วิหารคริสตจักรตรัง


โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : คริสตจักรทับเที่ยง, คริสตจักรตรัง, วิหารคริสต์จักรตรัง, วิหารทับเที่ยง

ที่ตั้ง : ถ.เพชรเกษม

ตำบล : ทับเที่ยง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.559319 N, 99.604820 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองปอน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่ในตัวเมืองตรัง ริมถนนเพชรเกษม หรือจากแยกท่ากลาง (ท่าจีน) ในตัวเมืองตรังบริเวณ มุ่งหน้าขึ้นเหนือประมาณ 160 เมตร จะพบวิหารคริสตจักรตรังทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าชมภายนอกได้ทุกวัน ในเวลาทำการ โดยไม่เสียค่าเข้า ส่วนภายในวิหารเปิดทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-12.00 เพื่ประกอบศาสนกิจ 

สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร 075 222 311, อีเมล trangchurch@gmail.com, เว็บไซต์ https://trangchurch.org/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

คริสตจักรตรัง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 117ง หน้า 8 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 งาน 69 ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วิหารคริสตจักรตรังตั้งอยู่ในตัวเมืองตรัง ซึ่งเป็นเขตเมือง มีชุมชนหนาแน่น วิหารตั้งอยู่ริมคลองปอน ปัจจุบันยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยนับว่าเป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนิกชนของชาวตรัง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

12 เมตร

ทางน้ำ

คลองปอน. แม่น้ำตรัง

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอบเศษเชิงหินเขาและตะกอนผุพังอยู่กับที่ เศษหินโดยทั่วไปประกอบด้วยหินควอร์ตไซต์ หินทราย หินทรายแป้ง หินแกรนิต ทราย ทรายแป้ง ดินลุกรัง และศิลาแลง (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 6

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2458

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : คณะกรรมการบริหารคริสตจักรตรัง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ในปี พ.ศ.2528 (ค.ศ.1985) มีการบูรณะวิหารคริสตจักรตรัง ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม การบูรณะในครั้งนี้ได้เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาจากกระเบื้องซีเมนต์แบบเก่า มาเป็นกระเบื้องใยสังเคราะห์ ปรับปรุงเพดานด้วยการบุกระเบื้องยิปซัม เปลี่ยนพื้นจากพื้นปูนหยาบเป็นปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิกส์สีขาวครีม ทาสีผนังทั้งภายนอกและภายใน และทำเวทีใหม่ให้ลดความสูงลง

ชื่อผู้ศึกษา : คณะกรรมการบริหารคริสตจักรตรัง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550, พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) คณะกรรมการบริหารคริสตจักรตรังเห็นสมควรให้มีการบูรณะวิหารทับเที่ยงที่ชำรุดทรุดโทรมลง จึงมีคำสั่งลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 แต่งตั้งนายเทิดศักดิ์ ตรีรัตนพันธ์ เป็นผู้ควบคุมดูแลการบูรณะ ให้นายสนิท พานิช เป็นวิศวกรที่ปรึกษา โดยใช้งบประมาณจากการถวายของสมาชิกคริสตจักรตรังในการดำเนินการ การบูรณะในครั้งนี้ได้เปลี่ยนกลับมาใช้กระเบื้องว่าวตามแบบโบราณ ซ่อมแซมผนังส่วนที่แตกร้าวโดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ เสริมกระจกใสบริเวณหน้าต่าง ออกแบบตู้ไม้สำหรับติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนวัสดุปูพื้นจากเซรามิกเป็นแผ่นหินอ่อนจากสระบุรี ปรับปรุงระบบไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้การบูรณะได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2551

