วัดเขาปูน


โพสต์เมื่อ 22 มิ.ย. 2022

ชื่ออื่น : วัดสุวรรณคีรี

ที่ตั้ง : เลขที่ 65 ม.2 บ้านเขาปูน

ตำบล : บ้านนา

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ชุมพร

พิกัด DD : 10.506062 N, 99.110525 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชุมพร

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสี่แยกปฐมพร ตัวเมืองชุมพร ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) มุ่งหน้าทิศตะวันตก (มุ่งหน้าระนอง) ประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนมุ่งหน้าบ้านเขาปูน ไปตามทางปะมาณ 550 เมตร (ข้ามแม่น้ำชุมพร) ถึงวัดเขาปูน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเขาปูนและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มีผู้เข้ามาสักการะอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะน้ำในบ่อซึ่งเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านเชื่อว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ โดยในปี 2565 ทางวัดได้สร้างศาลาคลุมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ใหม่ (https://www.4forcenews.com/227782/)

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เบอร์โทรศัพท์วัดถ้ำเขาปูน โทร. 077 534 207


หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเขาปูน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พื้นที่วัดเขาปูนมีลักษณะเป็นเนินสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 5-8 เมตร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชุมพรที่ไหลผ่านด้านทิศเหนือของวัด ภายในวัดนอกจากจะมีสิ่งก่อสร้างในเขตพุทธาวาสและเสนาสนะต่าง ๆ แล้ว ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีลักษณะเป็นบ่อผนังหิน (หินปูน)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

20 เมตร

ทางน้ำ

พื้นที่ทับถมจากตะกอนน้ำพา (กรมทรัพยากรธรณี 2550) โดยเฉพาะอิทธิพลของลำน้ำชุมพร ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเขาปูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2224 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2294 ขณะที่ในบัญชีรายชื่อวัดทั่วประเทศของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (2565) ระบุว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ บ่อน้ำที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่า น้ำในบ่อมีความศักดิ์สิทธิ์ น้ำไม่เคยแห้งจากบ่อ ชาวบ้านมักนำน้ำในบ่อกลับไปบูชา รดศีรษะ ใช้อาบ และดื่ม อ้างว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บและแก้ปวดเมื่อย

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีลักษณะเป็นบ่อผนังหิน (หินปูน) 1 บ่อ ภายในบ่อมีความกว้างมากกว่าปากบ่อมาก ปากบ่อมีอยู่ 3 ปาก แต่มี 2 ปากอยู่ต่อเนื่องกัน จึงเหมือนกับว่ามีอยู่ 2 บ่อ ตั้งอยู่ข้างเคียงกัน คือบ่อใหญ่และบ่อเล็ก แต่ละบ่อมีการก่อผนังปูนความสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ล้อมรอบทั้งสี่ด้าน โดยบ่อใหญ่เป็นหลุมกลมต่อเนื่องกับหลุมยาว ขนาดบ่อทั้งหมดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตรเศษส่วนบ่อเล็ก มีลักษณะเป็นหลุมกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร ทั้ง 2 หลุม ลึกประมาณ 2 เมตรเศษ และมีน้ำอยู่เต็มจนล้นปากบ่อ ก้นบ่อมีเงินเหรียญอยู่จำนวนมาก มีการสร้างศาลาโปร่งมุงกระเบื้องลอนคลุมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 บ่อ (สร้างเมื่อปี พ.ศ.2520)

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์น่าจะเกิดขึ้นจากการยุบตัวของพื้นดิน เนื่องจากเกิดโพรงหินปูนใต้ผิวดิน (หินปูนเป็นหินพื้นฐานของพื้นที่นี้) ทำให้เกิดเป็นบ่อน้ำที่ภายในบ่อเป็นโพรงกว้าง เมื่อสังเกตความหนาของพื้นใช้งานของวัดในปัจจุบันกับด้านบนของบ่อหรือโพรงหินปูนใต้ดิน พบว่ามีความหนาเพียง 20 เซนติเมตรเท่านั้น

นอกจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว บริเวณโดยรอบวัด ยังมีบ่อน้ำในลักษณะเดียวกันอีกหลายบ่อ

ที่ศาลาข้างบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ด้วย


ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดชุมพร. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.

กรมศิลปากร. "วัดเขาปูน (สุวรรณคีรี)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี