โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : บ้านวัด, ชุมชนโบราณยะรัง
ที่ตั้ง : ต.วัด, ต.ปิตูมุดี, ต.ยะรัง อ.ยะรัง
อำเภอ : ยะรัง
จังหวัด : ปัตตานี
พิกัด DD : 6.74706 N, 101.302129 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี
เขตลุ่มน้ำรอง : บ้านดอนหวาย, บ้านปาหนัน
มีเส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีได้ 2 ทางคือ
- ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 410 (ปัตตานี–ยะลา) จากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 15 กิโลเมตร ถนนจะเลียบแนวคูเมืองทางทิศตะวันตกทางด้านเหนือลงไปและผ่านที่ว่าการอำเภอเมืองยะรัง ห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 24 กิโลเมตร
- ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4016 แยกจากอำเภอยะรังไปอำเภอมายอ ถนนตัดผ่านคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเข้าสู่กลางเมืองโบราณและตัดผ่านคูเมืองโบราณบ้านจาเละไปทางทิศตะวันออก
ปัจจุบันกลุ่มเมืองโบราณบ้านวัดเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณยะรัง ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลยะรัง ภายในมีห้องแสดงนิทรรศการแบบกึ่งถาวร ห้องสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้าของประชาชนในท้องถิ่น และมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้-คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนโบราณยะรัง
ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อผู้นำชมได้ที่เทศบาลตำบลยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์ 073-439-497
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลยะรัง
เมืองโบราณบ้านวัดเป็นเมืองโบราณ 1 ใน 3 ของกลุ่มชุมชนเมืองโบราณยะรัง อยู่ทางทิศใต้สุดของกลุ่มเมือง จากการศึกษาพบว่าน่าจะเป็นชุมชนแห่งแรกของชุมชนโบราณเมืองยะรัง
ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากำหนดด้วยเขตคูน้ำและมีเมืองชั้นในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นเนินสูง มีร่องรอยคูน้ำขุดล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ คล้ายเกาะขนาดเล็กเชื่อมกันเป็นกลุ่ม คูน้ำเหล่านี้จะเชื่อมกับคูน้ำธรรมชาติทางทิศตะวันตกและที่ลุ่มรับน้ำทางทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศเหนือ
สภาพแนวดินปัจจุบันหมดสภาพและตื้นเขินเป็นส่วนใหญ่ ปรากฏเป็นเพียงร่องดินที่มีความต่างของระดับพื้นที่ ยกเว้นคูเมืองทางตะวันตกซึ่งถูกแทนที่ด้วยคูน้ำสายเล็กซึ่งน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับคูน้ำเดิมมากที่สุด
อยู่ในเขตอิทธิพลของลุ่มแม่น้ำปัตตานีและทางน้ำรองบ้านดอนหวายและบ้านปาหนันซึ่งเป็นแขนงแยกของแม่น้ำปั้ตตานีเก่าทางตะวันออก (ปัจจุบันเหลือหลักฐานให้เห็นแค่เป็นทางน้ำเก่า)
เป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำปัตตานีในยุค Cenozoic โดยเป็นการทับถมทั้งตะกอนแม่น้ำพัดพา (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา 2541 : 13)
ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ วัฒนานิกร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2496, พ.ศ.2509
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ช่วง พ.ศ.2496-2509 มีการสำรวจ รวบรวมโบราณวัตถุ และบันทึกตำแหน่งโบราณสถานทั้งหมด 31 แหล่ง โดยรวมถึงเมืองโบราณบ้านจาเละชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานกองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจบริเวณชุมชนโบราณบ้านวัด พบเนินดินจำนวน 10 แห่ง สระน้ำโบราณ 1 แห่ง บ่อน้ำโบราณ 5 แห่ง และโบราณวัตถุ เช่น แผ่นหินธรณีประตู ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เป็นต้นชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521, พ.ศ.2522
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
นิตยสารเมืองโบราณได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่าชุมชนโบราณบ้านวัดเป็นชุมชนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13ชื่อผู้ศึกษา : เขมชาติ เทพไชย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) นำโดยเขมชาติ เทพไชย และคณะ ศึกษาและสำรวจจนสามารถกำหนดตำแหน่งโบราณสถานภายในบ้านวัดได้ 11 แหล่ง และทำการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านวัด ขนาด 2x2 เมตรจำนวน 1 หลุม พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินสีน้ำตาล ส่วนลำตัวไม่มีลาย โดยพบลายกดประทับ 1 ชิ้น พวยกา 1 ชิ้น เครื่องเคลือบจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง เครื่องเคลือบเขียนลายพรรณพฤกษา เศษกระเบื้องดินเผา ลูกปัดทำจากหินคาร์เนเลียนจำนวน 1 เม็ดชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532, พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2532-2533 หน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจและทำผังบริเวณบ้านวัด พบโบราณสถานในเมืองยะรังประมาณ 20 แหล่งและทำการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณกลางเมืองโบราณบ้านวัดจำนวน 1 หลุมชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ. 2545, พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ในปี พ.ศ. 2545-2546 สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร ขุดแต่งโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 9เมืองโบราณบ้านวัด ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้สุดของเมืองโบราณยะรัง สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ตั้งชุมชนแห่งแรกของเมือง มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำหนดด้วยเขตคูน้ำ (ขุดคูถึงระดับกักเก็บน้ำ) และมีเมืองชั้นในเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเนินสูง มีร่องรอยคูน้ำขุดล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆคล้ายเกาะขนาดเล็กเชื่อมกันเป็นกลุ่ม คูน้ำเหล่านี้จะเชื่อมกับคูน้ำธรรมชาติทางทิศตะวันตกและที่ลุ่มรับน้ำทางทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศเหนือ บนเกาะเหล่านี้มีเนินโบราณสถานปรากฏอยู่ เมืองมีศูนย์กลางอยู่ที่ลานคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 150x170 เมตร ปูลาดด้วยอิฐและกระเบื้องฟันปลา
จากการสำรวจพบเนินสิ่งก่อสร้างมากกว่า 20 แห่ง โดยแบ่งเป็น
ภายในเมือง พบซากเนินสิ่งก่อสร้างอิฐ 4 แห่ง และสระน้ำโบราณ 3 แห่ง
- บริเวณตะวันตกของเมือง ใกล้มัสยิดบ้านวัด ป่าช้าโต๊ะโงะและหมู่บ้านวัดพบซากเนินสิ่งก่อสร้างอิฐ 13 แห่งและสระน้ำโบราณขนาดใหญ่ 3 แห่ง
- บริเวณทางด้านทิศเหนือ ตะวันตก และใต้ของเมือง พบซากเนินสิ่งก่อสร้างอิฐจำนวน 11 แห่งกระจายอยู่โดดๆ
จากหลักฐานในการขุดค้น พบหลักฐานส่วนใหญ่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนา ภายในเมืองอาจมีการแบ่งพื้นที่กิจกรรม ดังจะเห็นได้จากการกำหนดขอบเขตโบราณสถานด้วยคูน้ำ ลานสี่เหลี่ยมจัตุรัสศูนย์กลางของเมืองที่ปูด้วยอิฐและกระเบื้องหยักฟันปลาซึ่งสันนิษฐานว่าอาจใช้เป็นลานประกอบพิธีกรรมจากการขุดหลุมทดสอบเจำนวน 4 หลุม ขุดค้นบริเวณลานในปี พ.ศ. 2533 พบหลักฐานชั้นทับถมบริเวณลานไม่หนาแน่นต่างกับบริเวณทางด้านตะวันออกของลานที่พบชั้นวัฒนธรรมหนาแน่นและพบรอยอิฐหลายแนววางซ้อนทับกันกำหนดอายุจากเศษภาชนะดินเผาและเศษอิฐอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 -18 (David J. Welch and Judith R.Mcneil 1989 : 35-37)
ส่วนผลจากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 9 พบว่าเป็นอาคารก่ออิฐขัดผิว ฐานอาคารเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานที่เหลือก่อเป็นฐานเขียง รับด้วยแถวเม็ดประคำเหลี่ยมและฐานปัทม์ ด้านบนสร้างเป็นผนังก่ออิฐ มีบันไดสู่ลานประทักษิณด้านตะวันออกและตะวันตก ลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 พบโบราณวัตถุจากการขุดแต่ง เช่น เศษภาชนะดินเผา ประติมากรรมปูนปั้นรูปช้าง ลูกปัด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบเนินโบราณสถานขนาดใหญ่อีกหลายแห่งซึ่งภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านวัดที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาเช่น กลุ่มโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 15 ซึ่งมีขนาดเนินกว้าง 69x70 เมตร สูง 4.80 เมตร นับเป็นโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดของเมืองยะรัง ถือว่าเมืองโบราณบ้านวัดเป็นเมืองที่มีเนินโบราณสถานจำนวนมากและมีความซับซ้อนแห่งหนึ่งของชุมชนโบราณยะรัง
สรุปความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านวัด สันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางทางศาสนาแห่งแรกของชุมชนยะรังและอาจเป็นที่ตั้งชุมชนรุ่นแรกของเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมาและเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 หลักฐานที่พบส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา มีการกำหนดเขตด้วยคูน้ำ ผังเมืองมีความซับซ้อน อาจมีการแบ่งพื้นที่แต่ละกิจกรรม เช่น ลานประกอบพิธีกรรม สระน้ำ ศาสนสถาน เช่น สถูป เป็นต้น จากการขุดค้นแหล่งโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 9 พบว่าตัวสถูปมีความคล้ายคลึงกับสถูปบ้านจาเละหมายเลข 3 จึงสันนิษฐานว่ามีอายุร่วมสมัยกัน
ภัคพดี อยู่คงดี และพรทิพย์ พันธุโกวิท. “โบราณสถานและโบราณวัตถุจากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านจาเละ กลุ่มเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 266–278.
ทิวา ศุภจรรยา และกฤษณพล วิชชุพันธ์. “สภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 279 -292.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้า การตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำปัตตานีและสายบุรี. สงขลา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10, 2543.
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2548.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
David J.Welch, David J. and Judith R.Mcneil. “Archaeological Investigations of Pattani History” Journal Of Southeast Asia Studies 20, 1 (March 1989) : 35 – 37.