ปราสาทหนองตาเปล่ง


โพสต์เมื่อ 9 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : ปราสาทเทพสถิตย์

ที่ตั้ง : ม.13 บ้านปราสาทเทพสถิตย์

ตำบล : ช่อผกา

อำเภอ : ชำนิ

จังหวัด : บุรีรัมย์

พิกัด DD : 14.812543 N, 102.797248 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำปลายมาศ, ลำลึก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลช่อผกา ใช้ถนนมุ่งหน้าตำบลชำนิ หรือมุ่งหน้าทิศตะวันออก ประมาณ 650 เมตร ถึงสี่แยกคุ้มที่ 4 คุ้มกลางเจริญสุข ให้เลี้ยวซ้าย มุ่งหน้าไปทางเหนือหรือมุ่งหน้าวัดหนองตาเปล่ง (บ้านหนองตาเปล่ง) ประมาณ 950 เมตร จะพบทางเข้าวัดปราสาทเทพสถิตย์ทางซ้ายมือ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปราสาทหนองตาเปล่งเป็นโบราณสถานร้างที่ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ตั้งอยู่ภายในวัดปราสาทเทพสถิตย์ บริเวณปราสาทมีประติมากรรมพระพุทธรูป พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระสงฆ์ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ พญานาค และสิงห์ ตั้งวางอยู่ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านในพื้นที่ยังคงเห็นว่าปราสาทหลังนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ควรแก่การอนุรักษ์ ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดปราสาทเทพสถิตย์, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปัจจุบันปราสาทตั้งอยู่ภายในวัดปราสาทเทพสถิตย์ มีลำน้ำขนาดเล็กซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำปลายมาศ ไหลห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร พื้นที่โดยรอบวัดเป็นที่นาของชาวบ้าน สภาพอาคารพังทลาย ผนังทรุดพังลงทั้ง 2 ด้านคือด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างทิศใต้ทรุดพังลงทั้งหมด ส่วนด้านข้างทิศเหนือทรุดพังลงมากแล้ว บริเวณปราสาทมีประติมากรรมพระพุทธรูป พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระสงฆ์ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ พญานาค และสิงห์ ตั้งวางอยู่ทั่วไป

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

176 เมตร

ทางน้ำ

ลำลึก, ลำปลายมาศ, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2553) จากอิทธิพลของแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขา โดยเฉพาะลำปลายมาศ

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบายน

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2558

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ปรับปรุง บำรุงรักษาโบราณสถานและสิ่งอำนวยความสะดวก

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทหนองตาเปล่ง เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ลักษณะเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมร เป็นอาคารหลังเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่มีแนวกำแพงล้อมรอบ ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม

อาคารประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ด้านหลังซึ่งเป็นตัวปราสาท บริเวณด้านทิศตะวันออกของปราสาทมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งสร้างเชื่อมต่อจากตัวปราสาท ประตูทางเข้ามีสองทางได้แก่ ทางด้านหน้าทิศตะวันออกของอาคาร และทางด้านหลังทิศตะวันตกของปราสาทสิ่งทั้งหมดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และใช้หินทรายสีขาวหรือสีเทาเป็นส่วนกรอบประตู เสาประดับกรอบประตูและทับหลัง ส่วนยอดของปราสาทและส่วนยอดของอาคาร ปัจจุบันผนังทรุดพังลงทั้ง 2 ด้านคือด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างทิศใต้ทรุดพังลงทั้งหมด ส่วนด้านข้างทิศเหนือทรุดพังลงมากแล้วมีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบปราสาท โดยส่วนใหญ่น่าจะถูกทมไปแล้วจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างวัด

สันนิษฐานว่า ปราสาทหนองตาเปล่ง มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลา 1 ใน 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ โปรดให้สร้างขึ้น เริ่มจากเมืองพระนครหลวง เมืองหลวงของเขมรโบราณ ไปยังเมืองพิมาย พร้อมกับที่โปรดให้สร้างธรรมศาลา 121 แห่ง ทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานจากจารึกที่พบที่ปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชา

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ: บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง จำกัด, 2553.

กรมศิลปากร. "ปราสาทหนองตาเปล่ง" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี