โพสต์เมื่อ 1 มิ.ย. 2022
ชื่ออื่น : วัดกลาง, วัดกลางชัยมงคล, วัดแปะใหญ่
ที่ตั้ง : ถ.หลักเมือง เทศบาลเมืองตราด
ตำบล : บางพระ
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ตราด
พิกัด DD : 12.243326 N, 102.510155 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตราด
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางพระ
วัดกลางชัยมงคล หรือวัดกลาง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองตราด ริมถนนหลักเมืองและถนนเทศบาล หรืออยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับศาลหลักเมืองตราด
วัดกลางชัยมงคลเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเทศบาลเมืองตราด ทั้งยังเป็นตลาดพระเครื่องที่สำคัญของจังหวัด และเนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของเทศบาลเมืองตราด บริเวณลานจอดรถข้างเจดีย์ร้าง ยังมีคิวรถโดยสารให้บริการจอดอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนสภาพเจดีย์วัดกลางหรือเจดีย์วัดชัยมงคล อยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเจดีย์องค์นี้ได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดกลางชัยมงคล
เจดีย์วัดกลางเป็นเจดีย์ร้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่วัดกลางชัยมงคล ซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถของทางวัด สภาพพื้นที่เป็นที่ราบโดยอิทธิพลของแม่น้ำตราด โดยรอบวัดเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง มีบ้านเรือนตั้งอยู่ติดกันหนาแน่น ปัจจุบันโบราณสถานตั้งอยู่ห่างจากคลองบางพระมาทางทิศเหนือประาณ 200 เมตร และตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำตราดมาทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กิโลเมตร
สภาพเจดีย์วัดกลางหรือเจดีย์วัดชัยมงคล
อยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย ขาดการดูแลและอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ ปูนฉาบหลุดร่อนเกือบทั้งหมด ส่วนองค์ระฆังเอียง มีต้นไม้ขึ้นอยู่ที่ส่วนต่างๆของเจดีย์
คลองบางพระ, แม่น้ำตราด, อ่าวไทย
ตะกอนที่ราบลุ่มน้ำพาในสมัยโฮโลซีน (นรรัตน์ บุญกันภัย 2554)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี จัดทำโครงการสำรวจโบราณสถานวัดกลาง ตำบลบางพระ อำเภอเมือง จังหวัดตราด เพื่อเก็บและรวบรวมข้อมูลที่ยังพอสืบกันได้ในปัจจุบัน และทำรายงานไว้เป็นหลักฐาน สำหรับการอนุรักษ์ และการค้นคว้าทางวิชาการต่อไปเจดีย์วัดกลางเป็นเจดีย์ร้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดกลาง (วัดกลางชัยมงคล) ซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถของทางวัด
วัดกลางปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ มหานิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่าวัดแห่งนี้ตั้งเมื่อ พ.ศ.2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2501 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565)
ลักษณะเจดีย์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่ออิฐถือปูน แต่ปูนที่ฉาบอยู่เกือบทั้งหมดหลุดร่อนออก ฐานล่างสุดเป็นศิลาแลงก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นมาก่อด้วยอิฐทั้งสิ้น ได้แก่ ฐานสิงห์(?) 2 ชุด ถัดขึ้นไปเป็นบัวโถ ที่ทำเป็นรูปดอกบัวและกลีบบัวขนาดใหญ่ (ส่วนบัวโถมีปูนฉาบเหลืออยู่มากกว่าส่วนอื่น) รองรับส่วนที่เหนือขึ้นไปคือองค์ระฆัง ส่วนยอดหักหายไปพื้นรอบเจดีย์เป็นพื้นปูนซีเมนต์ มีก้อนหินขนาดใหญ่วางอยู่หลายก้อนล้อมรอบเจดีย์ รวมทั้งมีลวดลายขดทำจากปูนวางอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นปูนปั้นของเจดีย์องค์นี้ที่หลุดร่วงมา นอกจากนี้ยังมีกองวัสดุก่อสร้างสมัยปัจจุบันวางอยู่ปะปนกับกองหิน
จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์ สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ทางทิศตะวันออกติดกับเจดีย์ร้างองค์นี้ เป็นเจดีย์แบบจีน 2 องค์ และศาลเจ้าจีน 1 หลัง ทั้งหมดอยู่ภายในรั้วเดียวกัน คือรั้วตาข่ายเหล็ก สูงประมาณ 120 เซนติเมตร สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นลานจอดรถของทางวัดกลางชัยมงคล และสิ่งก่อสร้างโครงสร้างไม้ ได้แก่ บ้านเรือนและแผงร้านค้าต่างๆ (โดยเฉพาะแผงพระเช่า)
กรมศิลปากร. "เจดีย์วัดชัยมงคล (วัดกลาง)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
นรรัตน์ บุญกันภัย. แผนที่ธรณีวิทยาจังหวัดตราด. (ออนไลน์). กรมทรัพยากรธรณี, 2554. เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://www.dmr.go.th/download/12345679/4/geo-Trat_wm.pdf
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx