วัดพระขวาง


โพสต์เมื่อ 3 ก.ค. 2022

ที่ตั้ง : เลขที่ 69 ม.6

ตำบล : ขุนกระทิง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ชุมพร

พิกัด DD : 10.492332 N, 99.141531 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชุมพร

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพระขวางตั้งอยู่ภายในเขตตัวเมืองชุมพร โดยจากถนนชุมพร-ระนอง (ทางหลวงหมายเลขหมายเลข 327) เข้าถนนเมืองชุมพร 29 (ซอยวัดพระขวาง) มาตามระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะถึงวัดพระขวาง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

หลวงพ่อวัดพระขวางเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชุมพร เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป สามารถเข้าไปสักการะพระขวางได้ตามเวลาการเปิด-ปิดของทางวัด นอกจากนี้ในทุกปียังมีการจัดงานสมโภชองค์หลวงพ่อพระขวางในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 โดยจัดเป็นงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อพระขวาง 3 วัน ตั้งแต่วันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 ถึง ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 และในวันสงกรานต์ยังมีการสรงน้ำหลวงพ่อพระขวาง

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระขวาง, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดพระขวาง เป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชุมพรซึ่งเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำชุมพร ในเขตเมืองเก่าของชุมพร

วิหารที่ประดิษฐานพระขวางเป็นศาลาโปร่ง หันหน้าออกทางทิศตะวันออก หรือออกสู่คลองชุมพร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

13 เมตร

ทางน้ำ

คลองชุมพร

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่แหล่งโบราณคดีทับถมจากตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2550) โดยอิทธิพลของคลองชุมพร

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระขวาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2380 เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2400 และครั้งล่าสุดเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565) มีหลวงพ่อกุฏิ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

วัดพระขวางตั้งอยู่ริมคลองชุมพรฝั่งทิศตะวันตก ในเมืองชุมพรเก่าหรือเมืองชุมพรสมัยแรกเริ่ม หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้แก่ "พระขวาง" (นอกจากพระขวางแล้ว ชาวบ้านบางส่วนยังนิยมเรียกว่า“พ่อปู่วัดพระขวาง” หรือ“หลวงพ่อวัดขวาง”)

ตามตำนานของพระขวาง กล่าวว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยน้ำมาตามแม่น้ำชุมพร แล้วมาติดขวางอยู่หน้าวัด ชาวบ้านจึงใช้เชือกมาลากขึ้นฝั่งเพื่อจะนำมาประดิษฐานในวัด แต่ก็ไม่สามารถลากขึ้นได้จนชาวบ้านท้อใจ ต่อมาในคืนหนึ่งมีชาวบ้านฝันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้มาบอกให้สร้างที่อยู่ให้เรียบร้อยก่อน และเอาสายสิญจน์ 7 เส้นพันรอบองค์พระแล้วจะขึ้นมาเอง ชาวบ้านจึงได้ปฏิบัติตามจนสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานอยู่ภายในวัดได้สำเร็จ และได้ขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระขวาง” จนเป็นที่มาของชื่อวัดพระขวาง

นอกจากนี้ ยังมีตำนานต่อเนื่องคือ เมื่อพระขวางประดิษฐานอยู่ภายในวัดแล้วได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นจนสร้างความประหลาดใจให้กับชาวบ้านและพระภิกษุในวัดเป็นอย่างยิ่ง คือพระและสามเณรในวัดค่อยๆหายไปเรื่อยๆ ตกกลางคืนวันหนึ่งชาวบ้านจึงแอบดูและเห็นพระพุทธรูปองค์นี้กินเด็กและสามเณร จึงนำความไปแจ้งต่อเจ้าอาวาสวัด เจ้าอาวาสจึงใช้ยันต์ปิดไว้และได้นำปรอทซึ่งบรรจุอยู่ในองค์พระออก นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฎว่ามีใครหายไปอีกเลย

นอกจากนั้น ยังมีอีกตำนานหนึ่งซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างไปเล็กน้อยคือ มีพระพุทธรูป 2 องค์ลอยน้ำมาจากประเทศพม่าพร้อมกัน โดยพระพุทธรูปองค์หนึ่ง (พระผู้พี่) ลอยเข้าไปในคลองบางสน  แล้วผุดขึ้นที่ท่าเภศ ในเขต ม.1 ต.บางขัน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดดอนแตง ม.2 ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ชาวบ้านเรียกท่านว่า “หลวงพ่อใหญ่” ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง (พระผู้น้อง) ลอยเข้ามาทางคลองชุมพร (แม่น้ำชุมพร) แล้วผุดขึ้นที่ ม.6 ต.ขุนกระทิง อ.เมืองชุมพร หน้าวัดพระขวาง ชาวบ้านจึงได้นำเอาช้างหลายเชือกมาดึงองค์พระขึ้น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถนำขึ้นมาได้  จึงพากันแยกย้ายกลับบ้าน ในค่ำคืนนั้นเองพระพุทธรูปองค์นี้ได้เข้าฝันชาวบ้านว่าให้ช่วยกันสร้างที่อยู่ให้เสร็จก่อน แล้วเอาด้ายสายสิญจน์ผูกไว้ที่ข้อพระกรแล้วหลวงพ่อจะขึ้นมาเอง ชาวบ้านจึงช่วยกันปฏิบัติตามความฝัน พอรุ่งเช้าวันถัดมาก็เห็นพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานอยู่ในวิหารเองแล้ว  ทางวัดจึงจัดงานสมโภชองค์หลวงพ่อ จนเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ สมโภชองค์หลวงพ่อพระขวาง วันแรม 14 ค่ำ เดือน 5

พระขวาง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว (ประมาณ 150 เซนติเมตร) สูง 75 นิ้ว (ประมาณ 190 เซนติเมตร) ขมวดพระเกศาเรียบ อุษณีษะนูนสูง เกตุมาลาเป็นทรงกรวยแหลม ลักษณะพุทธศิลป์เป็นศิลปะท้องถิ่นสมัยอยุธยา มีการปิดทองคำเปลวทั่วทั้งองค์ (ดังนั้นเมืองชุมพรที่ตั้งอยู่ริมคลองชุมพรในละแวกวัดประเดิมและวัดพระขวางนี้น่าจะมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาด้วย) (กรมศิลปากร 2565)

ปัจจุบันพระขวางประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในวิหารพระขวาง ซึ่งเป็นวิหารโถง ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลอน หันหน้าออกแม่น้ำชุมพร หรือหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผ่นป้ายระบุว่าวิหารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ.2518 วิหารพระขวางถูกล้อมรอบด้วยรั้วกำแพงปูนประดับลูกกรงเหล็กดัด

พระขวางประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี (ฐานบัว) หันพระพักตร์ไปในทิศทางเดียวกับวิหาร คือหันออกยังแม่น้ำชุมพร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เบื้องซ้ายและขวาของพระขวางประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่สร้างขึ้นใหม่ขนาดใกล้เคียงกับพระขวางอยู่อีกด้านละ 1 องค์ นอกจากนี้ เบื้องขวาสุด ยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์เล็กๆอีก 1 องค์ พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นเดียวกัน สูงประมาณ 120 เซนติเมตร มีบันไดขึ้นลงแท่นอยู่ทางด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) 2 บันได (ซ้าย-ขวา) สำหรับให้พุทธศาสนิกชนขึ้นไปปิดทององค์พระขวาง

นอกจากนี้ ภายในวิหารยังประดิษฐานประติมากรรมรูปปั้นพระสงฆ์ 3 องค์ ทาสีทองและปิดทอง โดยองค์กลางมีป้ายระบุว่าเป็นรูปหล่อของพระครูวินัยธรเกิด เทวธมฺโม (หม่ง กรแก้ว)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดชุมพร. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.

กรมศิลปากร. "วัดพระขวาง" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี