น้ำตกลากลอย


โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : น้ำตกรากลอย

ที่ตั้ง : ม.5 บ้านนกงาง

ตำบล : ราชกรูด

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ระนอง

พิกัด DD : 9.690865 N, 98.589000 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองราชกรูด, คลองนกงาง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดระนอง ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าลงทิศใต้ หรือมุ่งหน้า อ.กะเปอร์ ประมาณ 32 กิโลเมตร ถึงบ้านนกงาง ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางเข้าน้ำตกลากลอย ประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงน้ำตกลากลอย ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดใหม่ราชกรูด

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันน้ำตกรากลอยหรือน้ำตกลากลอยได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีถนนลาดยางเข้าสู่น้ำตก มีร้านค้าและห้องน้ำสำหรับบริการนักท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

เทศบาลตำบลราชกรูด

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ภูเขา, ที่ลาดเชิงเขา

สภาพทั่วไป

น้ำตกลากลอย เป็นส่วนหนึ่งของคลองนกงาง ไหลจากเขาพ่อตาโซ่งโคง ซึ่งเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่สลับซับซ้อนต่อเนื่องมาจากฝั่งตะวันออก (ในเขตจังหวัดชุมพร) ไปรวมกับคลองนกงางน้อยและคลองราชกรูด ก่อนลงสู่ทะเลอันดามันบริเวณระหว่างอ่าวสนและอ่าวยายกิม ที่ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร

ส่วนที่เป็นน้ำตกลากลอยอยู่บริเวณเชิงผาพ่อตาโซงโคง ซึ่งเต็มไปด้วยก้อนหินกรวดทั้งขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ เป็นระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ลดหลั่นลาดเอียงกันทำให้เกิดลักษณะของน้ำตก มีไหลตลอดทั้งปี

พื้นที่แหล่งโบราณคดีคือบริเวณน้ำตกลากลอยและบริเวณข้างเคียงประมาณไม่ต่ำกว่า 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นลานหินกรวด ในปัจจุบันลานหินกรวดมีตะกอนดินทับถมหนาประมาณ 1-1.เมตร ตะกอนดินเหล่านี้เกิดจากการพัดพามาของน้ำจากบริเวณภูเขา การเกิดน้ำท่วมขัง และอินทรีย์วัตถุ พืชและสัตว์ จากการเข้าไปเพาะปลูกของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

78 เมตร

ทางน้ำ

คลองราชกรูด, คลองนกงาง, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

เป็นการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี พื้นที่ทางทิศตะวันออกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อนและเทือกเขาหินแกรนิตในยุคครีเทเชียสที่แทรกดันเข้ามาในกลุ่มหินแก่งกระจานยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งผลิต, แหล่งวัตถุดิบ, ที่พักชั่วคราว

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการสำรวจของกรมศิลปากร (2565) พบเครื่องมือหินกะเทาะยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายชิ้น ได้แก่

            - เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินกรวดรูปหลายเหลี่ยม เป็นเครื่องมือสับ-ตัด ขนาดใหญ่มีรอยกะเทาะขนาดใหญ่ที่ด้านข้าง 3-4 รอย และมีรอยแตกชำรุดที่ด้านหนึ่ง ขนาดยาว 22 เซนติเมตร กว้าง 16.5 เซนติเมตร หนา 7.22 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินกรวดรูปหลายเหลี่ยม มีรอยกะเทาะขนาดใหญ่ที่ด้านข้าง 3-4 รอย ขนาดยาว 16.00 เซนติเมตร กว้าง 12.75 เซนติเมตร หนา 5.77 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินกรวดรูปหลายเหลี่ยม-หนา ลักษณะเป็นเครื่องมือสับ-ตัดขนาดใหญ่ มีผิวเดิมของหิน (Cortex) เหลืออยู่มาก มีรอยกะเทาะขนาดใหญ่ที่ด้านข้าง 2-3 รอย ขนาดยาว 17.00 เซนติเมตร กว้าง 15.80 เซนติเมตร หนา 9.20 เซนติเมตร หนา 9.20 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะรูปหลายเหลี่ยมมุมมน หน้าหนึ่งเป็นผิวเดิมของหินตรงกลางสูงและลาดชั้นลงสู่ด้านข้าง ซึ่งมีรอยกะเทาะหรือรอยถูกใช้งานอยู่ 2-3 รอย อีกหน้าหนึ่งเป็นรอยแตกของสะเก็ดหิน (flake) จากส่วนแกนหิน (core) ขนาดยาว 14.69 เซนติเมตร กว้าง 11.28 เซนติเมตร หนา 8.00 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีรอยกะเทาะที่หน้าหนึ่งบริเวณด้านยาวส่วนอีกหน้าหนึ่งเป็นรอยแตกของหิน ขนาดยาว 12.20 เซนติเมตร กว้าง 8.88 เซนติเมตร หนา 5.43 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะรูปหลายเหลี่ยม-หนา มีรอยกะเทาะที่หน้าหนึ่งอยู่ 2 ด้าน ส่วนอื่นเป็นรอยแตกและผิวเดิมของหิน ขนาดยาว 12.25 เซนติเมตร กว้าง 12.15 เซนติเมตร หนา 6.07 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินปูน รูปคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่ว-แบน ด้านประกอบมุมยอดโค้งออกทั้งสองด้าน และมีรอยกะเทาะที่สองด้านนี้ จนถึงส่วนปลาย ส่วนฐานเป็นรอยตัดตรง ขนาดยาว 13.90 เซนติเมตร กว้าง 10.35 เซนติเมตร หนา 3.33 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินปูน รูปไข่-แบน หน้าหนึ่งส่วนใหญ่เป็นผิวเดิมของหินอีกหน้าหนึ่งเป็นรอยแตก มีรอยกะเทาะหลายรอยบริเวณขอบโค้งด้านยาว ขนาดยาว 15.35 เซนติเมตร กว้าง 10.93 เซนติเมตร หนา 3.65 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินปูน รูปหลายเหลี่ยม ยาว-แบน มีรอยแตกเรียบทั้งสองหน้า และมีรอยกะเทาะบริเวณด้านยาวทั้งสองด้านไปบรรจบที่ปลายด้านหนึ่ง ขนาดยาว 13.40 เซนติเมตร กว้าง 8.77 เซนติเมตร หนา 3.34 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินปูนรูปหลายเหลี่ยม-แบน ผิวส่วนใหญ่เป็นผิวเดิมของหิน ทั้งสองหน้ามีรอยกะเทาะบริเวณขอบด้าน ยาวด้านหนึ่งขนาดยาว 12.20 เซนติเมตร กว้าง 12.14 เซนติเมตร หนา 3.33 เซนติเมตร

            - เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินปูนรูปสามเหลี่ยม ทั้งสองหน้าค่อนข้างเรียบตรงคล้ายผิวเดิมของหิน มีรอยกะเทาะ 3-4 รอบที่ด้านยาวด้านหนึ่ง ขนาดยาว 12.20 เซนติเมตร กว้าง 8.21 เซนติเมตร หนา 3.60 เซนติเมตร

บริเวณที่พบโบราณวัตถุเป็นถนน มีความกว้างประมาณ 1.5-2 เมตร ตั้งแต่เหนือคลองนกงางใต้ขึ้นไปถึงน้ำตกลากลอย ซึ่งเป็นระยะทางราว 1 กิโลเมตร ถนนแห่งนี้เกิดจากการไถหน้าดินที่ทับถมลานหินกรวดออก และใช้พื้นหินกรวดนี้เป็นถนนในตัว เพราะมีความแน่นและสามารถรับน้ำหนักได้

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.

กรมศิลปากร. "น้ำตกลากลอย" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี