นาตาสุข


โพสต์เมื่อ 22 ม.ค. 2024

ชื่ออื่น : หนองจอก

ที่ตั้ง : ม.6 บ้านคลองน้ำใส

ตำบล : คลองน้ำใส

อำเภอ : อรัญประเทศ

จังหวัด : สระแก้ว

พิกัด DD : 13.582797 N, 102.559447 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โตนเลสาบ

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองน้ำใส

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากบริเวณสี่แยกหน้าสถานีรถไฟอรัญประเทศ (หรือแถววงเวียนหอนาฬิกา) ในตัวอำเภออรัญประเทศ ให้ใช้ถนนสุวรรณศร (ทางหลวงหมายเลข 33, AH1) มุ่งหน้าขึ้นไปทางทิศตะวันออก สู่บ้านคลองลึกหรือ ชายแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 5.5 กิโลเมตร พบสี่แยกบริเวณตลาดชายแดนคลองลึก หน้าสถานีตำรวจภูธรคลองลึก ให้เลี้ยวขวา ใช้ถนน สก.2089 ประมาณ 600 เมตร พบสี่แยก ให้เลี้ยวซ้าย ใช้ถนนหมายเลข 3366 ประมาณ 5.2 กิโลเมตร พบสี่แยกบริเวณบ้านโคกสะแบง ให้เลี้ยวขวา ใช้ถนนหมายเลข 3367 ประมาณ 5.3 กิโลเมตร จะพบแหล่งโบราณคดีอยู่ทางขวามือ อยู่หลังบ้านของชาวบ้าน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีนาตาสุข อยู่ติดกับคลองน้ำใสที่กั้นระหว่างชายแดนประเทศไทยกับกัมพูชา และตั้งอยู่ห่างจากปราสาทเขาน้อย (ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกัน) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ  

แหล่งโบราณดีมีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นสวนมะละกอ ไร่นา และมีการปลูกต้นยูคาลิปตัส สภาพพื้นที่เป็นที่ดอน มีการตัดถนนลูกรัง (ถนนบ้านน้อยจารย์จู) ผ่านตรงกลางของแหล่ง และบางส่วนของแหล่งได้มีการตักหน้าดินไปขาย ลึกประมาณ 1.30 เมตร ในบริเวณแหล่ง มีสระน้ำโบราณ 2 สระ และพบคันดินสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ อยู่ทางด้านทิศเหนือของแหล่ง ตรงบริเวณทิศตะวันออก เฉียงเหนือของคันดินนี้ มีหนองน้ำเก่า จากการสัมภาษณ์นายบุญถึง เกตุสุข กล่าวว่า น้ำจากหนองน้ำแห่งนี้จะไหลลงไปทางด้านทิศตะวันออก คือ บ้านโคกสะแบง บ้านหนองเอี่ยน ไปออกพระตะบอง ศรีโสภณ ในประเทศ กัมพูชา และยังพบว่ามีแนวคันดินมุมตะวันตกเฉียงใต้ผ่านหนองแคน (สระน้ำโบราณ) มุ่งหน้าไปยังเขาน้อย ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากห้วยแฝกประมาณ 300-400 เมตร (วีณา มูลมงคล, 2562: 64)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

46 เมตร

ทางน้ำ

คลองน้ำใส, โตนเลสาป, ห้วยแฝก

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี, 2554: 14-15)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบาปวน, สมัยบายน, สมัยนครวัด

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 15-18

อายุทางวิทยาศาสตร์

พุทธศตวรรษที่ 16 (ชั้นดินที่ 2)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : วีณา มูลมงคล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีนาตาสุข เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง "การศึกษาพัฒนาการของชุมชนโบราณในวัฒนธรรมเขมร บริเวณรอบปราสาทเขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว" ของ วีณา มูลมงคล โดยมีที่ปรึกษาคือ ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณ ม.ศิลปากร

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

หลักฐานที่พบจากการสำรวจ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ประเภทเนื้อดิน และเนื้อแกร่ง (เครื่องถ้วยเขมร เตาบุรีรัมย์เครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซ่งภาคใต้) แท่นหินบด หินบด คันฉ่องสำริด ขันสำริด กำไลสำริด ลูกกระพรวนสำริด ชิ้นส่วนสำริด ห่วงสำริด ก้อนตะกั่ว และชิ้นส่วนกระดิ่งสำริด เป็นต้น

จากการขุดค้นบริเวณแหล่งโบราณคดีนาตาสุข เมื่อ พ.ศ. 2553 จำนวน 1 หลุม ขนาด 3x3 เมตร และศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น คือเครื่องถ้วยเขมร เตาบุรีรัมย์ เตาพนมกุเลน และเครื่องถ้วยจีน การกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์และประกอบกับการศึกษาชั้นดิน จึงสามารถกำหนดอายุแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้ว่ามีการอยู่อาศัยเพียง 1 ชั้นวัฒนธรรม มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 แต่แบ่งออกเป็น 2 ช่วง (วีณา มูลมงคล, 2562) คือ

ช่วงระยะที่ 1 พุทธศตวรรษที่ 15 พบเครื่องถ้วยเขมร เตาบุรีรัมย์ แต่ไม่พบเครื่องถ้วยพนมกุเลน และเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซ่งภาคใต้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากตัวอย่างก้อนดินเผา ในชั้นดินที่ 3 ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เช่นเดียวกัน

ช่วงระยะที่ 2 พุทธศตวรรษที่ 16-18 พบเครื่องถ้วยเขมร เตาบุรีรัมย์ เตาพนมกุเลน และเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซ่งภาคใต้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (TL) ที่ได้จากตัวอย่างก้อนดินเผา ในชั้นดินที่ 2 ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นเดียวกัน และยังพบว่าหลังพุทธศตวรรษที่ 16 นี้ ยังมีการใช้พื้นที่ต่อเนื่องจนไปถึงพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากพบเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซ่งภาคใต้ และน่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของการใช้พื้นที่นี้ โดยอาจมีปัจจัยจากที่สมัยเมืองพระนครของอาณาจักรเขมรโบราณที่เสื่อมอำนาจลง จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้ทิ้งร้างไปก็เป็นไปได้ (วีณา มูลมงคล, 2562)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสระแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท ออนป้า จำกัด, 2554

วีณา มูลมงคล. “แหล่งโบราณคดีนาตาสุข”ดำรงวิชาการ 18, 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2562): 61-86.

วีณา มูลมงคล. รายงานวิจัย เรื่อง การศึกษาพัฒนาการของชุมชนโบราณในวัฒนธรรมเขมร บริเวณรอบปราสาทเขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว. กรุงเทพฯ : สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี