ปรางค์พะโค


โพสต์เมื่อ 9 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : บ้านปะโค, ปรางค์บ้านพะโค, ปราสาทพะโค

ที่ตั้ง : ถ.ราชสีมา-โชคชัย (ทางหลวงหมายเลข 224)

ตำบล : กระโทก

อำเภอ : โชคชัย

จังหวัด : นครราชสีมา

พิกัด DD : 14.698528 N, 102.173865 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำพระเพลิง, ลำน้ำปัก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสี่แยกโชคชัย ใช้ ถ.ราชสีมา-โชคชัย (ทางหลวงหมายเลข 224) มุ่งหน้าทางทิศใต้ (หรือมุ่งหน้าไปอำเภอครบุรี) ประมาณ 4.9 กิโลเมตร จะพบปรางค์พะโคอยู่ริมถนนทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 1526 วันที่ 27 กันยายน 2479 (บ้านปะโค)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปรางค์พะโค เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอโชคชัย 

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบตะกอนน้ำพา มีลำพระเพลิงไหลผ่านทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของปรางค์พะโค ห่างออกไปจากตัวปรางค์ประมาณ 400 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

190 เมตร

ทางน้ำ

ลำพระเพลิง, ลำน้ำปัก, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2553) ภายใต้อิทธิพลของลุ่มแม่น้ำมูล

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบาปวน

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 16

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

ผลการศึกษา :

"โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ปรางค์บ้านพะโค หมู่ 17 บ.พะโค ต.กระโทก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา" สำรวจข้อมูลโบราณสถานและสภาพ รังวัดพื้นที่โบราณสถาน และถ่ายสภาพโบราณสถาน พร้อมจัดทำผังบริเวณ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533, พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

"โครงการขุดแต่งบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ปราสาทหินบ้านพะโค อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา" ปีงบประมาณ พ.ศ.2534 ดำเนินการโดยหน่วยศิลปากรที่ 6 ขุดแต่งบูรณะโบราณสถานพื้นที่ 10,192 ตารางเมตร ขุดลอกคูล้อมรอบโบราณสถาน และปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานหลังการขุดแต่งบูรณะ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปรางค์พะโค เป็นศาสนสถานขนาดเล็ก สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู ก่อด้วยอิฐ หินทราย และศิลาแลง ประกอบด้วยศาสนาสถานทรงปราสาท 3 หลัง ตั้งอยู่บนผังรูปตัว T คือ ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุเล็กน้อย มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า มีทางเดินปูด้วยอิฐเชื่อมต่อจากมุขด้านหน้าไปยังปราสาทอีก 2 หลังที่ตั้งอยู่เยื้องมาทางด้านหน้า (หลังด้านทิศเหนือและหลังด้านทิศใต้) ทั้ง 2 หลัง ตั้งหันหน้าเข้าหากัน (หันหน้าเข้าหาทางเดินอิฐ นั่นคือ หลังด้านทิศเหนือตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ หลังด้านทิศใต้ตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ) แต่ปัจจุบันเหลือสภาพให้เห็นเพียงหลังเดียว คือหลังด้านทิศเหนือ ซึ่งเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุ ตัวอาคารมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า โดยมีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว ที่เหลือทั้งสามด้านสลักลวดลายเป็นประตูหลอก เหนือประตูทางเข้าด้านทิศใต้ มีทับหลังสลักภาพสิงห์จับท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง 

อาคารทั้งสองหลังมีคูน้ำรูปตัว U ล้อมรอบ 

จากการขุดแต่งและบูรณะของกรมศิลปากรระหว่าง พ.ศ. 2533 – 2534 ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก เช่น ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ บัวยอดปราสาท ชิ้นส่วนหน้าบัน เป็นต้น

จากรูปแบบศิลปกรรม สันนิษฐานว่าปราสาทหลังนี้มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ: บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง จำกัด, 2553.

กรมศิลปากร. "บ้านปะโค(ปรางค์พะโค)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี