วัดคงคาพิมุข


โพสต์เมื่อ 23 ม.ค. 2025

ชื่ออื่น : วัดคงคา, วัดคงคาภิมุข

ที่ตั้ง : ถนนราษฎร์บำรุง

ตำบล : ตะกั่วป่า

อำเภอ : ตะกั่วป่า

จังหวัด : พังงา

พิกัด DD : 8.840837 N, 98.362899 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, ตะกั่วป่า

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดคงคาพิมุขตั้งอยู่บนถนนราษฎร์บำรุง โดยจากที่ทำการเทศบาลเมืองตะกั่วป่ามุ่งหน้าทางทิศตะวันตกไปตามถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงหมายเลข 4 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราษฎร์บำรุงตรงไปประมาณ 5 กิโลเมตร จากนั้นจะเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายตรงเข้าไปตามเส้นทางประมาณ 280 เมตรจะพบวัดคงคาพิมุขอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อุโบสถและเจดีย์ของวัดคงคาพิมุขเป็นโบราณสถานที่ยังใช้งานอยู่ ได้รับการดูแลรักษาและอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ภายในวัดสะอาดและร่มรื่นเหมาะแก่การมาปฏิบัติศาสนกิจ ปัจจุบันวัดคงคาพิมุขเป็นสถานปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพังงา แห่งที่ 1 ผู้สนใจสามารถติดต่อพระครูนันทปัญญากร เจ้าอาวาส ได้ที่เบอร์ 076-421-479

กิจกรรมของวัด ได้แก่ กิจกรรมปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี กิจกรรมบวชชีพราหมณ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กิจกรรมบวชสามเณร ภาคฤดูร้อน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดคงคาพิมุข

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50ง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539

ภูมิประเทศ

ที่ลาดเชิงเขา

สภาพทั่วไป

วัดคงคาพิมุข ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองตะกั่วป่าทางทิศตะวันตก (คลอง/แม่น้ำตะกั่วป่า ไหลผ่านทางทิศตะวันออกของวัด) โดยตั้งอยู่บริเวณที่ราบดินตะกอนลำน้ำตะกั่วป่า บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบ สวนผลไม้และที่พักอาศัย ห่างออกไปทางทิศตะวันตกมีภูเขา ทำให้พื้นที่มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตก (พื้นที่ภูเขา) ไปทางทิศตะวันออก (ลงสู่คลองตะกั่วป่า) ทำให้พื้นที

สภาพปัจจุบันวัดคงคาพิมุข เป็นวัดที่มีการใช้งาน มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด คือ อุโบสถ และเจดีย์

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

13 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำ/คลองตะกั่วป่า

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 8

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2479

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2558

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

"โครงการสำรวจศึกษาพระพุทธรูปศิลปกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ปีงบประมาณ 2558" โดย สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ดำเนินการสำรวจข้อมูลโบราณสถานที่มีพระพุทธรูปศิลปกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ชื่อแหล่ง ที่ตั้ง พิกัด เส้นทางสู่แหล่ง สภาพโดยทั่วไป ประวัติสังเขป การใช้งานปัจจุบัน การขึ้นทะเบียน สิ่งสำคัญ ผังอาคาร รูปแบบศิลปกรรม และรูปประกอบ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ตามประวัติกล่าวว่าอุโบสถของวัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2479 เดิมชื่อ "วัดคงคา" ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2483 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดคงคาพิมุข" ได้รับการบูรณะเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2503 ปัจจุบันวัดมีโบราณสถานสำคัญ คือ อุโบสถ และเจดีย์

อุโบสถ ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2479 ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อผนังทึบ มีปีกนกยื่นทั้ง 2 ข้าง รองรับด้วยเสาประดับผนัง และคันทวยรูปครุฑ? และคนธรรพ์? มีประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันออกและตะวันตกด้านละ 2 บาน มีช่องหน้าต่างตรงกลาง ส่วนช่องหน้าต่างด้านทิศใต้และทิศเหนือ (ด้านยาว) ด้านละ 4 บาน ซุ้มประตู หน้าต่างทำเป็นซุ้มบันแถลงหรือทรงจั่วซ้อนกัน 3 ชั้น ฐานซุ้มทำเป็นฐานสิงห์ เสากรอบประตู-หน้าต่างเรียงเหลื่อมกัน 3 ชั้น ประดับด้วยกาบบน ประจำยามอก และกาบล่าง บัวหัวเสาทำเป็นบัวแวง (กลีบบัวยาว) เครื่องบนของซุ้มประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ปูนปั้น หน้าบันประดับปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและพระพุทธเจ้าในปางต่างๆ ส่วนของบานประตูและหน้าต่างเป็นไม้ประดับปูนปั้นรูปเทพนม

ส่วนเครื่องบนเป็นหลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องลอนสีเหลืองทอง ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านหน้า ช่วงบนในกรอบสามเหลี่ยมประดับด้วยปูนปั้นลายเครือเถาและรูปสัตว์ ได้แก่ ช้าง กวาง ตอนล่างในกรอบสี่เหลี่ยมประดับลวดลายปูนปั้นรูปเจดีย์ตรงกึ่งกลาง มีหน้ากาลคายเถาวัลย์เหนือเจดีย์ ด้านขวาของเจดีย์ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางถวายเนตร (ประทับยืน พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง ห้อยประสานกันอยู่ด้านหน้าระหว่างพระเพลา) ด้านซ้ายเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางอุ้มบาตร ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ถัดไปมีเสากั้นภายในช่องรูปสามเหลี่ยมทั้ง 2 ข้าง ประดับด้วยลายรูปยักษ์ หน้าบันด้านหลังช่วงบนในกรอบสามเหลี่ยมประดับด้วยปูนปั้นรูปธรรมจักรบนฐานล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ตอนล่างในกรอบสี่เหลี่ยมประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าปางนาคปรกล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ถัดไปมีเสากั้นภายในช่องรูปสามเหลี่ยมทั้ง 2 ข้าง ประดับด้วยลายเทพนม

โดยรอบของอุโบสถมีซุ้มเสมาล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ มีลักษณะเป็นใบเสมาหิน แผ่นบาง เอวคอดกิ่ว บริเวณกึ่งกลางสลักลายรูปธรรมจักร ขอบด้านล่างสลักลายรูปดอกไม้ ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มรูปสี่เหลี่ยมบนฐานบัว ด้านบยประดับด้วยซุ้มเสมาจำลอง

ภายในอุโบสถปูพื้นหินแกรนิต ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงโก่งติดกัน พระนาสิกโด่ง พระเนตรยาวรีเหลือบต่ำ พระโอษฐ์หนา เม็ดพระศกเป็นปุ่มแหลม มีรัศมีเป็นรูปเปลว

เจดีย์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถ ห่างไปประมาณ 15 เมตร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนฐานเป็นฐานบัวคว่ำ บัวหงาย ส่วนของท้องไม้ยืดสูง ส่วนเรือนธาตุทรงกระบอก ส่วนบนของเจดีย์ประกอบด้วยบัลลังก์เตี้ย ปล้องไฉนลดหลั่นซ้อนกัน 9 ชั้น ต่อด้วยปลียอดและลูกแก้ว ปัจจุบันเป็นที่บรรจุอัฐิบุคคลสำคัญของตระกูล ณ นคร

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

อมรรัตน์ พิยะกูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี