โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : บ้านประแว, เมืองพระวัง, ชุมชนโบราณยะรัง
ที่ตั้ง : ม.2
ตำบล : ยะรัง
อำเภอ : ยะรัง
จังหวัด : ปัตตานี
พิกัด DD : 6.771926 N, 101.303938 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี
เขตลุ่มน้ำรอง : บ้านดอนหวาย, บ้านปาหนัน
เมืองโบราณบ้านประแว อยู่ในกลุ่มเมืองโบราณยะรัง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีเส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีได้ 2 ทาง คือ
-ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 410 (ปัตตานี – ยะลา) จากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 15 กิโลเมตร ถนนจะเลียบแนวคูเมืองทางทิศตะวันตกทางด้านเหนือลงไปและผ่านที่ว่าการอำเภอเมืองยะรัง ห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 24 กิโลเมตร
-ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4016 แยกจากอำเภอยะรังไปอำเภอมายอ ถนนตัดผ่านคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเข้าสู่กลางเมืองโบราณและตัดผ่านคูเมืองโบราณบ้านจาเละไปทางทิศตะวันออก
ปัจจุบันพื้นที่ภายในเมืองโบราณบ้านประแวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูกและอยู่อาศัย
กรมศิลปากร
เมืองโบราณบ้านประแวเป็น 1 ใน 3 เมืองของเมืองโบราณยะรังที่ตั้งอยู่บนที่ราบปากแม่น้ำ (Delta) ปัตตานีตอนบน เมืองโบราณบ้านประแวอยู่ทางด้านเหนือสุดของเมืองโบราณยะรังห่างจากเมืองโบราณบ้านจาเละทางด้านทิศใต้ 300 เมตร ผังเมืองโบราณบ้านประแวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาด 470x510 เมตร มีคูน้ำ (คูขุดลึกและแคบ) กำแพงดินและป้อมทั้งสี่มุมเมือง ทางด้านทิศตะวันตกมีคลองส่งน้ำขนาดเล็กต่อเชื่อมกับทางน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากบ้านวัด ด้านทิศใต้มีคลองส่งน้ำที่ขุดจากบริเวณป้อมไปเชื่อมกับคูเมืองบริเวณมุมเมืองทางด้านทิศเหนือของเมืองยะรัง ภายในตัวเมืองทางด้านทิศใต้พบแนวดินรูปตัวแอลในภาษาอังกฤษ ความยาว 120 และ 130 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นคันกั้นน้ำ (ภัคพดี อยู่คง และพรทิพย์ พันธุโกวิท 2538 : 267)
ปัจจุบันพื้นที่ภายในเมืองโบราณบ้านประแวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูกและอยู่อาศัย
อยู่ในเขตอิทธิพลของลุ่มแม่น้ำปัตตานี และทางน้ำรองบ้านดอนหวายและบ้านปาหนันซึ่งเป็นแขนงแยกของแม่น้ำปั้ตตานีเก่าทางตะวันออก (ปัจจุบันเหลือหลักฐานให้เห็นแค่เป็นทางน้ำเก่า)
เป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำปัตตานีในยุค Cenozoic โดยเป็นการทับถมทั้งตะกอนแม่น้ำพัดพา (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา 2541 : 13)
ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ วัฒนานิกร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2496, พ.ศ.2509
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
อนันต์ วัฒนานิกร สำรวจ รวบรวมโบราณวัตถุ และบันทึกตำแหน่งโบราณสถานทั้งหมด 31 แหล่ง (รวมถึงเมืองโบราณบ้านประแว) วิเคราะห์ว่าสถูปที่สำรวจมีศิลปะคล้ายกับที่พบในศิลปะทวารวดีและเจดีย์มะลิฆัยที่สุมาตรา ส่วนสถูปจำลองคล้ายกับเจดีย์รายรอบบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ภายหลังได้ตีความที่ตนได้ทำการศึกษาในปี พ.ศ.2496–2509 ชื่อ “แลหลังเมืองปัตตานี” ในปี พ.ศ.2527 และ “ประวัติเมืองลังกาสุกะ” โดยให้ความเห็นว่า เมืองลังกาสุกะน่าจะเป็นกลุ่มชนที่ย้ายมาจากกลุ่มท่าสาป จังหวัดยะลาชื่อผู้ศึกษา : Stewart Wavell
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2505
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ผลการศึกษา :
The Naga King’s Daughter ผู้เขียนได้ทำการสำรวจป้อมสี่เหลี่ยมในพื้นที่บริเวณบ้านประแว อำเภอยะรัง และสันนิษฐานว่าเป็นเมืองลังกาสุกะชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม, จำรัส เกียรติก้อง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2507
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
มานิต วัลลิโภดม, จำรัส เกียรติก้อง และคณะสำรวจของกองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้สำรวจและทำผังเมือง โดยสรุปว่าเมืองประแวมีคูน้ำคันดิน 3 ชั้น ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 300x400 เมตร (เกิดการเข้าใจผิดว่าร่องน้ำเก่าเป็นคูเมือง ทำให้มีผังเป็นคูน้ำคันดิน 3 ชั้น)ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม, น. ณ ปากน้ำ, แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย, วิคเตอร์ เคเนดี้
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521, พ.ศ.2522
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
นิตยสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีงานเขียนของนักวิชาการหลายท่านที่กล่าวถึงเมืองโบราณยะรัง ได้แก่ ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนบทความเรื่อง “ชุมชนโบราณในสี่จังหวัดภาคใต้” น. ณ ปากน้ำ เขียนบทความเรื่อง “ศิลปแบบทวารวดีที่ปัตตานี” แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย เขียนบทความเรื่อง “สนทนากลางเมืองยะรัง” และ วิคเตอร์ เคเนดี้ เขียนบทความเรื่อง “ลังกาสุกะและปัตตานี” สรุปความว่า เมืองโบราณยะรังมีคูน้ำและกำแพงดินเพียงชั้นเดียว คูน้ำมี 3 ด้าน ส่วนด้านที่ 4 ใช้ทางน้ำธรรมชาติ แหล่งโบราณคดีน่าจะมีอายุร่วมสมัยศรีวิชัย แบ่งชุมชนโบราณยะรังออกเป็น 2 สมัย คือ ชุมชนโบราณบ้านวัดกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 -13 ส่วนชุมชนโบราณบ้านประแวกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา ชุมชนโบราณยะรังไม่น่าจะเป็น “หลังยะสิ่ว” ที่อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 7 เพราะโบราณวัตถุที่พบในเมืองยะรังไม่พบหลักฐานที่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 11ชื่อผู้ศึกษา : ชูสิริ จามรมาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร, กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ชูสิริ จามรมาน จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและนักโบราณคดีจากกองโบราณคดี ได้เสนอผลงานการวิจัยเรื่อง “การวิจัยข้อมูลทางศิลปะและโบราณคดี ณ เมืองโบราณที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี” โดยทำผังเมืองจากภาพถ่ายอากาศและขุดตรวจบริเวณเมืองโบราณบ้านประแว พบว่าผังของบ้านประแวเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผลจากการศึกษาได้ข้อสันนิษฐานว่าเมืองโบราณยะรังเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยทวารวดี อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 โดยมีฐานะเป็นเมืองท่าในอดีต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทะเลห่างออกไปทำให้เมืองหมดความสำคัญและถูกทิ้งร้างลง จากการขุดตรวจที่เมืองประแวทำให้ทราบว่ามีการสร้างเมืองใหม่ทับเมืองเก่าในสมัยอยุธยา โดยพบเครื่องเคลือบดินเผาสุโขทัย อยุธยา เครื่องลายครามจีนชื่อผู้ศึกษา : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ขุนศิลปกิจจ์พิสันห์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ศึกษาตำนาน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผลการศึกษา :
ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดทำหนังสือ “ลุ่มน้ำตานี” ขึ้น โดยมีนักวิชาการหลายท่านได้เขียนบทความเกี่ยวกับชุมชนโบราณยะรัง เช่น ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ เขียนบทความเรื่อง “ยะรัง-ลังกาสุกะ” ได้วิเคราะห์ตามตำนานพื้นเมืองปัตตานี กล่าวว่า เมืองโบราณยะรัง คือ เมืองลังกาสุกะ มีการตั้งถิ่นฐานและอพยพย้ายมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งแรกที่บ้านบาโย ต.หน้าถ้ำ จ.ยะลา ครั้งที่สอง คือ บ้านตะมางัน ต.รือเสาะ อ.รือเส่าะ จ.นราธิวาส ครั้งที่สามที่บ้านประแว อ.ยะรังและครั้งที่ บ้านกรือเซะ ต.กรือเซะ จ.ปัตตานี ขุนศิลปกิจจ์พิสันห์ เขียนบทความเรื่อง “ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี” ศึกษาตำนานพื้นเมืองปัตตานี ฉบับมาลายู กล่าวว่า เมืองโกตามะลิฆัย น่าจะตั้งอยู่ที่บ้านประแว อาจแปลว่า เมืองพระราชวัง หรือเมืองของพวกที่นับถือพุทธศาสนามหายานชื่อผู้ศึกษา : เขมชาติ เทพไชย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) นำโดยเขมชาติ เทพไชย และคณะ สำรวจพบผังเมืองประแวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีกำแพงเมืองชั้นเดียวและมีคูน้ำล้อมรอบ มีป้อมสี่เหลี่ยมที่มุมผืนผ้าทั้ง 4 ผลจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านประแว ขนาด 1x1 เมตร จำนวน 1 หลุม พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีประเภทเศษภาชนะดินเผา เศษอิฐและชิ้นส่วนเครื่องเคลือบจำนวน 7 ชิ้น (เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์ซ่งและเครื่องเคลือบเขียนลายพรรณพฤกษา ) ขี้แร่เหล็ก ขี้แร่แก้ว (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร 2528 : 11-16)ชื่อผู้ศึกษา : David J. Welch, สว่าง เลิศฤทธิ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529, พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ขุดตรวจ, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผลการศึกษา :
ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย David J. Welch และสว่าง เลิศฤทธิ์ ได้สำรวจและทำผัง สำหรับการขุดค้นได้ขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านประแว 2 หลุม ขนาด 2x1 เมตร และ 1x1 เมตร พบหลักฐานโบราณวัตถุจำพวกภาชนะดินเผา เศษอิฐ ลูกปัดแก้ว 2 เม็ด และทำการขุดออร์เกอร์ (Auger) ตั้งแต่บริเวณเมืองทางด้านใต้ไปทางด้านเหนือ ทุก 50 เมตร รวมทั้งหมด 120 หลุม จากการขุดตรวจไม่พบโบราณวัตถุมากนัก มีเพียง 2 หลุมที่พบโบราณวัตถุหลายชนิด เช่น อิฐ เครื่องปั้นดินเผาและถ่าน ผลจากการหาค่าอายุของถ่านในหลุมขุดค้นบ้านประแว ด้วยวิธี Carbon–14 พบโบราณวัตถุในดินชั้นที่ 2 กำหนดอายุได้ 300 ปี โบราณวัตถุในดินชั้นที่ 3 กำหนดอายุได้ 500 ปี และโบราณวัตถุในดินชั้นที่ 4 กำหนดอายุได้ 600–700 ปี สามารถแบ่งลำดับชั้นทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณยะรังออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ สมัยเริ่มแรก มีลักษณะเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ สมัยกลาง เป็นชุมชนที่มีการขยายพื้นที่ออกไป มีการสร้างคูน้ำและโบราณสถานเพิ่มมากขึ้น มีกำแพงก่อด้วยอิฐ โบราณสถานส่วนมากมักอยู่นอกเมือง มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13–15 สมัยปลาย เป็นชุมชนที่มีการสร้างป้อมปราการป้องกันข้าศึก ตรงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19–23 จากการศึกษาครั้งนี้ได้ผลิตผลงานออกมา 3 เล่ม คือ รายงานการสำรวจและขุดค้นที่บ้านประแว ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีในปี พ.ศ.2529, การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ.2530 และเมืองโบราณยะรัง ในปี พ.ศ.2531ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531, พ.ศ.2536, พ.ศ.2548
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา หรือสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร ได้ดำเนินงานทางโบราณคดีที่เมืองโบราณบ้านประแวหลายครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ.2531 มีการสำรวจและทำผังเมืองโบราณบ้านประแว เมืองโบราณบ้านจาเละ และโบราณสถานบ้านวัด พบโบราณสถานประมาณ 15 แห่ง ในปี พ.ศ.2536 สำรวจแหล่งโบราณสถานในเมืองยะรังมีทั้งหมด 34 แหล่ง แบ่งแหล่งโบราณคดีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านประแว ในปี พ.ศ.2548 จัดพิมพ์หนังสือแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ฉบับปรับปรุง สรุปสาระทั้งหมดที่ได้จากการศึกษาขุดค้นแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณยะรังว่าเป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ร่วมสมัยอยุธยา พบโบราณสถานไม่น้อยกว่า 40 แห่ง นอกจากนี้ในหนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานการอนุรักษ์เมืองโบราณยะรังในอนาคตชื่อผู้ศึกษา : Daneil Perret, กรมศิลปากร, สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541
วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา ร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ และสถาบันวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ทำโครงการการศึกษาการตั้งถิ่นฐานเมืองปัตตานีโบราณ (The old settlement of The Pattani Region) ทำการขุดค้นบริเวณในเมืองประแว 3 หลุม นอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือ 1 หลุม และนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ 4 หลุม พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดจำนวน 16 เม็ด และเศษอิฐ ชิ้นส่วนสถูป (พบมากในหลุมที่ 5 ประมาณ 800 ชิ้น)เมืองโบราณบ้านประแว (เมืองพระวัง) เป็น 1 ใน 3 เมืองของเมืองโบราณยะรัง อยู่ทางด้านเหนือสุดของเมืองโบราณห่างจากเมืองโบราณบ้านจาเละ 300 เมตร ผังเมืองโบราณบ้านประแวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาด 470x510 เมตร มีคูน้ำ (คูขุดลึกและแคบ) กำแพงดินและป้อมทั่งสี่มุม ทางด้านทิศตะวันตกมีคลองส่งน้ำขนาดเล็กต่อเชื่อมกับทางน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากบ้านวัด ด้านทิศใต้มีคลองส่งน้ำที่ขุดจากบริเวณป้อมไปเชื่อมกับคูเมืองบริเวณมุมเมืองทางด้านทิศเหนือของเมืองยะรัง ภายในตัวเมืองทางด้านทิศใต้พบแนวดินรูปตัวแอลในภาษาอังกฤษ ความยาว 120 และ 130 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นคันกั้นน้ำ (ภัคพดี อยู่คง และพรทิพย์ พันธุโกวิท 2538 : 267)
จากการสำรวจพบกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญภายในเมืองพบ ซากสิ่งก่อสร้างอิฐ 2 แห่ง และบ่อน้ำเก่า 5 แห่ง หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นและขุดตรวจพบว่าเมืองโบราณบ้านประแวสร้างขึ้นร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ปลายพุทธศตวรรษที่ 19) แต่จากหลักฐานจากการสำรวจ พบโบราณวัตถุที่ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านจาเละและบ้านวัด เช่น ศิวลึงค์ ชิ้นส่วนกุฑุ ชิ้นส่วนสถูป เป็นต้น ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจมีการใช้พื้นที่บริเวณนี้มีตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา ร่วมกับเมืองโบราณบ้านจาเละและบ้านวัด จากนั้นได้มีการสร้างเมืองขึ้นอีกครั้งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 คือ เมืองประแวที่มีผังขนาด 470x510 เมตร มีคูน้ำกำแพงดินและป้อมสี่เมืองที่เห็นในปัจจุบัน โดยสันนิษฐานว่าอาจมีความเกี่ยวพันกับการสร้างเมืองบริเวณกับบ้านกรือเซะและกลายมาเป็นเมืองปัตตานีในสมัยต่อมา
โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเมืองยะรังและใกล้เคียง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2528.
ภัคพดี อยู่คงดี และพรทิพย์ พันธุโกวิท. “โบราณสถานและโบราณวัตถุจากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านจาเละ กลุ่มเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 266–278.
ทิวา ศุภจรรยา และกฤษณพล วิชชุพันธ์. “สภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 279 -292.
ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ยะรัง : ชุมชนโบราณ” ใน สารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 13. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 6245-6258.
พรทิพย์ พันธุโกวิทย์. “การวิเคราะห์โบราณสถานในเมืองยะรัง” ใน วันนี้ของโบราณคดีไทย. (การประชุมสัมมนาทางวิชาการโบราณคดีปี 2547 วันที่ 17-18 สิงหาคม 2547 ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร). ม.ท.ป., 2547 : 1 -18.
สว่าง เลิศฤทธิ์. เมืองโบราณยะรัง. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2531.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้า การตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำปัตตานีและสายบุรี. สงขลา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10, 2543.
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2548.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
Paul Wheatley. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur : University Of Malaya Press, 1961.