เขาหน้าเนื้อ


โพสต์เมื่อ 20 ม.ค. 2023

ที่ตั้ง : ม.3

ตำบล : ลิพัง

อำเภอ : ปะเหลียน

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.157083 N, 99.795622 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลิพัง, คลองแร่, คลองชิง, คลองตรุยลิพัง, คลองพูด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากศาลากลางจังหวัดตรัง มุ่งหน้าไปตามถนนพระราม 6 ประมาณ 280 เมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนรัษฎาประมาณ 1.7 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ทางหลวงแผ่นหมายเลข 404 ประมาณ 40 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงชนบทละงูหมายเลข 416 ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เลี้ยวขวาประมาณ 31 เมตร ที่ตั้งของภูเขาหน้าเนื้อจะอยู่ทางขวามือ (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 45)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีเขาหน้าเนื้อ ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูนลูกโดด มีโพรงถ้ำและเพิงผาที่เกิดจากกระบวนการกัดกร่อนตามธรรมชาติ ด้านตะวันออกและทิศใต้ของเขาหน้าเนื้อ คือ เขาหญ้าระ เป็นเทือกเขาหินปูนยาวตามแนวเหนือ – ใต้ต่อเนื่องจากเขาโต๊ะล่วง และมีคลองลิพังไหลผ่านทางทิศเหนือ อยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีเขาหญ้าระไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 700 เมตร และแหล่งโบราณคดีถ้ำในวังไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 900 เมตร (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 45)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

28 เมตร

ทางน้ำ

คลองลิพัง, คลองแร่, คลองชิง, คลองตรุยลิพัง, คลองพูด

สภาพธรณีวิทยา

หินปูนในหมวดหินรังนก ยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) (สำนักสำรวจและพัฒนาทรัพยากรดิน, 2554)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินใหม่

อายุทางโบราณคดี

4,000 – 2,000 ปี มาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สํานักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต สํารวจทางโบราณคดีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2541 เพื่อสํารวจและตรวจสอบพื่นที่ขอประทานบัตร (มนตรี ธนภัทรพรชัย, ม.ป.ป.: 2)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ที่พักชั่วคราว

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีเขาหน้าเนื้อ ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูนลูกโดด มีเพิงผาและถ้ำอยู่ทางทิศเหนือของภูเขา เพิงผาที่ 1 อยู่ทางทิศตะวันตก เพิงผาหันหน้าไปทางทิศเหนือ ถัดมาเป็นถ้ำ ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีร่องรอยการรบกวนจากการขุดดินไปใช้ประโยชน์ ส่วนเพิงผาที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันออก เพิงผาหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยพบโบราณวัตถุบริเวณเพิงที่ 1 และเพิงผาที่ 2 (สํานักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต, 2541; ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 45-48)

     เพิงผาที่ 1 พบชั้นดินเผาไฟและชั้นทับถมของขี้เถ้า และชิ้นส่วนปากภาชนะดินเผาเนื้อดินผิวเรียบเคลือบน้ำดินสีแดงขัด และเปลือกหอยทะเล

     เพิงผาที่ 2 พบเครื่องมือหินกะเทาะ ร่วมกับสะเก็ดหินที่กระจายอยู่ทั่วไป

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่พบมีดังนี้ 

     1. เครืองมือเครืองใช้ประเภทหิน พบเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวทําจากหินปูนรูปสามเหลี่ยม และสะเก็ดหินกระจายอยู่บริเวณเพิงผา

     2. เปลือกหอยกัน (Polymesoda proxima) เป็นหอยสองฝา อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนหรือพื้นที่น้ำกร่อย-น้ำเค็ม โดยมักฝังตัวอยู่ในโคลนบริเวณที่่น้ำขึ้นน้ำลง สันนิษฐานว่ามนุษย์ในอดีตอาจนําหอยกันมากินเป็นอาหาร

     3. ภาชนะดินเผา พบภาชนะดินเผาเนื้อดิน ส่วนปาก ผิวเรียบมีการเคลือบน้ำดินสีแดง ขัดมัน สันนิษฐานว่ามีการผลิตใช้ในท้องถิ่นในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์

สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีการใช้งานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจถูกใช้เป็นการตั้งถิ่นฐานชั่วคราว หรือที่พักค้างคืนระหว่างเดินทาง เนื่องจากที่ตั้งแหล่งโบราณคดี อยู่บริเวณช่องเขาสําหรับเดินทางระหว่างตอนในทวีปออกสู่ทะเล จากการเปรียบเทียบโบราณวัตถุ โดยเฉพาะภาชนะดินเผาที่ตกแต่งด้วยการเคลือบน้ำดินสีแดงขัดมัน สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วง 4,000 – 2,000 ปี มาแล้ว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้ ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร , 2534.

ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์. "การศึกษาแหล่งโบราณคดีบริเวณชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะในจังหวัดตรัง." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.

มนตรี ธนภัทรพรชัย. ปัญหาการประเมินศักยภาพแหล่งโบราณคดีในเขตรับผิดชอบของสํานักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที 12 ภูเก็ต. (อัดสำเนา). ม.ป.ท., ม.ป.ป.

สํานักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที 12 ภูเก็ต. รายงานผลการสํารวจและ ตรวจสอบพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่อุตสาหกรรมฯ, 28 สิงหาคม 2541.

สำนักสำรวจและพัฒนาทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน. "รายงานสำรวจดินเพื่อการเกษตร จังหวัดตรัง มาตราส่วน 1: 25,000." (ออนไลน์), 2554. เข้าถึงเมื่อ 11 มกราคม 2566. เข้าถึงจาก http://oss101.ldd.go.th/soilr/SoilGrp25k48_53/pdf/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A325000/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3_%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี