โพสต์เมื่อ 12 ม.ค. 2023
ที่ตั้ง : เขาไม้แก้ว
ตำบล : เขาไม้แก้ว
อำเภอ : สิเกา
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.636944 N, 99.334444 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองกะลาเสใหญ่, คลองเขาไม้แก้ว, คลองพง, คลองปอม, คลองสิเกา
จากทีว่าการอำเภอสิเกา มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 4046 ระยะทางประมาณ 210 เมตร พบวงเวียนทางซ้ายทางออกที่ 1 ประมาณ 300 เมตร พบสี่แยกเลี้ยวขวา ประมาณ 7.4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางเข้าบ้านเขาไม้แก้ว ประมาณ 1.3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย ประมาณ 500 เมตร แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาไม้แก้วจะอยู่ทางด้านขวา
กรมศิลปากร
แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาไม้แก้ว ตั้งอยู่บนที่เขาไม้แก้ว ลักษณะเป็นภูเขาหินปูนลูกยาว วางตัวแนวเหนือ – ใต้ บริเวณที่ตั้งแหล่งโบราณคดีเขาไม้แก้วอยู่ตอนกลางของภูเขาเป็นยอดโดด สูงประมาณ 80 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทางตอนเหนือไล่ลงมาทางทิศตะวันออกของเขาไม้แก้วมีเทือกเขาขนาดใหญ่ต่อเนื่องลงมา ได้แก่ เขาดิน เขาหมาหิน เขาห้วยนิล และเขานุ้ย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเขาเจ็ดยอดห่างไปประมาณ 2.8 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำ ได้แก่ ห้วยคลองพนอยู่ ห่างไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.3 กิโลเมตร ห้วยปอมอยู่ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 600 เมตร และคลองสิเกาอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ 750 เมตร (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 40)
คลองเขาไม้แก้ว, คลองกะลาเสใหญ่, คลองพง, คลองปอม, คลองสิเกา
หินปูนหมวดหินคลองมีน ยุคจูแรสสิก (Jurassic)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530, พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
โครงการสํารวจแหล่งโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้รับงบประมาณระหว่าง พ.ศ. 2530 – 2533 ดําเนินการสํารวจแหล่งโบราณคดีทางภาคใต้ของประเทศไทยแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาไม้แก้วมีลักษณะเป็นถ้ำและเพิงผา บริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดีมีอยู่ 2 ส่วน คือ บริเวณที่เป็นเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีก้อนหินปูนขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าเพิงผา มีร่องรอยการขุดเพื่อนำดินไปใช้ประโยชน์ และส่วนปากถ้ำที่อยู่ถักจากเพิงผาไปทางทิศใต้ ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หน้าถ้ำมีหินปูนระเกะระกะ ภายในถ้ำมีแสงส่องถึงและพบโบราณวัตถุมากกว่าบริเวณเพิงผา (กรมศิลปากร, 2534: 52)
หลักฐานทางโบราณคดี (กรมศิลปากร, 2534: 52-53; ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 43) ที่พบมีดังนี้
1. เครื่องมือหินกะเทาะ 1 ชิ้น ทำจากหินควอร์ตไซต์ รูปร่างคล้ายขวานหิน แต่หักชำรุด มีร่องรอยกะเทาะทั้ง 2 หน้า มีส่วนคมอยู่ที่ส่วนปลาย
2. ภาชนะดินเผา พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เนื้อหยาบ มีกรวดปน เป็นส่วนลำตัวภาชนะ มีทั้งแบบผิวเรียบไม่ตกแต่งลวดลาย 7 ชิ้น ลายเชือกทาบ 4 ชิ้น แบบเคลือบน้ำดินสีแดงด้านนอก 1 ชิ้น และตกแต่งด้วยลายขูดขีดที่มีเนื้อดินค่อนข้างละเอียด 2 ชิ้น สันนิษฐานว่ามีการผลิตใช้ในท้องถิ่นในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์
จากลักษณะและความหนาแน่นของหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาไม้แก้ว เป็นที่ตั้งถิ่นฐานชั่วคราว หรือเป็นที่พักชั่วคราวระหว่างเดินทางของมนุษย์ยุค่กอนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 4,000 – 2,000 ปีมาแล้ว อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดี ยังตั้งอยู่บริเวณเส้นเดินทางระหว่างในแผ่นดินกับชายฝั่ง อาจถูกใช้เป็นจุดสังเกตในระหว่างการเดินทางด้วย (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 44)
กรมศิลปากร. ก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้ ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร , 2534.
ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์. "การศึกษาแหล่งโบราณคดีบริเวณชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะในจังหวัดตรัง." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.
สำนักสำรวจและพัฒนาทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน. "รายงานสำรวจดินเพื่อการเกษตร จังหวัดตรัง มาตราส่วน 1: 25,000." (ออนไลน์), 2554. เข้าถึงเมื่อ 11 มกราคม 2566. เข้าถึงจาก http://oss101.ldd.go.th/soilr/SoilGrp25k48_53/pdf/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A325000/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3_%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87.pdf