ถ้ำตีนเป็ด


โพสต์เมื่อ 22 มิ.ย. 2022

ที่ตั้ง : ถ.เพชรเกษม

ตำบล : เขาไชยราช

อำเภอ : ปะทิว

จังหวัด : ชุมพร

พิกัด DD : 10.927695 N, 99.286470 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าแซะ

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองตีนเป็ด, คลองบางทะลาย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ถ้ำตีนเป็ดตั้งอยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของหมวดการทางปะทิว (สามารถนำรถเข้าได้ทางหมวดการทางปะทิว)

หมวดการทางปะทิวตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงหมายเลข 4 ที่ กม.428+480 (สายใหม่) หรือ กม.442+667 (สายเก่า) หรือหากมาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หมวดการทางปะทิวจะอยู่เลยจากรอยต่ออำเภอบางสะพานน้อย (ประจวบคีรีขันธ์) กับอำเภอปะทิว (ชุมพร) มาประมาณ 6.3 กิโลเมตร

การเข้าออกถ้ำตีนเป็ดจากถนนเพชรเกษม สามารถเข้าได้ทางหมวดการทางปะทิว (ถ้ำอยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของหมวดการทาง) ปากถ้ำสูงจากพื้นดินด้านล่างประมาณ 10 เมตร มีการทำบันไดซีเมนต์จากพื้นสู่ปากถ้ำด้านทิศเหนือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันถ้ำตีนเป็ดเป็นที่พักอาศัยและประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ 1 รูป (ไม่ได้เป็นสำนักสงฆ์) มีการดัดแปลงพื้นที่ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย เช่น ลาดพื้นซีเมนต์ที่พื้นถ้ำ สร้างเตาฟืน มีอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับชีวิตประจำวัน เป็นต้น มีชาวบ้านแวะเวียนเข้ามาสักการะ ถวายภัตตาหารและปัจจัยหลวงตาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมป่าไม้

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

ถ้ำตีนเป็ด ตั้งอยู่เชิงเขาตีนเป็ดด้านทิศตะวันออก (ค่อนไปทางเหนือ) เขาตีนเป็ดเป็นเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็กรูปวงรี วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ยาวประมาณ 300 เมตร กว้างประมาณ 150 เมตร ห่างจากทะเลอ่าวไทยมาทางทิศตะวันตกประมาณ 18 กิโลเมตร มีคลองตีนเป็ดไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกของเขา (คลองตีนเป็ดอยู่ห่างจากเขาตีนเป็ดไปทางทิศตะวันตกราว 150 เมตร)

ปากถ้ำมี 2 ปาก คือปากถ้ำด้านทิศเหนือและปากถ้ำด้านทิศใต้ ปากถ้ำทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ 5 เมตร และนำเข้าสู่คูหาเดียวกันคือคูหาใหญ่ของถ้ำตีนเป็ด ซึ่งมีคูหาเดียวแต่มีซอกหลืบภายในที่แต่เดิมพระสงฆ์ใช้เป็นสถานที่วิปัสสนา และมีค้างคาวอาศัยอยู่มาก พื้นที่ระหว่างปากถ้ำทั้งสองเป็นที่ตั้งของห้องน้ำที่ก่อด้วยอิฐบล็อก

บริเวณกลางถ้ำเป็นกองหินถล่มและบ่อน้ำผุด ซึ่งชาวบ้านและพระสงฆ์ได้ก่อบ่อซีเมนต์ขึ้นล้อมรอบจุดที่น้ำผุดที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และขึงผ้าใบไว้ด้านบนบ่อกันค้างคาว ทำให้คูหาใหญ่ของถ้ำตีนเป็ดถูกแบ่งออกออกเป็น 2 คูหา (ตามปากถ้ำ) คือ คูหาฝั่งทิศเหนือและคูหาฝั่งทิศใต้

คูหาฝั่งทิศเหนือปัจจุบันเป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์และประดิษฐานพระพุทธรูป (สมัยปัจจุบัน) พื้นถ้ำลาดเป็นพื้นซีเมนต์ มีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการดำรงชีวิตประจำวันของพระสงฆ์อยู่ภายใน ปากถ้ำด้านนี้มีเตาฟืน 1 เตา และแท็งค์น้ำ 2 ที่ก่อขึ้นจากปูนซีเมนต์ เพดานและผนังถ้ำในคูหานี้มีเขม่าควันไฟจากการก่อเตาเกาะอยู่หนาจนเป็นสีดำ

ปากถ้ำฝั่งทิศใต้มีลักษณะแคบสูง ปากถ้ำมีห้องน้ำก่อด้วยอิฐบล็อก คูหาฝั่งใต้เป็นพื้นที่ว่างและซอกหลืบถ้ำสำหรับวิปัสสนา พื้นถ้ำลาดเป็นพื้นซีเมนต์ มีมูลค้างคาวทับถมอยู่ค่อนข้างหนา ปากทางเข้าซอกหลืบถ้ำบางช่องมีประตูไม้ปิดเป็นทางเข้า

เชิงเขาตีนเป็ดเป็นพื้นที่สวนของชาวบ้านและปลูกพืชผักสวนครัวของพระสงฆ์ที่อาศัยในถ้ำตีนเป็ด มีกองหินถล่มในบางจุด

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

79 เมตร

ทางน้ำ

คลองท่าแซะ, ลำน้ำท่าแซะ, คลองบางทะลาย

สภาพธรณีวิทยา

เขาตีนเป็ดเป็นเขาหินปูนลูกโดด ในกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมียน (อายุประมาณ 286-245 ล้านปี) (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ที่พักชั่วคราว

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการสำรวจของกรมศิลปากรที่ผ่านมา (กรมศิลปากร 2565) พบหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวน 145 ชิ้น เป็นภาชนะดินเผาที่เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เนื้อหยาบ มีเม็ดทรายปะปนในเนื้อดิน สันนิษฐานว่าถ้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

แต่จากการสำรวจบนผิวดินพื้นถ้ำของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อปี 2556 ไม่พบโบราณวัตถุใดๆ อาจเนื่องด้วยมีปัจจัยการเข้ามาใช้พื้นที่ของพระสงฆ์และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป (สมัยปัจจุบัน) ทำให้มีการทำความสะอาดผิวดินอยู่เสมอ อีกทั้งพื้นถ้ำที่ลาดเป็นพื้นซีเมนต์ 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดชุมพร. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.

กรมศิลปากร. "ถ้ำตีนเป็ด" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 24 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี