ภาพเขียนสีค่ายประตูผา


โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021

ชื่ออื่น : ประตูผา, ค่ายประตูผา

ที่ตั้ง : บ้านจำปุย ต.บ้างดง อ.แม่เมาะ

ตำบล : บ้านดง

อำเภอ : แม่เมาะ

จังหวัด : ลำปาง

พิกัด DD : 18.513287 N, 99.820302 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : วัง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยบง, ห้วยป่าตาว, ห้วยแม่หวด, ห้วยแม่หวดน้อย, ห้วยแม่หละ, ห้วยแม่หละน้อย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองลำปาง ไปตามถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงหมายเลข 1 (ลำปาง-งาว) ประมาณกิโลเมตรที่ 48 ถึงศาลเจ้าพ่อประตูผา เดินเลียบไปตามหน้าผาระยะทางประมาณ 300 เมตร จะพบกับภาพเขียนสีอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีค่ายประตูผา ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแห่งหนึ่งในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ดำเนินการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยค่ายฝึกการรบพิเศษประตูผา (กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 (ร้อย.ฝรพ.3) กองทัพภาคที่ 3) ซึ่งเป็นมีการจัดนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ค่ายและบริเวณใกล้เคียง (แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ภายในค่าย) จัดฝึกอบรมวิชาการเดินป่า แนะนำการดำรงชีวิตในป่า การไต่หน้าผาจำลอง การตั้งค่ายพักแรม การเดินชมทิวทัศน์บนยอดเขา และมีวิทยากรนำชมแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีค่ายประตูผา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 054-247-712, 054-225-441 หรือ ตู้ ปณ. 1 อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000

นอกจากนี้ ศาลเจ้าพ่อประตูผายังเป็นที่เคารพสักการะของทหาร นักท่องเที่ยว และชาวบ้านในพื้นที่

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมป่าไม้, กองทัพภาคที่ 3, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีประตูผาตั้งอยู่บนเชิงดอยประตูผาซึ่งเป็นแนวเขาชายขอบด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแอ่งประตูผา

แอ่งประตูผาอยู่ในแนวเทือกเขาผีปันน้ำกลาง และอยู่บริเวณตอนกลางที่แบ่งเขตจังหวัดลำปางกับจังหวัดพะเยาพอดี (นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์ 2534 : 20) มีลักษณะเป็นเนินเขาขนาดเล็กและขนาดย่อมที่กระจายตัวต่อเนื่องมาจากแนวเทือกเขาที่โอบล้อมโดยรอบ ทำให้สภาพพื้นที่โดยรวมเป็นแอ่งกระทะรูปยาวรี วางตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ คือมีดอยผาสักและดอยผาคอกเป็นชายขอบด้านทิศเหนือ แนวกลุ่มดอยผาขวางเป็นชายขอบด้านทิศตะวันออก ดอยผาแดงเป็นชายขอบด้านทิศใต้ และดอยประตูผากับดอยผาผึ่งเป็นชายขอบด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ แนวเทือกเขาเหล่านี้เป็นปราการธรรมชาติให้กับพื้นที่ภายใน ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำของลำธารในพื้นที่ เช่น ห้วยบง ห้วยป่าตาว ห้วยแม่หวด ห้วยแม่หวดน้อย ห้วยแม่หละ ห้วยแม่หละน้อย

พื้นที่โดยรอบแหล่งโบราณคดี ด้านตะวันออกเป็นที่ราบลอนลูกคลื่นขนาดใหญ่ ส่วนด้านตะวันตกเป็นกลุ่มเทือกเขาหินปูน ซึ่งหน้าผาทางด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาหินปูนดังกล่าวเป็นตำแหน่งของภาพเขียนสี

สภาพพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีเป็นหน้าผาหินปูน ทอดตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ความสูงของหน้าผาประมาณ 40-50 เมตร ลักษณะผิวหน้าผาค่อนข้างเรียบ สูงชันประมาณ 81-90 องศา หน้าผาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนเชิงดอยเป็นพื้นดินกว้างบ้างแคบบ้าง สามารถเดินผ่านได้ตลอดแนวหน้าผา ถัดจากพื้นดินทางเดินนี้ลงไปเป็นที่ลาดเชิงดอย มีความลาดชันมากไล่ระดับลงสู่พื้นที่ภายในแอ่งประตูผา สภาพพื้นดินเป็นดินร่วนเนื้อละเอียดคล้ายทรายแป้ง

พื้นที่ประตูผามีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติมากมาย อุดมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด นอกจากนั้นแล้วประตูผายังเป็นช่องทางคมนาคมของคนตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินและเส้นทางเดินทัพในสงครามมหาเอเชียบูรพา ไปยังพม่า-เชียงตุง นอกจากนั้น ยังมีศาล “เจ้าพ่อประตูผา” ที่เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป

ปัจจุบันพื้นที่แหล่งโบราณคดีเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ และเป็นค่ายฝึกการรบพิเศษประตูผา กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 (ร้อย.ฝรพ.3) กองทัพภาคที่ 3

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

580 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยบง, ห้วยป่าตาว, ห้วยแม่หวด, ห้วยแม่หวดน้อย, ห้วยแม่หละ, ห้วยแม่หละน้อย

สภาพธรณีวิทยา

แอ่งประตูผาที่เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีมีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับแอ่งเชียงใหม่ แอ่งลำพูน แอ่งเชียงราย และแอ่งพะเยา ที่เกิดจากการไหวตัวของเปลือกโลกอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายยุคครีเตเชียสถึงช่วงกลางยุคเทอร์เชียรี การไหวตัวทำให้แผ่นดินบางส่วนยกตัวสูงขึ้นเป็นภูเขาและที่ราบสูง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งทรุดตัวลงเป็นแอ่งระหว่างหุบเขา (Intermontane basins)

แนวเขาที่โอบล้อมแอ่งประตูผาส่วนมากเป็นภูเขายอดมนหรือยอดราบเรียบ ไล่ระดับตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปจนถึงยอดเขา เนื่องจากเป็นหินเชล หินทราย และหินคองโกลเมอร์เรต (shale, sandstone, and conglomerate) ในหน่วยหินผาแดง มีเพียงแนวดอยประตูผาแนวเดียวเท่านั้นที่เป็นหินปูนยาวต่อเนื่องมาจากตัวจังหวัดลำปางจนถึงอำเภองาว จึงมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันยาวตลอดแนวเขา (ทวีศักดิ์ ระมิงค์วงศ์ และคณะ 2522 : 19-21) กล่าวคือแนวเขาดอยประตูผาที่เป็นชายขอบด้านทิศตะวันตกของแอ่งนี้ประกอบไปด้วยแนวเขาสั้นบ้างยาวบ้าง 3 แนวเรียงต่อกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยแนวเขาฝั่งตะวันออกเป็นหน้าผาสูงชัน (ซึ่งบริเวณแหล่งโบราณคดีมีลักษณะดังกล่าวเช่นกัน) ส่วนแนวเขาฝั่งตะวันตกมีลักษณะเป็นไหล่เขาไล่ระดับจากยอดเขาลงสู่เชิงเขา แต่มีสภาพเป็นพื้นหิน ไม่มีดินปกคลุม ทำให้พื้นหินผุกร่อนแตกหักเป็นร่องเล็กใหญ่ ผิวหินแหลมคมเนื่องจากถูกน้ำฝนกัดเซาะ และมีต้นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลางขึ้นปกคลุมทั่วไป

ลักษณะดินของพื้นที่แหล่งโบราณคดี ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากกระบวนการสลายตัวผุพังอยู่กับที่ เนื่องจากแอ่งประตูผามีภูเขาสูงล้อมรอบและมีเนินเขาขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ต่อเนื่องลงมาจากแนวเขาที่โอบล้อมอยู่ ทำให้พื้นที่มีความลาดชันปานกลาง-สูง (นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์ 2534 : 66-67 ; กรมพัฒนาที่ดิน 2536) และหน้าดินมักจะถูกชะพาลงมาทับถมที่บริเวณตีนเขาและตีนเนิน พื้นดินส่วนบนจึงเป็นดินปนหินหรือดินลูกรัง หน้าดินตื้นและเป็นดินเนื้อหยาบ ระบายน้ำได้ดี ซึ่งมักเป็นดินพอดซอล (Podsols หรือ Radzols) มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ส่วนพื้นดินบริเวณตีนเขาหรือตีนเนินจะมีหน้าดินหนากว่า มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้จะส่งผลถึงพืชพรรณที่เจริญเติบโตในบริเวณนี้ด้วย

ดอยประตูผามีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันทางด้านฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่พบภาพเขียนสีและหลักฐานทางโบราณคดี และเป็นไหล่เขาพื้นหินด้านฝั่งตะวันตก มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

สภาพพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันกว่า 50 เมตร เอียงตัวมาทางทิศตะวันออกเล็กน้อย ทำให้มีลักษณะคล้ายชะโงกเขา บนผนังหน้าผาปรากฏร่องรอยของทางน้ำไหลขนาดต่างๆจำนวนมาก มีหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่บริเวณกลุ่มภาพที่ 3 และ 7 กองหินขนาดใหญ่บริเวณกลุ่มภาพที่ 6 ซึ่งอาจเกิดจากการกัดเซาะของทางน้ำใต้ผิวหินที่มีสูงและเป็นเวลานาน ทำให้เกิดเป็นโพรงขนาดต่างๆที่ไหล่เขาเป็นจำนวนมากจนทรุดพังลงเป็นหน้าผา แต่จากรอยแตกของดอยประตูผาตั้งแต่ยอดดอยถึงตีนดอยบริเวณกลุ่มภาพที่ 7 ซึ่งภายในมีก้อนหินขนาดต่างๆอัดแน่น และถูกเชื่อมประสานด้วยสารประกอบคาร์บอเนต จึงน่าจะมีกระบวนการกัดเซาะของทางน้ำแล้ว ยังอาจมีการไหวตัวของเปลือกโลกที่ทำให้เนื้อหินที่ไม่แข็งแรงจากกระบวนการกัดเซาะของน้ำอยู่แล้วนั้นเกิดแยกตัว และแนวเขาฝั่งตะวันออกเกิดการทรุดตัวลงหรือแนวเขาฝั่งตะวันตกยกตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดเป็นหน้าผาดังที่เห็นในปัจจุบัน (ชินณวุฒิ วิลยาลัย 2542)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินใหม่, สมัยล้านนา, สมัยล้านนาตอนปลาย

อายุทางโบราณคดี

2,900-3,200 ปีมาแล้ว (ใช้ข้อมูลจากการกำหนดอายุเชิงเทียบและการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์)

อายุทางวิทยาศาสตร์

ระหว่าง 2975±65 จนถึง 3195±55 ก่อนปัจจุบัน (B.P.)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : มีโฉม ชูเกียรติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

ผลการศึกษา :

ร.อ.มีโฉม ชูเกียรติ นายทหารสังกัดกองพันฝึกรบพิเศษที่ 3 ค่ายประตูผา ฝึกโรยตัวลงจากหน้าผาแล้วสังเกตเห็นภาพเขียนสีแดงหลายภาพบริเวณหน้าผา

ชื่อผู้ศึกษา : วิวรรณ แสงจันทร์, นำพล โพธิวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ, หจก.เฌอกรีน, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทางค่ายประตูผาได้แจ้งต่อนายนำพล โพธิวงศ์ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ว่าค้นพบแหล่งโบราณคดีที่คาดว่าน่าจะเป็นภาพเขียนสีสมัยโบราณบริเวณศาลเจ้าพ่อประตูผา นายนำพล โพธิวงศ์ จึงแจ้งนางสาววิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดี หจก.เฌอกรีน และร่วมกันสำรวจ จากนั้นจึงแจ้งสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ และสำรวจอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2540 ทำให้ทราบว่าภาพเขียนสีที่พบเป็นภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์แหล่งใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือตอนบน (กรมศิลปากร 2541 : 7)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

ผลการศึกษา :

กองทัพบกประกาศให้หน่วยทหารในกองทัพบกที่มีพื้นที่เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ จนทำให้เกิดการดำเนินงาน ณ แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผาขึ้น ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, ชินณวุฒิ วิลยาลัย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

15 มกราคม พ.ศ.2541 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ สำรวจแหล่งโบราณคดีที่ค่ายประตูผา พบภาพเขียนสีตลอดแนวเขาและยังพบหลุมขุดคุ้ยเป็นจำนวนมากที่เชิงผา โดยเฉพาะบริเวณใต้ภาพเขียนสีกลุ่ม 1 พบหลุมขุดคุ้ย 3 หลุม มีชิ้นส่วนภาชนะดินเผาและกระดูกมนุษย์กระจายอยู่ทั่วไป ผู้สำรวจกำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีไว้ที่ 2,000-5,000 ปีมาแล้ว

ชื่อผู้ศึกษา : ชินวุฒิ วิลยาลัย, วิวรรณ แสงจันทร์, นิรุฒ เอี่ยมสกุล, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541, พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ขุดตรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ, ศึกษาเครื่องมือหิน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

7 กันยายน 2541 – 6 ธันวาคม พ.ศ.2541 และมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 มีการดำเนินงานด้านโบราณคดีและการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผาใน “โครงการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดี คัดลอกและจัดทำแผนการอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อม แหล่งภาพเขียนสีค่ายประตูผา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง” ควบคุมโดยนายชินวุฒิ วิลยาลัย นักโบราณคดีสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ปฏิบัติงานร่วมกับนางสาววิวรรณ แสงจันทร์ และนายนิรุฒ เอี่ยมสกุล การดำเนินงานในโครงการนี้ ได้คัดลอกภาพเขียนสี 1,883 ภาพ ขุดค้นทางโบราณคดีได้จำนวน 3 หลุม และขุดตรวจอีก 6 หลุม หลุมขุดค้นที่ 1 ขนาด 2x7 เมตร อยู่บริเวณหน้าผาใต้กลุ่มภาพที่ 1 พบชิ้นส่วนเครื่องมือหินประเภทหินเจาะรู เครื่องมือกระดูกปลายแหลม ขวานหินขัดไม่มีบ่าทำจากหินภูเขาไฟ ก้ามปูและเปลือกหอยเหล็กจาร หลุมขุดค้นที่ 2 ขนาด 2x6 เมตร อยู่บริเวณหน้าผาใต้กลุ่มภาพที่ 1 พบชื้นส่วนกำไลหิน ขวานหินขัดมีบ่า ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ เปลือกของพืชประเภทน้ำเต้าป่า ทัพพีไม้เขียนลวดลายด้วยสีแดง ภาชนะจักสานขนาดเล็ก กระดูกมนุษย์ส่วนต้นขาและหน้าแข้ง กลุ่มรวงข้าวเปลือกเมล็ดสั้นป้อม เปลือกสีน้ำตาลและสีดำแดง (ข้าวก่ำ) เปลือกหอยทะเลเจาะรู หลุมขุดค้นที่ 3 ขนาด 3.5x3.5 เมตร อยู่บริเวณหน้าผาใต้กลุ่มภาพที่ 1 หลุมขุดตรวจในหลุมขุดทดสอบที่ 4-9 มีขนาดหลุมละ 1x1 เมตร อยู่ที่หน้าผาที่ 2-5 วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการใช้พื้นที่ในภาพรวมของแหล่งโบราณคดี ส่วนหน้าผาที่ 6 และ 7 พื้นดินเป็นหินผุ ไม่สามารถขุดตรวจได้ จากการขุดค้นและศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ เช่น หลุมฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประกอบศพต่างๆ อาทิ โลงไม้ เสื่อ ผ้า เมล็ดข้าว ภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน ทัพพีไม้ กระดูกสัตว์ เป็นต้น ทำให้สามารถวิเคราะห์และตีความได้ถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งลักษณะทางกายภาพของคนที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ในอดีต ทั้งกลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อสร้างสรรค์ภาพเขียนสี และกลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีปลงศพ

ชื่อผู้ศึกษา : Goran Possnert

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ม.เชียงใหม่, ม.Uppsala (สวีเดน)

ผลการศึกษา :

การกำหนดอายุด้วยวิธี AMS Dating จากตัวอย่างอินทรีย์วัตถุ 7 ตัวอย่าง ได้แก่ เมล็ดข้าว (จากหลุมขุดค้นที่ 2) เส้นใยพืช เมล็ดข้าว ไม้ไผ่ (2 ตัวอย่าง) ไม้ และกระดูกซี่โครงมนุษย์ (จากหลุมขุดค้นที่ 3) ที่ได้จากการขุดค้นระหว่างปี พ.ศ.2541-2542 ณ ห้องปฏิบัติการ Angstorm ภาควิชาไอออนฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน โดย Dr.Goran Possnert ได้ค่าอายุ (Calibrated Date) ระหว่าง 2975±65 จนถึง 3195±55 ก่อนปัจจุบัน (B.P.) (ชินณวุฒิ วิลยาลัย 2542 : 294)

ชื่อผู้ศึกษา : ชินณวุฒิ วิลยาลัย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ขุดตรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ, ศึกษาเครื่องมือหิน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชินณวุฒิ วิลยาลัย เสนอวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษาแหล่งภาพเขียนสีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง” โดยได้ศึกษาในประเด็นต่างๆ ได้แก่ รูปแบบและความหมายของภาพเขียนสี ศึกษารายละเอียดของหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ ศึกษาสภาพชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนโบราณที่เข้ามาประกอบกิจกรรมในพื้นที่แหล่งโบราณคดี ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาพเขียนสีกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ และศึกษาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างแหล่งภาพเขียนสีกับแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง ชินณวุฒิ วิลยาลัย ได้บรรยายและวิเคราะห์ภาพเขียนสีและหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆที่ขุดค้นพบระหว่างปี พ.ศ.2541-2542 โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ และ หจก.เฌอกรีน (ครั้งเดียวกับประวัติการศึกษาข้อที่ (5 และ 6)) และได้แบ่งภาพเขียนสีออกเป็น 7 กลุ่ม ตามตำแหน่งที่พบ รวมทั้งแบ่งภาพออกเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะของภาพ คือ ภาพมือ ภาพบุคคล ภาพสัตว์ ภาพพืช ภาพสัญลักษณ์ ภาพสลักหรือรูปรอยลงหิน (Petrograph) การเขียนภาพเขียนด้วยสีแดงที่น่าจะทำมาจากดินเทศ เพราะมีวัตถุดิบอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อุปกรณ์ระบายสีอาจเป็นพู่กันที่ทำมาจากกิ่งไม้หรือแท่งไม้ทุบปลายจนนิ่ม หรืออาจเป็นดอกหญ้าหรือขนสัตว์หรืออื่นๆ แล้วมัดรวมเป็นจุก ส่วนการระบายหรือลงสีทึบของภาพแบบเงาทึบ อาจใช้ทั้งพู่กันและ/หรือนิ้วมือ อุปกรณ์ที่ใช้ผสมสีและใส่สีอาจเป็นเปลือกน้ำเต้า เพราะขุดค้นพบเป็นจำนวนมาก ส่วนการขุดค้นนั้น พบว่าบริเวณหลุมขุดค้นที่ 1 และ 2 ถูกขุดรบกวนเป็นจำนวนมาก พบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ ภาชนะดินเผา เศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ขวานหินขัด ทัพพีไม้ ลูกปัดหิน เป็นต้น หลุมขุดค้นที่ 3 พื้นที่บางส่วนถูกขุดรบกวนไปบ้างแล้ว แต่ยังพบหลุมฝังศพจำนวน 3 หลุม มีโครงกระดูกมนุษย์อย่างน้อย 6 โครง คือบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้พบโครงกะดูกเด็กโตและเด็กทารกฝังร่วมกัน โดยโครงกระดูกเด็กโตมีฟากไม้ไผ่ห่อศพ วางภาชนะดินเผาไว้เหนือศีรษะและกองเมล็ดข้าวไว้ที่ข้างศีรษะ ส่วนโครงกระดูกเด็กทารกมีผืนเส้นใยพืชห่อศพ วางภาชนะดินเผาไว้ที่ปลายเท้าและห่อด้วยฟากไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่ง บริเวณกลางหลุมพบโครงกระดูกผู้ใหญ่อีกอย่างน้อย 2 โครง ฝังลงในหลุมที่กรุขอบหลุมทั้งสองข้างและก้นหลุมด้วยแผ่นไม้ โครงกระดูกถูกเผาจนเป็นสีขาว พบลูกปัดหินและเครื่องมือกระดูกปลายแหลมบริเวณศีรษะ ส่วนด้านทิศตะวันตกของหลุมพบหลุมฝังศพที่มีโครงกระดูกผู้ใหญ่วางเรียงซ้อมกันในแนวดิ่ง 3 โครง โดยแต่ละโครงห่อพันด้วยผืนเส้นใยพืชและเสื่อที่ส่วนหน้าอกและศีรษะ ทั้ง 3 โครงถูกเผาจนกระดูกเป็นสีดำและขาว มีการใส่ภาชนะดินเผา ขวานหินขัด ช้อนไม้ เครื่องจักสาน และถาดไม้ให้กับผู้ตาย จากหลักฐานการฝังศพในหลุมขุดค้นที่ 3 ประกอบกับชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์จำนวนมากในหลุมขุดค้นที่ 1 และ 2 ทั้งจากการวิเคราะห์ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ พบว่าส่วนมากเป็นกระดูกยาว (ขาหน้าและขาหลัง) ทำให้ทราบว่าเป็นการนำชิ้นส่วนที่ชำแหละแล้วเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ จากการวิเคราะห์ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา พบว่านิยมใช้ภาชนะดินเผาทรงก้นกลม ขนาดเล็ก ตั้งแต่ช่วงระยะเวลาต้นจนถึงถึงระยะสุดท้าย ก่อนจะมีคนในสมัยประวัติศาสตร์เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ อาจใช้เป็นที่พักแรมชั่วคราว เพราะพบเศษภาชนะดินเผาสมัยล้านนา จากปริมาณกระดูกมนุษย์ที่พบในหลุมขุดค้นทั้ง 3 หลุม ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่ใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 นี้ น่าจะถูกใช้เป็นพื้นที่ฝังศพเป็นหลัก และบางเวลาอาจใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวด้วย เนื่องจากพบเส้นหินและร่องรอยขี้เถ้าในหลุมขุดค้นที่ 1 ด้านทิศใต้ และการใช้พื้นที่เป็นที่พักพิงชั่วคราว อาจมีความสัมพันธ์กับการเขียนภาพเขียนสีและ/หรือการฝังศพด้วย จากการพบเครื่องมือหินกะเทาะ ขวานหินขัด และหัวลูกศรหินขัด ทำให้สันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้น่าจะดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ และอาจทำเกษตรกรรมแล้ว เนื่องจากพบเมล็ดข้าวจำนวนมากที่อุทิศให้กับผู้ตายในหลุมฝังศพ (หลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ 3) จากการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS Dating และอายุเชิงเทียบ สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีอายุอยู่ในช่วง 3,200-2,900 ปีมาแล้ว และน่าจะใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวอีกครั้งในสมัยล้านนาตอนปลาย กลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 บริเวณประตูผา น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่ในแอ่งแม่เมาะ เพราะพบหลักฐานการใช้ภาชนะดินเผาทรงก้นกลมคอแคบสอบเข้าและมีประเพณีการฝังศพในถ้ำเช่นเดียวกัน จากหลักฐานที่ขุดค้นพบกับภาพเขียนสีบนผนังเพิงผา ยังไม่เพียงพอที่จะใช้สันนิษฐานว่ากลุ่มคนผู้วาดภาพกับคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ประกอบพิธีกรรมฝังศพเป็นกลุ่มคนหรือกลุ่มชนเดียวกันหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ทราบว่า กลุ่มคนที่สร้างสรรค์งานศิลปะบนผนังถ้ำและกลุ่มคนที่เข้ามาประกอบพิธีการฝังศพบริเวณใต้ภาพกลุ่มที่ 1 นั้น ต่างก็รู้จักและมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้สีแดงตกแต่งเป็นลวดลาย

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานจังหวัดลำปาง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543, พ.ศ.2544, พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : จังหวัดลำปาง

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2542-2545 สำนักงานจังหวัดลำปาง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดลำปาง ดำเนิน “โครงการร่วมภาครัฐและเอกชน อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผา” มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และพัฒนาแหล่งโบราณคดี ให้เปิดเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ กิจกรรมที่จัดทำ เช่น จัดภูมิทัศน์บริเวณปากทางขึ้น จัดทำป้ายคำแนะนำและให้ความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ปรับปรุงทางขึ้นและเส้นทางเดินชมภาพเขียนสี สร้างศาลาพักผ่อนที่ปากทางขึ้นสู่หน้าผา ปรับปรุงเส้นทางเข้าออกและภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อประตูผา ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศาลาพักผ่อน ปรับปรุงถ้ำด้านหลังศาลเจ้าพ่อประตูผา ปรับปรุงลานจอดรถ สร้างอาคารศึกษาทางโบราณคดีและอาคารร้านค้าขายของที่ระลึก ก่อสร้างห้องน้ำบริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543, พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : จังหวัดลำปาง, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2543-2544 มีการดำเนินงานพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวศาลเจ้าพ่อประตูผาและแหล่งภาพเขียนสีประตูผา (องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง และกรมศิลปากร 2544) โดยปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศาลเจ้าพ่อประตูผา โดยสำนักงานจังหวัดลำปาง และปรับปรุงเส้นทางเดินชมภาพเขียนสี จัดทำป้ายและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

ผลการศึกษา :

“โครงการพัฒนาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผา” ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดลำปางเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ศาลเจ้าพ่อประตูผา ก่อสร้างห้องน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

“โครงการพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งประจำแหล่งภาพเขียนสีประตูผา บ้านจำปุย ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง”

ชื่อผู้ศึกษา : ดุจฤดี คงสุวรรณ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน, ศึกษาสภาพสังคม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ดุจฤดี คงสุวรรณ์ ศึกษาลักษณะทางกายภาพของกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีค่ายประตูผา และศึกษารูปแบบพิธีกรรมปลงศพ รวมถึงระบบการจัดระเบียบสังคมนั้น เพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการวิเคราะห์กระดูก 3,780 ชิ้น ด้วยวิธีการศึกษาด้วยตาเปล่า (Gross Analysis) ร่วมกับการฉายรังสี (X-ray Analysis) พบว่ามีจำนวนโครงกระดูก 38 โครง แบ่งตามช่วงอายุระหว่างแรกเกิด-5 ปี จำนวน 10 โครง อายุ 5-15 ปี จำนวน 9 โครง โครงกระดูกผู้ใหญ่เพศหญิงจำนวน 10 โครง โครงกระดูกเพศชายจำนวน 3 โครง และโครงกระดูกที่ไม่สามารถระบุเพศได้จำนวน 6 โครง ผลการประเมินความสูงโดยเฉลี่ยด้วยสมการคำนวณความสูงคนไทย-จีน ของสรรใจ แสงวิเชียร และคณะ (2528) โดยจากความยาวของกระดูกขาท่อนบนพบว่าเจ้าของโครงกระดูกที่เป็นเพศหญิงที่ขุดค้นพบ มีความสูงเฉลี่ย 142.45 เซนติเมตร ส่วนเพศชายไม่พบโครงกระดูกสมบูรณ์ที่สามารถนำมาคำนวณได้ กะโหลกศีรษะของโครงกระดูกหมายเลข 3 ที่สามารถคำนวณลักษณะสัณฐานกะโหลกได้พบว่าเป็นกะโหลกมีความยาวปานกลาง จัดอยู่ในกลุ่มประชากรมองโกลอยด์ ผลการประเมินสาเหตุการตาย จากความแตกต่างระหว่างเพศและอายุ ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าอาจมีสาเหตุการตายมาจากการคลอดบุตร ลักษณะการปลงศพ เป็นการฝังศพครั้งเดียว (Primary Burial) ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว และอาจมีการฝังศพครั้งที่ 2 รูปแบบการจัดระเบียบทางสังคม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสังคมในระดับชนเผ่าที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ดำรงชีวิตด้วยการทำกสิกรรมแบบเบาบางควบคู่ไปกับการล่าสัตว์ เป็นสังคมที่มีความแตกต่างระหว่างปัจเจก โดยเฉพาะด้านเพศและอายุ สังเกตได้จากความแตกต่างของเครื่องประกอบศพและการปลงศพ ส่วนการใช้พื้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจถูกใช้เป็นที่ฝังศพ (ป่าช้า) มีรูปแบบการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยตามลักษณะกลุ่มครอบครัวหรือกลุ่มเครือญาติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

ผลการศึกษา :

แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผา ถูกโอนย้ายให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน

ชื่อผู้ศึกษา : จิตรลดา อินนันชัย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จิตรลดา อินนันชัย จัดทำสารนิพนธ์ในหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อ “การศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง” ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีในการจัดการเชิงพื้นที่ โดยได้ศึกษาวิจัยข้อมูลแหล่งโบราณคดีและมีการพัฒนาพื้นที่ โดยมีแผนการจัดการในการออกแบบเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมของแหล่งโบราณคดี มีการมีจัดการด้านความรู้ สาธารณูปโภค การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดการจัดการเชิงพื้นที่ ปัญหาที่พบคือ พื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่าง 2 อำเภอ และเป็นเขตพื้นที่ทหารที่ขอเข้าไปใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ส่งผลถึงการปฏิบัติงานและการจัดการดูแล ซึ่งไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก นอกจากนั้นยังพบปัญหาเรื่องชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจของชาวบ้านที่มีต่อแหล่งโบราณคดี ขาดหน่วยงานสนับสนุนในการจัดการแหล่ง และอาคารพิพิธภัณฑ์ถูกปิดซ่อมหลายปี ทำให้ชำรุดทรุดโทรม จิตรลดา อินนันชัย ยังได้เสนอแนะแนวทางการจัดการเพื่อฟื้นฟูแหล่งโบราณคดี

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, แหล่งศิลปะถ้ำ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ภาพเขียนสี (กรมศิลปากร 2541 ; ชินณวุฒิ วิลยาลัย 2542 ; ดุจฤดี คงสุวรรณ 2544 ; จิตรลดา อินนันชัย 2550)

ภาพเขียนสีพบกระจายอยู่หลายกลุ่มเป็นระยะๆ พบตั้งแต่ในระดับสูงประมาณเอวจนถึงสูงกว่า 10 เมตร

จากการศึกษาของกรมศิลปากร พบว่าภาพทั้งหมด (ที่คัดลอก) มีมากกว่า 1,872 ภาพ โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ตามลักษณะการเว้าของหน้าผา แต่ละกลุ่มมีชื่อและรายละเอียดภาพโดยสังเขป ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผาเลียงผา ประกอบไปด้วยภาพเลียงผา วัว เต่า นก ม้า ปะปนกับภาพมือทั้งแบบเงาทึบและกึ่งเงาทึบที่มีการตกแต่งลวดลายภายในมือเป็นลายเส้นแบบต่างๆ บางภาพประทับอยู่บนภาพสัตว์ บางภาพประทับซ้อนกันหลายครั้ง และบางภาพประทับอยู่บนภาพสัญลักษณ์ นอกจากนี้ยังพบภาพวาดที่แสดงถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์

กลุ่มที่ 2 ผานกยูง ประกอบไปด้วยภาพคนเพศชาย ภาพสัตว์คล้ายนกยูง ภาพสัตว์เลื้อยคลานประเภทตะกวด (?) พังพอน (?) กระรอก บ่าง ภาพสัญลักษณ์คล้ายดอกไม้ ภาพวัว ภาพสัญลักษณ์ทั้งรูปสี่เหลี่ยมที่มีการตกแต่งภายในและภาพภาชนะที่มีลักษณะคล้ายภาชนะที่ทำด้วยโลหะ นอกจากนี้ยังมีภาพมือที่ทำด้วยเทคนิคการประทับแบบกึ่งเงาทึบ การพ่น และวาดแบบอิสระ

กลุ่มที่ 3 ผาวัว ประกอบไปด้วยภาพเงาทึบและภาพโครงร่างของสัตว์คล้ายวัว กระจง เก้งหรือกวาง บางภาพเป็นโครงร่างขนาดใหญ่ของสัตว์มีเขาคล้ายวัว มีภาพมือประทับและตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ และยังพบว่าภาพมือประทับบางภาพมีการตกแต่งด้วยลายขีดในแนวขวางด้วยลายเส้นขนาดเล็กทั่วฝ่ามือ ด้านหน้าวัวปรากฏภาพคน 7 คน ยืนรายล้อมอยู่ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมฝังศพวาดภาพเขียนสี

กลุ่มที่ 4 ผาเต้นระบำ ประกอบไปด้วยภาพคน 5 คน และสัตว์ มีคนในภาพนุ่งผ้าทรงกระบอกโป่งพอง ถืออาวุธคล้ายธนู ด้านหลังของคนดังกล่าวมีภาพคนอีก 2 คน กำลังเคลื่อนไหวก้าวเท้าไปข้างหน้า และมีภาพเงาทึบของวัวหันหน้าเข้าหากันในลักษณะต่อสู้ และมีภาพบุคคลแสดงกิริยาเคลื่อนไหวในท่าวิ่งเข้ามาอยู่ระหว่างวัวทั้งสองตัว คล้ายกับการห้ามวัว

กลุ่มที่ 5 ผาหินตั้ง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน

            ส่วนที่ 1 ต่อเนื่องกับกลุ่มภาพที่ 4 ปรากฏเป็นภาพกลุ่มคน (9 คน) วาดแบบตัดทอนส่วน ภาพสัตว์คล้ายเก้ง ภาพสัญลักษณ์

            ส่วนที่ 2 เป็นภาพที่แสดงรายละเอียดของบุคคลนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ ร่างของบุคคลถูกวาดตามแนวขวางตลอดทั้งตัว และมีเครื่องหมายกากบาททับไว้ในบริเวณบริเวณส่วนทรวงอก ด้านหลังภาพมีแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ในแนวตั้งอยู่ 2 ภาพ ด้านบนแม่งสี่เหลี่ยมดังกล่าวมีภาพสี่เหลี่ยมในแนวนอนลักษณะโค้งวางอยู่เหนือภาพคน จึงมีความเป็นไปได้ว่าภาพแท่งสี่เหลี่ยมคือเสาหินที่น่าจะอยู่ในรูปแบบของหินตั้งประเภทโต๊ะหิน ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ช่วงสมัยหินกลางจนถึงต้นสมัยโลหะ และภาพบุคคลที่มีลักษณะคล้ายถูกพันห่อไว้พร้อมกับมีเครื่องหมายกากบาททับร่าง ซึ่งอาจหมายถึงร่างของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว

กลุ่มที่ 6 ผานางกางแขน ปรากฏภาพบุคคลคล้ายสตรีที่มีส่วนท้องค่อนข้างใหญ่ แขนทั้งสองข้างกางออกไปด้านขางของลำตัว ปลายแขนงอลง ในระดับบนของกลุ่มภาพยังพบภาพคล้ายบุคคลที่มีศีรษะกลม ช่วงล่างของศีรษะในระดับหูมีติ่งยื่นออกมาทั้ง 2 ข้าง คล้ายหมวกปีกหนา แขนขนาดเล็กทั้ง 2 ข้างกางออกตั้งฉากกับลำตัวที่มีส่วนท้องขนาดใหญ่ บริเวณช่วงล่างของภาพปรากฏภาพสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก 2 ตัว คาดว่าน่าจะเป็นตะกวดหรือจิ้งจก ใช้เทคนิคการวาดภาพโครงร่างและใช้ลายเส้นเล็กๆขีดทับในบบริเวณส่วนลำตัว ซึ่งอาจเป็นการสื่อความหมายให้เห็นรายละเอียดของขนสัตว์

กลุ่มที่ 7 ผาล่าสัตว์ เป็นภาพกลุ่มสุดท้ายที่พบ จากลักษณะเพิงผาที่ตัดตรง ทำให้ภาพเขียนสีลบเลือน ภาพที่ปรากฏเป็นภาพบุคคล 2 คน นุ่งผ้าปล่อยชายยาว บุคคลทางด้านขวาของภาพถืออุปกรณ์วงกลมลักษณะคล้ายห่วง แสดงการเคลื่อนไหวคล้ายจะคล้องจับเอาวัว ส่วนบุคคลอีกคนหนึ่งถือวัตถุคล้ายไม้ในลักษณะเงื้อง่า คล้ายอาการตีวัว ซึ่งอาจแสดงถึงกิจกรรมการจับหรือฝึกฝนสัตว์

เนื้อหาของภาพเขียนสีทำให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่น่าจะมีทั้งการล่าสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมในอดีต ทราบถึงลักษณะการแต่งกายของคนในสมัยนั้น ตลอดจนประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตายหรือการปลงศพ

การเขียนเขียนด้วยสีแดงที่มีความเข้มจางของสีต่างกันในแต่ละภาพ สีแดงน่าจะมาจากดินเทศ เพราะพบหลักฐานจากการขุดค้นบริเวณเพิงผาใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 ที่พบก้อนดินเทศมีร่องรอยการขัดฝนจนเรียบ และโครงกระดูกหมายเลข 3 บริเวณช่วงปลายแขน มือ และต้นขา ที่พบกลุ่มดินเทศวางตัวเรียงเป็นแนวยาวและติดแน่นกับโครงกระดูก (กรมศิลปากร 2541 : 207-208)

แหล่งวัตถุดิบของดินเทศน่าจะมาจากภายในพื้นที่ เพราะในแอ่งประตูผา โดยเฉพาะบริเวณเนินเขาต่างๆ พบก้อนดินเทศหรือหินสีแดงขนาดต่างๆกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งตามลำน้ำบริเวณดอยผาแดง (ห่างออกไปจากแล่งโบราณคดีประมาณ 5 กิโลเมตร) ที่เป็นแหล่งต้นน้ำของน้ำแม่หวดสาขาหนึ่ง พบชั้นดินเทศเป็นชั้นหนาเรียงตัวสลับกับหินชนิดอื่นๆ ลำน้ำบริเวณเชิงดอยนี้ยังปรากฏดินเทศเต็มพื้นท้องน้ำเป็นระยะทางยาวมาก (กรมศิลปากร 2541 : 200-201)

อุปกรณ์ผสมสีและใส่สี น่าจะเป็นเปลือกไม้หรือผลไม้ เช่น กะลามะพร้าว น้ำเต้า กระบอกไม้ไผ่ หรืออาจเป็นภาชนะดินเผา ซึ่งจากการสำรวจผิวดินบริเวณกลุ่มภาพที่ 2 พบเปลือกน้ำเต้าที่มีร่องรอยสีแดงติดอยู่ภายใน อีกทั้งการขุดค้นใต้ภาพกลุ่มที่ 1 พบชิ้นส่วนน้ำเต้าเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเปลือกน้ำเต้า

อุปกรณ์ระบายสี ภาพบางภาพมีลายเส้นขนาดเล็กมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะใช้พู่กันวาด ซึ่งพู่กันอาจทำจากกิ่งไม้หรือแท่งไม้ทุบปลายจนนิ่ม สามารถซึมซับน้ำสีได้ หรืออาจเป็นดอกหญ้าหรือขนสัตว์หรืออื่นๆ มัดรวมเป็นจุก ส่วนการระบายหรือลงสีทึบของภาพแบบเงาทึบ อาจใช้ทั้งพู่กันและ/หรือนิ้วมือ

หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้นระหว่างปี พ.ศ.2541-2542 (กรมศิลปากร 2541 ; ชินณวุฒิ วิลยาลัย 2542 ; ดุจฤดี คงสุวรรณ 2544 ; จิตรลดา อินนันชัย 2550)

บริเวณหลุมขุดค้นที่ 1 และ 2 ถูกขุดรบกวนเป็นจำนวนมาก พบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ ภาชนะดินเผา เศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ขวานหินขัด ทัพพีไม้ ลูกปัดหิน เป็นต้น

หลุมขุดค้นที่ 3 พื้นที่บางส่วนถูกขุดรบกวนไปบ้างแล้ว แต่ยังพบหลุมฝังศพจำนวน 3 หลุม มีโครงกระดูกมนุษย์อย่างน้อย 6 โครง คือบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้พบโครงกะดูกเด็กโตและเด็กทารกฝังร่วมกัน โดยโครงกระดูกเด็กโตมีฟากไม้ไผ่ห่อศพ วางภาชนะดินเผาไว้เหนือศีรษะและกองเมล็ดข้าวไว้ที่ข้างศีรษะ ส่วนโครงกระดูกเด็กทารกมีผืนเส้นใยพืชห่อศพ วางภาชนะดินเผาไว้ที่ปลายเท้าและห่อด้วยฟากไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่ง

บริเวณกลางหลุมพบโครงกระดูกผู้ใหญ่อีกอย่างน้อย 2 โครง ฝังลงในหลุมที่กรุขอบหลุมทั้งสองข้างและก้นหลุมด้วยแผ่นไม้ โครงกระดูกนี้ถูกเผาจนเป็นสีขาว พบลูกปัดหินและเครื่องมือกระดูกปลายแหลมบริเวณศีรษะ ส่วนด้านทิศตะวันตกของหลุมพบหลุมฝังศพที่มีโครงกระดูกผู้ใหญ่วางเรียงซ้อมกันในแนวดิ่ง 3 โครง โดยแต่ละโครงห่อพันด้วยผืนเส้นใยพืชและเสื่อที่ส่วนหน้าอกและศีรษะ ทั้ง 3 โครงถูกเผาจนกระดูกเป็นสีดำและขาว มีการใส่ภาชนะดินเผา ขวานหินขัด ช้อนไม้ เครื่องจักสาน และถาดไม้ให้กับผู้ตาย

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชั้นวัฒนธรรมใหญ่ๆ คือ วัฒนธรรมหินใหม่ และวัฒนธรรมหลังหินใหม่

การที่พบชิ้นส่วนกระดูกสัตว์โดยเฉพาะกระดูกยาว (ขาหน้าและขาหลัง) เป็นจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าเป็นการนำชิ้นส่วนที่ชำแหละแล้วเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้

จากการวิเคราะห์ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา พบว่านิยมใช้ภาชนะดินเผาทรงก้นกลม ขนาดเล็ก ปากผายออกเล็กน้อย (เส้นผ่าศูนย์กลางปากประมาณ 11-15 เซนติเมตร) ตั้งแต่ช่วงระยะเวลาต้นจนถึงถึงระยะสุดท้าย ก่อนจะมีคนในสมัยประวัติศาสตร์เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ (ใช้เป็นที่พักแรมชั่วคราว) เพราะพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบหริภุญไชยและจากเตาสันกำแพง

ปริมาณกระดูกมนุษย์ที่พบในหลุมขุดค้นทั้ง 3 หลุม ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่ใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 นี้ น่าจะถูกใช้เป็นพื้นที่ฝังศพเป็นหลัก และบางเวลาอาจใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวด้วย เนื่องจากพบเส้นหินและร่องรอยขี้เถ้าในหลุมขุดค้นที่ 1 ด้านทิศใต้ อย่างไรก็ตาม การใช้พื้นที่เป็นที่พักพิงชั่วคราว อาจมีความสัมพันธ์กับการเขียนภาพเขียนสีและ/หรือการฝังศพด้วย

จากการพบเครื่องมือหินกะเทาะ ขวานหินขัด และหัวลูกศรหินขัด ทำให้สันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้น่าจะดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ และอาจทำเกษตรกรรมแล้ว เนื่องจากพบเมล็ดข้าวจำนวนมากที่อุทิศให้กับผู้ตายในหลุมฝังศพในหลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ 3

การกำหนดอายุด้วยวิธี AMS Dating จากตัวอย่างอินทรีย์วัตถุ 7 ตัวอย่าง ที่ได้จากหลุมขุดค้นที่ 2 และ 3 ได้แก่ เมล็ดข้าว (จากหลุมขุดค้นที่ 2) เส้นใยพืช เมล็ดข้าว ไม้ไผ่ (2 ตัวอย่าง) ไม้ และกระดูกซี่โครงมนุษย์ (จากหลุมขุดค้นที่ 3) โดย Dr.Goran Possnert จากห้องปฏิบัติการ Angstorm ภาควิชาไอออนฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน ได้ค่าอายุ (Calibrated Date) ระหว่าง 2975±65 จนถึง 3195±55 ก่อนปัจจุบัน (BP)

ค่าอายุที่ได้จากการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS ใกล้เคียงกับอายุเชิงเทียบที่ได้จากการเทียบเคียงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้กับแหล่งโบราณคดีอื่นๆในประเทศไทย เช่น

            - การตกแต่งภาชนะดินเผาด้วยการกดจุดในแนวเส้นคู่ขนาน เทียบเคียงกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (5,600-3,000 ปีมาแล้ว) บ้านท่าแค จ.ลพบุรี (4,500-2,700 ปีมาแล้ว) โคกพนมดี จ.ชลบุรี (4,000-3,000 ปีมาแล้ว)

            - ภาชนะดินเผาทรงตะเกียง เทียบเคียงกับที่พบแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามเหลี่ยม จ.กาญจนบุรี (4,000-3,500 ปีมาแล้ว)

            - ลูกปัดหินทรงกระบอก เทียบเคียงกับที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี (3,800-3,700 ปีมาแล้ว)

ผลการศึกษาในภาพรวม

จากหลักฐานทั้งหมดที่พบในหลุมขุดค้นทั้ง 3 หลุม สรุปได้ว่า บริเวณพื้นที่เพิงผาของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เป็นที่ฝังศพของกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตแบบล่าสัตว์และอาจมีการทำเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวแล้ว ในสมัยหินใหม่ เมื่อ 2,900-3,200 ปีมาแล้ว และน่าจะใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวอีกครั้งในสมัยล้านนาตอนปลาย เพราะพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบหริภุญไชยและจากเตาสันกำแพงในหลุมขุดค้นหมายเลข 1 และ 2 ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับเอกสารประวัติศาสตร์ในช่วง พ.ศ.2272-2274 ที่กล่าวว่าเกิดภัยสงครามในเมืองลำปาง ทำให้ผู้คนหนีออกมาอยู่ตามป่าเขา รวมทั้งที่ประตูผาแห่งนี้ด้วย (แช่ม บุนนาค 2516)

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 ที่ประตูผา น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่ในแอ่งแม่เมาะ (ห่างจากแหล่งภาพเขียนสีประตูผาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5-10 กิโลเมตร) เพราะพบหลักฐานการใช้ภาชนะดินเผาทรงก้นกลมคอแคบสอบเข้า (ภาชนะดินเผาใบที่ 4 หลุมขุดค้นที่ 3) และมีประเพณีการฝังศพในถ้ำเช่นเดียวกัน

จากหลักฐานที่ขุดค้นพบกับภาพเขียนสีบนผนังเพิงผา ยังไม่เพียงพอที่จะใช้สันนิษฐานว่ากลุ่มคนผู้วาดภาพกับคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ประกอบพิธีกรรมฝังศพเป็นกลุ่มคนหรือกลุ่มชนเดียวกันหรือไม่ หลักฐานที่พบสัมพันธ์กันโดยตรงมีเพียงกระดองเต่าที่พบในหลุมขุดค้น ซึ่งพบภาพเต่าในภาพเขียนกลุ่มที่ 1 และพบว่ากลุ่มคนที่ฝังศพรู้จักใช้ดินเทศหรือสีแดง สังเกตได้จากพบผงฝุ่นสีแดงติดบนกระดูกมนุษย์ เครื่องมือหินที่พบ และลวดลายเขียนสีแดงบนทัพพีไม้ในหลุมขุดค้นที่ 2 และ 3

นอกจากนี้ หลักฐานที่ขุดค้นพบยังสัมพันธ์กับกลุ่มภาพอื่นๆอีกด้วย คือ หลักฐานการฝังศพว่ามีความสัมพันธ์กับภาพพิธีกรรมการปลงศพในกลุ่มภาพที่ 6 และหัวลูกศรหินขัดที่พบในหลุมขุดค้นหมายเลข 3 สัมพันธ์กับภาพคนยิงธนูในกลุ่มภาพที่ 4

จากความเชื่อมโยงหลักฐานต่างๆ ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนที่เข้ามาประกอบพิธีการฝังศพบริเวณใต้ภาพกลุ่มที่ 1 นี้ รู้จักและมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้สีแดงตกแต่งลวดลายบงบนสิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งใช้ในพิธีกรรมฝังศพด้วย และน่าจะเป็นกลุ่มคนที่วาดภาพเขียนสีบนผนังหน้าผาไว้บางส่วนด้วย?

     การศึกษามานุษยวิทยากายภาพ (ดุจฤดี คงสุวรรณ์ 2544)

การวิเคราะห์กระดูกมนุษย์ที่พบทั้งหมด 3,780 ชิ้น ด้วยวิธีการศึกษาด้วยตาเปล่า (Gross Analysis) ร่วมกับการฉายรังสี (X-ray Analysis) พบว่ามีจำนวนโครงกระดูกทั้งสิ้น 38 โครง แบ่งตามช่วงอายุระหว่างแรกเกิด-5 ปี จำนวน 10 โครง อายุ 5-15 ปี จำนวน 9 โครง โครงกระดูกผู้ใหญ่เพศหญิงจำนวน 10 โครง โครงกระดูกเพศชายจำนวน 3 โครง และโครงกระดูกที่ไม่สามารถระบุเพศได้จำนวน 6 โครง

ผลการประเมินความสูงโดยเฉลี่ยด้วยสมการคำนวณความสูงคนไทย-จีน ของสรรใจ แสงวิเชียร และคณะ (2528) จากความยาวของกระดูกขาท่อนบน พบว่าเจ้าของโครงกระดูกเพศหญิงวัยผู้ใหญ่ มีความสูงเฉลี่ย 142.45 เซนติเมตร ส่วนเพศชายไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เนื่องจากไม่พบโครงกระดูกสมบูรณ์ที่สามารถนำมาคำนวณได้

กะโหลกศีรษะของโครงกระดูกหมายเลข 3 ที่สามารถคำนวณลักษณะสัณฐานกะโหลกได้พบว่าเป็นกะโหลกมีขนาดยาวปานกลาง จัดอยู่ในกลุ่มประชากรเชื้อชาติมองโกลอยด์

ผลการประเมินสาเหตุการตาย จากความแตกต่างระหว่างเพศและอายุ ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าอาจมีสาเหตุการตายมาจากการคลอดบุตร

     การปลงศพ (ดุจฤดี คงสุวรรณ์ 2544)

1.การฝังศพครั้งเดียว (Primary Burial) มีลักษณะการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศใต้ แต่มีความแตกต่างกันที่การหันหน้า คือโครงกระดูกหมายเลข 1 และ 5 ลักษณะหน้าแหงนขึ้น โครงกระดูกหมายเลข 3 หน้าหันไปทางทิศตะวันออก (ซึ่งเป็นคนละด้านกับเพิงผาที่มีภาพเขียนสี) โครงกระดูกหมายเลข 5 รูปแบบการปลงศพให้มอดไหม้ในระดับหนึ่งก่อน แล้วจึงทำการฝังกลบด้วยดิน โดยอาจมีขั้นตอนดังนี้

            1.1 พันห่อร่างกายผู้ตายด้วยเส้นใยที่ถักทอจากเปลือกไม้ของพืชบางชนิด

            1.2 พันทับอีกครั้งด้วยเครื่องจักสานลักษณะเป็นผืน (เสื่อ?) อีกหลายชั้น

            1.3 วางร่างผู้ตายที่ผ่านขั้นตอนที่ 1 และ 2 ลงในหลุมที่ขุดขึ้น แล้วสุมไฟที่บริเวณกลางลำตัวในขณะที่ร่างกายยังสดอยู่ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้โรงกระดูฏบางส่วนไม่มีร่องรอยถูเผาไหม้

            1.4 เมื่อเปลวไฟเผาไหม้โครงกระดูกไปในระดับหนึ่ง จึงทำการกลบหลุม

            ในขณะที่บางศพก็ไม่มีร่องรอยการเผาก่อนถูกฝัง เช่น ชิ้นส่วนกระดูกที่มาจากหลุมขุดค้นที่ 3

2.การฝังศพครั้งที่ 2 (Secondary Burial) ผู้ศึกษาได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจมีการฝังศพครั้งที่ 2 เนื่องจากพบกลุ่มโครงกระดูกขณะขุดค้น ประกอบกับหลักฐานต่างๆ เช่น จำนวนชิ้นส่วนโครงกระดูก โลงไม้ ท่าทางการจัดวางชิ้นส่วนกระดูก จำนวนและแประเภทของเครื่องประกอบศพ เป็นต้น

     รูปแบบการจัดระเบียบทางสังคม

สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสังคมในระดับชนเผ่า ที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ดำรงชีวิตด้วยการทำกสิกรรมแบบเบาบาง ควบคู่ไปกับการล่าสัตว์ เป็นสังคมที่มีความแตกต่างระหว่างปัจเจก โดยเฉพาะด้านเพศและอายุ สังเกตได้จากความแตกต่างของเครื่องประกอบศพและการปลงศพ

     การใช้พื้นที่

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจถูกใช้เป็นที่ฝังศพ (ป่าช้า) มีรูปแบบการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยตามลักษณะกลุ่มครอบครัวหรือกลุ่มเครือญาติ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมพัฒนาที่ดิน. แผนที่แผนการใช้ที่ดิน ประเทศไทย. สารบัญที่ 1 มาตราส่วน 1:1,000,000, 2536.

กรมศิลปากร. รายงานเบื้องต้นการขุดค้นศึกษาและคัดลอกภาพเขียนสีแหล่งโบราณคดีประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง. เชียงใหม่ : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่, 2541.

จิตรลดา อินนันชัย. “การศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง” สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.

ชินณวุฒิ วิลยาลัย. “การศึกษาแหล่งภาพเขียนสีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542.

ชินณวุฒิ วิลยาลัย. “แหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง.” เมืองโบราณ 24, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2541) : 117-122.

ชินณวุฒิ วิลยาลัย. ภาพเขียนสีประตูผาจังหวัดลำปาง. เชียงใหม่ : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่, 254-?.

แช่ม บุนนาค. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2516.

ดุจฤดี ดงสุวรรณ์. “การศึกษาพิธีกรรมปลงศพ ณ แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544.

ทวีศักดิ์ ระมิงค์วงศ์ และคณะ. ธรณีวิทยาประเทศไทยและธรณีภาคสนามเบื้องต้น. เชียงใหม่ : ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522.

นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์. ภูมิศาสตร์กายภาพภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่ : ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2534.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. “พิพิธภัณฑ์ประตูผา ลำปาง ควรจัดเพื่อใคร.” ศิลปวัฒนธรรม 22, 11 (กันยายน 2544) : 154-157.

พเยาว์ เข็มนาค 2532. ศิลปะถ้ำผาแต้มโขงเจียม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2532.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2539.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. แหล่งโบราณคดียุคดึกดำบรรพ์ที่ประตูผา จังหวัดลำปาง : ภาพเขียนสีพิธีกรรม 3,000 ปี ที่ผาศักดิ์สิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.

วิวรรณ แสงจันทร์. “ร้อยเอกชูเกียรติ มีโฉม ผู้ค้นพบแหล่งภาพเขียนสีที่ประตูผา จังหวัดลำปาง.” ศิลปวัฒนธรรม 22, 12 (ตุลาคม 2544) : 131-133.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “แหล่งโบราณคดีที่ประตูผา ลำปาง “ผาขลังศักดิ์สิทธิ์เหมือนปิดทอง” ศิลปวัฒนธรรม 22, 11 (กันยายน 2544) : 155-157.

สมชาย ณ นครพนม. บรรณาธิการ. เปิดประตูผา ค้นหาแหล่งวัฒนธรรม 3,000 ปี ที่ลำปาง. เชียงใหม่ : บริษัท กราฟฟิคฟอร์แมท (ไทยแลนด์) จำกัด, 2544.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. “การขุดค้นที่แหล่งภาพเขียนสีศาลเจ้าพ่อประตูผา : คำถามเรื่องอายุของภาพเขียน” เมืองโบราณ 25, 1 (มกราคม-มีนาคม 2542) : 112-116.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. การออกแบบเพื่อปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง. โครงการศึกษาและเผยแพร่มรดกโลกด้านวัฒนธรรม, 2541.

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง และกรมศิลปากร. การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเส้นทางชมภาพเขียนสีแหล่งโบราณคดีประตูผา บ้านจำปุย ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, 2544.