โพสต์เมื่อ 18 ม.ค. 2025
ชื่ออื่น : วัดลุ่ม
ที่ตั้ง : ม.4 บ้านลุ่ม
ตำบล : นาเตย
อำเภอ : ท้ายเหมือง
จังหวัด : พังงา
พิกัด DD : 8.37544 N, 98.30991 E
วัดลุมพินีตั้งอยู่ห่างจากอำเภอท้ายเหมืองประมาณ 25 กิโลเมตรโดยจากตัวอำเภอท้ายเหมืองใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าไปทางทิศใต้หรือทางจังหวัดภูเก็ตประมาณ 19 กิโลเมตร เมื่อถึงสามแยกตรงข้ามวัดประชาธิการามให้เลี้ยวซ้าย ไปตามเส้นทางประมาณ 3 กิโลเมตร จะพบวัดลุมพินีอยู่ทางซ้ายมือ ใกล้กับโรงเรียนวัดลุมพินี
บริเวณวัดลุมพินีมีบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบเหมาะแก่การมาปฏิบัติศาสนกิจและเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด คือ สรีระของหลวงปู่อ่อน นันทสาโร หรือพระครูนันทสารพิสุทธิ์ อดีตเจ้าอาวาส และพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคใต้ ซึ่งอยู่ในโลงแก้วประดิษฐานภายในศาลาพระวิสุทธิวงศา จารียานุสรณ์
อาคารกุฏิวัดลุมพินีได้รับการบูรณะและเป็นอาคารที่ยังมีการใช้งาน ปัจจุบันชั้นล่างของกุฏิเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ของชาวบ้านในอดีต หากมีการรักษาความสะอาด จัดหมวดหมู่ของวัตถุ และมีป้ายหรือสื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกุฏิและข้อมูลของวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าชมมากยิ่งขึ้นและสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าชม หมายเลขติดต่อ 076-571 084
วัดลุมพินี, กรมศิลปากร
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 117 ง วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
วัดลุมพินีตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม มีคลองบางทองไหลผ่านทางทิศใต้ และคลองคันไหลผ่านทางทิศเหนือ บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบและสวนผลไม้ สภาพปัจจุบันวัดลุมพินีเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด คือ กุฏิหลังเก่า ตามประวัติกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2463 ในสมัยพระครูสุทัศนธรรมคุณ เป็นเจ้าอาวาส
ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง, ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต สำรวจ รวบรวมข้อมูลและสภาพโบราณ รังวัดพื้นที่และถ่ายภาพโบราณสถาน พร้อมทั้งทำผังบริเวณและแนวเขตโบราณสถานตามประวัติกล่าวว่าวัดลุมพินีสร้างประมาณ พ.ศ. 2327 เดิมชื่อ "วัดลุ่ม" เนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2468 - 2469 เปลี่ยนชื่อเป็นวัดลุมพินี และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2432 โบราณสถานที่สำคัญ คือ กุฏิหลังเก่า ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กุฏิวัดลุมพินีเคยถูกใช้เป็นที่ว่าการอำเภอท้ายเหมืองชั่วคราว ปัจจุบันบริเวณชั้นล่างของกุฏิปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านในอดีต ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย”
กุฏิวัดลุมพินีทำจากไม้ตะเคียนทองและไม้หลุมพอ หลังคามุงกระเบื้องลอนสีแดง หน้าบันหลังคาเป็นรูปคล้ายดอกไม้ในกรอบวงกลม ขนาบข้างด้วยนกยูง ข้างใต้ระบุ “พ.ศ. 2463” ลักษณะเป็นเรือนไม้ ใต้ถุนสูง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กั้นเป็นห้องให้พระภิกษุอยู่อาศัย ชั้นบนมีห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง และห้องพักพระภิกษุ จำนวน 6 ห้อง มีช่องหน้าต่างทั้ง 4 ด้าน เหนือขอบหน้าต่างด้านหน้าเป็นรูปครึ่งวงกลมภายในเป็นรูปคล้ายกลีบดอกไม้เรียวยาว 6 กลีบ มีชานบันไดยื่นออกมาทางด้านหน้าและด้านข้าง 1 ด้าน โดยบันไดด้านหน้าขั้นบันไดชำรุด บนชานบันไดติดตั้งท่อสูบน้ำพีวีซี ปัจจุบันชั้นล่างทำเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวบ้านในอดีต โดยก่อกำแพงปูนล้อมรอบใต้ถุนครึ่งชั้นแล้วล้อมรั้วตาข่ายส่วนบน ยกเว้นบริเวณส่วนหน้าที่ทำเป็นกำแพงลูกกรงครึ่งชั้น ปูพื้นด้วยกระเบื้อง ด้านหน้ากุฏิมีบ่อน้ำและปลูกต้นไม้ร่มรื่น
ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดวางอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ของชาวบ้านในอดีต ทั้งภายในตู้กระจก ชั้นวาง และบนพื้น ได้แก่ อุปกรณ์ทำการเกษตร เครื่องมือจับปลา เครื่องจักสาน เขาสัตว์ เปลือกหอย อาวุธ ตัวหนังตะลุง ภาชนะดินเผาพื้นเมือง เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยยุโรป เครื่องทองเหลือง หนังสือบุด ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ พระพุทธรูป ฯลฯ
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดลุมพินี (1) หลวงพ่อจันทร์คำ
พ.ศ. 2328
– ไม่มีหลักฐาน (2) หลวงพ่ออุปปัชฌาย์ยอดทอง
พ.ศ. 2411 -2438 (3) พระครูสุทัศนธรรมคุณ (แหวง ยโสธโร หรือ
พระครูโกษาวิสุทธิ์ หรือ พ่อท่านเฒ่า พ.ศ. 2438 – 2494 (4)
พระครูนันทสารพิสุทธิ์ (อ่อน นันทสาโร หรือ พ่อท่านอ่อน)
พ.ศ. 2494 – 2549 (5) พระครูวรคุณานุกูล
(จาร์ คุณวโร) พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน