ปราสาทหนองปล่อง


โพสต์เมื่อ 9 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : ปราสาทหนองโปร่ง, โคกปราสาท, สำนักสงฆ์โคกปราสาท

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านหนองปล่อง

ตำบล : หนองปล่อง

อำเภอ : ชำนิ

จังหวัด : บุรีรัมย์

พิกัด DD : 14.718256 N, 102.835932 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำปะเทีย, ลำปลายมาศ, ลำนางรอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอนางรอง บริเวณแยกนางรอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 24 (ถนนโชคชัย-เดชอุดม) มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าอำเภอประโคนชัย ประมาณ 3.6 กิโลเมตร ถึงแยกถนนหัก ให้เบี่ยงซ้าย ใช้ทางหลวงหมายเลข 218 ไปตามถนนประมาณ 300 เมตร เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงชนบท บร.3051 ไปตามถนนประมาณ 9.4 กิโลเมตร จะพบสำนักสงฆ์โคกปราสาททางขวามือ ปราสาทหนองปล่อง หรือ หนองโปร่ง ตั้งอยู่ภายในสำนักสงฆ์ ทางเหนือของวิหาร 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นโบราณสถานร้างที่ตั้งอยู่ภายในสำนักสงฆ์โคกปราสาท เป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทางสำนักสงฆ์ที่ศาสนิกชนให้ความเคารพสักการะ โดยบนปราสาทมีศาลไม้ตั้งอยู่ 1 ศาล บริเวณปราสาทรอบปราสาทมีศาลตาดวงแก้ว-ยายจันหอม และศาลย่านาคี 

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักสงฆ์โคกปราสาท, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทหนองโปร่ง (หนองปล่อง) ดังนี้

- กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3689 วันที่ 8 มีนาคม 2478

- กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม 99 ตอนที่ 172 หน้า 44 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2525 โดยมีการแก้ไขคำผิดในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 7 หน้า 279 วันที่ 18 มกราคม 2526

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปราสาทหนองปล่องหรือหนองโปร่ง ปัจจุบันเป็นโบราณสถานร้างที่ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยตั้งอยู่บนเนินดินที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์โคกปราสาท และป่าไม้ของชุมชน รอบเนินดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนาข้าว มีทางหลวงชนบท บร.3051 ผ่ากลางเนิน ตัวปราสาทตั้งอยู่ห่างจากลำนางรองมาทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร บนปราสาทมีศาลไม้ตั้งอยู่ 1 ศาล มีชิ้นส่วนปราสาททำจากหินทรายที่สลักลวดลาย นอกจากนั้นด้านทิศตะวันตกของปราสาทยังประดิษฐานประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทางสำนักสงฆ์จัดทำขึ้น และยังมีพระพุทธรูปและเทวรูปจำลองสมัยเขมรวางอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของปราสาท ซึ่งน่าจะเป็นของถวายของผู้มีจิตศรัทธา บริเวณปราสาทรอบปราสาทมีศาลตาดวงแก้ว-ยายจันหอม และศาลย่านาคี 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

179 เมตร

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน ( จากอิทธิพลของแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขา โดยเฉพาะลำนางรอง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบายน

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานอยู่ในสภาพทรุดโทรม อาคารพังทลาย ยังไม่มีการขุดแต่งและบูรณะ ลักษณะสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ลักษณะเป็นอาคารหลังเดียว ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลงโดยมีหินทรายเป็นส่วนประกอบ ด้านหน้าส่วนที่เป็นห้องโถงนั้น ผนังทิศเหนือและทิศใต้ชำรุด เหลือให้เห็นกรอบหน้าต่างหลายบาน ส่วนด้านหลังอาคารหรือด้านตะวันตกซึ่งเป็นส่วนปราสาทนั้น พังทลายลงหมด ส่วนทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม 1 สระ

บนปราสาทมีชิ้นส่วนปราสาททำจากหินทรายที่สลักลวดลาย นอกจากนั้นด้านทิศตะวันตกของปราสาทยังประดิษฐานประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทางสำนักสงฆ์จัดทำขึ้น และยังมีพระพุทธรูปและเทวรูปจำลองสมัยเขมรวางอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของปราสาท ซึ่งน่าจะเป็นของถวายของผู้มีจิตศรัทธา

จากลักษณะสถาปัตยกรรม สันนิษฐานว่า ปราสาทหนองปล่อง หรือ ปราสาทหนองโปร่ง มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลา 1 ใน 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณโปรดให้สร้างขึ้น เริ่มจากเมืองพระนครหลวง เมืองหลวงของเขมรโบราณ ไปยังเมืองพิมาย พร้อมกับที่โปรดให้สร้างธรรมศาลา 121 แห่ง ทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานจากจารึกที่พบที่ปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชา

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ: บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง จำกัด, 2553.

กรมศิลปากร. "ปราสาทหนองโปร่ง(หนองปล่อง)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี