"ศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2" โรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย


ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 15 ต.ค. 2015

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 

“บ้านทรายขาว” หมู่บ้านริมแม่น้ำเลยในตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่สมัยล้านช้างหรือราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ดังปรากฏร่องรอยทั้งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี 

เสมาหินหน้าอุโบสถวัดกู่คำ บ้านทรายขาว พบจากการปรับพื้นดินด้านหน้าอุโบสถ

พระประธานในอุโบสถวัดกู่คำ บ้านทรายขาว

พระพุทธรูปสำริดในกุฏิเจ้าอาวาสวัดกู่คำ บ้านทรายขาว มีจารึกอักษรธรรมอีสานที่ส่วนฐาน

กู่คำ หรือ พระธาตุเฮือคำ ประดิษฐานอยู่กลางวงเวียน นอกรั้ววัดกู่คำทางทิศใต้ ริมแม่น้ำเลย

 

ด้วยเหตุนี้  นายศักดา พุทซาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ จึงได้มีความคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยคาดหวังให้เป็นแหล่งรวบรวมและนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านทรายขาว รวบรวมและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนบ้านทรายขาว เมื่อจัดสร้างศูนย์ประวัติศาสตร์ชุมชนสำเร็จ ทางเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2 จังหวัดเลย ได้ยกให้เป็นศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษา

“ศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2” ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว หมู่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ตรงข้ามวัดเทิง (ร้าง) โบราณสถานสมัยล้านช้าง

ลักษณะอาคารของศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ เป็นห้องก่ออิฐที่ใต้ถุนอาคารไม้ที่เป็นห้องเรียนระดับอนุบาล อาคารแห่งนี้เดิมเป็นอาคารไม้ใต้ถุนเตี้ยจนเกือบติดระดับพื้นดิน นายศักดา พุทซาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ดำเนินการจ้างดีดอาคารให้สูงขึ้น และจัดสร้างศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ และศูนย์ไอทีที่ใต้ถุนอาคาร

 

ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีประตูทางเข้า 2 ประตู คือประตูด้านซ้ายและขวา การจัดแสดงมีทั้งข้อมูลตัวหนังสือ ภาพถ่าย และวัตถุ โดยจัดวางเรื่องราวเป็นกลุ่มตามอายุสมัยและประเภทของวัตถุ แต่ภายในแต่ละกลุ่มมีทั้งที่เรียงตามสมัยและไม่เรียงตามสมัย วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านในพื้นที่

 

การจัดแสดงเริ่มจากการนำเสนออุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านทรายขาวในอดีต ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ได้แก่ อุปกรณ์จักสานสำหรับดักปลา จับปลา และใส่ปลา เครื่องหีบอ้อย กระเดื่องตำข้าว แอก เกวียน กระติ๊บ กระด้ง หม้อดินเผา อุปกรณ์ทอผ้า เครื่องโม่เมล็ดพืชทำจากหิน เป็นต้น โดยมีป้ายคำบรรยายให้รายละเอียดวัตถุ 

 

ส่วนถัดไปนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์พื้นที่บ้านทรายขาวที่ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนเป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองทรายขาว” (เมืองซายขาว, เมืองเซเลอลิว, เมืองเซไล) เมืองโบราณสมัยล้านช้าง ผ่านทางป้ายคำบรรยายและภาพถ่าย เช่น ประวัติและภาพถ่ายพระธาตุเฮือคำ (กู่คำ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองทรายขาว ประวัติและภาพถ่ายพระบางเมืองทรายขาว (พระพุทธรัตนมหณีศีเมืองซายขาว) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองทรายขาว ข้อมูลของประวัติเมืองทรายขาวและบ้านทรายขาว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ประวัติพระธาตุศรีสองรัก ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว และประวัติบุคคลสำคัญของชุมชน โดยมีการจัดแสดงของใช้ในอดีตปะปนอยู่ในส่วนนี้ด้วย เช่น ขันกระหย่องและร่มกระดาษ

 

[ขันกระหย่อง หรือ ขันกะย่อง หรือ กระหย่อง เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายพานปากกลมหรือสี่เหลี่ยม มีหลายขนาด ไว้ใช้ใส่เครื่องบูชาพระ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ตั้งบูชาไว้หน้าพระประธานในศาลาการเปรียญหรือโรงธรรม โดยทั่วไปจะสานส่วนบนหรือส่วนใช้งานทึบ ส่วนเอวสานโปร่ง เชิงสานทึบ]

ขันกระหย่อง

 

ส่วนสุดท้ายจัดแสดงแสดงหิน แร่ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของชาวบ้านทรายขาว เช่น พระพุทธรูปไม้ จักรเย็บผ้า ปืน วิทยุ ธนบัตร ภาชนะทองเหลือง กระโถนโลหะ เครื่องถ้วย เตารีดถ่าน  เป็นต้น รวมถึงข้อมูลพระเถระรูปสำคัญของจังหวัดเลย 

 

 “ศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2”  ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ทั้งนี้ควรติดต่อขอเข้าชมกับทางโรงเรียนก่อน ที่เบอร์โทรศัพท์ 042-076-119 โทรสาร 042-076-119 โทรศัพท์เคลื่อนที่ 081-729-3588

การเดินทางจากตัวอำเภอวังสะพุง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2016 มุ่งหน้าทางทิศใต้สู่ตำบลทรายขาว ประมาณ 11 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านทรายขาว (สังเกตป้ายวัดกู่คำและโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว) ประมาณ 100 เมตร จะพบโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาวและโบราณสถานวัดเทิง

 

ขอขอบคุณ โรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว และคณะคุณครูโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว สำหรับการต้อนรับและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

หมายเหตุ ข้อมูลจากการสำรวจเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556

 

อรรถาภิธานศัพท์ :