โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดบางปรุ
ที่ตั้ง : เลขที่ 34 ม.5 บ้านกงษี
ตำบล : กะเปอร์
อำเภอ : กะเปอร์
จังหวัด : ระนอง
พิกัด DD : 9.595474 N, 98.604692 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองกะเปอร์, คลองบางปรุ
จากตัวจังหวัดระนอง ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าลงทางใต้สู่อำเภอกะเปอร์ เมื่อถึงตัวอำเภอกะเปอร์ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4103 (อยู่ข้างโรงพยาบาลกะเปอร์) ไปตามถนนประมาณ 2.7 กิโลเมตร จะพบทางเข้าสู่วัดปทุมธารารามทางขวามือ
วัดปทุมธาราราม เป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญในพื้นที่อำเภอกะเปอร์ มีความสงบเงียบ เหมาะสำหรับการวิปัสสนาสมาธิ ฝั่งตะวันตกของวัดที่ติดกับคลองบางปรุเป็น “วังมัจฉา” สำหรับให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้ทำบุญให้อาหารปลา
ทางด้านการศึกษา วัดได้เปิดสอนปริยัติธรรม มาตั้งแต่ พ.ศ.2510 และยังจัดสถานที่อ่านหนังสือพิมพ์ให้ประชาชนอีกด้วย
ส่วนโบราณสถานสำคัญภายในวัด คือ อุโบสถและเจดีย์ ยังขาดการดูแลและควรมีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างเร่งด่วน
วัดปทุมธาราราม, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (เฉพาะส่วนอุโบสถและเจดีย์) ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 33ง วันที่ 9 เมษายน พศ.2544
บริเวณวัดปทุมธาราราม เป็นพื้นที่ทับถมกันของตะกอนลุ่มน้ำในยุคควอเทอร์นารี ล้อมรอบไปด้วยแนวเทือกเขาหินตะกอน ลำน้ำสำคัญที่มีอิทธิพลในพื้นที่นี้ได้แก่ คลองบางปรุ ที่ไหลผ่านทางทิศตะวันตกของวัด และคลองกะเปอร์ ที่ไหลผ่านทางทิศใต้ของวัด พื้นที่โดยรอบและพื้นที่บางส่วนในวัดเป็นสวนปาล์ม (น่าจะเป็นพื้นที่ของวัดแล้วให้ชาวบ้านเช่าทำกิน)
คลองบางปรุ, คลองกะเปอร์, ทะเลอันดามัน
บริเวณวัดปทุมธาราราม เป็นพื้นที่ทับถมกันของตะกอนลุ่มน้ำในยุคควอเทอร์นารี ล้อมรอบไปด้วยแนวเทือกเขาหินตะกอนในกลุ่มหินแก่งกระจาน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน (กรมทรัพยากรณี 2550)
วัดปทุมธาราราม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2311 สมัยต้นกรุงธนบุรี แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดบางปรุ” ตามชื่อคลองบางปรุ ตามประวัติกล่าวถึงวันที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาไว้ 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2462 และวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2543 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565) ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ.2470
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดได้แก่ อุโบสถและเจดีย์
อุโบสถ ตั้งพื้นที่กลางวัด หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารทรงโรงก่ออิฐฉาบปูน ยกพื้นสูงจากพื้นดินด้านนอกประมาณ 1 เมตร เครื่องบนเป็นไม้ หลังคาจั่วปีกนก มุงกระเบื้องลอน มีประตูด้านหน้าและหลัง ด้านละ 2 บาน (ซ้าย-ขวา) แต่ละประตูมีบันไดทางขึ้นเปนปูน หน้าต่างที่ด้านข้างหรือด้านยาว ด้านละ 3 บาน ติดเหล็กดัด บานประตูหน้าต่างเป็นไม้ ไม่มีลวดลาย (สภาพบานประตูหน้าต่างทรุดโทรม) ใบเสมารอบอุโบสถมี 8 ใบ ทำจากปูน มีลวดลายเฉพาะด้านหน้า เป็นลวดลายพระพุทธเจ้าประทับยืน พระหัตถ์แสดงปางห้ามสมุทร โดยมีรัศมีรอบองค์ และมีเม็ดประคำประดับอยู่โดยรอบ ใบเสมาตั้งอยู่บนฐานปูนสี่เหลี่ยมสูง ส่วนบนสอบเข้ารองรับใบเสมา
ภายในอุโบสถแบ่งเป็น 4 ห้อง พื้นปูนสีแดง พื้นตรงกลางยกสูงขึ้นกว่าพื้นโดยรอบประมาณ 15 เซนติเมตร (พื้นมีสภาพแตกร้าวและเอียงทรุดเล็กน้อย) ผนังและเสาทาสีขาว เพดานปูด้วยแผ่นฝ้า พระประธานเป็นพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวและฐานชุกชีที่เป็นฐานสิงห์ ทาด้วยสีขาว เบื้องซ้ายขวาประดิษฐานพระพุทธสาวกที่ยืนพนมมืออยู่ นอกจากนี้เชิงฐานชุกชียังมีพระพุทธรูป เทวรูป และรูปปั้นพระสงฆ์ต่างๆวางอยู่อีกหลายองค์ เบื้องหน้าฐานมีเครื่องสักการะต่างๆวางตั้งอยู่ (ขณะสำรวจมีผู้ถือศีลที่ชาวบ้านเรียกว่า “ฤๅษี” อาศัยอยู่ภายในอุโบสถ โดยอาศัยอยู่หลายเดือนแล้ว)
สภาพทั่วของไปของอุโบสถคทรุดโทรม โครงสร้างเพดานเริ่มผุพัง ผนังมีรอยร้าว ใบเสมาเอียง พื้นภายในแตกร้าวทรุดเอียง ผนังมีความชื่นสูง มีตะไคร่น้ำและคราบสกปรกเกาะเกาะ
เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง หรือเจดีย์ทรงลังกา ความสูงของเจดีย์ประมาณ 7.5 เมตร ลักษณะฐานสี่เหลี่ยมสูง มีบันไดทางขึ้นสู่ฐานที่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกหรือด้านที่ติดกับอุโบสถ ภายในฐานโล่งโปร่งเป็นห้อง กว้างประมาณ 4-5 เมตร สูงจากพื้นถึงฐานด้านบนประมาณ 2.5-3 เมตร มีประตูเข้าออก 3 ด้าน คือด้านหน้า (ทิศตะวันออก) และด้านข้าง (ทิศเหนือและใต้) ประตูด้านหน้าเป็นประตูโค้ง ส่วนประตูด้านข้างเป็นประตูเหลี่ยม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาประทับบนดอกบัวและฐานบัว ทั้งหมดทำจากปูน เบื้องหน้ามีรุปปั้นพระเกจิหรือพระสงฆ์ในท่าทางนั่งสมาธิ ทำจากปูนเช่นเดียวกัน สภาพเพดานปูนของห้องนี้หลุดร่อนและร่วงหล่นลงมาบนพื้นจำนวนมาก จนเห็นเหล็กเส้นภายใน ผนังมีความชื้นมากจนขึ้นตะไคร่น้ำ
องค์เจดีย์กลมทรงระฆังตั้งอยู่ด้านบน มีราวระเบียงเตี้ย ๆ ที่ทำเป็นลูกกรงปูนลักษณะสี่เหลี่ยมล้อมรอบองค์เจดีย์ ฐานด้านบนที่รองรับองค์เจดีย์เป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น มาลัยเถา 1 ชั้น ฐานบัว 2 ชุด เหนือขึ้นไปจึงเป็นองค์ระฆังกลมที่สัดส่วนสูงและสอบขึ้นเป็นเส้นตรง รองรับส่วนบัวกลุ่มหรือบัวคลุ่ม ปลียอด และส่วนด้านบนสุดที่อาจเป็นเม็ดน้ำค้าง? (หักหายไป)
ส่วนองค์เจดีย์และส่วนฐานที่เป็นห้องถูกล้อมรอบด้วยลานประทักษิณหรือระเบียงพื้นปูน มีรั้วที่ทำเป็นเสาปูนเตี้ยๆล้อมรอบพื้นที่ส่วนนี้ และมีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณที่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกหรือด้านที่ติดกับอุโบสถ
เจดีย์องค์นี้สร้างโดยช่างชาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อปี พ.ศ.2476 สมัยที่พระครูสงวนเป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้เนื่องจากฐานยกพื้นสูงดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เจดีย์รากลอย” และยังกล่าวกันว่าภายในองค์เจดีย์บรรจุพระธาตุพระสาวก
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.
กรมศิลปากร. "วัดปทุมธาราราม" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx