โพสต์เมื่อ 3 ก.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดเสื้อเมือง
ที่ตั้ง : เลขที่ 20 ม.2 ถ.สายหัวคู-ขุนประทิง
ตำบล : ตากแดด
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ชุมพร
พิกัด DD : 10.484589 N, 99.151984 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ชุมพร
ศาลเสื้อเมืองตั้งอยู่ภายในเขตตัวเมืองชุมพร โดยจากถนนชุมพร-ระนอง (ทางหลวงหมายเลขหมายเลข 327) เข้าถนนเมืองชุมพร 15 (ทางหลวงหมายเลข 2009) ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าซอยประมาณ 250 เมตร จะพบแม่น้ำชุมพร จะพบบ้านของนายละม้าย ครุธนรสิงห์ ทางขวามือ ศาลเสื้อเมืองตั้งอยู่ในสวนหลังบ้านนายละม้าย ห่างจากถนนในซอยประมาณ 140 เมตร
ศาลเสื้อเมืองทั้ง 2 ศาล ได้รับการเคารพสักการะจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนและจังหวัดชุมพรมาอย่างยาวนาน ในเดือน 6 ข้างขึ้นของทุกปี จะมีการจัดพิธีบูชาศาลเสื้อเมืองประจำปี มีประเพณีสวดกลางบ้าน เพื่อบอกกล่าวบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ดลบันดาลให้การทำนา ทำสวน ได้ผลดี ซึ่งพิธีนี้จะใช้เวลา 3 วัน โดยในวันที่ 3 จะมีการประกอบพิธีบวงสรวงพระเสื้อเมืองที่ศาลพระเสื้อเมือง มีการสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่า ความไม่ดีต่าง ๆ ให้ออกไปจากหมู่บ้าน (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, 2554: 30)
นายละม้าย ครุธนรสิงห์ (เจ้าของที่ดิน)
โบราณสถานศาลเสื้อเมืองตั้งอยู่ในที่ดินของนายละม้าย ครุธนรสิงห์ เลขที่ 20 หมู่ 2 ต.ตากแดด อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ริมคลองชุมพรฝั่งทิศตะวันออก ปัจจุบันเป็นสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มะพร้าว เงาะ กล้วย
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบริมคลองชุมพร มีน้ำท่วมทุกปีในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน ทำให้ศาลเสื้อเมืองถูกน้ำท่วมทุกปี
ศาลเสื้อเมืองมีอยู่ 2 ศาล คือ ศาลเก่าและศาลใหม่ ศาลเก่าเป็นศาลก่อปูนซีเมนต์มุงหลังคาสังกะสี ส่วนศาลใหม่เป็นศาลไม้มุงกระเบื้อง สภาพทั้ง 2 ศาลมีสภาพชำรุด แต่ก็ยังได้รับการเคารพสักการะจากชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอ
คลองชุมพร
พื้นที่แหล่งโบราณคดีทับถมจากตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2550) โดยอิทธิพลของคลองชุมพร
โบราณสถานศาลเสื้อเมืองตั้งอยู่ในที่ดินของนายละม้าย ครุธนรสิงห์ เลขที่ 20 หมู่ 2 ต.ตากแดด อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ปัจจุบันเป็นสวนผลไม้
ตามข้อมูลของกรมศิลปากร บริเวณที่ตั้งของศาลเสื้อเมืองนี้คือ “วัดเสื้อเมือง” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ สภาพเดิมของศาลเสื้อเมืองเป็นศาลาไม้มุงสังกะสี ต่อมาบูรณะใหม่เป็นอาคารคอนกรีต ภายในศาลตั้งแท่นบูชามีแท่งหินทรายและหลักไม้เรียกว่า “พระทรงเมือง” (กรมศิลปากร 2565)
นักวิชาการท้องถิ่น เช่น อาจารย์สนั่น ชุมวรฐายี สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณศาลเสื้อเมืองและวัดประเดิม เป็นชุมชนเก่าของเมืองชุมพร โดยมีอาณาเขตเริ่มจากลำน้ำชุมพรระหว่างวัดพระขวางทางตะวันตกกับวัดประเดิมด้านตะวันออก พบหลักฐานอิฐก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป กลุ่มอิฐบางกลุ่มมีลักษณะคล้ายกับฐานของเจดีย์หรืออาจเป็นแนวกำแพง (กรมศิลปากร 2565)
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อ 17 กรกฎาคม 2556 พบว่าศาลเสื้อเมืองปัจจุบันมีอยู่ 2 ศาล คือ ศาลเก่าและศาลใหม่ ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า ศาลเสื้อเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว
ศาลเก่า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศาลใหม่ (ห่างกันประมาณ 10 เมตร) ลักษณะของศาลเป็นศาลก่ออิฐฉาบปูนซีเมนต์ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านยาวซึ่งเป็นด้านหน้าไปทางทิศใต้ หลังคาเครื่องไม้มุงสังกะสี ผนังของศาลด้านข้าง (ด้านกว้าง) และด้านหลัง ก่อเป็นกำแพงทึบ แต่ส่วนบนของตัวกำแพงก่อด้วยอิฐบล็อกโปร่ง ด้านหน้าเปิดโล่งไม่มีผนังและบานประตู ที่ด้านหน้าทำเป็นชานยื่นออกมา มีเสาปูนรองรับส่วนหลังคาของชาน 2 ต้น หลังคาส่วนชานมุงด้วยสังกะสีต่อเนื่องออกมจากตัวศาล นอกจากนี้ทำเป็นหลังคาสังกะสียื่นออกมาจากด้านข้างของศาลทางทิศตะวันตก (ด้านข้าง) พื้นศาลทั้งด้านในและส่วนชานเทลาดด้วยปูนซีเมนต์
ภายในศาล ที่ด้านทิศตะวันออกมีการก่อขึ้นเป็นแท่นปูนติดกับผนัง ทาสีเหลือง มีจอมปลวกขนาดใหญ่อยู่บนแท่นรวมไปถึงที่พื้นและที่ผนัง นอกจากนี้ยังมีเครื่องเซ่นต่าง ๆ วางอยู่ด้านหน้าแท่นด้วย
ชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลว่า เดิมศาลเก่าเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้ แต่ได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาจึงรื้อชั้นบนออก เหลือแต่เพียงชั้นล่างดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
ศาลใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากศาลเก่าไปทางทิศใต้ประมาณ 10 เมตร ศาลใหม่เป็นศาลไม้ทั้งหลัง ขนาดประมาณ 2x3 เมตร ยกพื้นสูงจากพื้นสวนประมาณ 80 เซนติเมตร มุงกระเบื้องลอน หันด้านหน้าไปทางทิศใต้เช่นเดียวกับศาลเก่า ผนังทุกด้านยกเว้นด้านหน้าเป็นผนังทึบ ส่วนด้านหน้าเปิดโล่งไม่มีผนังหรือบานประตูและทำเป็นชานยื่นออกไป มีบันไดไม้ 3 ขั้นอยู่กึ่งกลางด้านหน้าทอดจากชานลงสู่พื้นด้านนอก
ภายในศาลใหม่มีก้อนหินทรายและท่อนไม้หรือหลักไม้วางอยู่ คือ "พระทรงเมือง" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลแห่งนี้
ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อตอนน้ำท่วมศาลเสื้อเมืองหลังเก่า กระแสน้ำได้พัดพาพระทรงเมืองเดิม รวมทั้งข้าวของต่าง ๆ ภายในศาลหายไปกับกระแสน้ำ ชาวบ้านได้ช่วยกันมาหาสิ่งของที่เหลืออยู่ พบก้อนหินทรายก้อนนี้ จึงถือเอาเป็นตัวแทนของพระทรงเมือง ส่วนศาลใหม่นี้ สร้างขึ้นเมื่อไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2556) ตามนิมิตของร่างทรงซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
สภาพในปัจจุบันของศาลใหม่อยู่ในสภาพชำรุด ฝาผนังไม้ด้านข้าง (ด้านทิศตะวันออก) หลุดออกบางส่วน แท่นหรือตั่งภายในศาลที่แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระทรงเมือง (ก้อนหินทรายและหลักไม้) ชำรุดจนพังลง
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดชุมพร. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.
กรมศิลปากร. "โบราณสถานศาลเสื้อเมือง" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 21 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์. โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เล่ม 1: ชุมพร. นครศรีธรรมราชซ: สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2554.