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วิหารคริสตจักรตรัง (สารัท ชลอสันติสกุล 2564) เป็นหลักฐานสำคัญแสดงถึงการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์จังหวัดตรัง เป็นส่วนหนึ่งของคณะเพรสไบทีเรียนสยาม (คริสตศาสนานิกายโปรแตสแตนท์) ปัจจุบันสังกัดคริสตจักรภาคที่ 17 คริสตจักรตรังกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.2448 (ค.ศ.1905) เมื่อพระยารัษฎานุปะดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มอบเงิน 3,000 ดอลลาร์ ให้ศาสนาจารย์ ดร.ยูจีน เพรสลี ดันแลป (Rev.Dr. Eugene Pressly Dunlap) เพื่อดำเนินการสร้างโรงพยาบาลทับเที่ยงขึ้นที่จังหวัดตรัง และอนุญาตให้ดำเนินการเผยแผ่คริสตศาสนาได้โดยเสรี แต่ก็ยังไม่นับเป็นวันเริ่มต้นของคริสตจักรตรังอย่างเป็นทางการ

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2453 (ค.ศ.1910) ศาสนาจารย์ ดร.ยูจีน เพรสลี ดันแลป ได้เลือกที่ดินในบริเวณตลาดทับเที่ยงเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลทับเที่ยงและเป็นที่ตั้งของสถานีมิชชั่น(Station)หรือสถานีประกาศ ซึ่งหมายถึงฐานหรือสถานีปฏิบัติงานของคณะ จึงนับเป็นวันเริ่มต้นของคริสตจักรตรังอย่างเป็นทางการ โดยผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินงานในระยะเริ่มแรกนี้ได้แก่ ศาสนาจารย์ ดร.ยูจีน เพรสลี ดันแลป (Rev.Dr. Eugene Pressly Dunlap) นางอีเมไลน์ วิลสัน คริสส์ (Mrs.Emaline Wilson Criss) ภรรยาของท่าน นายแพทย์ลูเชียส คอนสแตนท์ บัลค์ลีย์ (Dr.Lucius Constant Bulkley) นางเอ็ดน่า บูรเนอร์ บัลค์ลีย์ (Mrs.Ednah Bruner Bulkley) ครูตุ้น (ชาวจีน) และนายจวง จันทรดึกผู้ช่วยด้านการแพทย์ชาวไทย ทั้งนี้ได้เริ่มให้มีการถือศีลระลึกถึงความมรณาของพระเยซู และมีการให้บัพติศมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 (ค.ศ.1912)

ต่อมาในพ.ศ.2456 (ค.ศ.1913) สมเด็จระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอนุญาตให้สร้างวิหารคริสตจักรตรังขึ้น ได้ซื้อที่สำหรับสร้างสุสานและโบสถ์ โดยในวันที่ 1 มิถุนายน 2456 มีสมาชิกคริสตจักรตรัง 70 คน มาช่วยกันปรับที่ดิน และสร้างโบสถ์ทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก บนดินที่ได้ช่วยกันปรับพูนขึ้น รวมทั้งสร้างม้านั่ง และประดับประดาจนเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน เรียกกันว่า “โรงสวดทับเที่ยง” ใช้เป็นสถานที่นมัสการแทนสถานที่เดิมคือห้องประชุมของโรงพยาบาลทับเที่ยง

ต่อมาใน พ.ศ.2458 (ค.ศ.1915) ได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนเรียกชื่อว่า “วิหารทับเที่ยง” หรือ วิหารคริสตจักรตรัง ซึ่งยังคงปรากฏมาถึงปัจจุบัน โดยในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2458 ได้มีการประกอบพิธีถวายอาคารหลังนี้ และทำการการฉลองเป็นเวลา 3 วันในระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2458 วิหารแห่งนี้สามารถรองรับผู้คนซึ่งเดินทางมานมัสการได้ราว 200 คน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม (สารัท ชลอสันติสกุล 2564) 

วิหารคริสตจักรตรัง เดิมเป็นมีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์แบบเก่า ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 19 เมตร มีหน้าต่างด้านละ 7 บาน ประตูด้านหน้า 1 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู หน้าต่างและประตู มีกรอบวงกบรูปวงโค้ง มีคิ้วปูนอยู่เหนือกรอบวงกบ ซึ่งมีหน้าต่างอยู่ทุกช่วงเสา รูปแบบประตูหน้าต่าง เป็นบานปิดคู่ลูกฟักบานเกล็ดไม้ติดตาย ติดกลอนทองเหลืองแบบโบราณ บริเวณพื้นเวทีมีการตกแต่งด้วยปูนปั้น

ภายในแบ่งเป็นห้องโถงเล็กด้านหน้าประตู และห้องโถงใหญ่ภายใน โดยที่ผนังเหนือซุ้มหน้าห้องโถงเล็กมีอักษรจารึกว่า “วิหารคริศศาสนาสร้าง ค.ศ.1915” ทางเข้าด้านหน้ากั้นเป็นห้องซ้าย-ขวา ไว้เก็บของและเป็นห้องโถงบันไดขึ้นไปบนหอคอยที่มีระฆังทองเหลืองตั้งอยู่ ด้านข้างของอาคารมีหอระฆัง โดยส่วนหลังคาของหอระฆังเมื่อแรกสร้างนั้นมีลักษณะเป็นดาดฟ้า รูปทรงคล้ายป้อมทหารโบราณ โดยในเวลาต่อมาได้ทำการต่อเติมหอระฆังและย้ายระฆังจากชั้นที่ 2 ไปไว้ชั้นที่ 3 รวมทั้งเปลี่ยนรูปทรงหลังคาของหอระฆังด้วย

ในปี พ.ศ.2528 (ค.ศ.1985) มีการบูรณะวิหารคริสตจักรตรัง ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม การบูรณะในครั้งนี้ได้เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาจากกระเบื้องซีเมนต์แบบเก่า มาเป็นกระเบื้องใยสังเคราะห์ ปรับปรุงเพดานด้วยการบุกระเบื้องยิปซัม เปลี่ยนพื้นจากพื้นปูนหยาบเป็นปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิกส์สีขาวครีม ทาสีผนังทั้งภายนอกและภายใน และทำเวทีใหม่ให้ลดความสูงลง

พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวิหารคริสตจักรตรัง เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 117ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545

พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) คณะกรรมการบริหารคริสตจักรตรังเห็นสมควรให้มีการบูรณะวิหารทับเที่ยงที่ชำรุดทรุดโทรมลง จึงมีคำสั่งลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 แต่งตั้งนายเทิดศักดิ์ ตรีรัตนพันธ์ เป็นผู้ควบคุมดูแลการบูรณะ ให้นายสนิท พานิช เป็นวิศวกรที่ปรึกษา โดยใช้งบประมาณจากการถวายของสมาชิกคริสตจักรตรังในการดำเนินการ การบูรณะในครั้งนี้ได้เปลี่ยนกลับมาใช้กระเบื้องว่าวตามแบบโบราณ ซ่อมแซมผนังส่วนที่แตกร้าวโดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ เสริมกระจกใสบริเวณหน้าต่าง ออกแบบตู้ไม้สำหรับติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนวัสดุปูพื้นจากเซรามิกส์เป็นแผ่นหินอ่อนจากสระบุรี ปรับปรุงระบบไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้การบูรณะได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2551

ปัจจุบันมีวิหารหลังใหม่และอาคารอเนกประสงค์เพิ่มขึ้นในบริเวณเดียวกันกับโบราณสถาน แต่ด้วยการจัดระยะห่างอย่างลงตัว ทำให้วิหารคริสต์จักรตรังยังคงโดดเด่นอยู่เช่นเดิม (กรมศิลปากร 2564)

พ.ศ.2552 วิหารคริสตจักรตรัง ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.

กรมศิลปากร. "วิหารคริสต์จักรตรัง" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 มกราคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

สารัท ชลอสันติสกุล. วิหารคริสตจักรตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง. (ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 16 มกราคม 2564. เข้าถึงจาก https://www.finearts.go.th/fad11/view/26264-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87

อาณัติ บำรุงวงศ์ และ อนงค์ หนูแป้น (บรรณาธิการ). .247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ 12 นครศร๊ธรรมราช, 2561.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี