เขาหญ้าระ


โพสต์เมื่อ 11 ม.ค. 2023

ที่ตั้ง : เขาหญ้าระ

ตำบล : ลิพัง

อำเภอ : ปะเหลียน

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.159896 N, 99.800336 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลิพัง, คลองแร่, คลองชิง, คลองตรุยลิพัง, คลองพูด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากศาลากลางจังหวัดตรัง มุ่งหน้าไปตามถนนพระราม 6 ประมาณ 280 เมตร เลี้ยว ขวาเข้าสู่ถนนรัษฎาประมาณ 1.7 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ทางหลวงแผ่นหมายเลข 404 ประมาณ 40 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงชนบทละงูหมายเลข 416 ระยะทางประมาณ 14.6 กิโลเมตร เขาหญ้าระจะอยู่ทางขวา มีศาลเป็นจุดสังเกต (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 34)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีเขาหญ้าระ ตั้งอยู่ปลายเขาทางทิศเหนือของเขาหญ้าระ ลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนยาวตามแนวเหนือ – ใต้ต่อเนื่องจากเขาโต๊ะล่วง และเขาลิพังทางทิศเหนือ มีคลองลิพังกั้น ลักษณะคล้ายช่องเขา ทิศใต้ของเขาหญ้าระเป็นเขาวังกล้วยซึ่งอยู่ในเทือกเขาเดียวกัน  (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 34)

บริเวณแหล่งโบราณคดีเขาหญ้าระเป็นเพิงผาขนาดใหญ่หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพิงผามีขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 40เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร ด้านหน้ามีกองหินปูนและการทับถมของดินสูง มีร่องรอยการขุดรบกวนเพื่อนําดินไปใช้ประโยชน์ ทําให้พบโบราณวัตถุกระจายอยู่ มีการทับถมของเปลือกหอยทะเล และเพิงผายังมีช่องน้ำที่มีการเซาะชั้นดินที่ทับถมทําให้โบราณวัตถุส่วนใหญ่กระจายตามร่องน้ำ (กรมศิลปากร, 2534: 54 – 55) อยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีเขาหน้าเนื้อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 700 เมตร และแหล่งโบราณคดีถ้ำในวังไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 1.6 กิโลเมตร (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 34-35)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

28 เมตร

ทางน้ำ

คลองชิง, คลองแร่, คลองลิพัง, คลองพูด, คลองตรุยลิพัง

สภาพธรณีวิทยา

หินปูนในหมวดหินรังนก ยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) (สำนักสำรวจและพัฒนาทรัพยากรดิน, 2554)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินกลาง

อายุทางโบราณคดี

10,000-6,000 ปีมาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530, พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

โครงการสํารวจแหล่งโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้รับงบประมาณระหว่าง พ.ศ. 2530 – 2533 ดําเนินการสํารวจแหล่งโบราณคดีทางภาคใต้ของประเทศไทย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ที่พักชั่วคราว

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีเขาหญ้าระ ตั้งอยู่ด้านปลายทางทิศเหนือของเขาหญ้าระ และด้านทิศเหนือของเขาหญ้าระเป็นเขาลิพัง ทําให้พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นช่องเขา สภาพพื้นที่จึงเหมาะสมสําหรับการแวะพักระหว่างเดินทางจากตอนในของแผ่นดินออกสู่ทะเล 

บริเวณแหล่งโบราณคดีเขาหญ้าระเป็นเพิงผาขนาดใหญ่หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพิงผามีขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 40เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร ด้านหน้ามีกองหินปูนและการทับถมของดินสูง มีร่องรอยการขุดรบกวนเพื่อนําดินไปใช้ประโยชน์ ทําให้พบโบราณวัตถุกระจายอยู่ มีการทับถมของเปลือกหอยทะเล และเพิงผายังมีช่องน้ำที่มีการเซาะชั้นดินที่ทับถมทําให้โบราณวัตถุส่วนใหญ่กระจายตามร่องน้ำ (กรมศิลปากร, 2534: 54 – 55; ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 35-39)

หลักฐานทางโบราณคดี ที่พบมีดังนี้ 

     1. เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทหิน พบเครื่องมือหินกะเทาะ มีทั้งแบบแกนหินและสะเก็ดหิน จำนวน 13 ชิ้น ทําจากหินปูน 6 ชิ้น หินควอร์ตไซต์ 5 ชิ้น ไม่ทราบชนิด 1 ชิ้น และเป็นหินลับ 1 ชิ้น เครื่องมือหินมีลักษณะการกะเทาะด้านที่ไว้สําหรับใช้งาน ส่วนด้านอื่น ๆ เป็นผิวเดิมของหิน นอกจากเครื่องมือหินกะเทาะแล้วยังพบหินลับเป็นสะเก็ดหินที่มีร่องรอยการขัดฝนด้วย (กรมศิลปากร, 2534: 55-56)

     2. ภาชนะดินเผา พบภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ส่วนปาก 2 ชิ้น และส่วนลําตัว 34 ชิ้น เป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบมีกรวดปน ลักษณะการตกแต่งมีทั้งแบบผิวเรียบและลายเชือกทาบ (กรมศิลปากร, 2534: 56)

จากการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 38) สามารถแบ่งตามประเภทได้ดังนี้

     หลักฐานประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทหิน เป็นเครื่องมือหินกะเทาะด้านเดียว อีกด้านเป็นเนื้อหินเดิม สันนิษฐานว่าเป็นลักษณะของเครืองมือหินแบบหัวบิเนียน (Hoabinhian tool) ซึงกําหนดอายุได้ราว 10,000 – 6,000 ปีมาแล้ว ซึงมีลักษณะคล้ายเครื่องมือ หินกะเทาะที่พบจากแหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก ทีอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร

     หลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผา เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดา เนื้อค่อนข้างหยาบมีกรวดผสม ผิวเรียบ และตกแต่งด้วยการกดประทับลายเชือกทาบแบบหยาบ ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีการผลิตใช้ในท้องถิ่นในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเศษภาชนะเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนในสมัยนั้นนําติดตัวมาเป็นเครื่องใช้สําหรับอุปโภคบริโภคในการเดินทางเข้ามาหลบพักอาศัยในบริเวณเพิงผานี้

จากหลักฐานทางโบราณคดี สามารถกําหนดอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีได้ว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยกําหนดอายุจากการเปรียบเทียบโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องมือหินแบบหัวบิเนียน เป็นเครื่องมือหินกะเทาะด้านเดียว กําหนดอายุได้ราว 10,000 – 6,000 ปี มาแล้ว 

สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ในอดีตมีการใช้งานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจถูกใช้เป็นการตั้งถิ่นฐานชั่วคราว หรือที่พักค้างคืนระหว่างเดินทาง เนื่องจากที่ตั้งแหล่งโบราณคดี อยู่บริเวณช่องเขาสําหรับเดินทางระหว่างตอนในทวีปออกสู่ทะเล โดยแหล่งโบราณคดีน่าจะถูกใช้ในช่วง 10,000 – 6,000 ปี มาแล้ว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้ ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร , 2534.

ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์. "การศึกษาแหล่งโบราณคดีบริเวณชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะในจังหวัดตรัง." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.

สำนักสำรวจและพัฒนาทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน. "รายงานสำรวจดินเพื่อการเกษตร จังหวัดตรัง มาตราส่วน 1: 25,000." (ออนไลน์), 2554. เข้าถึงเมื่อ 11 มกราคม 2566. เข้าถึงจาก http://oss101.ldd.go.th/soilr/SoilGrp25k48_53/pdf/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A325000/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3_%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี