เมืองถลางเก่า (เมืองถลางบ้านดอน)


โพสต์เมื่อ 15 ม.ค. 2025

ชื่ออื่น : เมืองถลางเก่าบ้านดอน

ที่ตั้ง : ม.4 บ้านดอน

ตำบล : เทพกระษัตรี

อำเภอ : ถลาง

จังหวัด : ภูเก็ต

พิกัด DD : 8.020020 N, 98.319350 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองพัง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ใช้ถนนเทพกระษัตรี (ทางหลวงหมายลข 402) มุ่งหน้าทิศเหนือ (หรือมุ่งหน้าไปทางสนามบินภูเก็ต) ประมาณ 6.2 กิโลเมตร ถึงสี่แยกบริเวณวัดพระนางสร้าง ให้เลี้ยวซ้ายใช้ถนนดอนจอมเฒ่า (ทางหลวงหมายเลข 4030) ไปตามถนนประมาณ 1.8 กิโลเมตร เลี้ยวขวาใช้ถนน 200 ปี ประมาณ 500 เมตร ถึงสามแยก เลี้ยวขวาประมาณ 62 เมตร ถึงป้ายแสดงตำแหน่งและข้อมูลเมืองถลางเก่า (บ้านดอนกลาง) อยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันเมืองถลางเก่า (บ้านดอนกลาง) เป็นชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนราษฎรเต็มทั้งพื้นที่ แต่นาย เฉล้ม พิมลอักษร ได้บริจาคที่ดินบริเวณแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกให้นาง สิริณพัณ เป็นผู้ออกแบบป้ายแสดงตำแหน่งและให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเมืองถลางเก่า (บ้านดอนกลาง) เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแสดงถึงความสำคัญของพื้นที่นี้ในอดีต ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม และสามารถท่องเที่ยวไปในเส้นทางสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองถลางอื่นๆในละแวกใกล้เคียงกันได้ เช่น วัดพระนางสร้าง บ้านเก่าย่าจันย่ามุก อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก วัดม่วงโกมารภัจจ์

นอกจากนี้ เลยออกไปจากป้ายเมืองถลางบ้านดอนประมาณ 80 เมตร เป็นที่ตั้งของศาลจอมเฒ่าบ้านดอน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนและมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ในพื้นที่ โดยจอมเฒ่าบ้านดอนเป็นเจ้าเมืองเมืองถลางบ้านดอนในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

แต่ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองถลางอยู่ในพื้นที่เอกชน การท่องเที่ยวอาจต้องควรระมัดระวังเรื่องการรบกวนเจ้าของพื้นที่ด้วย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

นาย เฉล้ม พิมลอักษร, อำเภอถลาง, กรมศิลปากร, มูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร, องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพทั่วไปเป็นเนินดิน ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน ปัจจุบันบนเนินดินเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านดอนและพื้นที่เกษตรกรรม มีคลองพังไหลผ่านด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออกของพื้นที่

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

10 เมตร

ทางน้ำ

คลองพัง, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนทางน้ำขึ้นถึง (Qtf) ส่วนใหญ่เป็นกรวดและทรายที่ทับถมในยุคควอเทอนารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองถลางบ้านดอนมีซากกำแพงที่ก่อด้วยอิฐ เคยเป็นที่ว่าการเมืองถลางบ้านดอนในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีเจ้าเมืองคือ จอมเฒ่าบ้านดอน มีศักดิ์เป็นลุงของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร

เมื่อจอมเฒ่าบ้านดอนถึงแก่อนิจกรรม เมืองถลางได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองถลางบ้านเคียน จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานว่าพระยาถลาง คิน จันทโรจวงศ์ มาเป็นเจ้าเมืองบ้านดอนระหว่าง พ.ศ.2405-2412

พระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์ สืบมาจากเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นสกุลจันโรจวงศ์ ข้าหลวงสำเร็จราชการแปดหัวเมืองฝั่งตะวันตก โดยเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) มีบุตรคือพระยาถลางฤกษ์ จันทโรจวงศ์ เจ้าเมืองถลางระหว่าง พ.ศ.2380-2391 พระยาถลางฤกษ์ จันทโรจวงศ์ มีบุตรคือพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (ทับ หรือพระยาถลาง ทับ จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองถลางระหว่าง พ.ศ.2391-2405 พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (ทับ หรือพระยาถลาง ทับ จันทโรจวงศ์) มีบุตรคือพระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์

เมื่อสืบเชื้อสายฝั่งมารดาพบว่า พระยาถลางฤกษ์ จันทโรจวงศ์ เป็นบุตรเขยของพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง หรือพระยาเทียน ประทีป ณ ถลาง ซึ่งเป็นบุตรของท้าวเทพกระษัตรี (จัน) ดังนั้นพระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์ ก็สืบเชื้อสายมาจากท้าวเทพกระษัตรีด้วย

ประวัติเมืองถลางบ้านดอนที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติภูเก็ต ได้แก่

  • พ.ศ.2319 พระยาสุรินทราชา (พิมลอัยา) เป็นเจ้าเมืองถลางบ้านตะเคียน พระยาทุกรราช (ทองพูน) บุตรจอมเฒ่าได้เป็นปลัดเมืองถลาง ตั้งสำนักอยู่ที่บ้านดอน
  • พ.ศ.2328 พม่าตีเมืองถลาง พระยาทุกรราชช่วยท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ต่อสู้ขับไล่พม่าจนล่าถอยกลับไป
  • พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้พระยาทุกรราช เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (พระยาถลาง เจียดทอง) เป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอน
  • พ.ศ.2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ย้ายพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงครามเจ้ากรุงเทพฯ แล้วตั้งพระยาทุกรราช (เทียน) ให้เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลางที่บางโรง เมืองถลางบ้านดอนจึงหมดวาระไปในคราวนั้น
  • พ.ศ.2333 หลวงพิทักษ์ทวีป (หนู) ได้เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองถลางจึงมาตั้งจวนเจ้าเมืองขึ้นที่บ้านดอนอีกครั้ง
  • พ.ศ.2437 ยุบเมืองถลางเป็นอำเภอถลาง

จากประวัติการค้นพบและศึกษากล่าวว่า พื้นที่เมืองถลางบ้านดอนเคยพบกำแพงเมืองอยู่ในสวนมะพร้าว โดยผังกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก 90 เมตร ด้านทิศเหนือ-ใต้ 70 เมตร ชาวบ้านในพื้นที่เคยขุดพบปืนใหญ่อย่างน้อย 3 กระบอก ปืนยาว 1 กระบอก หัวนอโม (นโม) และแร่แทนทาไลท์หรือตะกรันจำนวนมาก ขนาดของอิฐที่ใช้ก่อกำแพง 6x17x24 เซนติเมตร กำแพงด้านทิศตะวันออกติดกับทุ่งนาเคยเป็นคอกม้า นอกกำแพงด้านทิศเหนือเป็นคุก

ปัจจุบันเมืองถลางบ้านดอนยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่ได้มีการสร้างป้ายขึ้นในที่ดินของนาย เฉล้ม พิมลอักษร ซึ่งได้บริจาคที่ดินบริเวณแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกให้นาง สิริณพัณ เป็นผู้ออกแบบป้าย โดยป้ายเป็นปูนซีเมนต์ พื้นโดยรอบปูแผ่นกระเบื้อง ตั้งอยู่ริมถนนภายในชุมชน ป้ายมีลักษณะเป็นรูปกำแพงเมือง สูง 2 เมตรเศษ มีข้อความและภาพเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ถลาง ป้ายด้านหนึ่งมีข้อความภาษาไทย อีกด้านหนึ่งมีข้อความภาษาอังกฤษ โดยด้านภาษาไทยมีข้อความ ดังนี้

เมืองถลางบ้านดอน
จอมเฒ่าดอนพี่ชายจอมร้างบ้านเคียน
(บิดาท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร)
เจ้าเมืองถลางบ้านดอนสมัยสมเด็จพระเจ้า
บรมโกศ
พระยาถลางคิน(คิน จันทโรจวงศ์)เป็นเจ้า
เมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕-๒๔๑๒

ทั้งสองของป้ายมีปืนใหญ่ 2 กระบอก ตั้งขนาบอยู่ซ้าย-ขวา ข้างละ 1 กระบอก ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านในละแวกนั้น ทำให้ได้ข้อมูลว่าปืนใหญ่ดังกล่าวน่าจะพบในพื้นที่เมืองถลางบ้านดอนแห่งนี้ ส่วนซากฐานกำแพงเมืองเก่าปัจจุบันชาวบ้านได้ฝังกลบไปหมดแล้ว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี