โพสต์เมื่อ 26 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : สวนรุกขชาติรักษะวาริน
ที่ตั้ง : ถ.ชลระอุ
ตำบล : เขานิเวศน์
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ระนอง
พิกัด DD : 9.958099 N, 98.650762 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองระนอง, คลองโรงหัด, คลองหาดส้มแป้น
สวนสาธารณะรักษะวาริน ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของเขตเทศบาลเมืองระนอง จากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ที่แยกชลระอุ ให้เดินทางต่อไปโดยใช้ถนนชลระอุ (ทางหลวง 4005) เลียบคลองหาดส้มแป้น ไปประมาณ 900 เมตร ถึงสวนสาธารณะรักษะวาริน
สวนสาธารณะรักษะวาริน อยู่ในสวนรุกขชาติรักษะวาริน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าในตัวเมือง ติดเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ มีบ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อยู่ 3 บ่อ คือบ่อพ่อ บ่อแม่ บ่อลูก ทั้ง 3 บ่อ คุณสมบัติของน้ำคืออุณหภูมิประมาณ 65 องศาเซลเซียล น้ำใสสะอาด ไม่มีกำมะถันเจือปน
ปัจจุบันมีการจัดการพื้นที่สวนสาธารณะโดยจังหวัดและส่วนราชการต่างๆในจังหวัด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
ชาวระนองใช้สวนสาธารณะะรักษะวาริน เป็นสถานที่ออกกำลังกายยามเช้าและเย็น โดยการเดิน หรือวิ่งเพื่อรับอากาศบริสุทธ์ หลังจากนั้นก็แช่น้ำแร่ ซึ่งมีทั้งบ่อแช่เท้าและอาบได้ทั้งตัว และยังมีซาวน่าธรรมชาติที่เทศบาลเมืองระนองจัดทำขึ้นจากแท็งค์น้ำขนาดใหญ่ที่บรรจุน้ำแร่ร้อน ทำให้พื้นด้านบนที่เป็นแผ่นปูนเกิดความร้อน สามารถเข้าไปนั่งอบความร้อนท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ โดยเปิดให้บริการทุกวัน และไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด (ขณะสำรวจทางเทศบาลกำลังดำเนินการปรับปรุงจุดให้บริการน้ำพุร้อนแก่นักท่องเที่ยว)
นอกจากนี้ ภายในสวนสาธารณะยังมีบ่อน้ำร้อน ร้านสปา ร้านอาหาร และห้องน้ำ ของเอกชนหลายแห่งสำหรับบริการนักท่องเที่ยว
บริเวณสวนสาธารณะยังประดิษฐาน “พระมหากัจจายะนะรักษะวารินวราฤทธิ์” อยู่บนเชิงเขาทางฝั่งตะวันออกในบริเวณสวนสาธารณะรักษะวาริน ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดอิฐ 80 ขั้น
สวนรุกขชาติรักษะวาริน สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รน.8 (บ่อน้ำร้อน) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) กรมป่าไม้, เทศบาลเมืองระนอง, จังหวัดระนอง
คลองหาดส้มแป้น มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาจอมแหลม เขานมสาว และเทือกเขาต่าง ๆ ในเขตอุทยานแหล่งชาติลำน้ำกระบุรีและอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ไหลผ่านช่องเขาก่อนที่จะไหลลงสู่ตัวเทศบาลเมืองระนองและลงสู่ทะเลอันดามันที่บ้านเกาะกลาง ความยาวประมาณ 19 กิโลเมตร
คลองหาดส้มแป้นบริเวณสวนสาธารณรักษะวาริน บริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดี เป็นทางน้ำที่ไฟลป่านช่องเขาดังกล่าว มีถนนลาดยางขนานไปทั้ง 2 ฝั่ง (ฝั่งเหนือและฝั่งใต้) ส่วนบ่อน้ำร้อนอยู่ทางฝั่งทิศเหนือของคลอง พื้นที่ริมตลิ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนประมาณ 5 เมตร บริเวณริมตลิ่งและในท้องน้ำมีก้อนหินขนาดใหญ่-เล็ก กระจายอยู่ทั่วไป จากการเดินสำรวจเมื่อปี 2556 ไม่พบโบราณวัตถุบนผิวดิน
บนเชิงเขาฝั่งด้านทิศใต้ของคลอง ประดิษฐาน “พระมหากัจจายะนะรักษะวารินวราฤทธิ์” ซึ่งลักษณะทางประติมานวิทยาเป็นพระสังกัจจายน์ (ทางขึ้นมีบันไดอิฐ 80 ขั้น)
คลองระนอง, คลองโรงหัด, คลองหาดส้มแป้น, ทะเลอันดามัน
เทือกเขาต้นกำเนิดและเทือกเขาที่คลองหาดส้มแป้นไหลผ่าน เป็นเทือกเขาหินแกรนิตในยุคครีเทเชียสและหินตะกอนในกลุ่มหินแก่งกระจาน ที่เกิดขึ้นในยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน ส่วนตะกอนแถบลำน้ำเป็นตะกอนในยุคควอเทอร์นารีที่เกิดจากการทับถมของลำน้ำหาดส้มแป้นเองและตะกอนเศษหินเชิงเขารวมทั้งตะกอนผุพังอยู่กับที่ (กรมทรัพยากรธรณี 2550)
สวนสาธารณะรักษะวาริน มีบ่อน้ำแร่ร้อนธรรมชาติ หรือน้ำพุร้อน มีอุณหภูมิน้ำสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียส และไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลย บ่อน้ำพุร้อนมี 3 บ่อ ชาวบ้านเรียกว่า บ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูกสาว
กรมศิลปากรได้เคยสำรวจบริเวณสวนสาธารณะพบเครื่องมือหินกะเทาะบนฝั่งด้านทิศใต้และในคลองหาดส้มแป้น
พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ และได้เสด็จทอดพระเนตรน้ำพุร้อนแห่งนี้ รวมทั้งได้พระราชนิพนธ์จดหมายเหตุประพาสใต้ โดยทรงใช้นามแฝงว่า นายแก้ว ในนั้นทรงเล่าถึงบ่อน้ำพุร้อนเมืองระนองไว้
“น้ำพุนั้นร้อนจัดเท่าๆ น้ำต้มเดือด และ ใช้ได้เช่นเดียวกับชงน้ำชากินก็ได้ต้มไข่ในบ่อก็สุกอยู่ข้างจะดี มาเสียแต่มาอยู่เสียในที่ซึ่งไปมายาก.................ถ้าเป็นที่เมืองนอกคงจะมีผู้คิดทำที่กินน้ำและอาบน้ำขึ้นเป็นแน่ และน้ำจากบ่อนั้นถ้ากรอกขวดปิดกระดาษให้งามๆ อาจจะขายได้ราคาแพงๆ ก็ได้... น้ำแร่ต่างๆ ที่ฝรั่งกรอกขวดมาขายเป็นยานั้นก็ไม่ผิดอะไรกับเช่น น้ำแร่ที่เรียกว่า เอเวียง เป็นต้น”
พ.ศ.2510 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินยังจังหวัดระนอง ได้ทรงพระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า "สวนรุกขชาติรักษะวาริน" อันเนื่องมาจากมีการนำน้ำแร่ไปใช้ในการบำบัดรักษาโรคได้ผล
พ.ศ.2530 ทางจังหวัดได้นำน้ำพุร้อนเข้าร่วมพิธีน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และมีตำนานเล่ากันว่าผู้ที่เจ็บป่วยโรคกระดูก เมื่อมาอธิษฐานต่อเทวดารักษา นามว่า “ปู่อารัก” แล้วใช้น้ำพุร้อนประคบและดื่มจะรักษาหายได้ ส่วนหนุ่มสาวที่มาเที่ยว เมื่อยืนหันหลังให้บ่อแล้วโยนเหรีญลงไปในบ่อจะได้แต่งงานและอยู่ร่วมกันจนชั่วชีวิต
เมื่อครั้งพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ครบ 5 รอบ มีการนำน้ำจากที่นี่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีนั้นด้วย
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.
กรมศิลปากร. "สวนสาธารณะรักษะวาริน" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 24 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/