั่วรับทางเข้าหลักตกแต่งด้วยลายไม้ลายฉลุ หน้าบันมีจิตรกรรมเป็นภาพครุฑยุดนาค ประดับลายพัน พฤกษา ประตูเป็นบานเฟี้ยม กรอบด้านข้างประตูประดับลวดลายแจกันดอกไม้ ช่องลมเป็นไม้ฉลุรูปเทพพนม ประทับนั่งบนดอกบัว เพดานแบ่งเป็น 3 ช่อง มีภาพพระอาทิตย์ พระจันทร์และดวงดารา พื้นหลังมีภาพนก หงส์ ผีเสือและลายดอกไม้ร่วง มุขเสาทุกต้นประดับด้วยไม้แกะฉลุเป็นรูปต่างๆ เช่น ลิง ดอกไม้ นก ยักษ์ ล้อมรอบด้วยลายไทย ส่วนทางเข้ารองทำซุ้มเหนือประตูซ้อน 3 ชั้นแบบซุ้มยอดมงกุฎ ผนังกุฏิ ฝาโดยรอบทำด้วยไม้กระดานประดับไม้ฉลุเป็นช่องลม เหนือหน้าต่างด้วยซุ้มซ้อน 3 ชั้นแบบเดียวกับซุ้มประตูทางเข้ารอง ช่องหน้าต่างแคบยาวแบบเปิดเข้าภายในตัวเรือน ห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมีการตกแต่งภาพจิตรกรรมบนไม้คอสองเป็นภาพพุทธประวัติและเพดานประดับลายดวงดารา แทรกภาพผีเสื้อ นกและลวดลายมุม ส่วนฐานใช้ระบบวางคานตัวเรือนบนเสาซีเมนต์หล่อสูงโดยทำฐานตีนเสาในแบบลดชั้น (จอมขวัญ สุวรรณรัตน์ 2547 : 41)
5.2 กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์หรือกุฏิพระครสิทธิสารวิหารวัตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตร ประวัติวัดชลธารกล่าวว่าแต่เดิมเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ต่อมากุฏิพังทลายลง ทางวัดจึงสร้างขึ้นใหม่แต่รูปแบบค่อนข้างต่างไปจากเดิม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นพิพิธภัณฑสถานวัดชลธาราสิงเหเพื่อเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัด จากภาพถ่ายเก่า พบว่ากุฏิสิทธิสารประดิษฐ์เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง ขนาดกว้าง 19.35 เมตร ยาว 22.60 เมตร หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อนกันหลายชั้น มุงกระเบื้องดินเผา บันไดหน้าเป็นบันไดก่ออิฐถือปูน มีการทำพนักเป็นรูปตัวนาค ปลายหางโค้งงอนรับกับมุขหลังคา ยอดหลังคาตกแต่งด้วยปูนปั้นลายเครือเถา ส่วนมุมหลังคาทำรูปคล้ายหางหงส์หรือหัวนาค (วรรณิภา ณ สงขลา 2535 : 21)
5.3 กุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ เป็นกุฏิไม้ยกสูง ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 19.10 เมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผา มีไม้ฉลุประดับหลังคา ตอนหน้าเป็นมุข หลังคามุขประดับช่อฟ้าและหางหงส์ หน้าบันของมุขเป็นปูนปั้นพระพุทธรูป ปางสมาธิ มีพระอัครสาวกนั่งประคองอัญชลีอยู่ 2 ข้าง มีตัวจารึก “สร้าง พ.ศ.2482”
จิตรกรรมที่เพดานมุข แบ่งเป็นสี่ส่วน ตรงกึ่งกลางมีไม้กรอบตัดกัน มีบัวห้อยลง ตรงปลายมีรอกและที่ฝ้าเพดานมีจิตรกรรมภาพ พระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้า, พระอาทิตย์ทรงราชรถเที่ยมราชสีห์, พระอาทิตย์ทรงรถเทียมราชสีและพระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้า ภาพพื้นหลังเป็นลายช่อดอกไม้ร่วง มุมเป็นลายค้างคาว ระหว่างค้างคาวเป็นลายผีเสื้อ คานมีลายประจำยามกรวยเชิง คอสองทั้ง 4 ด้าน มีลายประจำยามก้านขดและลายเฟื่องอบะ ใต้คอสองประดับไม้ฉลุขนมปังขิง ซุ้มคูหาของกุฏิมี 3 ช่อง มีไม้จำหลักลายเครือเถาดอกพุดตาล ประดับเป็นกรอบซุ้มและตรงกลางลายซุ้มคูหาเป็นภาพยักษ์ขบและลิงขบ หูช้างเป็นไม้ฉลุลวดลายพันธ์พฤกษา
5.4 กุฏิทรงไทย ฝาเข้าไม้แบบเรือนไทย มีชานเสริมเพิ่มออกมาทำให้เป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 5.30 เมตร หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประตูอยู่ทางมุมด้านหุ้มกลอง มีชานและบันได
6.อนุสาวรีย์พระครูโอภาสพุฒคุณ เป็นรูปหล่อโลหะเหมือนจริง ที่ฐานมีจารึกประวัติของท่าน
7.หอระฆัง มี 2 หลัง ได้แก่
7.1 หอระฆัง 2 ชั้น หลังคาทรงมณฑป ขนาดกว้างด้านละ 8 เมตร ฝาผนังหอระฆังด้านบนเป็นไม้ มีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก มีลวดลายประดับคล้ายกุฏิของเจ้าอาวาส ภายในหอระฆังมีระฆัง 2 ใบมีจารึกระบุพ.ศ.ที่สร้าง ใบหนึ่งสร้าง พ.ศ. 2460 อีกใบหนึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2533 ภายในห้องโถงชั้นล่างแขวนป้ายประวัดวัดและป้ายชื่อวัดในปกครองของเจ้าคณะตำบลตากใบ
7.2 หอระฆัง เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ขนาดด้านกว้างด้านละ 4.50 เมตร หลังคาจตุรมุข ยอดมณฑปประดับช่อฟ้า หางหงส์ มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันมีจิตรกรรมไม้ เดิมเป็นไม้หอไตรในสระน้ำ ซึ่งเมื่องหอไตรกลางน้ำพังลง ทางวัดจึงได้รวบรวมไม้มาดัดแปลงสร้างเป็นหอไตรหลังนี้
8.โรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างสมัยพระครูจันทร์เป็นเจ้าอาวาส (ครองวัดราว พ.ศ.2456–2462) เป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ตะเคียน มีรูปแบบคล้ายกุฏิเจ้าอาวาสและมีลวดลายเครื่องประดับ (ปัจจุบันชำรุดเสียหาย)
9.ศาลา ศาลาโถงในวัดชลธาราสิงเห มีทั้งหมด 15 หลังและศาลาท่าน้ำ 5 หลัง มักใช้เป็นที่พักผ่อนของประชาชนโดยใกล้ศาลามักมีบ่อน้ำอยู่ใกล้ๆ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลาบ่อ” บางหลังทำเป็นจตุรมุข หน้าบันมีการประดับลวดลาย หลังคาประดับเครื่องลำยอง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ สันตะเข้ประดับใบระกาและหางหงส์ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา พื้นศาลาโถงอาจมี 2 ระดับ พืนภายในสูงกว่าพื้นเฉลียงเนื่องจากสมัยก่อนศาลานี้ใช้เป็นที่แสดงธรรม ที่ไม้ฝ้าเพดานมีการตกแต่งภาพจิตรกรรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส. กรุงเทพฯ : งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร, 2527.
กรมศิลปากร. เอกสารรายละเอียดแผนปฏิบัติงานประกอบการขออนุมัติงวดเงิน ประจำปีงบประมาณ 2545 โครงการการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานสถาปัตยกรรมไทยพื้นบ้านนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส. สงขลา : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.
คลื่น มณีโชติ. “วัดชลในอดีต”. ทักษิณคดี 1, 2 (ตุลาคม 2524) : 22 -27.
คลื่น มณีโชติ. “วัดชลธาราสิงเห”ใน สารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, 2542 : 1906 -1914.
จอมขวัญ สุวรรณรัตน์. “รูปแบบและความหมายของจิตรกรรมฝาฝนังที่กุฏิสงฆ์ในเขตจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส” วิทยานิพนธ์ของปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
เฉลยไข กุลเทพย์และอุดม หนูทอง. “จิตรกรรมฝาผนังวัดชลธาราสิงเห” ทักษิณคดี 1, 2 (ตุลาคม 2524) : 28 – 40.
ประพนธ์ เรืองณรงค์. “แผ่นดินนี้เป็นที่รัก: ความงามที่ตากใบ” ศิลปวัฒนธรรม 16, 7 (พฤษภาคม 2538) : 158 -161.
ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนราธิวาส. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2545.
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. “วัดชลธาราสิงเห : ศิลปะและภาษาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม”ศิลปวัฒนธรรม 25, 8 (มิถุนายน 2547) : 48 -49.
ภูธร ภูมะธน. “ไทยพุทธที่นราธิวาส” อนุสาร อ.ส.ท. 37, 8 (มีนาคม 2540) : 186 -187.
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวํฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (Online) Available from http://www.gis.finearts.go.th.
วรรณิกา ณ สงขลา. จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย ชุดที่ 002 เล่มที่ 3 วัดชลธาราสิงเห. กรุงเทพฯ : ฝ่ายประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
สมใจ ศรีนวล. “โบราณวัตถุสถานที่วัดชลธาราสิงเห”. ทักษิณคดี 1, 2 (ตุลาคม 2524): 41 - 47
สุนิสา มั่นคง. แหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณสถานสุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ตรัง. กรุงเทพฯ : กลุ่มชาการโบราณคดีประวัติศาสตร์ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2547.
อุดม หนูทอง. “เที่ยววัดชลธาราสิงเห” ทักษิณคดี 1, 2 (ตุลาคม 2524) : 12 – 21.