นิสา เชยกลิ่น
วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2555 ได้มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการค้นพบหลุมหลบภัยที่สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี[1] ข่าวนี้สร้างความตื่นตัวให้ไปในวงกว้างเนื่องจากคิดไม่ถึงว่าที่ปทุมธานียังมีหลุมหลบภัยที่ค่อนข้างสมบูรณ์หลงเหลืออยู่
หลุมหลบภัยเหล่านี้สร้างเมื่อตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเล่าย้อนไป เมื่อพ.ศ.2482 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปเมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามเยอรมัน และญี่ปุ่นก็ประกาศเข้าร่วมกับเยอรมันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จากนั้นวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นนำกองทัพเข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ คราแรกไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานที่มั่น เพื่อเป็นทางผ่านสำหรับการขยายอำนาจไปยังพม่าและอินเดียที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อไทยเห็นว่าญี่ปุ่นมีชัยชนะและคาดว่าจะชนะสงคราม จึงได้ประกาศสงครามต่อฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485[2] ส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายการโจมตีถูกทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ ของกองทัพญี่ปุ่น ทำให้ช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้ออกคู่มือการป้องกันภัยทางอากาศให้กับประชาชน การเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และได้สร้างหลุมหลบภัยสาธารณะตามสถานที่ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้หลบระเบิดในครั้งนั้น ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีหลุมหลบภัยหลงเหลืออยู่เพียง 2 แห่งคือ สวนสัตว์เขาดิน และเอเชียทีค[3] และปทุมธานี 1 แห่ง คือ ต.บ้านใหม่
ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ผู้เขียนเพิ่งได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมหลุมหลบภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พบว่าทางเข้าค่อนข้างยากแก่การสังเกต ต้องสอบถามจากผู้ที่พักอาศัยบริเวณนั้นจึงจะทราบ จุดสังเกตคือด้านซ้ายของบริษัท พรีไซซ จะมีซอยเล็กๆ ด้านหน้ามีร้านขายของโชว์ห่วย เดินเข้าไปราว 300 เมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายประมาณ 200 เมตรก็จะพบหลุมหลบภัยดังกล่าว
เมื่อไปถึงจะเห็นศาลาสำหรับหลบร้อน หลุมหลบภัยขนาดไม่หนัก รูปปั้นทหารในท่าทางต่างๆ ถูกจัดวางไว้ตามมุมเพื่อความสมจริง ทางเดินระหว่างศาลาที่ใช้พักหลบร้อนไปยังหลุมหลบภัยราดด้วยคอนกรีต มีบ่อน้ำเล็กๆ ตื้นเขินคั่นระหว่างหลุมหลบภัยและศาลา ภายในศาลามีนิทรรศการเล็กๆ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของหลุมหลบภัยแห่งนี้ว่า “จากคำบอกเล่าของนายประสิทธิ์ ปานย้อย อดีตกำนันตำบลบ้านใหม่ พ.ต.ท.จำนง ดำนิล และ ส.อ.เชิด บุญเอื้อ ซึ่งเป็นบุคลที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ได้ให้ข้อมูลว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างบ้านพักไว้ 2 หลัง และหลุมหลบภัย 1 แห่ง โดยขนวัสดุก่อสร้างมาทางน้ำ ใช้กำลังทหารในการก่อสร้าง ลักษณะของหลุมหลบภัยมีลักษณะแบบไข่ผ่าซีก (รูปนูนหลังเต่า) ทำด้วยก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้า-ออก 2 ทาง ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ด้านในหลุมหลบภัยเป็นห้องโล่ง จุคนได้ 15-20 คน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมาพักที่บ้านพักหลังจากมีสัญญาณเตือนภัยว่าจะมีการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ปัจจุบันบ้านพักไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว คงเหลือแต่หลุมหลบภัยที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา[4]”
สภาพปัจจุบันของหลุมหลบภัย โครงสร้างภายนอกเป็นรูปไข่ผ่าครึ่งซีก (รูปนูนหลังเต่า) ก่ออิฐถือปูน หน้าทางเข้า-ออก มีแท่นปูนรูปสามเหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ตั้งขวางไว้ระยะห่างไม่เกิน 1 เมตรจากปากทางเข้า-ออก ภายในหลุมหลบภัยปูนผุกร่อนจนเห็นโครงสร้างเหล็กภายใน พื้นที่ไม่กว้างขวางนัก ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้จะสามารถจุคนได้ 15-20 คน อากาศข้างในหลุมหลบภัยค่อนข้างเย็น และน้ำท่วมขังภายในหลุมหลบภัย (คาดว่าท่วมขังอยู่ตลอดเวลา) สถานที่แห่งนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี พื้นที่โดยรอบสะอาดเรียบร้อย ทราบมาว่า เมื่อ พ.ศ.2547 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ ได้บูรณะซ่อมแซมหลุมหลบภัยและปรับปรุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ จากนั้น กลุ่มบริษัท พรีไซซ และสมาคมพนักงาน กลุ่มบริษัท พรีไซซ ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ได้เข้ามาปรับปรุงและบำรุงรักษาพื้นที่โดยรอบอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.2560 เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และให้เยาวชนหรือคนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้และพบเห็นสถานที่จริงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหลบภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
[1] ไทยรัฐออนไลน์. พบหลุมหลบภัย ที่ซ่อนจอมพล ป. (25 ธันวาคม 2555). https://www.thairath.co.th/content/315270. สืบค้นออนไลน์เมื่อ 21 กันยายน 2561.
[2] ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4. http://kanchanapisek.or.th/kp6/index2.php. สืบค้นออนไลน์เมื่อ 21 กันยายน 2561.
[3] เอกชา. หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังเหลืออยู่ (20 ตุลาคม 2560). http://www.4saleung.com/archives/5260. สืบค้นออนไลน์เมื่อ 21 กันยายน 2561.
[4] ข้อมูลจากนิทรรศการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของหลุมหลบภัยแห่งนี้.
อรรถาภิธานศัพท์ :